รัฐนิยม : การสร้างไทยชาติขึ้นใหม่ ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

รัฐนิยม

: การสร้างไทยชาติขึ้นใหม่

ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

 

เหตุที่ต้องสร้างชาติขึ้นใหม่

จากคำปราศรัยในวันชาติปีแรกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลที่ถือเอา 24 มิถุนายนถือเป็นวันชาติว่า “เป็นวันที่ประชาชนคนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเริ่มทำการปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินและในการทำการอันประกอบด้วยสามัคคีพร้อมเพรียงกันนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงในคราวนั้นจึงมิได้เสียชีวิตพี่น้องร่วมชาติเลย” (กรมโฆษณาการ, 2482, 6)

นอกจากนี้ เขาชี้ให้เห็นข้อเสียของระบอบเก่าที่ผ่านไปว่า “ในสมัยก่อน เมืองเรามีพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจเด็ดขาดเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่พระองค์เดียว ทรงบริหารราชการแผ่นดินแทนพี่น้องชาวไทยทั้ง 14 ล้าน เมื่อพระมหากษัตริย์มีพระราชบัณฑูรสุรสิหนาทปกาศิตคำสั่งถ้อยคำใดออกมา ถ้อยคำนั้นย่อมมีผลเป็นกฎหมายซึ่งพี่น้องชาวไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยฝ่าฝืนมิได้” (กรมโฆษณาการ, 9)

เขาเห็นว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบการปกครองที่เป็นไปตามบุคคลคนเดียวจึงมีความเสี่ยงในการตัดสินใจและอาจนำไปสู่ “…ความหายนะล่มจมของชาติโดยตรง เว้นแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น…” (กรมโฆษณาการ, 9-10)

ด้วยเหตุนี้ การปฏิวัติ 2475 จึงต้องเกิดขึ้น เนื่องจาก “การปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นของพ้นสมัยและไม่ชอบด้วยหลักนิยม เพราะไม่ใช่การปกครองที่อาศัยหลักการให้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยแก่ราษฎรโดยตรง นานาชาติทั่วโลกในปรัตยุบันสมัยจึ่งเลิกการปกครองแบบนี้เสียโดยสิ้นเชิง…นับประสาอะไรแต่ฝรั่งชาวตะวันตกที่เจริญในสมัยนี้ แม้จีนผู้เป็นเพื่อนบ้านของเราทางตะวันออกนี้ ก็ยังได้เพิกถอนการปกครองแบบนี้มาเสียก่อนเราเป็นเวลานกว่า 20 ปี นี่นับว่าเป็นมติของโลก…” (กรมโฆษณาการ, 10-11)

นอกจากนี้ เขาย้ำว่า แม้นมรดกบางอย่างที่สังคมยังรับสืบทอด แต่บางอย่างก็ควรปรับปรุงว่า “…ในการเป็นมนุษย์ เราก็ไม่ควรดูแต่ในแง่งามเท่านั้น เราต้องดูหลายแง่หลายทาง มรดกไม่ดีงามตกมาถึงเราบัดนี้ ก็ยังมีที่จะต้องแก้อีกไม่น้อยเลย หวังว่าระบอบการปกครองปัจจุบัน ประกอบกับชาวไทยที่มีจิตต์ใจรักชาติจะได้ชวยกันปัดเป่าให้หายไปได้ ผิดกว่าแต่ก่อนนั้น” (กรมโฆษณาการ, 12-13)

ดุจเดียวกับคนหนุ่มร่วมสมัยที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมใหม่ว่า “เมื่อ [คณะราษฎร-ผู้เขียน] ได้ทำการรัฐประหารแล้ว งานที่จะกระทำต่อไปเป็นงานปฏิวัติ หลักสำคัญของการปฏิวัติก็คือ การสร้างชาติใหม่ ตามแนวหลัก 6 ประการ…งานสร้างชาติที่จะนำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงก็คือ งานอบรมจิตต์ใจชนชาวไทยให้มีจริยา มรรยาทของอารยชน มีความรู้สึกผิดชอบและเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง” (กิจจา วัฒนสินธุ์, 2482, 70) กล่าวอีกอย่างคือ เขาเห็นว่า ยุทธวิธีที่คณะราษฎรดำเนินการในวันที่ 24 มิถุนายน คือการยึดอำนาจอย่างฉับพลัน คือ การรัฐประหาร แต่สิ่งที่คณะราษฎรดำเนินการหลังจากนั้นคือ การปฏิวัติ

อีกทั้งเขาเห็นว่า “ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเปลี่ยนอย่างสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตต์ใจของประชาชาติเลยทีเดียว หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า การปฏิวัติ การปฏิวัติของรัฐบาลในระบอบใหม่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มิได้มุ่งไปทางแบบ คือ เปลี่ยนมือผู้ถืออำนาจการปกครอง แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างอันเกี่ยวกับทางการเมืองและประชาคม ตลอดจนนิสัยใจคอของชนชาวไทยให้เข้าสู่ระบอบใหม่” (กิจจา, 67-68)

