ปริศนา ‘จารึกเวียงห้าว’ อักษรมอญโบราณหริภุญไชย หรือควรเป็นอักษรธัมม์ล้านนายุคแรก? (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ปริศนา ‘จารึกเวียงห้าว’

อักษรมอญโบราณหริภุญไชย

หรือควรเป็นอักษรธัมม์ล้านนายุคแรก? (จบ)

 

อีกความคิดเห็นหนึ่งต่อการกำหนดอายุ และการตีความรูปแบบอักษรของ “จารึกเวียงห้าว” อ.พาน จ.เชียงราย

เป็นมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและอักษรมอญโบราณ

ปัจจุบันเกษียณอายุราชการจากอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตทุ่งมหาเมฆ ได้ 3-4 ปีแล้ว

 

รูปแบบอักษรในจารึกเวียงห้าว

ละม้ายมอญโบราณหริภุญไชย?

ดิฉันได้ส่งภาพถ่ายทั้งด้านหน้า-หลังของจารึกเวียงห้าว ซึ่งทางสถาบันวิจัยสังคม มช. ระบุเลขทะเบียน “จารึกเชียงราย 3” ให้อาจารย์พงศ์เกษมช่วยพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด ในฐานะที่ท่านคร่ำหวอดด้านตัวอักษรมอญโบราณมากกว่าใครๆ

ได้คำตอบว่า อาจารย์พงศ์เกษมมีความเห็นแตกต่างไปจากแนวทางของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ และกลุ่มนักจารึกวิทยาของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสิ้นเชิง

ซึ่งสายนี้ตีความว่าจารึกเวียงห้าวเขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนารุ่นแรกที่กำลังเพิ่งหลุดพ้นจากเบ้าหลอมของตัวอักษรแม่ มอญหริภุญไชยมาหมาดๆ

มุมมองของอาจารย์พงศ์เกษม พอจะประมวลได้ดังนี้

ประการแรก ตัวอักษรของจารึกเวียงห้าว มีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากกับกลุ่มศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย 8 หลักที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17-18

ทว่า จารึกเวียงห้าวนั้น ยังฟันธงไม่ได้ว่าควรมีอายุช่วงศตวรรษใดกันแน่ จะเก่าไปถึงปลายสมัยหริภุญไชยคือพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยได้หรือไม่ คงต้องดูบริบทอื่นๆ อีกหลายอย่างประกอบกัน

ประการที่สอง อาจารย์พงศ์เกษมพบร่องรอยวิธีการเข้าอักขระพิเศษอยู่สองจุดซึ่งไม่ใช่วิธีการเขียนของจารึกมอญหริภุญไชย

นั่นคือบรรทัดที่ 1 พบตัว “สระอะ” ที่แปลกออกไปไม่เหมือนกับสระอะที่พบในกลุ่มจารึกพวก ลพ.1 ลพ.2 ที่เขียนโดยพระญาสววาธิสิทธิ

กับบรรทัดที่ 8 พบตัว “ฬ” (อ่านว่า “ระหะ – RH) ในคำว่า “สฬายตนํ” ซึ่งตัว “ฬ” นี้ ไม่พบว่ามีการใช้ในกลุ่มอักษรมอญหริภุญไชยเลย

น่าสนใจทีเดียวที่จารึกเวียงห้าว นำตัว “สระอะ” และพยัญชนะ “ฬ” มาใช้ อันเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับอักษรในกลุ่มเทวนาครีของอินเดียเหนือ

อักษรมอญโบราณหริภุญไชย เป็นตัวอักษรที่รับอิทธิพลมาจากอักษรพราหมีในอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์ปัลลวะ รับมาทั้งตัวอักขระ สระ และวิธีประสมคำ

ในขณะที่อักษรขอมโบราณ ก็รับอิทธิพลด้านอักขรวิธีมาจากอักษรพราหมี ราชวงศ์ปัลลวะของอินเดียใต้เช่นเดียวกับอักษรมอญโบราณ แต่ว่าการเข้าอักขระหลายตัวในภาษาขอม พบว่ามีการรับเอารูปสระและพยัญชนะของกลุ่มอินเดียเหนือแบบเทวนาครี เข้ามาใช้ปะปนกันด้วย

