แสนดี…กับอนาคตอาชีพนักเขียน/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

แสนดี…กับอนาคตอาชีพนักเขียน

 

สนทนากับแสนปิติ “แสนดี” สิทธิพันธุ์ ได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นจริงจังกับการที่จะมีอาชีพเป็นนักเขียนซึ่งเป็นคนละเส้นทางชีวิตกับคุณพ่อ…ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชีวิต 4 ปีที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันที่เมืองซีแอตเติลเป็นประสบการณ์ที่ “เปลี่ยนชีวิต” หรือ life-changing สำหรับแสนดี

ผมถามว่าเปลี่ยนชีวิตของเด็กหนุ่มคนนี้ในรูปแบบไหนบ้าง

“ผมได้พบผู้คนมากมาย พบอาจารย์และโปรเฟสเซอร์หลากหลายซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของผมมาก และชีวิตในมหาวิทยาลัยแห่งนี้นำพาผมไปในหลายๆ ทิศทางที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน…”

ประสบการณ์หลากหลายและตื่นตาตื่นใจนี่แหละที่ทำให้ค้นพบตัวเองว่าต้องการอะไร

“ผมมองดูตัวเองเมื่อ 4 ปีก่อนกับตอนนี้…เป็นคนละคนกันเลยครับ … ผมมองตัวเองในกระจก บางครั้งยังถามตัวเองว่าคนนี้คือใครนี่อะ …”

ผมสงสัยว่าเขาเปลี่ยนไปขนาดนั้นเลยหรือ? เปลี่ยนไปทางไหนบ้าง?

แสนดีบอกว่าน่าจะเป็น “ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น…(maturity)”

เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า “ถ้าผมย้อนเวลากลับไปได้อีก ถามว่าผมจะยังตัดสินใจไปมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไหม คำตอบคือแน่นอน…”

ผมถามว่าแสนดีได้ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ แห่งอื่นของสหรัฐหรือเปล่า

“ครับ ผมไปดูมาหลายแห่ง และสมัครไปอีกหลายแห่ง และที่ตอบกลับมาว่าจะรับผม เช่น University of Toronto, Penn State University เป็นต้น ผมพิจารณาแล้ว ที่ตั้งอยู่ไกลไปหน่อย…”

มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (UW เรียกง่ายๆ ว่า Washington หรือบางคนก็เรียกว่า U-Dub อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1861 หรือ 161 ปีก่อน เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดบนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ

University of Washington ก่อตั้งขึ้นในซีแอตเทิลประมาณหนึ่งทศวรรษหลังจากการก่อตั้งเมือง

เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง มีวิทยาเขตหลัก 703 เอเคอร์ (ประมาณ 1,757 ไร่) ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยของเมือง เช่นเดียวกับวิทยาเขตในทาโคมาและโบเทลล์

โดยรวมแล้ว UW ครอบคลุมอาคารมากกว่า 500 หลัง และพื้นที่รวมกว่า 20 ล้านตารางฟุต

มีระบบห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีห้องสมุดทั้งหมดรวมกันกว่า 26 แห่ง รวมถึงศูนย์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ ห้องบรรยาย และสนามกีฬา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกว่า 140 คณะ

“U-Dub ticks all the boxes…” แสนดีบอกผม

แปลว่าที่นี่ตอบทุกโจทย์ที่เขาต้องการในการเรียนต่อให้ได้ครบถ้วนตามความประสงค์

ผมสงสัยว่ามันเกี่ยวกับอากาศทางตะวันตกของอเมริกาที่ไม่หนาวเหน็บเหมือนทางตะวันออกในหน้าหนาวหรือเปล่า

“ใช่ครับ…และผมรู้สึกว่าอยู่ที่นี่ใกล้บ้านมากกว่าเพราะอยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก เหมือนอยู่บ้าน มีร้านอาหารไทยมากมายอีกด้วย…”

ที่สำคัญจริงๆ น่าจะเป็นบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยด้วย

“ใช่ครับ แคมปัสที่นี่มีชีวิตชีวามาก มันเหมือนเมืองที่ฝังอยู่ในเมืองอีกชั้นหนึ่ง…”

มีดุลยภาพของกิจกรรมชีวิตในด้านต่างๆ อย่างเหมาะเจาะ

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนด้านความคิดความอ่านก็คึกคัก

“ปีแรกที่ผมเข้าไปเรียนเหมือนเป็น wake-up call …เหมือนนาฬิกาปลุก…สำหรับผมเลย ทุกอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากโรงเรียนมัธยม ผมต้องโยนทิ้งออกไปทางหน้าต่างเลย ต้องลืมทุกอย่างที่เรียนในชั้นมัธยม…”

แสนดีเปรียบเทียบว่า “มันเหมือนปลาตัวเล็กว่ายในสระใหญ่”

ขนาดแสนดีเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว พอถูกโยนเข้าระบบการเรียนมหาวิทยาลัยอเมริกันก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว

“แล้วแสนดีรอดมาได้อย่างไร?”

