วิกฤตร้อนคุกคามโลก / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพประกอบ : www.fortuneindia.com

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

วิกฤตร้อนคุกคามโลก

 

“อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกและทำลายสถิติในทุกแห่ง” โชฟี เมเลอร์ เขียนเกริ่นในบทความเว็บไซต์ “ฟอร์จูน” ซึ่งเป็นเว็บชื่อดังของสหรัฐอเมริกาปกติแล้วเนื้อหาจะมุ่งเน้นเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก

เมเลอร์บอกว่า ฤดูร้อนในสหรัฐเพิ่มระดับความรุนแรง พื้นที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐมีอุณหภูมิร้อนมาก

ความกดอากาศสูงและอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ เมื่อนำมาพล็อตเป็นภาพกราฟิกมีลักษณะเหมือนโดมความร้อนครอบทวีปสหรัฐเอาไว้

โดมความร้อนไม่ใช่เกิดขึ้นในทวีปสหรัฐเพียงแห่งเดียว แต่หลายประเทศในทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกาตอนเหนือ กำลังเผชิญกับวิกฤตนี้เช่นกัน

โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐประกาศปิด หรือเปลี่ยนวันเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด ฟาร์มวัวในรัฐแคนซัส ประสบกับอากาศร้อนจัดสุดขีด วัว 2,000 ตัว ตายเพราะทนร้อนไม่ไหว

หลายเมืองในฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นฤดูร้อน เช่นเดียวกับประเทศสเปน อิตาลี และอังกฤษอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยฤดูร้อนปีก่อนๆ 10 องศาเซลเซียส มิหนำซ้ำในหลายพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง

ส่วนที่เมืองบอร์โดซ์ ในฝรั่งเศส ยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ต และห้ามกิจกรรมกลางแจ้งที่ผู้คนมารวมตัวกันมากๆ เพราะเกรงว่าอากาศร้อนจัดจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน

ผู้บริหารเมืองบอร์โดซ์ ยังประกาศเตือนผู้ปกครองให้ดูแลเด็กๆ อยู่แต่ในบ้าน บางพื้นที่ควบคุมความเร็วของรถยนต์ เพราะหากขับเร็ว การปล่อยก๊าซพิษจะมากขึ้น มีผลต่อสภาพอากาศ

 

เฟดเดอริก ออตโต ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บอกกับ “ฟอร์จูน” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเกมเปลี่ยนโลกของจริง เกมนี้มีแต่เพิ่มระดับความรุนแรง ความถี่และเกิดไปทั่วทุกมุมโลก สาเหตุก็เพราะทุกคนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ก๊าซพิษที่ปล่อยจากปล่องโรงไฟฟ้า โรงงาน จากท่อไอเสียรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสไดออกไซด์ ฯลฯ ลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศโลก ยิ่งก๊าซพิษปล่อยออกมาเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ ก๊าซพิษเหล่านี้ดูดซับและดักความร้อนเอาไว้ ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

คลื่นความร้อนแผ่ขยายไปทั่วยุโรปจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นและผู้เสียชีวิตเพราะทนอากาศร้อนจัดไม่ไหวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับทวีปเอเชีย แอฟริกา ฮีตเวฟจะบีบให้ชาวโลกเร่งปรับตัว ทำอย่างไรให้ร่างกายทนต่อความร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่

ในทางการแพทย์ชี้ว่า อากาศร้อนจัดจะส่งผลต่อสุขภาพทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไปส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อ มีอาการปวดหัว หน้ามืด ชัก เดินโซเซ ถ้าไม่ได้รับการรักษาในทันท่วงทีอาจเสียชีวิต

 

“ฟอร์จูน” อธิบายว่าคลื่นความร้อนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก อย่างเช่น ในตลาดหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์

คลื่นความร้อนได้ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าพุ่งขึ้นเพราะชาวเมืองหันมาเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน ราคาพลังงานในฝรั่งเศสและเยอรมนีขยับขึ้นสูงทำลายสถิติไปเรียบร้อยแล้ว

พืชผลเกษตรในสเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัดต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนที่อากาศจะร้อนมากไปกว่านี้

ชาวเมืองในแถบเมดิเตอร์เรเนียนแสดงอาการเป็นห่วงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่หลายแห่งแห้งแล้ง น้ำในแม่น้ำไหลช้าลงกว่าเดิม

ความร้อนที่ระอุทำให้พื้นที่ทางตะวันออกของสเปนและโปรตุเกสเกิดไฟป่าเผาไหม้รุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งระดมดับไฟป่าให้เร็วสุด เพราะควันไฟและเถ้าถ่านที่ฟุ้งกระจายมีผลต่อสุขภาพ

อุณหภูมิในโปรตุเกสเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้อนที่สุดในรอบ 92 ปี ความร้อนแล้งมีผลต่อแหล่งกักเก็บน้ำ ปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียง 15%

เว็บไซต์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Metrological Organization) บอกว่าในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ชาวอเมริกันประมาณ 1 ใน 3 ต้องทนอยู่กับอากาศร้อนจัด

เหมือนๆ กับชาวปากีสถานและอินเดีย ที่เจอคลื่นความร้อนเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา

โดมความร้อน เป็นภาพกราฟิกแสดงให้เห็นอุณหภูมิในสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก /ที่มาภาพ : องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA)

ย้อนสถิติคลื่นความร้อนจะเห็นความถี่ชัด ปี 2562 เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก ปี 2563 เกิดขึ้นในแถบไซบีเรีย ปี 2564 เกิดขึ้นแถบตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ

ที่น่าสังเกตคือ แถบไซบีเรีย เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมือง Verkhoyansk ของไซบีเรีย วัดอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาว ติดลบ 40 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 เมืองนี้มีอุณหภูมิวัดได้ 38 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่ปรากฏในเอกสารบันทึกเรื่องของขั้วโลกเหนือในรอบ 140 ปี

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในไซบีเรีย สะท้อนให้เห็นว่า ผลการของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบในทุกมุมโลก พื้นที่หนาวเย็นสุดๆ ก็ไม่เว้น

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิไซบีเรียร้อนขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แนะรัฐบาลจัดทำแผนปฏิบัติการ “คลื่นความร้อนและสุขภาพ” พร้อมกับแนะนำให้เตรียมระบบเตือนภัยเพื่อรับมือกับคลื่นความร้อนที่มาบ่อยจนกลายเป็นความปกติ •