คำ ผกา : สวัสดิการแห่งรัฐ

 

ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนจนโดยการมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรนี้มีวงเงินให้ใช้ 200 บาท และ 300 บาท ในกรณีมีรายได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อปี และไม่เกินสามหมื่นบาทต่อปี มีค่าเดินทาง 500 บาท สำหรับรถไฟฟ้า กรณีกรุงเทพฯ ปริมณฑล และรถไฟ รถ บ.ข.ส. กรณีคนต่างจังหวัด มีค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อสามเดือน

คนมีรายได้ต่ำกว่าสามหมื่นบาทต่อปี แปลว่ามีรายได้วันละ 83 บาทโดยประมาณ

คนที่มีรายได้หนึ่งแสนบาทต่อปี แปลว่ามีรายได้วันละ 278 บาทโดยประมาณ

นั่นแปลว่า มีคนไทยจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

มีคนวิจารณ์กันมากเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ร้านธงฟ้า ร้านที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีน้อย ทำให้การจะใช้เงินสองร้อยถึงสามร้อยบาทต่อเดือนที่ได้มา อาจจะยุ่งยาก ไม่สามารถซื้อที่ร้านค้าที่อยู่ใกล้ๆ บ้านได้

หากคนต่างจังหวัดไม่ได้เดินทางโดยรถ บ.ข.ส. หรือรถไฟ เงิน 500 บาทนั้นก็เท่ากับว่าไม่ได้ใช้

และทั้งหมดนี้เราก็ไม่รู้ว่าการออกแบบการใช้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ออกแบบมาบนฐานคิดอะไร

เช่น อาจจะคิดว่า 500 บาทเพื่อแบ่งเบาค่าเดินทางในยามที่ต้องเดินทาง มันคนละเรื่องกับการแจกเงินให้คนละ 500 ทุกเดือนๆ – และรัฐไม่ได้มีนโยบายจะแจกเงินให้ใช้ แต่บัตรนี้ออกมาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเท่าที่เป็นจริง

ดังนั้น เมื่อมีวงเงินเหลือแต่ละเดือนจึงต้องเซ็ตค่าเป็นศูนย์กันใหม่ เพราะนี่ไม่ใช่การ “แจกเงิน” แต่เป็น “สวัสดิการ”

อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองเรื่องสวัสดิการแตกต่างกันได้

ตอนนี้รัฐมองว่า สวัสดิการคือช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้ต่ายของคนจนบ้าง เดือนละสองร้อยสามร้อยก็พอเป็นค่ากะปิ น้ำปลา น้ำตาล น้ำมันพืช ไข่ไก่ มาม่า ฯลฯ – เอาน่า ไม่ได้แย่อะไร

ส่วนผู้มีรายได้น้อย ร้อยบาท ห้าสิบบาท ก็ยังดีกว่าศูนย์บาท

ดังนั้น ถามว่า นโยบายนี้ทำให้คนมีรายได้น้อยแฮปปี้ไหม

คำตอบก็คือแฮปปี้อยู่แล้ว สองร้อย สามร้อยก็มีความหมายนะ ถ้ามาม่าซองละ 6 บาท ซื้อได้ตั้ง 50 ซอง

ความช่วยเหลือเช่นนี้ จะเรียกสวัสดิการแห่งรัฐก็ได้ถ้าอยากเรียก

แต่สัมฤทธิผลของมันน่าจะเป็นการบรรเทาทุกข์ระยะสั้นเหมือนการแจกผ้าห่มคนจนในฤดูหนาว หรือแจกข้าวสาร ปลากระป๋องในเวลาน้ำท่วม

ทว่า สวัสดิการแห่งรัฐในความหมายที่ลึกกว่านั้นน่าจะหมายถึงการมอบคุณภาพชีวิตในระดับที่มนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างถ้วนหน้ากัน

รัฐที่เชื่อในนโยบายสวัสดิการ (รัฐที่ไม่เชื่อ ไม่ทำ ก็ไม่ได้แปลว่าผิด เพราะรัฐสวัสดิการ เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง) เชื่ออย่างลึกซึ้งว่า มนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วต้องได้รับการอำนวยให้สามารถดำรงชีพอย่างไม่สิ้นศักดิ์ศรีของความเป็นคน

ดังนั้น รัฐสวัสดิการจะคิดเรื่องที่อยู่อาศัยฟรี ค่าเล่าเรียนฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี ตกงาน มีเงินเดือนให้ และตอนนี้ก็ไปไกลถึงเรื่องการมีรายได้มาตรฐานสำหรับการดำรงชีพ หรือ Universal Basic Income

(ส่วนรัฐที่เชื่อในนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะไม่เชื่อเรื่องสวัสดิการ มองว่า การมีสวัสดิการจากรัฐทำให้พลเมืองขี้เกียจ ไม่ทำงานก็ได้เงิน ตรรกะของเสรีนิยมคือ ทำมากได้มาก ขยันมากได้มาก พลเมืองมีหน้าที่ขวนขวาย ปากกัดตีนถีบ ใครอ่อนแอก็แพ้ไป)

