SPIDERHEAD ‘ยาเปลี่ยนโลก’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

SPIDERHEAD

‘ยาเปลี่ยนโลก’

 

กำกับการแสดง

Joseph Kosinski

นำแสดง

Chris Hemsworth

Miles Teller

Jurnee Smollet

Mark Paguio

 

สมมุติฐานที่เป็นฉากหลังของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ไกลเกินความเป็นจริงในโลกปัจจุบันนัก

การวิจัยทดลองยาใหม่ๆ เพื่อปฏิวัติของบริษัทเภสัชกรรมมีอยู่ตลอดเวลา

ยาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เสพก็มีให้เห็นอย่างกว้างขวางทั่วไป ถ้าไม่นับยาเสพติด ยาบ้า ยาม้า ยาขยัน กัญชา แอลเอสดี ฯลฯ ซึ่งให้ผลต่อประสาทและอาจทำให้เกิดภาพหลอนหรือเชื่อในความจริงของสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ตรงหน้า

นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้ายังมองหาห้องปฏิบัติการทดลองและทรัพยากรบุคคลที่ยินยอมให้กระทำการทดลองได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบที่สร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่ตัวเองตลอดไป…นั่นคือ การได้รางวัลโนเบล

ส่วนผู้มีอำนาจเบื้องบนต้องการผลผลิตหรือวิธีการที่จะนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุขโดยปราศจากความเห็นที่ดื้อดึงแตกต่างออกไป

ในสังคมบริโภคนิยมสมัยปัจจุบัน บริษัทยาพยายามหาสินค้าตัวใหม่ที่จะขายให้แก่ผู้บริโภคผู้ต้องการการบำบัดแบบได้ผลตามปรารถนาอย่างทันตาเห็นและทันอกทันใจ

ขอเลี้ยวออกนอกเรื่องไปนิดว่าสมัยก่อนมียาแก้ปวดออกวางขายในตลาด ตั้งชื่อยาว่า “ทันใจ” โดยสื่อความหมายว่า กินปุ๊บหายปั๊บในทันทีทันควันแบบทันใจผู้บริโภค แต่ยังไงก็ไม่ทราบ น่าจะได้รับการทักท้วงว่าอวดอ้างสรรพคุณเกินเหตุ ชื่อ “ทันใจ” เลยต้องแปลงให้เพี้ยนไปเป็น “ทัมใจ”

ตอนนั้นผู้เขียนยังนึกอยู่ในใจเลยว่าชื่อใหม่นี้น่าจะเป็นการสื่อความหมายตรงข้ามกับความหมายดั้งเดิมที่ตั้งใจไว้เลยทีเดียว เพราะฟังดูเหมือนว่ายานี้กินไปแล้ว ก็ตามมีตามเกิดนะ จะหายไม่หายก็ต้อง “ทำใจ” แล้วล่ะ

…555

 

เลี้ยวกลับมาที่เรื่องราวของหนังใหม่ การณ์ซึ่งเป็นสมมุติฐานของหนังจึงมีอยู่ว่า มีการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทยากับหน่วยงานของทางการซี่งรับผิดชอบเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้จัดสรรพื้นที่พิเศษให้สำหรับสร้างห้องปฏิบัติการทดลอง

ในที่นี้ คือเกาะกลางมหาสมุทรที่ห่างไกลการคมนาคมสัญจรจากโลกภายนอกในชื่อว่า “เรือนจำและศูนย์วิจัยสไปเดอร์เฮด” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนัง

อาสาสมัครที่ขันอาสาหรือยินยอมมาเป็นหนูทดลองในแล็บวิจัยแห่งนี้ คือ ผู้ต้องขังคดีอาญา ที่ถูกตัดสินจองจำในคุกปกติทั่วไป โดยได้รับเงื่อนไขคือ การลดหย่อนโทษ

รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่มีอิสระจะไปไหนมาไหนได้โดยเสรีภายในขอบเขตของเรือนจำกลางสมุทรแห่งนี้

แลกกับการยินยอมเป็นหนูทดลองในห้องแล็บ ซึ่งมีหัวหน้าผู้บังคับบัญชาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อ สตีฟ แอบเนสตี (คริส เฮมส์เวิร์ธ)

และเพื่อให้เป็นการปฏิบัติด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยตัวอย่างทดลองไม่ได้ถูกบังคับใจ ทุกครั้งก่อนจะลงมือปฏิบัติการทดลอง ตัวอย่างทดลองต้องเอ่ยคำว่า “รับทราบ” ก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปได้

