คำ ผกา | อยากให้ประยุทธ์พัก

คำ ผกา

มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะคิดว่าตนเองเป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น จึงสมควรได้เป็นนายกฯ ต่อไปอีกสัก 4 ปี

แต่เรื่องหนึ่งที่ประยุทธ์ไม่เคยเข้าใจและคิดว่าจนถึงวันอสัญกรรมก็คงไม่เข้าใจอยู่ดีคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สง่างามนั้นต้องเริ่มต้นจากการเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ชาติชาย ชุณหะวัณ, ชวน หลีกภัย, บรรหาร ศิลปอาชา, ชวลิต ยงใจยุทธ, ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนเหล่านี้ อาจจะเป็นนายกฯ ที่มีทั้งด้านมืด ด้านสว่าง มีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ความสง่างามของคนเหล่านี้ในฐานะนายกฯ คือ เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งในครรลองของระบอบประชาธิปไตย

และจากบรรทัดฐานนี้ แม้กระทั่งคนแบบสัญญา ธรรมศักดิ์ หรืออานันท์ ปันยารชุน ก็ไม่ใช่บุคคลที่จะถูกจดจำในฐานะนายกฯ ที่สง่างาม

ไม่เพียงแต่สิ้นไร้ซึ่งความสง่างามตลอดระยะเวลาที่ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ทั้งในระบอบ “รัฐประหาร” และ “ระบอบเลือกตั้งโดยกติกาที่ตนอำนวยให้เกิดขึ้น” งานหลักของประยุทธ์ในฐานะนายกฯ คือการบริหารอำนาจ ไม่ได้บริหารประเทศ และฉันไม่แน่ใจจริงๆ ว่า ประยุทธ์เข้าใจหรือไม่ว่าการบริหารประเทศแปลว่าอะไร ต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง?

ผลแห่งการไม่ได้บริหารประเทศเลยตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง พูดได้ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินไปตามยถากรรม ขับเคลื่อนประเทศไปได้เพราะภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ลากถูลู่ถูกังประเทศนี้ไปตามความจำเป็น

และภาคราชการที่แม้ส่วนใหญ่จะเฉื่อยชา เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าภายใต้ฝ่ายบริหารที่เกียร์ว่างขนาดนี้ ภาคราชการขยับไปได้เท่านี้ก็อยากจะยกมือไหว้ท่วมหัว

ดังนั้น มันจึงเป็นความจริงที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนคนเก่ง คนมีความรู้ความสามารถเลย ขอเพียงเรามีฝ่ายบริหารที่รู้ว่างานบริหารประเทศอันดับแรกขอให้ประชาชนอนุญาต/มอบอำนาจให้มาทำเสียก่อน

และสอง รู้ว่างานบริหารประเทศคืออะไร เพียงเท่านี้ ภาคเอกชน และหน่วยงานราชการที่ถูกแช่แข็งมานานน่าจะได้รับการชุบชีวิต และสามารถขับเคลื่อนประเทศไปได้

ชดเชยกับเวลาเกือบสิบปีที่เราสูญเสียไปภายใต้อุ้งมือของเหล่าทหารแก่ล้าหลังที่ไม่แม้แต่จะเข้าใจว่า อำนาจในมือตอนนี้ได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อเป็นเช่นนี้เจ็ดปีที่ผ่านมาของประเทศไทยจึงล้าหลังเสื่อมถอยลงในทุกด้าน เป็นแปดปีที่รัฐบาลไม่เคยเสนอวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและรูปธรรมแก่ประชาชนได้ว่าจะนำพาประเทศไปทางไหน

บอกว่าจะลดปัญหาความยากจน – แต่ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร

บอกว่าจะลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร นอกจากบอกให้ประชาชนหัดไปศึกษาเรื่องการลงทุน และรู้จักอดออม พอเพียง

เจอปัญหาวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันแพง ก็บอกว่าเราต้องนำเข้า ค่าเงินบาทอ่อน ไม่เกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาล รัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว

ประชาชนเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงเพื่อจะสอดรับกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ก็บอกว่าขึ้นไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีใครมาลงทุน แค่นี้ค่าแรงประเทศเราก็แพงกว่าประเทศอื่น ฯลฯ

มันจึงเป็นเจ็ดปีแห่งความเบื่อหน่าย อิดหนาระอาใจของประชาชน และความอิดหนาระอาใจนั้นก็แสดงออกผ่านผลการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขต พรรคพลังประชารัฐแทบไม่ชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมเลย

การลงพื้นที่เยี่ยมปะชาชนของประยุทธ์นั้น ถ้าไม่หลอกตัวเองก็ต้องรู้ว่าที่มาด้วย passion และความนิยมชมชอบจริงๆ นั้นมีมากหรือน้อยแค่ไหน เจ้าตัวย่อมรู้ดีที่สุด

หรือแม้กระทั่งการไม่กล้าเปิดฟังก์ชั่นให้คอมเมนต์ ในเพจทางการของประยุทธ์ ก็เพราะหวาดหวั่นกับความจริงที่ประชาชนแสดงออกออกมา

การที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และทำงานอย่างขยันขันแข็ง ฉลาด ฉับไว มีวุฒิภาวะ พูดจารู้เรื่อง ให้เกียรติประชาชน ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประยุทธ์ติดลบลงเรื่อยๆ

หนักสุดคือแม้แต่สลิ่มเองเชียร์รัฐบาลก็หันมาเชียร์ชัชชาติและเอาใจออกห่าง “ลุงตู่” ที่เคยเป็นขวัญใจ

และนี่อาจเป็นเหตุให้เกิดคลิปความยาว 17 นาทีที่ประยุทธ์ต้องการโชว์ “พาว” ให้ประชาชนเห็นว่าที่ผ่านมานั้นทำงานโดยปิดทองหลังพระ อยากจะมีซีน อยากจะมีบทบาทในฐานะผู้นำที่มากไปด้วยความสามารถ เต็มไปด้วยเสน่ห์ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ที่สำคัญฉลาด ลึกซึ้ง ทันสมัย

และฉันก็ไม่รู้ว่าควรจะเห็นใจใครดีระหว่างประยุทธ์ กับทีมงานที่จะต้องพยายามเขียนอะไรมาสักอย่างให้ประยุทธ์ และบรรลุซึ่งความปรารถนา นั่นคืออยากให้คนไทยเชื่อว่าตนนั้นฉลาด เก่ง เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ต่ออีกสักสมัย

สามแกนของประยุทธ์ที่อยู่ๆ ก็ออกมาบอกว่า แกนที่หนึ่งคือโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ ท่าเรือ ที่พูดรวมๆ คือการคมนาคม และใครๆ ก็รู้ว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่อิงอาศัยงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมา generate จีดีพี มาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และโครงการที่เป็นการเปลี่ยนโฉมนโยบายโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือโครงการ Thailand 2020 ในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีชัชชาติเป็น รมว.คมนาคม และโครงการที่ดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต้องมีอันเป็นไปทั้งจากศาลรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหารโดยประยุทธ์เอง

และจนป่านนี้ ผ่านไป 7 ปี เราก็ยังไม่เคยเห็นแม้แต่การเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง ความเร็วปานกลางอะไรเลย ไม่เห็นแม้แต่การพัฒนาปรับปรุงรถไฟที่มีอยู่ให้มีความหมายต่อการพัฒนาประเทศชาติ เศรษฐกิจ และสังคมใดๆ ทั้งสิ้น

และหากจะพูดถึงเรื่องการเชื่อมต่อ หรือ connectivity สิ่งที่ทวงถามมาโดยตลอด หากจะประณามว่ารัฐบาลอื่นทำไม่ได้ คำถามคือ ทำไมรัฐบาลภายใต้ประยุทธ์ไม่ทำ? นั่นคือ ขนส่งมวลชนสาธารณะทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งขนส่งมวลชนใน กทม. ก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องท่าเรือนั้น ก็งง ว่ารัฐบาลนี้พูดถึงท่าเรืออะไรที่ไหน อย่างไร? มีแต่พูดลอยๆ ว่าท่าเรือ

แกนที่สอง ที่อยู่ๆ ก็โผล่มาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นั่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบันทั่วโลกพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ได้อย่างไรในเมื่อเราตกขบวนยานยนต์ไฟฟ้าไปตั้งนานแล้ว และอินโดนีเซียได้ผลักดันเรื่องนี้ไปอย่างเป็นรูปธรรม ปักหมุดไปเรียบร้อย พร้อมกับข้อได้เปรียบที่อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แร่นิกเกิลเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนตร์อีวี และมีราคาสูงรองจากโคบอลต์และลิเธียม