ที่อยู่อาศัยฟรีในทางนโยบายเรียกว่า public housing ภาษาไทยเรียกว่า การเคหะแห่งชาติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ที่ริเริ่มเรื่อง public housing ช่วยคนจน คนมีรายได้น้อย คนชั้นกลางที่เพิ่งเริ่มทำงาน จึงทำแฟลตดินแดง

น่าเสียดายที่คนไทย “ดูเบา” เรื่อง public housing ไม่เคยคิดว่ามันต้องเป็นบริการของรัฐที่จะต้องสร้างแฟลต อพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ ในราคาย่อมเยา คุณภาพดี สิ่งแวดล้อมดี ให้มนุษย์แรงงานที่อยู่ในเขตเมืองได้อยู่อาศัยคนไทยกลับไปคิดว่าเรื่อง “บ้าน” เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” เป็นความฝัน การมีบ้านอยู่ การซื้อบ้านกลายเป็นหลักไมล์แห่งความสำเร็จในชีวิต ทั้งๆ ที่การเก็บเงินซื้อบ้าน ผ่อนบ้าน ทำให้คนต้อง “จน” กว่าที่ควรจะเป็น

ลองนึกดูว่า ถ้ามนุษย์แรงงานที่รับเงินเดือนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ถึงสามหมื่นบาท สามารถเช่าแฟลตของรัฐบาลที่มีทำเลใจกลางเมือง ในแฟลตที่สนามกีฬา สวนสาธารณะ ราคาถูก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนเหล่านี้ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้าน ไม่ต้องแบกรับภาระผ่อนรถ – รัฐสวัสดิการย่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งมวลชน และการเดิน การปั่นจักรยาน ที่ทำให้คนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นั่นแปลว่า พวกเขาจะมีเงินเหลือต่อเดือนมากขึ้น

แล้วถ้ารัฐจัดบริการการศึกษา โรงเรียนดีๆ ใกล้บ้าน (บ้านการเคหะ นั่นแหละ) เด็กเดินไปโรงเรียนได้ พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินจ่ายเงินให้ลูกไปเรียนพิเศษ ไม่ต้องกังวลอนาคตตัวเองเมื่อเกษียณ ไม่ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ (เพราะพ่อแม่พวกเขาก็มีเงินเกษียณของตนเอง) พวกเขาก็ย่อมมีชีวิตที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือนสูงมาก

และยังอาจใช้เงินที่เหลือไปกับการเรียนรู้ หรือเพิ่มต้นทุนทางวัฒนธรรมให้กับตนเอง

เช่น มีเงินไปดูหนัง ดูละคร ไปเที่ยวชมนิทรรศการศิลปะ มีเวลาดื่มด่ำกับใดๆ ก็ตามที่จะช่วยเพิ่มความละเมียดให้กับชีวิต

เมื่อชีวิตไม่เหนื่อยมาก ก็มีเวลาคิดถึงคนอื่น คิดถึงสิ่งแวดล้อม เมื่อชีวิตมีความมั่นคง ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความจะเอาตัวเองรอดก่อนคนอื่นช่างแม่ง ก็จะค่อยๆ เลือนราง

คนชอบมาถามฉันว่า ทำไมบ้านอื่นเมืองอื่น ถนนหนทางเขาสะอาด ทำไมบ้านอื่นเมืองอื่นเขาไม่เอาถนนมาเป็นที่จอดรถ ทำไมเราทิ้งขยะลงคลอง ฯลฯ แน่นอนส่วนหนึ่งเป็นวินัย และการปลูกฝังเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะที่แปลว่าคุณต้องเคารพคนอื่น

แต่อีกด้านหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องคนไทยสันดานแย่กว่าคนชาติอื่น

แต่การที่เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลาง insecurities หรือท่ามกลางความเสี่ยงในชีวิตทุกเมื่อเชื่อวัน เสี่ยงตกงาน เสี่ยงไม่เงินจายค่าเช่าบ้าน เสี่ยงถูกเจ้าหนี้ตามมายึดเครื่องมือทำมาหากิน เสี่ยงถูกเทศกิจไล่ เสี่ยงไม่มีที่ซุกหัวนอน ชีวิตบนความไม่มั่นคง และสั่นคลอนทาง “อนาคต” ที่เกิดกับทั้งชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง (เผลอๆ ชนชั้นกลางจะหนักกว่า เพราะต้านทานความทุกข์ทางกายได้น้อยกว่าชนชั้นแรงงาน)

ท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงทางใจ

เมื่อไม่มั่นคงทางใจก็จะเพาะบ่มนิสัย “หยิบฉวย” เอาผลประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้าไว้ก่อน ตั้งแต่แซงคิว แย่งที่จอดรถ ยึดเอาถนนสาธารณะจอดรถ หรือการคอร์รัปชั่นเล็กๆ น้อยๆ

การได้ “เอาเปรียบ” คนอื่นๆ สักเล็กน้อย กลายเป็นชัยชนะที่คนไทยอยากสะสม

ได้ทิ้งทิชชูชิ้นเล็กๆ ไว้ในรถแท็กซี่ แค่นี้ก็ฟิน

ฟินเพียงเพราะไม่ต้องเอาขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน ดีจังเลย

นี่คือโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่กัดกร่อนนิสัยใจคอของพลเมืองให้ไขว้เขว อัปลักษณ์ ไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่พลเมืองเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

รู้ตัวอีกที ชนชั้นนำเขาก็บอกว่า คนทุเรศๆ อย่างพวกแก อย่าเพิ่งปกครองตัวเองเลย ดูสิ สักแต่ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางยังทำไม่ได้ ไปเข้าแถวฝึกวินัยก่อนไป๊!!

