ลุงสีเป็นเหตุ : จากโลกาภิวัตน์สู่พึ่งตนเองพอเพียงในตนเอง (2)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเป็นเหตุ

: จากโลกาภิวัตน์สู่พึ่งตนเองพอเพียงในตนเอง (2)

 

รอบ 40 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงผลักดันให้ปฏิรูปและเปิดประเทศ นับว่าจีนได้ประโยชน์สูงสุดกว่าประเทศอื่นใดในโลกจากคลื่นโลกาภิวัตน์ระลอกล่าสุด

เมื่อปี 2000 จีนเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของเพียงไม่กี่ประเทศ มาบัดนี้จีนกลายเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของกว่า 60 ประเทศรวมทั้งไทย (รวมมูลค่าสินค้าส่งออกไปและนำเข้าจากจีนของไทยเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 https://tradingeconomics.com/thailand/exports ภาพรวมปี 2021 ไปในทำนองเดียวกัน) จากปี 1985-2015 สินค้าส่งออกจากจีนไปอเมริกาเพิ่มขึ้น 125 เท่า

ผลจากหัตถอุตสาหกรรมจีนที่บูมจากการค้านี้ ทำให้ GDP เฉลี่ยต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 8% ต่อปีจากปี 2001-2020

แต่กระนั้นจีนก็ไม่เคยวางใจและสบายใจเต็มที่กับโลกาภิวัตน์ที่นำโดยตะวันตก การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนจึงมีลักษณะรายปลีกและเฉพาะบางส่วนเสมอมา

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงธำรงรักษาบทบาทชี้นำกำกับเหนือเศรษฐกิจไม่ปล่อยมือ และวิตกกังวลความคิดตะวันตกที่แทรกซึมเข้ามา

ฉะนั้น ขณะที่จีนเกี้ยวพาราสีและตบรางวัลให้ทุนและความเชี่ยวชาญต่างชาติ แต่กระนั้นก็ยังตีกรอบล้อมวงและมักรังเกียจมันด้วยเนืองๆ

นับแต่สีจิ้นผิงขึ้นกุมอำนาจสูงสุดของรัฐ-พรรคจีนตั้งแต่ปี 2012/2013 เป็นต้นมา (ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่และประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน) เขาค่อยๆ แสดงทรรศนะประจักษ์ชัดขึ้นเป็นลำดับว่าโลกาภิวัตน์กำลังเสียดุล และความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียจากมันโน้มหนักกว่าผลดีที่จีนได้ ทั้งนี้เพราะจีนพึ่งพาโลกตะวันตก (อเมริกา-ยุโรป-ญี่ปุ่น) มากไป ทำให้จีนตกอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงพลอยได้รับผลสะเทือนไปด้วยเมื่อเศรษฐกิจโลกตะวันตกชะลอตัวอย่างในคราววิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ปี 2007-2009 และในครั้งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเปิดสงครามการค้า-เทคโนโลยีกับจีนด้วยมาตรการปกป้องการค้าเมื่อปี 2018 เป็นต้นมา

ยิ่งมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียทางเศรษฐกิจการค้าการเงินของโลกตะวันตกเนื่องจากสงครามรุกรานยูเครนในปัจจุบันด้วยแล้ว ก็เหมือนสาธิตให้จีนดูอย่างเป็นรูปธรรมว่าจีนอาจโดนอะไรเข้าได้บ้างหากถูกโลกตะวันตกใช้พลังเศรษฐกิจมาเชือดเฉือนให้อ่อนแอลง

(https://foreignpolicy.com/2022/04/07/china-russia-putin-ukraine-war-lessons-taiwan/#)

 

เพื่อลดทอนบรรเทาความเปราะบางของจีนเนื่องจากต้องพึ่งพาอาศัยโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยี สีจิ้นผิงมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งเป็นเกราะกำบังให้จีนสามารถ “พึ่งตนเองพอเพียงในตนเอง” 2 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ :

1) เสริมสร้างการพึ่งตนเองพอเพียงในตนเองทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี : สร้างฐานะนำของจีนในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะยุทธศาสตร์ – ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ด้านเทคโนโลยีและพลังงาน – เพื่อที่จะไม่มีใครสามารถขัดขวางจีนไม่ให้ผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจได้ ดังที่เห็นได้ว่าบทบาทสำคัญยิ่งของในสายโซ่อุปทานของโลกช่วยคุ้มครองรัฐพรรคเดียวแบบอำนาจนิยมระบบราชการของจีนให้ปลอดพ้นจากการโจมตีของต่างชาติ (อาร์เธอร์ อาร์. โครเบอร์, เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน, น.23-31)

2) แสวงหาพันธมิตรคู่ค้าและคู่ลงทุนทางยุทธศาสตร์ที่ไว้ใจได้ยิ่งขึ้น : ลดการพึ่งพาอาศัยคู่ค้าและคู่ธุรกรรมทางการเงินตะวันตกซึ่งอาจกลายมาเป็นศัตรูกับจีนได้ให้น้อยลง และพัฒนาคู่ค้าและคู่ธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่ดีกว่าในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (The Belt and Road Initiative) อันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมาในขอบเขตทั่วโลกของจีนที่สีจิ้นผิงประกาศริเริ่มในปี 2013 ก็นับเป็นวิธีหนึ่งที่จีนหวังจะหามิตรประเทศใหม่ๆ ดังกล่าวเข้ามา

