เราต่างก็อยู่ในภาวะวิกฤต นามว่า Perfect Storm/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เราต่างก็อยู่ในภาวะวิกฤต

นามว่า Perfect Storm

 

ช่วงนี้คนไทยเดือดร้อนเพราะภาวะเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า…ที่ไม่เคยต้องเข้าใจศัพท์แสงเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อ, ดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน, อุปสงค์-อุปทานก็ต้องมาทำความเข้าใจกันให้กว้างขวางขึ้น

เพราะเมื่อรัฐบาลพูดอะไรเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้ก็จะโยนไปให้ประชาชนต้องไปหาความรู้เอาเอง

เพราะท่านบอกว่าเป็นอย่างนี้กันทั่วโลก…ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น

เกิดคำถามของคนไทยจำนวนไม่น้อยว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น “มีรัฐบาลไว้ทำไม?”

กลายเป็นวิวาทะการเมืองขึ้นมา ทั้งๆ ที่เป็นคำถามพื้นๆ ว่าผู้ที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาตินั้นจะตอบเพียงแค่ว่า “ใครๆ ก็เจอปัญหานี้อย่างนี้ทั้งนั้น” อย่างนั้นหรือ

คำตอบคือรัฐบาลเองอาจจะไม่รู้คำตอบ และแม้จะมีเครื่องมือแก้ปัญหาเหล่านี้ก็หยิบมาใช้ไม่ถูกจังหวะไม่ถูกเป้าหมายก็ได้

ผมจึงต้องคอยพูดคุยกับผู้รู้ในวงการต่างๆ เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่มีทั้งเรื่องผลกระทบจากโควิด-19, สงครามยูเครนและความผันผวนปั่นป่วนที่เกิดจากทั้งสองสาเหตุ…บวกกับปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่อาจจะคาดคะเนได้ล่วงหน้า

เช่น ผมสนทนากับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล แห่งธนาคารกรุงเทพเป็นระยะๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และนำเสนอทางแก้ไขให้กับประชาชนทั่วไปด้วย

บทสนทนาล่าสุดนั้น ดร.กอบศักดิ์วิเคราะห์ถึง 4 ช่วงของวิกฤตที่เรียกว่าเป็น Perfect Storm

ซึ่งหมายถึงพายุที่พัดกระหน่ำใส่เราจากทุกทิศทุกทางโดยไม่สามารถจะบอกได้ว่ามันเริ่มตรงไหนและจะจบลงหรือไม่และจะจบอย่างไร

อีกทั้งพายุบางลูกก็ไม่จบง่ายๆ เพราะมันแปรสภาพเป็นภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของใครๆ ทั้งสิ้น

แนวทางวิเคราะห์ออกมาอย่างนี้

 

หลายคนถามว่า วิกฤตรอบนี้จะพัฒนาไปอย่างไร

จะได้เตรียมการให้เหมาะสม ทั้งเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ แม้ช่วงต่อไปจะยังมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบ สร้างสีสันใหม่ๆ ให้เราตื่นเต้นได้ตลอดเวลา

เราสามารถแบ่งวิกฤตรอบนี้ออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ

(1) ช่วงแรก – ช่วงนักลงทุน Exit หนีตาย

ช่วงนี้ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

เริ่มจากจุดที่ธนาคารกลางของสหรัฐหรือ Fed มีความชัดเจนมากขึ้น เรื่องความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย และการสู้กับเงินเฟ้อ

ส่งสัญญาณว่า Party is over งานเลี้ยงได้เวลาเลิกราแล้ว

จากราคาที่วิ่งขึ้นไปสูงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว สินทรัพย์ต่างๆ ก็เริ่มปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลคริปโต ดัชนีหุ้น Dow Jones หรือ Nasdaq รวมไปถึงการอ่อนลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินสกุลต่างๆ

สร้างความผันผวนปั่นป่วนครั้งใหญ่ให้กับระบบการเงินโลก

จนเรียกได้ว่าเป็น Investment Storm หรือพายุแห่งการลงทุนที่พัดผ่านสินทรัพย์ต่างๆ จนระเนระนาด

ช่วงนี้ได้ผ่านไปมากพอสมควรแล้ว

น่าตกใจที่เมื่อย้อนกลับไปดูครึ่งแรกของปี 2565 ปรากฏว่าเป็นช่วงที่ราคาได้ลงกันมามากสุดในรอบ 50-60 ปี

ฟองสบู่หลายๆ ฟอง ได้แฟบลงไปมาก

พอจะบอกได้ว่าเราคงผ่านช่วงแรงๆ ไปพอสมควรแล้ว

พอมาถึงช่วงสองซึ่งเป็นช่วงหลักของ “สงครามระหว่าง Fed กับเงินเฟ้อ”

หลังช่วงหนีตายของนักลงทุน Fed ก็ยังจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะ

เพราะแม้ว่าจะขึ้นมา 3 ครั้งแล้ว

จาก 0.25% เป็น 0.5% และวิ่งขึ้นไปที่ 0.75%

แต่ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ก็ยังเรียกว่าต่ำอยู่ดี ที่ 1.5-1.75%