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ไม่พบในอักขระวิธีของจารึกมอญโบราณ

ดังนั้น ในเบื้องแรกนี้ อาจารย์พงศ์เกษมจึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รูปแบบตัวอักษรในจารึกที่เวียงห้าว โดยรวมแล้ว เขียนไม่ต่างจากอักษรมอญโบราณหริภุญไชย (คือมีสัดส่วนของมอญโบราณอยู่มากราว 98 เปอร์เซ็นต์)

แต่ในขณะเดียวกัน มีการรับเอาสระและอักขระแบบเทวนาครีเข้ามาปะปนด้วยประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

การปรากฏตัวอักษรแบบอินเดียเหนือที่เมืองพานนี้ อาจารย์พงศ์เกษมกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเข้ามาได้อย่างไร โดยใคร และเมื่อไหร่ จะเป็นการรับตรงจากสมัยราชวงศ์ปาละผ่านมาทางอาณาจักรพุกามได้หรือไม่

หรือว่ารับผ่านอักษรขอมที่เข้ามาปักหลักในประเทศไทยทางอาณาจักรอีศานปุระหรือละโว้ (ยุคขอม) ทางตอนล่างแล้วทอดหนึ่ง หรือไม่อย่างไร ยังเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะรีบด่วนสรุป ณ วันนี้

จารึกเวียงห้าว (จารึกเชียงราย 3) จัดแสดงที่บ้านพ่อหนานศรีเลา เกษพรหม หลังวัดไชยสถาน ถ่ายภาพโดย นายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ

จารึกปฏิจฺจสมุปบาท สื่อถึงอะไร?

นอกเหนือไปจากด้านอักขระที่มีความพิเศษกว่าจารึกทั่วๆ ไปที่ค้นพบในจังหวัดเชียงรายแล้ว จารึกเวียงห้าวยังมีความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ด้านเนื้อหา

ด้วยเป็นจารึกที่เขียนคาถา “ปฏิจฺจสมุปมาท” ล้วนๆ ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน ปีศักราช ไม่มีการจบลงด้วยคำกัลปนา อุทิศส่วนกุศลให้แก่ใคร ดังธรรมเนียมการเขียนจารึกหลักอื่นๆ

จารึกนี้ขึ้นต้นบรรทัดแรก (ฉบับแปลเป็นไทยแล้วโดย รศ.สมหมาย เปรมจิตต์) ว่า

“ศรีสวัสดี ปฏิจฺจสมุปบาทนั้น เป็นไฉน ปฏิจฺจสมุปบาทมีอาการ 12 ดังนี้”

จากนั้นก็ไล่เรียงคาถาด้วยภาษาบาลี ตามที่เราทราบ (อาจารย์สมหมายแปลเป็นไทยดังนี้)

“เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร… จนกระทั่งถึง เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ”

ธรรมเนียมนิยมในการนำคาถาที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาเขียนลงในแผ่นจารึกนั้น มีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี ด้วยการพบจารึกอักษรปัลลวะและอักษรมอญโบราณหลายชิ้น ทั้งที่ใต้ฐานพระพุทธรูป หรือด้านหลังพระพิมพ์ดินเผา

คาถายอดนิยมมากที่สุดคือ “เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา ฯลฯ ” แปลว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

ส่วนคาถา “ปฏิจฺจสมุปบาท” นั้น ในสมัยทวารวดีก็พบด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดก็พบในจารึกหลักหนึ่งซึ่งได้มาจากแหล่งโบราณสถานศรีเทพ เพชรบูรณ์ มีอายุเก่ามากราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 เขียนด้วยตัวอักษรแบบหลังปัลลวะ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย

เราสามารถคิดต่อไปได้หรือไม่ว่า บริเวณเวียงห้าว เวียงโบราณแห่งหนึ่งในเขต อ.พาน จ.เชียงราย ในอดีตนั้นเคยมีการนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท จึงมีการจารคาถาหัวใจพระพุทธศาสนาบทหนึ่งคือ “ปฏิจฺจสมุปบาท” ด้วยภาษาบาลีเอาไว้

น่าจะเป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด เพียงแต่เรายังไม่ทราบว่า คำว่าในอดีตนั้น เก่าถึงพุทธศตวรรษไหน?

