วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (3)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลักคิดกับข้อจำกัด (ต่อ)

ในกรณีส่วนใหญ่ของบริเวณรอบนอกดังกล่าวได้มาด้วยการใช้กำลังเข้าพิชิต แต่บางครั้งโดยเฉพาะในสมัยกลางของยุโรปนั้น การขยายดินแดนอาศัยการแต่งงานระหว่างตระกูลของผู้ปกครองรัฐที่เดิมเป็นเอกเทศสองรัฐ หน่วยใหม่ที่เกิดขึ้นนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ราชาธิปไตยแบบรวมรัฐ” (composite monarchy)

เมื่อได้นิยามแบบพื้นๆ แล้ว โฮวีก็ประมวลประเภทของจักรวรรดิว่ามีหลากหลายประเภทด้วยกัน แต่การแบ่งประเภทที่พื้นฐานที่สุดและสำคัญที่สุดคือ จักรวรรดิทางบกกับทางทะเล

สำหรับภาพรวมของจีนที่เริ่มเป็นจักรวรรดิตั้งแต่เมื่อราว 2,200 ปีก่อนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าจีนจัดอยู่ในประเภทจักรวรรดิทางบก

ซึ่งถือกันว่าเป็นรูปแบบจักรวรรดิที่เก่าแก่กว่าจักรวรรดิทางทะเล

 

กล่าวเฉพาะจีนแล้ว แม้จะเป็นความจริงที่ว่าจีนเริ่มขยายดินแดนของตนมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ คือในสมัยราชวงศ์ซาง (ก.ค.ศ.1600-1046) และราชวงศ์โจว (ก.ค.ศ.1046-256) ก็ตาม

แต่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรวรรดิอย่างแท้จริงคือในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) และราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.220)

โดยมิต้องมองจักรวรรดิที่อยู่ทางตะวันตกสุดอย่างจักรวรรดิโรมัน ว่ามีความสำคัญมากที่สุดอย่างไร แม้ว่าในระยะยาวแล้วความคิดต่างๆ จากโรมและเกี่ยวกับโรม ได้หล่อหลอมโลกสมัยใหม่ได้อย่างเด็ดขาดแน่นอนยิ่งกว่าความคิดจากที่อื่นใดก็ตาม

แต่ในราว ค.ศ.700 หรือแม้แต่ในราว ค.ศ.1700 จักรวรรดิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องหลายจักรวรรดิในจีนกลับมีเอกภาพทางการเมืองมากกว่า มีประชากรมากกว่า มีความรุ่งเรืองมั่งคั่งมากกว่า

และยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียิ่งกว่าจักรวรรดิใดๆ ในทางตะวันตกแทบทุกแง่ทุกมุม

ทั้งยังมีเครือข่ายการค้าและอิทธิพลกว้างไกลหลากหลายกว่า และคงมีประชากรถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก ซึ่งควบคุมหรือมีส่วนร่วมในการค้าทางไกลคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าจักรวรรดิใดๆ ของทางตะวันตกอีกด้วย

ที่สำคัญ หากตัดข้อโต้แย้งที่เป็นไปอย่างกว้างขวางว่า ประวัติศาสตร์สมัยใหม่มุ่งเน้นยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) แล้ว ถ้าจะมีที่ใดสักแห่งเมื่อหลายศตวรรษก่อนที่เราเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ที่นั้นก็คือ จีน

ที่ซึ่งผู้ปกครอง (จักรพรรดิ) จีนก็ถือตนเช่นนั้น คือมองว่าดินแดนที่ตนปกครองเป็น “จักรวรรดิกลางโลก”

จากอรรถาธิบายนี้จึงไม่เป็นที่สงสัยถึงความเป็นจักรวรรดิทางบกของจีนอีกต่อไป

 

ถึงกระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า การเป็นจักรวรรดิทางบกของจีนนั้น มิได้หมายความว่าจีนจะไม่เคยขยายดินแดนด้วยการข้ามน้ำข้ามทะเลไปด้วย อันที่จริงแล้วเคยทำเช่นนั้นในสมัยที่ชนชาติมองโกลเรืองอำนาจในจีน โดยพวกมองโกลได้ยกทัพเรือไปตีญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย แต่ก็พบกับความล้มเหลวทั้งสองที่