ในแง่ของตลาด ตลาดภายในอินโดนีเซียใหญ่กว่าไทย 4 เท่า มีประชากร 273 ล้านคน อยู่ใกล้ฟิลิปปินส์ ที่เป็นตลาดสำคัญด้วยจำนวนประชากรร้อยกว่าล้านคน

แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า ประยุทธ์พูดเรื่องแกนที่สอง เรื่องยานยนต์มาหลวมๆ ขาดรายละเอียดที่สำคัญ เช่น อย่างน้อยต้องบอกว่า ท่ามกลางความได้เปรียบของอินโดนีเซีย ประเทศไทยภายใต้ประยุทธ์ จะช่วงชิงความได้เปรียบด้านไหนของไทยมาแข่งกับอินโดนีเซีย มิพักจะต้องพาดพิงว่า ญี่ปุ่นที่ลงทุนเรื่องยานยนต์ในไทยมากที่สุดก็ไม่ได้เป็นผู้นำด้านยานยนต์ในไฟฟ้า และเราจะแก้เกมนี้อย่างไร?

แกนที่สองของประยุทธ์ จึงเป็นแกนที่เลื่อนลอยเบาหวิวเหลือทนไปอีกแกน

แกนที่สาม เรื่องไมโครเครดิต จะให้ธนาคารมาทำไมโครเครดิตให้ประชาชน จะได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ เงินลงทุนบลาๆ และเช่นเคยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ทำอย่างไร ดีกว่าไมโครเครดิตที่มีอยู่แล้วอย่างไร ธนาคารนี้หมายถึงธนาคารอะไร ธนาคารรัฐ ธนาคารพานิชย์ หรือมีโมเดลใหม่ๆ ในการทำไฟแนนซ์เพื่อประชาชนรากหญ้าอย่างไร จะดึงเงินกู้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบอย่างไร จะแก้ปัญหานายทุนเงินกู้นอกระบบอย่างไร

ที่สำคัญ ไทยเราเคยมีระบบไฟแนนซ์เพื่อประชาชนผ่านกองทุนหมู่บ้านและกองทุนต่างๆ ที่ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันบริหารเงิน และทำไมโครเครดิตได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจมาแล้ว และในปัจจุบันรูปแบบของไมโครเครดิตได้วิวัฒน์ไปมากพร้อมเทคโนโลยีดิจิตอล มีรายละเอียดและโมเดลให้ไปศึกษาเรียนรู้มหาศาล

ทว่า ในเนื้อหาของทั้งสามแกนนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าประยุทธ์และทีมงานที่ทำข้อมูลนี้มีความรู้เรื่องที่เขียนและพูดเลยแม้แต่น้อย

ที่สำคัญที่สุด จุดแข็งเสมอมาของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในสามแกนนี้เลยคืออุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

มันเหมือนกับทีมงานไปอ่านอะไรที่ไหนมาแล้วเห็นว่ามันเก๋ดี เลยก๊อบๆ มาเรียบเรียงเขียนเป็นรายงานให้ประยุทธ์อ่าน โดยไม่หวังผลอะไรในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง แค่อยากให้นายตัวเองมีอะไรพ่นออกจากปากแล้วดูไม่โง่ ดูไม่ตกยุค

เหมือนนักเรียนคัดลอก ตัดปะงานจากูเกิลมาส่งครู แล้วนึกว่าตัวเองเก่งมากตบตาครูได้จากการทำปก ทำรูปเล่มสวยๆ

สาหัสกว่านั้นตัวประยุทธ์ที่เป็นถึงนายกฯ ก็ไม่มีความสามารถพอที่จะประเมินคุณค่างานที่ลูกน้องตัวเขียนมาให้อ่านว่า มันเป็นงานเขียน งานข้อมูลที่คุณภาพต่ำอย่างไม่น่าอภัย

หยิบไปอ่านก็รังแต่จะเป็นที่หัวเราะเยาะเป็นตัวตลกของสาธารณชนรวมถึงลูกเล็กเด็กแดงต่างๆ

แม้แต่ความสามารถในประเมินคุณภาพ “การบ้าน” ที่สั่งให้ลูกน้องทำยังไม่มี แล้วใครจะเชื่อว่าคนแบบนี้สามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความสำเร็จรุ่งเรืองได้

เลื่อนเปื้อนเลื่อนลอยล่มจมกันมาขนาดนี้ พักได้พัก!