จารึกเวียงห้าว ด้านหลัง ภาพจากหนังสือประชุมจารึกจังหวัดเชียงราย ของสถาบันวิจัยสังคม มช. พบว่ามีการเขียนแบบพลิกหัวกลับจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่ซ้ายไปขวา

จารึกด้านหลังตีลังกากลับหัว

ขอให้ทุกท่านพินิจภาพจารึกเวียงห้าวด้านหลังนี้ให้ดี ว่าการเขียนข้อความต่อจากหน้าแรกนั้น ไม่ได้ใช้วิธีพลิกหน้า-หลัง แบบซ้าย-ขวา เช่นเดียวกับจารึกหลักอื่นๆ

แต่เป็นการพลิกกลับด้วยการตีลังกากลับหัวกลับหาง คล้ายกับการเปิดปฏิทินฉีกแล้วพลิกจากล่างขึ้นบน (คือหากกลับหลังเขียนธรรมดา ส่วนก้นที่เรียวผอมของด้านหลังนั้น ควรล้อเหมือนกันกับด้านหน้า)

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อเขียนกลับหัวกลับหางแบบนี้ จะให้ปักแท่งหินลงหน้าอุโบสถได้อย่างไรกัน เพราะเมื่อปักลงดินแล้ว ไม่สามารถอ่านข้อความของด้านหลังได้เลย

อาจารย์พงศ์เกษมจึงเสนอว่า จารึกหลักนี้คงไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ปักลงดินหน้าอุโบสถแต่อย่างใด วิธีการใช้สอยน่าจะนำมาวางบนพาน ให้พระใช้อ่านสวดในอุโบสถ เมื่อสวดด้านแรกเสร็จ ก็พลิกหัวกลับด้านหลังแบบพลิกจากล่างขึ้นบน ไม่ได้พลิกซ้ายไปขวา

นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างแปลกสำหรับจารึกหลักนี้ ที่เราควรทำหมายเหตุไว้ ว่าใครเคยพบการเขียนจารึกด้านหลังในลักษณะเช่นนี้จากที่อื่นๆ อีกหรือไม่

 

ขอมหรือใครขึ้นมาทำอะไรที่เมืองพาน?

สมมุติว่าข้อสันนิษฐานของอาจารย์พงศ์เกษมเป็นความจริง กล่าวคือ จารึกเวียงห้าวนี้ เขียนด้วยตัวอักษรมอญโบราณหริภุญไชย แถมมีอักขระบางตัวคล้ายกลุ่มเทวนาครีของอินเดียเหนือ ซึ่งอักษรขอมก็มีการรับอิทธิพลมาเขียนด้วยเช่นกัน

หากเป็นจริงตามนั้น เราต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า

กลุ่มคนที่สร้างจารึกที่เวียงห้าวนั้น เป็นใครกันหรือ เป็นขอมหรือมอญ หรือเป็นคนเผ่าไทที่รับเอาอิทธิพลขอม-มอญด้านจารึกมาใช้ อีกทั้งช่วงที่สร้างจารึก มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชยยังไม่ล่มสลายใช่หรือไม่

มีข้อสันนิษฐานมากมายที่เราควรกล้าที่จะก้าวข้ามทฤษฎีเดิมๆ ซึ่งเคยขีดเส้นเพดานของอารยธรรมล้านนานอกนครหริภุญไชย ว่าเก่าไม่เกินสมัยพระญามังราย-พระญางำเมือง คือแค่เส้นพุทธศตวรรษที่ 19 ส่วนเรื่องราวก่อนหน้านั้น ไม่ว่าตำนานเรื่องขุนเจือง ขุนจอมธรรม พระเจ้าพรหมมหาราช ล้วนเป็นปรัมปราคติ นิทาน เป็นเพียงวีรบุรุษในตำนานที่ไร้ตัวตน ไร้หลักฐานด้านโบราณคดีมารองรับ