ความล้มเหลวนี้นำไปสู่ข้อสังเกตอยู่สามประการด้วยกัน

ในประการแรก กลุ่มชนที่ยกทัพเรือไปตีนั้นคือมองโกล มิใช่ชนชาติฮั่น (จีน) การที่เป็นมองโกลนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เพราะมองโกลเป็นชนเผ่าเร่ร่อนมาแต่เดิม การที่จะยกทัพเรือไปตีชาติอื่นจึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร

แต่ที่ล้มเหลวนั้นเป็นเพราะการเดินเรือไม่ใช่ความชำนาญของชาวมองโกล ซึ่งสันทัดการใช้ชีวิตเร่ร่อนบนหลังม้าที่รวมทั้งการสู้รบด้วย

ประการต่อมา ถ้าไม่นับชนชาติมองโกลแล้ว “จีน” ที่หมายถึงชนชาติฮั่นจึงไม่เคยยกทัพเรือไปตีใครมาก่อน จีนได้แต่แล่นเรือไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อสำรวจทะเล เพื่อทำการค้า หรือเพื่อเจริญไมตรีกับชนชาติอื่นที่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ของตนออกไป

ประการสุดท้าย แม้จีนจะไม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้กำลังเข้าตีชิงเอาดินแดนจากชาติใด แต่การเดินเรือในประการที่สองนั้น (โดยเฉพาะการสำรวจทะเล) ทำให้จีนนำมากล่าวอ้างแม้ในทุกวันนี้ว่าน่านน้ำและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้แทบทั้งหมดเป็นของตน

 

ข้อสังเกตทั้งสามประการข้างต้นมีความเชื่อมโยงกันในตัวเอง ขาดการพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ แต่ข้อสังเกตนี้ย่อมมาขมวดปมอยู่ในประการสุดท้าย ว่าการกล่าวอ้างของจีนในทะเลจีนใต้นั้น ถึงที่สุดแล้วเราควรจัดให้จีนเป็นจักรวรรดิทางทะเลได้หรือไม่

ถ้าได้ อะไรคือคำอธิบายที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างจีนกับจักรวรรดิทางทะเลชาติอื่นๆ ที่สามารถเป็นจักรวรรดิทางทะเลได้ก็ด้วยการใช้กำลังเข้ายึดครองดินแดนอื่น โดยเฉพาะจักรวรรดิยุโรป

ที่สำคัญ หากสามารถสร้างคำอธิบายความเป็นจักรวรรดิทางทะเลให้กับจีนได้แล้ว การอ้างเหตุผลในการเดินเรือของจีนในประการที่สองย่อมถูกตั้งคำถามไปด้วยว่า เหตุใดการเดินเรือด้วยข้ออ้างว่าเพื่อสำรวจทะเล เพื่อทำการค้า หรือเพื่อเจริญไมตรีกับชนชาติอื่นที่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ของตนออกไปนั้น จึงทำให้จีนได้ดินแดนทางทะเลไปด้วย

ด้วยคำถามที่ว่านี้เองที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการอธิบายจักรวรรดิจีนขึ้นมา กล่าวคือ แม้จะไม่เป็นที่สงสัยว่าจีนเป็นจักรวรรดิทางบก แต่กับการเป็นจักรวรรดิทางทะเลแล้วกลับมีปัญหาในการอธิบาย และปัญหานี้จะไม่มีขึ้นเลยหากมันไม่ไปเกี่ยวพันกับทะเลจีนใต้

โดยเฉพาะเมื่อจีนยกเอาเหตุผลทางประวัติศาสตร์มากล่าวอ้าง และประวัติศาสตร์ที่จีนยกมานั้นก็ให้อยู่ในกรอบเวลาของงานศึกษานี้ด้วย

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ข้อจำกัดในการอธิบายดังกล่าวอยู่ตรงไหน หรืออยู่ตรงประเด็นใด?