ในภาวะที่เงินเฟ้อก็ยังสูงที่ 8-9%

Fed ยังจะต้องจ่ายยาและปรับยาไปอีกระยะหนึ่ง

จนกว่า “หมอ” จะเห็นว่ายาที่แรงขึ้นนั้นจะแสดงผล

นั่นคือเงินเฟ้อก็ต้องเริ่มแสดงอาการตอบสนอง

และเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

โดยจะเริ่มจากช่วงเงินเฟ้อแสดงอาการวิ่งไปถึงจุดสูงสุดและยอมลดลงมาบ้าง

จนถึงจุดที่น่าจะเบาใจลงได้บ้างคือเงินเฟ้อเริ่มลงมาที่ 3-4%

และหวังว่ามันจะกลับมาที่เป้าหมาย 2%

เป็นที่ยอมรับว่าที่ยากที่สุดคงจะเป็นช่วงที่ Fed ต้องต่อสู้ เพื่อเอาเงินเฟ้อลงจากระดับ 3-4% กลับมาที่เป้าหมาย 2%

คำถามคือ กว่าจะถึงจุดนั้นต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่

คำตอบของผู้รู้คือ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 1 ปี เพราะ Fed ต้องค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ย

ที่ว่ากังวลคือ ถ้าเงินเฟ้ออยู่นาน มันก็จะเริ่มดื้อยา

นั่นแปลว่า Fed อาจต้องจ่ายยาแรงขึ้นไปอีก

จากที่เคยบอกไว้ว่า ดอกเบี้ย Fed จะขึ้นไปที่ 3.4% ปลายปีนี้ และวิ่งไปที่ 3.8% ปีหน้า

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือสุดท้ายแล้วแม้จะใช้ยาแรงขึ้นแต่ก็อาจจะเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ ต้องเพิ่มยาขึ้นอีก

และนั่นแปลว่าตลาดก็จะปั่นป่วนอีกรอบ เพื่อจะต้องทำทุกอย่างให้ดึงเงินเฟ้อกลับลงมาสู่เป้าหมาย

 

ช่วงสาม – ช่วงที่รับผลพวงจากสงคราม

หนึ่งในผลพวงที่จะตามมา ที่หลายคนมองไว้ คือ Recession หรือ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

ที่หวาดหวั่นกันอยู่ตอนนี้คือ Recession ครั้งนี้ อาจจะเป็น Global Recession

นั่นคือมันอาละวาดไปทั่วโลก

เพราะอย่างที่เห็นๆ กันขณะนี้การทำสงครามกับเงินเฟ้อ เกิดในหลายประเทศพร้อมๆ กัน

สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยพร้อมๆ กัน จะทำให้สมดุลระหว่าง Demand และ Supply หรืออุปสงค์กับอุปทานเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง

ถึงจุดนั้นก็หวังว่าเงินเฟ้อที่ดื้อยาจะยอมสยบ กลับมาที่เป้าหมาย

แต่ธนาคารกลางของหลายประเทศก็ก็หวังว่าจะไม่ต้องถึงจุดนั้น

เพราะมันจะเป็นเส้นทางที่เหนื่อยมาก มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันไม่น้อยระหว่างทาง

คิดแบบโหดๆ อย่างนักเศรษฐศาสตร์สายเข้มข้น ถ้าจำเป็นที่จะต้องบรรลุเป้าหมายของการดึงอัตราเงินเฟ้อลงมา ก็อาจจะต้อง “จงใจสร้าง” Recession

เหมือนจงใจเตะขาให้คนที่วิ่งเร็วเกินไปล้มลงเพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่…แบบช้าลง

จึงต้องลุ้นกันว่าเจ้าผู้ร้ายที่ชื่อ “เงินเฟ้อ” จะยอมจำนนก่อนที่จะต้องเจอไม้เด็ดแรงๆ หรือไม่

หรือจะต้องถึงขั้นทิ้ง “ไพ่ตาย” ใบนี้

แต่ที่น่ากังวลก็คือ ระหว่างสู้ศึกอยู่นี้ จะมีผลพวงอันไม่พึงประสงค์อีกเรื่องเกิดขึ้น

นั่นคือกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะเริ่มเกิดปัญหา

กลายเป็น Emerging Market Crisis ในช่วงนี้

ดอกเบี้ยสูงลิ่ว เศรษฐกิจซบเซา ความยาวนานของสงครามกับเงินเฟ้อ จะทำให้หลายประเทศเข่าอ่อน เข้าสู่วิกฤตในที่สุด

 

ช่วงสี่ – ช่วงฟื้นฟู

หลัง Fed และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมาย ก็จะเป็นเวลาของการเก็บซากปรักหักพังจากสงคราม

ถึงเวลาจ่ายยาตัวใหม่ นั่นคือยากระตุ้นเศรษฐกิจ

นั่นคือช่วงที่ Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่อง นำเศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอย

เข้าสู่ช่วง “การขยายตัวอย่างยั่งยืน”

ช่วงนี้ต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด

ประเมินกันว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี (บวกลบ) นับแต่ต้นปีนี้เป็นต้นไป

ในท้ายที่สุด แต่ละช่วงจะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าจะมีปัจจัยอะไรใหม่ๆ ที่พลิกผัน

อาจเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติม

หรือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความบอบช้ำ

 

พอตั้งวงวิเคราะห์กันเสร็จผมก็สรุปว่าคนไทยต้องรัดเข็มขัดให้แน่น เพราะเที่ยวบินนี้กำลังต้องวิ่งผ่านอากาศแปรปรวนหนักอีกค่อนข้างยาว

ว่าแต่ว่ากัปตันเครื่องบินจะมีความช่ำชองคล่องแคล่วพอที่จะพาเครื่องบินผ่านพ้นอากาศเลวร้ายต่อเนื่องได้หรือไม่

หรือผู้โดยสารมีสิทธิที่จะลงมติเปลี่ยนนักบินหรือไม่?