อนึ่ง อาจารย์เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ (ตอนเขียนหนังสือใช้นามปากกาว่า “เกรียงศักดิ์”) ผู้เชี่ยวชาญด้าน “พะเยาศึกษา” ได้เคยเปิดประเด็นไว้ตั้งแต่เวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระเจ้าติโลกราชกับประวัติศาสตร์เมืองพะเยา” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า

มีการค้นพบประติมากรรมปูนปั้นที่เก่าเกินกว่าจะเรียกว่าเป็น “ศิลปะสมัยล้านนา” จำนวนหลายชิ้น ลักษณะคล้ายศิลปะสมัยทวารวดี หริภุญไชย พร้อมทั้งการค้นพบเศษภาชนะดินเผาพวกน้ำต้นลำพูน คนโทแบบสีส้มไม่เคลือบสมัยหริภุญไชยจำนวนมากในชั้นใต้ดินตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ ในเมืองพะเยา อาจเป็นเพราะว่าโบราณวัตถุเกือบทั้งหมดขุดพบโดยชาวบ้าน แล้วนำมามอบให้วัดจัดแสดง ไม่ได้ขุดแต่งศึกษาด้วยวิธีการทางโบราณคดี จึงทำให้กรมศิลปากรไม่ยอมรับหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร

การที่ดิฉันหยิบยกเรื่องผลการศึกษาโบราณวัตถุในพะเยาว่ามีงานกลุ่ม Pre-Lanna หรือหริภุญไชยตอนปลายจำนวนไม่น้อยนั้น ก็เนื่องมาจากเห็นว่า หลักฐานเหล่านั้นดูสอดรับกับจารึกเวียงห้าว เมืองพาน ที่เรากำลังศึกษาอยู่

หลักฐานทั้งหมดนี้ (ทั้งจารึกเวียงห้าว และปูนปั้น ภาชนะดินเผาสมัยหริภุญไชยในเมืองพะเยา) อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ดินแดนลุ่มน้ำอิงผืนนี้ (จากพะเยาถึงเมืองพาน) น่าจะสะท้อนถึงอารยธรรมของผู้คนว่ามีความเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยหริภุญไชยตอนปลายมาแล้วก็เป็นได้

 

บทพิสูจน์ที่ยังต้องศึกษา

เนื่องจากอาจารย์พงศ์เกษมเองก็ยังไม่ได้เห็นจารึกเวียงห้าวของจริง ชัดๆ ด้วยตาตัวเอง เป็นการอ่านผ่านภาพถ่ายที่ดิฉันส่งไปให้เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะนักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษา นำโดยพระประกอบบุญ สิริญาโณ (ครูบาอ๊อด) เจ้าอาวาสวัดมหาวัน จึงได้เชิญอาจารย์พงศ์เกษม ขึ้นมาศึกษาเรื่องราวของศิลาจารึกของอักษรมอญโบราณอย่างละเอียดจำนวนหลายหลัก ระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม

โดยวันที่ 16 จะเชิญอาจารย์พงศ์เกษมมาอ่านจารึกมอญโบราณค้นพบใหม่อีกหลักหนึ่งที่วัดธงสัจจะ อ.เมืองลำพูน และเชิญมาอ่านปริวรรตถอดความจารึกมอญโบราณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย หลัก ลพ. 3 ที่ได้มาจากวัดมหาวันอย่างละเอียด

วันที่ 17 มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย หัวข้อ “ชำระจารึกวัดมหาวัน ลพ.3” ภาคบ่ายพานำชมวัดเชตวันร้างและชมวัดมหาวัน ท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมเคาะกล่องเฟซบุ๊กแจ้งรายชื่อกับดิฉันได้ค่ะ

วันที่ 18 จะถือโอกาสเชิญอาจารย์พงศ์เกษมไปอ่านจารึกเวียงห้าว ณ บ้านพ่อหนานศรีเลา เกษพรหม อย่างละเอียดอีกครั้ง •

 

อ่าน ปริศนา ‘จารึกเวียงห้าว’ อักษรมอญโบราณหริภุญไชย หรือควรเป็นอักษรธัมม์ล้านนายุคแรก? (1) ได้ที่นี่

ปริศนา ‘จารึกเวียงห้าว’ อักษรมอญโบราณหริภุญไชย หรือควรเป็นอักษรธัมม์ล้านนายุคแรก? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