 

การตอบในเบื้องต้นจึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการย้อนกลับไปดูว่า ในทางพฤติกรรมแล้วชาติที่เป็นจักรวรรดิทางทะเลจริงๆ นั้นแสดงออกอย่างไร แน่นอนว่า ตัวอย่างที่ดีและชัดเจนที่สุดจะเป็นจักรวรรดิใดไปไม่ได้นอกจากยุโรป

และพฤติกรรมที่ยุโรปแสดงออกจนอื้อฉาวก็คือ การค้าทาสที่เกิดขึ้นหลังจากข้ามน้ำข้ามทะเลไปล่าอาณานิคมมาได้แล้ว และการนำเชื้อโรคไปแพร่ยังอาณานิคมของตน

จากพฤติกรรมที่ว่านี้เมื่อนำมาพิจารณากรณีจีนแล้วจะพบว่า จีนไม่เคยมีประวัติการค้าทาสต่างแดนมาก่อน จะมีก็แต่ทาสที่เกิดขึ้นจากภายในรัฐหรือจักรวรรดิของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นทาสที่เป็นเชลยที่ได้มาจากการศึกต่างๆ

ส่วนการแพร่เชื้อโรค จีนไม่เพียงไม่มีพฤติกรรมในทางนี้เท่านั้น ตรงกันข้าม ความรู้ทางการแพทย์ “ของยุโรป” ที่ถูกนำมารักษาหรือป้องกันเชื้อโรคร้ายจนสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งยุโรปย่อมต้องเป็นหนี้การค้นพบของจีน ทั้งนี้ ยังมินับหนี้เดียวกันนี้ที่มีกับอินเดีย อาหรับ และ “ชาติเอเชีย” อื่นๆ อีกด้วย

จากเหตุนี้ ในทางประวัติศาสตร์แล้วจีนจึงไม่มีพฤติกรรมจักรวรรดิทางทะเลดังชาติอื่น แต่ในเมื่อจีนยกเอาประวัติศาสตร์มาเกี่ยวพันกับทะเลจีนใต้ คำอธิบายการเป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีนจึงมีคำถามว่า

ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะอธิบายการเป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีนว่าอย่างไร

 

กล่าวคือ ถ้าหากจะอธิบายว่าจีนเป็นจักรวรรดิทางทะเลด้วยแล้ว คำอธิบายนี้ย่อมทำให้นิยามจักรวรรดิทางทะเลในเชิงพฤติกรรมแตกต่างไปจากที่มีอยู่แต่เดิม โดยจะเป็นคำอธิบายใหม่ที่แยกต่างหากออกไปเป็นกรณีพิเศษ หรือไม่ก็อาจถูกจัดเข้าไปรวมกับนิยามเดิมด้วยการเพิ่มพฤติกรรมของจีนเข้าไป

แต่ถ้าหากเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวมิอาจจัดให้จีนเป็นจักรวรรดิทางทะเลได้ (เนื่องจากไม่อยู่ในเกณฑ์พฤติกรรมเดียวกันกับที่ยุโรปได้ทำเอาไว้) คำอธิบายนั้นก็ต้องมีคำตอบด้วยว่า พฤติกรรมที่ทำให้จีนได้มาซึ่งพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ (ตามที่จีนอ้าง) ควรมีหลักคิดอะไรมาอธิบายว่า ด้วยเหตุนั้นจีนจึงเป็นจักรวรรดิทางทะเลได้เช่นกัน

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว งานศึกษานี้จึงอาจมีปัญหาในการอธิบายการเป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีนอยู่บ้าง ทางออกที่ดีที่สุดจึงคือ การพยายามอธิบายผ่านพฤติกรรมเท่าที่บันทึกของจีนได้ระบุไว้ เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเป็นตัวชี้วัดโดยตัวของมันเอง เพราะอย่างน้อยที่สุดจีนเองก็มีเจตนาที่จะเป็นจักรวรรดิทางทะเลปรากฏอยู่ด้วย เมื่อจีนได้เคยยกทัพไปตีญี่ปุ่นและอินโดนีเซียที่แม้จะล้มเหลวก็ตาม

แต่เจตนาได้ปรากฏชัดผ่านพฤติกรรม ถึงแม้ “จีน” ที่ยกทัพไปตีจะเป็นพวกมองโกล แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จีนได้จัดให้ประวัติศาสตร์ในช่วงที่ว่าเป็นประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ คือเป็นช่วงราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1206-1368)

อันเป็นราชวงศ์ที่ชนชาติมองโกลปกครองจีน