(https://themomentum.co/the-oar-asean-plus-talk-bri-belt-and-road-initiative/)

 

พึ่งตนเองพอเพียงในตนเอง

: ประเมินผลสำเร็จและข้อจำกัด

เข็มมุ่งพึ่งตนเองพอเพียงในตนเองของสีจิ้นผิง ประสบความสำเร็จทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในบางด้าน แต่ก็เผชิญข้อจำกัดในด้านอื่นเช่นกัน กล่าวคือ (The Economist, 28 May 2022) :

ด้านที่สำเร็จ :-

– งานวิจัยของธนาคารวาณิชธนกิจนานาชาติสัญชาติอเมริกัน Goldman Sachs เมื่อปี 2020 พบว่าการพึ่งตนเองพอเพียงในตนเองของจีนทางด้านผลิตภัณฑ์ไฮเทคปรับปรุงดีขึ้นในภาพกว้าง ในอุตสาหกรรมหลายแขนง (อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ, เครื่องบิน-รถไฟ-เรือ, เครื่องจักรไฟฟ้า, เครื่องมือและเครื่องตรวจวัด) การผลิตในประเทศกวดทันอุปสงค์ในประเทศแล้ว แปลว่าจีนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศน้อยลง ดังปรากฏว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนที่เคยขึ้นสูงเกือบ 30% ของ GDP ในปี 2004-2006 ได้ลดฮวบลงเหลือเพียงราว 15% ในปัจจุบัน

– ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ จีนผลิตวัตถุดิบที่ใช้สร้างเซลล์แสงอาทิตย์ได้กว่า 70% รวมทั้งตัวเซลล์เองและโมดูลที่ใช้ประกอบเซลล์เข้าไปด้วย ในปี 2021 ปีเดียว จีนเพิ่มสมรรถนะการกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งได้มากกว่าประเทศที่เหลือในโลกรวมกันตลอด 5 ปีก่อนหน้านี้ เชื่อว่าฐานะนำล้ำหน้าของจีนในด้านเทคโนโลยีแสงอาทิตย์ พลังงานลมและแบตเตอรี่ขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าน่าจะไร้เทียมทาน

– จากการสำรวจข้อมูลการส่งออกของนานาชาติทั่วโลกในหัตถอุตสาหกรรมราว 120 กว่าแขนง โดยนิตยสาร The Economist พบว่าเมื่อปี 2005 จีนอยู่ในฐานะขาขึ้น (ascendant หมายถึงมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 25% ในการส่งออกสินค้านั้นๆ ทั่วโลก) ใน 42% ของบรรดาอุตสาหกรรมแขนงที่สำรวจ ถึงปี 2019 ตัวเลขดังกล่าวของจีนก็เพิ่มขึ้นเป็น 67%, ในช่วงเวลาเดียวกัน เหล่าอุตสาหกรรมส่งออกแขนงที่จีนอยู่ในฐานะครอบงำ (dominated หมายถึงมีส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่งในการส่งออกสินค้านั้นๆ ทั่วโลก) ได้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัวกลายเป็นราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด

ด้านที่เป็นข้อจำกัด :-

– จีนยังคงต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่นำมาประกอบสินค้าไฮเทคซึ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนารองรับเป็นอันมาก เมื่อปี 2012 ที่สีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจ จีนใช้จ่ายซื้อชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อมาประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 2.7% ของ GDP ถึงปี 2020 ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.6%

– ประเทศซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนไฮเทคเหล่านี้แก่จีนด้านหลักแล้วยังคงเป็นคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนเอง ได้แก่ ไต้หวันและบรรดาประเทศตะวันตกอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการบินและยานอวกาศนั้น โลกตะวันตกสนองชิ้นส่วนให้จีนนำเข้ามาใช้ถึง 98% ของทั้งหมด

– จีนยังพึ่งพาความเชี่ยวชาญของต่างชาติมากขึ้นด้วย ขณะสิทธิบัตรส่วนใหญ่ที่จีนยื่นจดทะเบียนนั้น พัฒนาขึ้นในจีนเอง ทว่า สิทธิบัตรส่วนที่เกี่ยวพันกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติด้วยได้เพิ่มขึ้นจาก 4.8% ในปี 2012 เป็น 5.9% ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกากลายเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับนักประดิษฐ์ชาวจีนเพิ่มมากขึ้น แม้ในยามที่บริษัทและมหาวิทยาลัยตะวันตกถูกกระแสกดดันให้ปลีกตัวจากจีนเพื่อหยุดยั้งการจารกรรมข้อมูลความลับทางอุตสาหกรรม ตัวเลขปี 2020 ก็ยังคงแสดงว่าจีนจ่ายค่านำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ข้ามพรมแดนคิดเป็น 8.4% ของทั่วโลก อันเป็นตัวเลขสูงสุดกว่าที่จีนเคยจ่ายมาแต่ก่อน

(ต่อสัปดาห์หน้า)