คนหนุ่มในครั้งนั้น วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลสร้างชาติขึ้นใหม่ เพราะตระหนักถึงความเสื่อมของวัฒนธรรมที่สืบต่อมาและหากไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ความเสื่อมของชาติจะตามมา ดังนั้น รัฐบาลต้องปฏิวัติค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ให้กับประชาชนสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงมติมหาชน

สามเกลอ ตอนรัฐนิยม (2482) และสุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี เครดิตภาพ Sakchai Phanawat

รัฐนิยม คือการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมใหม่

เมื่อความหมายของชาติตามระบอบเก่าสิ้นสุดลงเมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ดังนั้น ชาติความหมายใหม่ จึงหมายถึง ประชาชนทุกคน พร้อมมีงานฉลองวันชาติขึ้น (2482) ผนวกกับรัฐบาลต้องการสร้างชาติขึ้นใหม่ที่ต้องการสร้างวิถีชีวิตของชาติทางสังคม-วัฒนธรรมขึ้นใหม่ จึงเริ่มนโยบายรัฐนิยมในปีนั้น ดังรัฐนิยมฉบับที่ 1 คือ การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย อันเปรียบเสมือนการตัดขาดจากอดีตและก้าวสู่โลกใหม่

สำหรับประกาศฉบับถัดไป ฉบับ 2-7 เป็นเรื่องให้คนไทยรักษาที่ดินไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติ การเรียกชื่อชาวไทย เรื่องการเคารพธงชาติ การร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติของไทย และชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญของรัฐนิยมนั้นวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลต้องการตัดขาดจากความเชื่อจากระบอบเก่าและสร้างชาติ ค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ให้กับคนไทย

ต่อมาในช่วง ป.อินทรปาลิตนำบริบททางการเมืองสมัยรัฐนิยมใส่ไว้ในพลนิกรกิมหงวน ตอนรัฐนิยมว่า วันตรุษจีนปีนั้น ร้านรวงของชาวจีนพากันปิดเช่นเคย เจ้าคุณปัจจนึก ข้าราชการทหารจากระบอบเก่าไม่มีอาหารสำเร็จกิน จึงเกิดความรักชาติขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ท่านนิยมสินค้าต่างชาติ และเลี้ยงไก่ฝรั่งว่า เจ้าคุณ “ยิ่งคิด ก็ยิ่งบังเกิดความรักชาติขึ้นอย่างรุนแรง ท่านเจ้าคุณคิดว่า ความขมขื่นทำนองนี้อีกไม่กี่ปีก็คงหายขาด เนื่องจากรัฐบาลซึ่งมีคุณหลวงพิบูลสงครามผู้นำชาติปัจจุบันมีโครงการสร้างชาติไทยให้วัฒนาถาวรเท่าเทียมกับนานาชาติเขา…” (ป.อินทรปาลิต, ป.ป.ป., 2)

ด้วยประกาศฉบับ 5 ที่รัฐบาลวิงวอนให้คนไทยใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่ทำในไทยนั้น ส่งผลให้เจ้าคุณปัจจนึก ตั้งสมาคมรัฐนิยมขึ้นในครอบครัว โดยมีเป้าไม่อุดหนุนคนต่างชาติ ท่านเรียกประชุมครอบครัว พร้อมควักกระดาษขึ้นมาอ่านถึงเหตุผลที่รัฐบาลประกาศรัฐนิยมว่า

ขณะนั้น โลกอยู่ในช่วงสงคราม รัฐบาลต้องการสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติ จึงวิงวอนชาวไทยทั้งหลายเมื่อครั้ง 1 พฤศจิกายน 2482 ว่า 1.บริโภคอาหารที่ทำจากวัตถุดิบหรือทำขึ้นในไทย 2.แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำจากวัตถุและผลิตในประเทศ 3.อุดหนุนอาชีพ การเกษตร การค้า อุตสาหกรรมของคนไทย 4.อุดหนุนกิจการของรัฐบาลหรือของคนไทย 5.ให้พ่อค้า ผู้ผลิตปรับปรุงสินค้าและดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์

เมื่อสมาคมรัฐนิยมจัดตั้งขึ้น ความอลเวงก็เริ่มต้น เริ่มจากการไล่ล่าทำลายสินค้าและงดใช้บริการของชาวต่างประเทศในชีวิตประจำวัน อันเป็นความครื้นเครงตามแนวหัสนิยายเรื่องนี้

ในช่วงเวลานั้น บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยในช่วงงานวันชาติวันชาติท่ามกลางกระแสนิยมไทยปีนั้นเริ่มก่อตัวขึ้นนั้น ร้านค้าของคนไทยต่างโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างคึกคัก เช่น ห้างพีระศิลป์ บางรัก ประกาศว่า หากอุดหนุนสินค้าในวันชาติจะได้ลดพิเศษ ร้านตัดเสื้อสตรีชื่อ หัตถกิจนารี หน้าตลาดสี่พระยา ลดราคา ร้านเครื่องสำอางบาหยันลงข้อความว่า ใครเก็บพลุงานวันชาติของร้านให้นำมาแสดงเพื่อลดราคาสินค้าได้ เป็นต้น (ณัฐกมล, 157-158)

จากนั้น กระแสการใช้สินค้าไทย เลี้ยงไก่ และทำสวนครัวตามรัฐนิยมก็เริ่มต้นขึ้น