ปกรณัมของเส้นผม / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ปกรณัมของเส้นผม

 

“พระแม่ธรณี” นอกจากจะนั่งโชว์ตัวเป็นประจำอยู่ที่สามเหลี่ยมมุมท้องสนามหลวง ใกล้คลองคูเมืองเดิม และรับจ๊อบเป็นแบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ ให้พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งแล้ว

ยังปรากฏตัวในภาพเขียนพุทธประวัติตอน “มารวิชัย” คือตอน “ชนะมาร” ที่นิยมวาดอยู่ตามฝาผนังอาคารภายในวัด ซึ่งมีหลักฐานมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และนิยมอย่างมากในสมัยกรุงเทพฯ อีกด้วย

พุทธประวัติตอนที่ว่าเล่าถึงช่วงเวลาสำคัญก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะเจริญวิปัสสนาประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนการตรัสรู้ พระยามารที่ชื่อ “วัสสวตีมาร” ได้ยกทัพไพร่พลมารร้ายทั้งหลายมาราวีเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงสัมมาสัมโพธิญาณได้

เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้ยกอ้างผลบุญ และกุศลในชาติภพต่างๆ ที่ได้สะสมเป็นบุญบารมีมา ว่าแล้วพระองค์ท่านก็เอื้อมมือลงสัมผัสที่พื้นแผ่นดิน ตรัสอัญเชิญ “พระแม่ธรณี” ผู้รู้เห็นในการบำเพ็ญกุศลทุกชาติภพของพระองค์ขึ้นมาเป็นพยานปากเอก

เมื่อพระแม่ธรณีปรากฏพระวรกายขึ้นก็บิดเอา “น้ำ” ออกจากมวยพระเกศาอย่างมากมายมหาศาลจนท่วมท้นหมู่มารทั้งหลายแตกพ่ายไปกับสายน้ำ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเจริญภาวนาสติต่อไปอย่างปลอดภัยไร้กังวลจนบรรลุธรรมถึงขั้นตรัสรู้ ในค่ำคืนวันนั้นนั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่คนไทยพุทธอย่างที่เห็นๆ กันโดยทั่วไป ทำบุญหรือตักบาตรเสร็จแล้วจะมีกิจสำคัญอีกอย่างคือ “การกรวดน้ำ” ที่ว่ากันว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น (ซึ่งการอุทิศบุญกุศลที่ตนเองเป็นผู้กระทำให้กับผู้อื่น ก็ถือเป็นการต่อยอดการทำบุญอีกทอดหนึ่งนั่นแหละ เรียกได้ว่าเป็นการทำบุญแบบป๊อกเก้าสองเด้ง)

สิ่งที่เรียกว่า “บุญ” แบบไทยๆ จึงเป็นบุญที่ทำแล้วต้องเคลม อย่างน้อยก็ต้องมีพระแม่ธรณีมาเป็นพยานให้

 

แต่พระแม่ธรณีในอินเดียกลับไม่เคยบีบมวยผมเหมือนอย่างอุษาคเนย์เราเลย

ตามปกรณ์ของพุทธศาสนาในอินเดีย พระพุทธเจ้าใช้พระหัตถ์สัมผัสกับพื้นแผ่นดินแล้วอัญเชิญพระแม่ธรณีมาเป็นพยานก็จริง แต่บุญบารมีของพระพุทธองค์ก็ทำให้พื้นแผ่นดินทั้งมวลสั่นไหว จนหมู่มารไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ไม่มีน้ำไหลบ่าจากที่ไหนมาเลยสักนิด

ในรูปประติมากรรมของอินเดียที่แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนดังกล่าว โดยเฉพาะในอินเดียทางตอนเหนือมักจะแสดงรูปพระแม่ธรณีถือหม้อน้ำอยู่ด้วย

แต่หม้อน้ำที่ว่าก็ไม่ได้เอามาสาดน้ำใส่หมู่มารที่ไหนอยู่ดี รูปหม้อน้ำในศิลปะอินเดียและลังกา เรียกว่า “ปูรณฆฏะ” หมายถึงหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ดังนั้น รูปหม้อน้ำโดดๆ ในศิลปะอินเดียและลังกาจึงมักมีพืชพรรณไม้น้ำ ดอกบัวต่างๆ งอกเงยออกมาจากหม้อน้ำ ไม่ต่างจากแจกันปักดอกไม้

และพรรณไม้น้ำงอกเงยออกจากน้ำไม่ต่าง “แผ่นดิน” ที่ลอยอยู่กลางน้ำ

หม้อน้ำในพระหัตถ์ของพระแม่ธรณีในศิลปะอินเดีย จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงให้รู้ว่าภาพเทวีพระองค์นี้คือ พระแม่ธรณี เท่านั้น

 

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ปกรณ์เรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผมเกิดขึ้นที่ลังกา โดยปรากฏขึ้นครั้งแรกในข้อความตอนหนึ่งของหนังสือที่ชื่อ “ชินาลังการฎีกา” ซึ่งเขียนขึ้นหลัง พ.ศ.1700

น่าเสียดายที่บุญผมมีไม่ถึง จึงไม่เคยได้อ่านวรรณคดีในพระศาสนาเล่มนี้ เลยไม่อาจบอกกล่าวได้ว่าจริงหรือไม่?

