เกษียร เตชะพีระ : เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์อุดมการณ์ (2)

เกษียร เตชะพีระ

คลิกย้อนอ่านตอนที่แล้ว

ถึงแม้ครูเบ็น (ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน) จะขึ้นชื่อว่ารอบรู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชียอาคเนย์และไทยศึกษา รวมทั้งลัทธิชาตินิยมและอนาธิปไตยทั่วโลก แต่โดยสาขาวิชาทางการแล้ว ท่านสังกัดรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) มาตลอดช่วงชีวิตการทำงาน จึงน่าสนใจว่าครูเบ็นมองและเข้าใจหลักวิชาการเมืองเปรียบเทียบอย่างไร

ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไปว่าการเมืองเปรียบเทียบตั้งอยู่บนการสังเกตวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อย่างรอบด้านและเป็นวิทยาศาสตร์ ในอัตชีวประวัติของครูเบ็นฉบับภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ออกมาหลังท่านเสียชีวิตแล้วเรื่อง A Life Beyond Boundaries (ค.ศ.2016, ฉบับภาษาญี่ปุ่นออกมาก่อนในปี ค.ศ.2009) ครูเบ็นได้แบไต๋เคล็ดวิชาการเมืองเปรียบเทียบของตัวไว้อย่างน่าตื่นตะลึงว่า

ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบการเมืองของหน่วยสังคมต่างๆ (ประเทศ, ภูมิภาค, เมือง, จังหวัด, ท้องถิ่น ฯลฯ) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือเปรียบเทียบการเมืองของหน่วยสังคมเดียวกันแต่ต่างยุคสมัย มันล้วนเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงวาทกรรม” (a discursive strategy) อย่างหนึ่ง จะเรียกว่ากลยุทธ์หรือกลเม็ดเด็ดพรายก็ได้ ซึ่งมีเป้าหมายกระตุกกระตุ้นให้เล็งเห็นแง่มุมความเหมือนหรือแตกต่างบางอย่างของสภาพการณ์ที่นำมาเปรียบเทียบนั้นอย่างมีนัยหรือสาส์นทางการเมือง

กล่าวคือ :

“ข้อสำคัญที่พึงตระหนักก็คือว่าการเปรียบเทียบนั้นไม่ใช่วิธีการหรือไม่ใช่แม้แต่เทคนิคทางวิชาการ หากเป็นยุทธศาสตร์เชิงวาทกรรมต่างหาก มีประเด็นสำคัญบางประการที่ควรคำนึงเมื่อเราต้องการเปรียบเทียบ

“ประเด็นแรกสุด เราต้องตัดสินใจว่าในงานชิ้นหนึ่งๆ นั้น เราจะเน้นหาความเหมือนหรือความแตกต่างเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเอาเข้าจริงญี่ปุ่นกับจีนหรือเกาหลีเหมือนกันหรือต่างกันโดยพื้นฐานกันแน่ มิพักต้องพูดถึงการพิสูจน์มัน จะว่าเหมือนหรือต่างก็พอเถียงได้ทั้งนั้น แล้วแต่มุมมองของเรา กรอบการศึกษาของเรา และข้อสรุปที่เราตั้งใจมุ่งไปสู่ (ในช่วงคลั่งชาติสุดๆ ตอนจวนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อชาวเยอรมันกับชาวฝรั่งเศสถูกยุยงให้เกลียดชังกันนั้น ออตโต เบาเออร์ นักทฤษฎีมาร์กซิสต์-ออสเตรียผู้ยิ่งใหญ่ให้รู้สึกสนุกสะใจกับการได้อ่อยเหยื่อล่อทั้งสองฝ่ายด้วยการพูดว่าชาวปารีสกับชาวเบอร์ลินร่วมสมัยมีลักษณะร่วมกันมากมายหลายอย่างกว่าที่พวกเขาแต่ละฝ่ายจะมีกับบรรพชนยุคกลางของตนเอง) ในที่นี้โดยผ่านการนำเสนอตัวอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์ ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่างานเชิงเปรียบเทียบชิ้นต่างๆ ที่ผมเขียนขึ้นระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และคริสต์ทศวรรษที่ 2000 มันสะท้อนมุมมอง การวางกรอบและเจตจำนง (ทางการเมือง) ที่เปลี่ยนไปอย่างไรในความแตกต่างที่เป็นจริงของงานเหล่านั้น