สําหรับฉัน รัฐสวัสดิการจึงสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ค่าแรงขั้นต่ำต้องสูง การศึกษาต้องฟรี ที่อยู่อาศัยต้องฟรี รักษาพยาบาลต้องเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การขนส่งมวลชนต้องเต็มร้อย พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ฟรีต้องเยอะ เงินเดือนสำหรับคนตกงานต้องมี

ถามว่า คนตกงานไปให้เงินเดือน พวกนี้ก็ไม่หางานสิ

โอเค คนขี้เกียจ สันหลังยาว หาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตก็คงมี และถามอีกคำว่า เลี้ยงดูคนขี้เกียจด้วยเงินเดือนขั้นต่ำในการดำรงชีวิต ดีกว่าเอาเงินภาษีไปถลุงกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่? (เช่นอะไรก็ไปคิดกันเองเอง)

แต่โดยหลักคิด ที่เราต้องจ่ายเงินเดือนคนตกงาน เพราะเขาจะได้ไม่ต้องรีบ “ทำงาน” ที่ไม่เหมาะกับเขา หรือในภาวะที่ต้องรีบหางานก็จะเป็นโอกาสให้ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ มีอำนาจในการต่อรองเรื่องค่าแรง เรื่องสวัสดิการน้อย ถูกกดค่าแรง แค่ไหนก็ต้องยอม เพราะดีกว่าอดตาย

แต่ถ้าเรามีเงินให้คนตกงาน หากเขาไปเจอนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบมากๆ เขาก็จะได้ไม่ต้องทำ หรือเอาเวลาช่วงที่ตกงานไปเรียน ไปฝึกฝนวิชาชีพอื่นๆ หรือหาความรู้ใหม่ๆ และอาจจะได้ทำงานที่ดีกว่าเดิม

นายจ้างเมื่อไม่สามารถ “กด” แรงงานได้ เพราะแรงงานมีทางเลือกก็ต้องพัฒนาตัวเองว่า การจ่ายแรงที่ยุติธรรมโดยที่ตัวเองยังมีกำไรจากธุรกิจนั้นต้องทำอย่างไร ไม่ใช่จะมาหากำไรจากการจ่ายค่าแรงถูกๆ เพียงอย่างเดียว

โอยยย สวัสดิการแบบนี้ รัฐบาลจะไปหาเงินจากไหน?

คำตอบคือ ภาษี – หลักการง่ายๆ คือเก็บภาษีคนรวยอย่าให้รวยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ จนเป็นอินฟินิตี้ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากตลาดหุ้น สารพัดภาษีที่เมืองไทยยังไม่ได้ “สะสาง” เพื่อให้ระบบภาษีเป็นการกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ เรายังไม่เคยทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่มักเน้นเก็บภาษีบาป ซึ่งไม่พอ และไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำใดๆ ทั้งสิ้น

การช่วยคนจนให้หาย “จน” ที่ยั่งยืนคือการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง และการถือครองทรัพยากร

เอาตัวเลขการถือครองที่ดินมากางดู แล้วตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรการถือครองที่ดินจะกระจายในแนวราบมากกว่านี้

ที่ดินมูลค่าสูงใจกลางเมืองควรเป็น public housing หรือควรเป็นของเอกชน ที่สร้างคอนโดฯ ห้องละหลายร้อยล้านให้คนไม่กี่คนอยู่

และคงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนนักหากจะบอกว่า คนจะหายจนได้ ต้องมี social securities ต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย ทางสังคม เข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข (ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การศึกษา สาธารณสุขชนิดที่ทำไว้ให้คนจนโดยเฉพาะ เหมือนสินค้าเกรดซี เกรดดี) ต้องอยู่ในเมืองที่ได้รับการออกแบบมาให้ปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน สว่างไสว กิ่งไม้ไม่ตกใส่หัว

ซับซ้อนน้อยกว่านั้น การทำให้คนหายใจ รัฐต้องลงทุนกับบริการสาธารณะ (แบบจริงจัง จริงใจ) มากกว่าเอาเงินมาแจกคนเดือนละสองร้อยสามร้อย

และเชื่อฉันสิ เรื่องแบบนี้ ควรกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นเขาทำ เขาจัดการ และให้เขาบริการภาษีกันเองด้วย

ที่พูดเรื่องกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำนั้น ขอให้ลงมือทำจริงๆ

เขียนมาตั้งเยอะตั้งแยะ ก็รู้ว่า เขียนไปก็เท่านั้น เพราะที่ฉันเขียน ใครๆ เขาก็รู้ เพียงแต่เพราะเขารู้ เขาจึงรู้อีกว่า “ต้องไม่ทำ”