ก็ดูเหมือนจะเป็นระเบียบวิธีที่ถูกต้องตามหลักสากลและหลักกฎหมายทุกประการ

ทว่า…ความจริงก็ย่อมถูกบิดเบือนไปได้ โดยเฉพาะการวิจัยนี้เป็นการทดลองยาที่จะตอบสนองต่อระบบประสาท

ยากล่อมประสาทที่อยู่ในการทดลอง มีชื่อชวนขันชวนคิดว่า

Laffodil ซึ่งกระตุ้นให้หัวเราะร่วนอย่างมีความสุข

Verbaluce ซึ่งกระตุ้นให้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาเป็นคำพูด

Luvacia ซึ่งกระตุ้นให้อารมณ์ชื่นมื่นจนเห็นใครหรืออะไรก็รักไปหมด

Darkenfloxx ซึ่งสร้างความเจ็บปวดทรมานในใจจนเกลียดชังตัวเอง

Phobica ซึ่งกระตุ้นให้กลัวไปทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเห็นอะไร แม้แต่วัตถุกระจ้อยร่อยนิดเดียว

แต่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งอำพรางจุดหมายของศูนย์วิจัยแห่งนี้ไว้ คือ ยากระตุ้นให้เชื่อฟังและยอมทำตามคำสั่ง ซึ่งเป็นจุดหมายของสังคมที่ไร้ความขัดแย้ง

แต่สังคมที่ไร้ความขัดแย้งจะเป็นสังคมในอุดมคติจริงละหรือ…

เจฟฟ์ (ไมลส์ เทลเลอร์) เป็นนักโทษที่อาสาสมัครเข้ามาในโครงการนี้ และเริ่มสงสัยในจริยธรรมของการทดลองที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบประสาทที่สั่งงานสมอง

เจฟฟ์ทุกข์ทรมานอยู่กับความผิดในใจตัวเองที่เป็นสาเหตุให้เพื่อนรักและภรรยาตายในอุบัติเหตุจากความประมาทของเขา และพยายามหาทางก้าวไปสู่การให้อภัยตัวเอง หลังจากชดใช้กรรมในคุกแล้ว

ขณะเดียวกับเขาก็สร้างสัมพันธ์ใหม่กับลิซซี่ (เจอร์นี สมอลเลตต์) เพื่อนผู้ต้องขัง ซึ่งลงโทษตัวเองที่เป็นเหตุให้คนที่รักยิ่งตายไปเหมือนกัน

อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่าสมมุติฐานของหนังเป็นเรื่องชวนคิดชวนติดตามและชวนคิดต่อ

แต่ว่าหนังก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่ความคิดที่ลึกซึ้งอะไรเกินไปกว่าการเป็นหนังทริลเลอร์ดาดๆ ซึ่งไม่ค่อยจะสนุกตื่นเต้นเท่าไรนัก แถมยังพอจะคาดเดาตอนจบได้อีกต่างหาก

พูดง่ายๆ คือหนังน่าจะ “ฉลาด” กว่านี้อีกหน่อย

 

องค์ประกอบในเรื่องแทบไม่มีอะไรใหม่ที่ชวนตื่นใจ และดูจะพยายามดึงคนรุ่นใหม่ด้วย “มุข” และเพลงประกอบที่หวือหวา

เลยกลายเป็นหนังที่คล้ายจะชวนขำขันหรือเหน็บแนมให้แสบๆ คันๆ เล่นๆ ไม่ได้มีเนื้อหาที่ลงลึกหรือจริงจังอะไรมากกับสมมุติฐานของตัวเอง

ตอนจบก็หักมุมลงจบแบบเชยเสียไม่มี…

คริส เฮมส์เวิร์ธ เล่นเป็นฝ่ายตรงข้าม ส่วนไมลส์ เทลเลอร์ (ซึ่งผู้เขียนเคยชอบมากในหนัง Whiplash และคิดว่าหน้าตาละม้ายเหมือนเอลวิส เพรสลีย์ และจอห์น คูแซค ยังกะโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน) เล่นเป็นพระเอกผู้ไม่ได้เก่งกล้าท้ามฤตยูอะไรมากนัก

หนังพอดูได้ค่ะ แต่ดูจบแล้วก็นึกเสียดายศักยภาพที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ •

 

Spiderhead