‘อีลอน มัสก์’ กับดีลซื้อทวิตเตอร์ ล่ม ไม่ล่ม จบ ไม่จบ/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

‘อีลอน มัสก์’ กับดีลซื้อทวิตเตอร์

ล่ม ไม่ล่ม จบ ไม่จบ

 

นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก นักธุรกิจและนักลงทุน ผู้ตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อได้ตลอดเวลา และยังเป็นผู้ก่อตั้งของบริษัทสเปซเอ็กซ์ รวมไปถึงเทสลา มอเตอร์ส และผู้ร่วมก่อตั้งเพย์พาล

ข่าวใหญ่ล่าสุดเมื่อตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สั่นสะเทือนโลกธุรกิจ คือการประกาศซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” ด้วยเงินสดจำนวน 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.38 ล้านล้านบาท

โดยมัสก์กล่าวหลังบรรลุข้อตกลงในการซื้อขายว่า “ทวิตเตอร์” ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพมหาศาล” และเขาก็จะทำงานร่วมกับผู้ใช้งานทุกคนในการปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมา โดยเขาตั้งใจที่จะทำให้ทวิตเตอร์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการพัฒนาลูกเล่นใหม่ๆ ออกมา และสิ่งสำคัญที่ต้องจัดการอันดับแรกก็คือ การลบบัญชีปลอมจากทวิตเตอร์

แต่ข่าวการซื้อกิจการของทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ ก็ดูเหมือนจะลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด

 

เพราะหลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม มัสก์ก็ออกมาประกาศว่า การซื้อทวิตเตอร์อาจจะต้องหยุดลง เพราะเขาไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับเรื่องบัญชีปลอมในทวิตเตอร์ว่าจริงๆ แล้วมีจำนวนเท่าไหร่

แม้ว่าทวิตเตอร์จะบอกว่ามีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่มัสก์ไม่เชื่อและอยากจะขอดูรายละเอียดก่อนที่จะตกลงซื้อทวิตเตอร์ และมัสก์เชื่อว่า บัญชีปลอมในทวิตเตอร์ น่าจะมีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า

ต่อมาอีกไม่กี่วัน มัสก์ก็ออกมาประกาศจะรื้อฟื้นแผนการเจรจาซื้อกิจการทวิตเตอร์รอบใหม่ แต่ราคาการตกลงซื้อขาย อาจจะ “ลดลง” ไปจากตอนแรกที่ตกลงกันไว้

กระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บอร์ดของทวิตเตอร์ก็มีมติเอกชน ยอมขายทวิตเตอร์ให้กับมัสก์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่มัสก์ก็ยังจะออกมาขู่ล้มดีลการซื้อทวิตเตอร์อีก ด้วยเหตุผลเดิม คือการที่ทวิตเตอร์ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอมว่าจริงๆ แล้วมีอยู่เท่าไหร่

 

ล่าสุด ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มัสก์ก็ได้ประกาศ “ยุติ” ข้อตกลงในการซื้อทวิตเตอร์มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปเรียบร้อย โดยอ้างว่าบริษัททวิตเตอร์ได้ละเมิดข้อตกลงการควบรวมกิจการหลายครั้ง

โดยมัสก์ระบุว่า เขาได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงเสนอซื้อทวิตเตอร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทล้มเหลวในการให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับจำนวนสแปมและบัญชีผู้ใช้งานปลอม

ซึ่งในจดหมายที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ทนายความของมัสก์ระบุว่า ทวิตเตอร์ล้มเหลวหรือปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลตามที่ลูกความของเขาเรียกร้อง

โดยจดหมายของทนายความของมัสก์ระบุว่า บางครั้งทวิตเตอร์เพิกเฉยต่อคำขอของมัสก์ และบางครั้งก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ดูเหมือนไม่ยุติธรรม ขณะที่บางครั้งก็อ้างว่าปฏิบัติตามแต่กลับให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่สามารถใช้งานได้

 

ฝ่ายนายเบรท เทเลอร์ ประธานทวิตเตอร์ได้ทวีตว่า บริษัทจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการควบรวมกิจการจะดำเนินต่อไป และคณะกรรมการมุ่งมั่นที่จะปิดดีลดังกล่าวในราคาและเงื่อนไขตามที่ได้ตกลงกับมัสก์ ซึ่งเขามั่นใจว่า จะฟ้องร้องสำเร็จด้วย

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ไบรตัน ควินน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายบอสตันคอลเลจ มองว่า ในเรื่องนี้ มัสก์อาจจะถูกศาลสหรัฐสั่งบังคับให้ซื้อกิจการของทวิตเตอร์ แม้จะยื่นยกเลิกการเข้าซื้อกิจการไปแล้วก็ตาม เพราะทวิตเตอร์มีแนวโน้มว่าจะขอคำตัดสินจากศาลว่า ทวิตเตอร์ไม่ได้ทำผิดข้อตกลงการซื้อขายกิจการ และจะขอให้ศาลสั่งให้มัสก์ปฏิบัติตามภาระผูกพันภายใต้ข้อตกลงการซื้อขายกิจการ

ซึ่งภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการซื้อขายกิจการนั้น ทวิตเตอร์จะสามารถขอให้ผู้พิพากษาบังคับให้มัสก์ซื่อทวิตเตอร์ในราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ตามข้อตกลงเดิมได้ หรือไม่ก็อาจจะสามารถขอค่าธรรมเนียมยกเลิกการซื้อขายจากมัสก์ได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยควินน์เชื่อว่า ข้อโต้แย้งในเรื่องบัญชีปลอมของมัสก์นั้น อาจจะล้มเหลวในชั้นศาล

สรุปแล้ว ดีลนี้ อาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ ส่วนจะสามารถตกลงกันได้อย่างไร ต้องรอดูกันต่อไปสำหรับดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้