“ประเด็นที่สองก็คือ ภายในขอบเขตจำกัดของข้อถกเถียงที่พอฟังขึ้น การเปรียบเทียบที่ประเทืองปัญญาที่สุด (ไม่ว่าจะเปรียบต่างหรือเปรียบเหมือน) คือการเปรียบเทียบที่ทำให้แปลกใจ ไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนจะแปลกใจกับการเปรียบเทียบกับจีนเนื่องจากมันทำกันมาหลายศตวรรษแล้ว ทางเส้นนั้นถูกย่ำเดินกันมากและผู้คนก็มักตัดสินใจกันเรียบร้อยแล้วว่ามันเป็นอย่างไร แต่การเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับออสเตรียหรือเม็กซิโกต่างหากที่อาจทำให้ผู้อ่านไม่ทันตั้งตัว

“ข้อคำนึงประเด็นที่สามคือ การเปรียบเทียบประเทศเดียวในแนวดิ่งในช่วงเวลาอันยาวนานนั้นอย่างน้อยที่สุดก็สำคัญพอๆ กับการเปรียบเทียบข้ามชาติ สาเหตุประการหนึ่งของการณ์นี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของประวัติศาสตร์ชาติแบบตำราเรียนชนิดที่แน่นอนหนึ่งซึ่งไม่ดูเบาบอกปัดตำนานทั้งหลายและมีผลประโยชน์ได้เสียในการธำรงไว้ซึ่งความสืบเนื่อง รวมทั้งการทำให้ “เอกลักษณ์แห่งชาติ” แต่โบราณกาลยั่งยืนสถาพรตลอดไป ชาวสก๊อตผู้อยากเชื่อและยืนกรานว่าพวกตนถูกชาวอังกฤษกดขี่มาช้านานไม่ชอบใจที่ใครจะมาเตือนให้รำลึกว่าลอนดอนนั้นถูกปกครองโดยราชวงศ์ชาวสก๊อตตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในทำนองเดียวกันชาวญี่ปุ่นมากหลายไม่ใคร่พึงพอใจที่ใครจะมาเสนอแนะว่า “พระจักรพรรดิ” องค์แรกๆ ของประเทศตนอาจเป็นลูกครึ่งเกาหลีโดยกำเนิด ฉะนี้เองนักวิชาการที่อ่านค้นประวัติศาสตร์โบราณอย่างกว้างขวางจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการนั้น

“ประเด็นที่สี่คือ เป็นการดีที่จะคำนึงถึงสภาพการณ์ ฐานะชนชั้น เพศสภาพ ระดับและประเภทของการศึกษา อายุ ภาษาแม่ ฯลฯ ของตนเองเมื่อทำการเปรียบเทียบ ทว่า สิ่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปได้ เมื่อคุณเริ่มอาศัยอยู่ในประเทศหนึ่งซึ่งคุณแทบไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจภาษาของประเทศนั้นเอาเลย เห็นได้ชัดว่าคุณไม่อยู่ในฐานะอันดีที่จะคิดเชิงเปรียบเทียบ เพราะคุณเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เพียงน้อยนิด คุณรู้สึกขาดพร่องในทางภาษา เหงาหงอยและกระทั่งโดดเดี่ยว และคุณก็ออกล่าหาเพื่อนร่วมชาติบางคนที่พอจะไปมั่วสุมอยู่ด้วยได้ คุณคงเลี่ยงที่จะเปรียบเทียบบ้างไม่ได้ แต่การเปรียบเทียบเหล่านี้น่าจะผิวเผินและไร้เดียงสา

“คราวนี้ถ้าคุณโชคดี ข้ามกำแพงภาษามาได้ คุณจะพบตัวเองอยู่ในอีกโลกหนึ่ง คุณก็เหมือนนักสำรวจนั่นแหละและพยายามสังเกตและขบคิดเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างในแบบที่คุณจะไม่มีวันทำมันเลยในประเทศบ้านเกิดของคุณที่ซึ่งอะไรต่อมิอะไรมากมายถูกถือว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าคุณเปิดหูเปิดตา คุณจะเริ่มสังเกตพบสิ่งที่คุณไม่อาจเห็นหรือได้ยิน คุณจะเริ่มสังเกตพบสิ่งที่ไม่อยู่ที่นั่นรวมทั้งสิ่งที่อยู่ที่นั่น เหมือนกับที่คุณจะเริ่มสำนึกถึงสิ่งที่ไม่ได้ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรวมทั้งสิ่งที่ถูกเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่กล่าวมานี้จะใช้การได้ทั้งในประเทศที่คุณกำลังอาศัยอยู่และในประเทศที่คุณจากมา บ่อยครั้งมันจะเริ่มจากศัพท์แสงถ้อยคำ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอินโดนีเซียมีคำพิเศษสำหรับรสชาติของข้าวว่า gurih (“หอมอร่อย” ตามนิยามของพจนานุกรมเล่มหนึ่ง) ถ้าคุณมาจากประเทศอังกฤษ คุณจะหลากใจที่ตระหนักว่ามิอาจบรรยายรสชาติของข้าวด้วยศัพท์อังกฤษเฉพาะเจาะจงคำใดคำหนึ่งได้ ในอีกแง่หนึ่ง ภาษาอินโดนีเซียกลับไม่มีคำอย่าง “sepia” ในภาษาอังกฤษสำหรับบรรยายสีภาพถ่ายเก่าๆ ความข้อนี้ก็เป็นจริงกับเรื่องแนวคิดด้วยเช่นกัน ภาษาชวามีคำว่า longan สำหรับเรียกที่ว่างใต้เก้าอี้หรือใต้เตียง ซึ่งภาษาอังกฤษไม่ยักมี