“พอเข้าไปปีแรก ผมก็ต้องยึดหลักว่าจะอยู่รอดต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ มันคือ Survival of the fittest เลยทีเดียว…”

นั่นหมายความว่าแทนที่จะเป็นห่วงอะไรเกี่ยวกับคนอื่นต้องหันมาดูแลตัวเองให้รอดเสียก่อน

แสนดีใช้คำว่าต้อง “Prioritize yourself…”

ซึ่งหมายความว่าการปรับตัวให้อยู่รอดนั้นต้อง “จัดลำดับความสำคัญ” ของกิจกรรมที่ต้องทำ

นั่นหมายถึงการรู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง ไม่พยายามทำทุกอย่าง ตัดสินใจให้ชัดว่าจะต้องทำอะไรก่อนและอะไรที่เก็บไว้ทีหลังได้

“Don’t be afraid to ask for help…”

หลักสำคัญอีกข้อหนึ่งสำหรับแสนดีคือ “ต้องไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือ”

ถ้าหากรู้ว่าตัวเองตกอยู่ในสภาพที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะไปทางไหน อย่าเกรงใจหรือกลัวจะเสียหน้า … จงกล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้พอ ไม่เก่งพอ ต้องขอความรู้และความช่วยเหลือจากคนอื่น

ตอนแรกๆ แสนดีบอกว่ามีความกลัวบรรดาอาจารย์และศาสตราจารย์อย่างมาก

“เพราะท่านเหล่านั้นดูน่ากลัวมาก…ตอนใหม่ๆ ผมไม่กล้าเข้าใกล้ท่านอาจารย์ทั้งหลาย แต่พอผมตัดสินใจเดินเข้าหาท่าน ก็พบว่าโปรเฟสเซอร์ทั้งหลายท่านเป็นคนใจดี พร้อมจะช่วยเหลือ พร้อมจะให้ความแนะนำ และผมก็ได้คำแนะนำที่ทรงคุณค่ามากมาย…”

นอกจากนั้นแสนดียังเรียนรู้ว่าเขาสามารถเข้าหาผู้คนต่างๆ ในชุมชนในมหาวิทยาลัย

ซึ่งก็รวมถึงสมาคมนักเรียนไทย และมีชุมชมคนไทยที่ใหญ่พอสมควรในมหาวิทยาลัยและในเมืองด้วย

“และทุกคนต่างก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างดียิ่ง…”

แสนดีบอกว่าเมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเองอย่างนั้นแล้ว

“ผมก็ไม่รู้สึกคิดถึงบ้าน”

 

ผมถามว่าเมื่อเรียนจบปริญญาตรีและเตรียมเรียนต่อปริญญาโทแล้ว แสนดีต้องการจะเป็นอะไรในชีวิต

“ผมมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนครับ”

แสนดีบอกว่าชอบเขียนโคลงกลอนและนิยาย จึงกำลังฝึกฝนตัวเองให้เป็นนักเขียนในแนวสร้างสรรค์

แสนดีเผยว่ากำลังมีโครงการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง

“เป็นนิยายเกี่ยวกับประเทศไทย มันเกี่ยวกับประวัติของครอบครัวของผมด้วย ผมกำลังเตรียมจะกลับไปวิจัยค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ประเทศไทย…”

เรื่องราวที่แสนดีกำลังเขียนอยู่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์

“ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักเล่าเรื่อง Story-teller และพร้อมจะเรียนรู้ในการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นนิยายหรือโคลงกลอน…”

แสนดีเชื่อว่านักเขียนที่ดีไม่ควรจะจำกัดตัวเองอยู่กับการเล่าเรื่องในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

มีคนอยากรู้ว่านักเขียนที่แสนดีชอบมีใครบ้าง

เขาเอ่ยชื่อนักเขียนดังๆ ของตะวันตก เช่น Ernest Hemingway, Jack Kerouac, Jane Austen, Leo Tolstoy, Tom Clancy…

“ตอนเด็กๆ ผมอ่านหนังสือที่คุณพ่อมีในบ้านมากมาย…เช่นที่ผมยังจำได้คือ Dale Carnegie, ที่เขียน How to Win Friends and Influence People”

 

ผมชวนแสนดีคุยเรื่องร้านหนังสือที่อเมริกาทุกวันนี้

“ทุกอย่างกลายเป็นดิจิตอลหมด ทุกอย่างขึ้นไปบน Cloud หนังสือเล่มกำลังถูกเบียดออกไป ร้านหนังสือ Amazon ก็เพิ่งปิดตัวไป แต่น่าสนใจว่า Barns & Noble ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านหนังสือชื่อดังในอเมริกายังทำได้ดีอย่างน่าแปลกใจ…ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร”

แต่แสนดีเชื่อว่าหนังสือเล่มก็ยังมีอยู่เพราะการอ่านเป็นประสบการณ์ที่ไม่หายไป

E-books ไม่สามารถมาทดแทนหนังสือเล่มได้หมดแน่นอน

ติดตามการล่าฝันของ “แสนดี” ที่กำลังผลิตผลงานการเขียนในเร็วๆ นี้ครับ