วิกฤตเงินเฟ้อ-ของแพงทั้งแผ่นดิน กดจีดีพีไทยปี 2565 สาละวันเตี้ยลง รบ.ลุงตู่…อลม่านพลิกฟื้นวิกฤตสู่โอกาส?/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

วิกฤตเงินเฟ้อ-ของแพงทั้งแผ่นดิน

กดจีดีพีไทยปี 2565 สาละวันเตี้ยลง

รบ.ลุงตู่…อลม่านพลิกฟื้นวิกฤตสู่โอกาส?

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาปากท้องในปัจจุบัน ยิ่งนานวันเข้ายิ่งลุกลาม โดยเฉพาะวิกฤตของแพงทั้งแผ่นดิน ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ตั้งแต่อาหารสด อาหารแห้ง ยันราคาพลังงาน ทำให้ครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านไปแบบอึมครึม

จากเดิมที่คาดหวังว่าท้องฟ้าจะเริ่มสดใสได้สักที ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ ความหม่นหมองยังคงอยู่ ซ้ำเติมผลกระทบจากการรระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจจากชาติพันธมิตรมหาอำนาจ สหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อกดดันให้รัสเซียยอมยุติการสู้รบในยูเครน ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลก น้ำมันมีราคาแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ ล้วนส่งผลต่อต้นทุนสินค้าแทบทั้งหมด สร้างปรากฏการณ์แพงทั้งแผ่นดิน

และกำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อเหมือนกับหลายๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งไทยเองก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน

 

วิกฤตเงินเฟ้อเริ่มต้นจากประเทศที่มีขนาดใหญ่ในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐที่ปัญหาลุกลามขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ระดับ 8.6% ถือว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ย จากที่จะขึ้น 0.50% เป็น 0.75% สู่ดอกเบี้ยระดับ 1.5-1.75% ทันที สูงสุดในรอบ 28 ปี

ส่วนเงินเฟ้อไทยก็ไม่แพ้ใคร ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 เพิ่มขึ้น 7.10% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 สูงสุดในรอบ 13 ปี

โดยความหมายของเงินเฟ้อคือ เรามีเงินเท่าเดิม ใช้เงินซื้อของเท่าเดิม แต่ได้ของในปริมาณที่น้อยลง ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเผชิญกันอยู่ คือความสามารถในการใช้จ่ายค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง

ภาพเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2565 จึงยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงล้อมรอบตัว เพราะแม้จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่คงต้องรอถึงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ก่อน เพราะตอนนี้ยังอยู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ทำให้การมาของนักท่องเที่ยวคงยังไม่ได้มากเท่าที่ควร

ส่วนภาคการส่งออก ก็มีข้อจำกัดในด้านปริมาณวัตถุดิบ และกำลังการผลิต หากถึงระดับที่ไม่สามารถเพิ่มได้ ก็คือเพิ่มไม่ได้

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังไม่เต็มที่ กว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้อาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2566 เนื่องจากปัญหาที่พบในตอนนี้คือ หนี้สิน ทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย เดิมอยู่ประมาณ 40-42% แต่เมื่อเจอโควิด รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม หนี้สาธารณะจึงพุ่งขึ้นมาที่ 60% ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อควบคุมโควิดระบาด ทำให้เม็ดเงินที่ใช้ไม่ได้เพิ่มศักยภาพการเติบโตไปข้างหน้าของประเทศ

รวมถึงหนี้ครัวเรือน ที่พุ่งแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีแล้ว ถือว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อหาเงินมาได้ แต่เป็นหนี้เกือบทั้งหมด ก็ส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของคนส่วนใหญ่ ต่อให้ภาครัฐจะพยายามผลักดันเศรษฐกิจหรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากขึ้น การกระเตื้องก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะหนี้สาธารณะก็ทำให้รัฐบาลเหนื่อย หนี้ครัวเรือนก็ทำให้ประชาชนเหนื่อย ทั้งยังต้องเจอเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วโลก

เมื่อมองภาพไปข้างหน้า ทางเดินคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน การฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจไทย อาจต้องใช้ทั้งแรงผลักและแรงดัน ซึ่งก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะเห็นผลมากน้อยแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆ เมื่อมีวิกฤตเงินเฟ้อคอยฉุดรั้งเศรษฐกิจ หลายหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญจึงเรียงหน้ากระดานออกมาหั่นประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้แบบอุ่นหนาฝาคั่ง

กระทรวงการคลังปรับลดจีดีพีปีนี้ลงเหลือเติบโต 3.5% จากเดิมคาดการณ์จะเติบโต 4% ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะสูงขึ้นมาที่ 5% หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับคาดการณ์จีดีพี เหลือ 2.5-3.5% หรือค่ากลางที่ 3% จากระดับ 3.5-4.5%

 

ส่วนมุมมองภาคเอกชน อย่างหอการค้าไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.1% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 4.2% จากภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงจากราคาน้ำมันแพง ราคาสินค้าที่แพงตามราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อสูง และแนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0.50% เป็น 0.75% ในเดือนสิงหาคมนี้ และปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี

ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าเดิมที่ 3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มสูงสุดรอบ 10 ปี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.8% ลดลงจาก 3.0% ในการประเมินครั้งก่อนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานขึ้นจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จึงจะสามารถกลับสู่ระดับศักยภาพที่แท้จริงได้

เมื่อเจอมวยหมู่แห่หั่นตัวเลขเศรษฐกิจ และชี้ว่ากว่าจะฟื้นตัวได้คงต้องรอปีหน้าทีเดียวนั้น มาติดตามกันว่า รัฐบาลลุงตู่จะแสดงอภินิหาร พลิกวิกฤตช่วงปลายรัฐบาล เป็นโอกาสชนะเลือกตั้งรอบหน้าแบบแลนด์สไลด์ได้หรือไม่…ตามดู