“ช่วงเวลาของการดิ้นรนเรียนรู้ภาษาใหม่แบบนั้นมันดีเป็นพิเศษสำหรับการฝึกฝนตนเองให้รู้จักเปรียบเทียบอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะยังไม่ทันเกิดกระบวนการแปลคำศัพท์ต่างชาติมาเป็นภาษาในหัวคุณโดยอัตโนมัติใดๆ ขึ้นมา คุณจะค่อยๆ เรียนรู้มากพอที่จะสังเกตได้เพิ่มขึ้น แต่กระนั้นคุณก็ยังเป็นคนนอกอยู่ดี แต่ถ้าคุณอยู่ต่อนานพอ สิ่งต่างๆ ก็จะเริ่มถูกมองว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเองอีกนั่นแหละ เหมือนสิ่งต่างๆ ในประเทศบ้านเกิด แล้วคุณก็จะมีแนวโน้มอยากรู้อยากเห็นและช่างสังเกตน้อยลงกว่าเดิม คุณจะเริ่มพูดกับตัวเองว่า “กูรู้จักอินโดนีเซียทะลุปรุโปร่งนี่หว่า” ประเด็นก็คือการเปรียบเทียบที่ดีนั้นมักมาจากประสบการณ์ของความแปลกหน้าและการขาดหาย” (A Life Beyond Boundaries, pp. 130-132)

สรุปก็คือวิธีศึกษาการเมืองเปรียบเทียบของครูเบ็นนั้นเป็นศิลปะทางการเมือง มากกว่าศาสตร์ แต่ทว่า พึงตั้งอยู่ “ภายในขอบเขตจำกัดของข้อถกเถียงที่พอฟังขึ้น” ด้วย

ทว่า ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ในบทนำหนังสือรวมเรื่องสั้นไทยสมัย 14 ตุลาฯ ที่ครูเบ็นร่วมแปลเป็นภาษาอังกฤษกับคุณ Ruchira Mendiones ชื่อ In the Mirror : Literature and Politics in Siam in the American Era (ค.ศ.1985/พ.ศ.2528) และต่อมาออกเป็นฉบับภาษาไทยชื่อ ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน (พ.ศ.2553) โดย คุณไอดา อรุณวงศ์ เป็นบรรณาธิการ ครูเบ็นก็ได้เคยนำเสนอวิธีมองการเมืองเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่งเอาไว้แล้ว

วิธีมองการเมืองเปรียบเทียบอีกแบบนี้หาได้มีลักษณะเป็นศิลปะทางการเมือง หรือเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่ถูกเลือกหยิบใช้เพื่อสื่อนัยหรือส่งสารทางการเมืองอย่างจงใจ ดังที่ครูเบ็นอธิบายไว้ข้างต้นไม่ หากเป็นการตื่นตระหนักรู้เองอย่างคาดไม่ถึงในทำนอง “ตาสว่าง”

เหมือนถูกผี (แห่งการเปรียบเทียบ) หลอกหลอนเอา จากวลี “the spectre of comparisons” หรือ “el demonio de las comparaciones” ในภาษาสเปน ซึ่งครูเบ็นยืมมาเป็นชื่อหนังสือรวมบทความเล่มหนึ่งของท่าน (The Spectre of Comparisons : Nationalism, Southeast Asia and the World, ค.ศ.1998) จากข้อเขียนของ Jose Rizal (ค.ศ.1861-1896) ปัญญาชนต้นแบบนักชาตินิยมฟิลิปปินส์ผู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปนจนถูกประหารชีวิต ในนิยายลือชื่อของเขาเรื่อง Noli Me Tangere (ค.ศ.1887, แปลเป็นไทยโดยอาจารย์จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล ในชื่อ อันล่วงละเมิดมิได้, พ.ศ.2548)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)