แต่อย่างน้อยเราก็อาจจะพอสังเกตได้ว่า ที่ลังกาเองก็ไม่มีรูปเขียนพระแม่ธรณีบีบมวยผมเหมือนกับในอินเดีย ในขณะที่วรรณคดีสายพุทธประวัติที่แต่งขึ้นในอุษาคเนย์ต่างก็ล้วนแล้วแต่บอกเล่าตรงกันเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม

น่าประหลาดที่รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม กลับปรากฏอยู่แรกสุดที่ปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเถรวาทเป็นหลัก (แต่รู้จักพุทธเถรวาทสายลังกาแน่) ไม่ว่าจะเป็นที่ปราสาทเบงเมเลีย (บึงมาลา) ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันทายกะเดย และปราสาทวัดนคร ปราสาทเหล่านี้ล้วนแต่สร้างในช่วงตั้งแต่ศิลปะนครวัดลงมา คือสร้างหลัง พ.ศ.1650 โดยประมาณ

ผมจึงเข้าใจเอาเองว่าสยามจะรู้จักเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผมผ่านมาทางขอม ไม่ใช่รับมาจากลังกาเองโดยตรง

 

ถึงแม้ว่าในอินเดียจะไม่มีความเชื่อเรื่องการกรวดน้ำ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีเทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเส้นผมกับน้ำเลย

ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีเทพปกรณ์สำคัญเกี่ยวกับการเสด็จลงจากสรวงสวรรค์ของพระแม่คงคา โดยเรื่องต้องย้อนไปถึงพระเจ้าสาคร แห่งกรุงโกศล กระทำพิธีอัศวเมธ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสามของพระองค์

พิธีอัศวเมธ คือพิธีโบราณของชมพูทวีป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่จะปล่อยม้าที่มีลักษณะเป็นเลิศ โดยม้าที่ถูกคัดเลือกมาใช้ในพิธีนี้จะเรียกว่า ม้าอุปการ ออกไปนอกเมือง โดยกษัตริย์จะจัดให้มีทัพกองหนึ่งติดตามม้าอุปการไปเป็นเวลา 1 ปี หากม้าวิ่งเข้าไปในเขตเมืองไหน กษัตริย์ผู้ครองนครต้องส่งบรรณาการให้แก่กษัตริย์ผู้ปล่อยม้าอุปการ เพื่อแสดงถึงการยอมรับนับถือในพระราชอำนาจของกษัตริย์พระองค์นั้น

และหากไม่ยินยอมก็ต้องต่อรบกันกับกองทัพที่ติดตามม้ามา โดยเมื่อครบกำหนดเวลาม้าอุปการจะถูกนำไปประกอบยัชญพิธี เซ่นสรวงต่อเทพเจ้าต่อไป

ในการปล่อยม้าอุปการของพระเจ้าสาคร พระองค์ได้ส่งโอรสทั้ง 60,000 ของพระองค์เป็นกองทัพที่ตามม้ามา ในการนั้นพระอินทร์ต้องการขัดขวางพิธีซึ่งจะเพิ่มตบะบารมีของพระเจ้าสาคร จึงเนรมิตกายเป็นท้าวกปิล นำม้าขาวอุปการของพระเจ้าสาครไปซ่อน พระโอรสทั้ง 60,000 ร้อนใจตามหาม้าตนนั้นจนในที่สุดก็พบเข้า และด้วยฤทธิ์ของท้าวกปิล โอรสทั้ง 60,000 พระองค์นั้นจึงมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน

พร้อมกันกับเป็นการทำลายพิธีอัศวเมธของพระเจ้าสาครในครั้งนั้น

 

นับแต่นั้นมาวงศ์ของพระเจ้าสาครก็ต้องสาป พระโอรสทั้ง 60,000 ไม่สามารถไปสู่สุคติได้ นอกเสียจากว่าจะได้น้ำจากแม่น้ำคงคามาราดรด แต่ในสมัยนั้นแม่น้ำคงคายังไหลเอื่อยอยู่เฉพาะบนสรวงสวรรค์ ไม่ได้ไหลอยู่ในโลกมนุษย์เหมือนในปัจจุบัน ลูกหลานในวงศ์ของพระเจ้าสาครจึงต้องบำเพ็ญตบะบารมี เพื่ออัญเชิญพระแม่ลงมายังเมืองมนุษย์

และแล้วการก็สำเร็จลงในสมัยของฤๅษีภาคีรส พระแม่คงคาเตรียมจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เรื่องร้อนไปถึงพระอิศวร (องค์เดียวกับพระศิวะ) พระองค์ทรงทราบว่าด้วยแรงอันมหาศาลของพระแม่คงคาหากไหลลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้ากระทบลงยังโลกมนุษย์โดยตรง โลกจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ พระองค์จึงไปประทับยืนรองรับพระแม่ให้ไหลวนลดแรงกระแทกอยู่บนพระเกศา คือเส้นผม ของพระองค์ก่อน เพื่อเป็นการลดแรงปะทะ แม่น้ำคงคาจึงไหลลงมาสู่โลกมนุษย์และกลายมาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมารดาของแม่น้ำทั้งหลายตามความเชื่อของพวกพราหมณ์-ฮินดู ตราบจนทุกวันนี้

(อนึ่ง วงศ์ของพระเจ้าสาคร ก็คือต้นวงศ์ของพระรามนั่นเอง)

ดังนั้น ต่อให้ในอินเดียจะไม่มีธรรมเนียมการ “กรวดน้ำ” จนทำให้พระแม่ธรณีใช้น้ำที่พระพุทธเจ้ากรวดชำนะมารได้แบบในอุษาคเนย์ แต่ก็มีความเชื่อว่า เส้นผมของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สามารถซึมซับน้ำเอาไว้ได้เป็นจำนวนมหาศาล แถมยังมากพอกลายมาเป็นต้นธารของแม่น้ำทั้งหลายทั้งมวลในโลกมนุษย์เลยทีเดียว •