เกษียร เตชะพีระ : เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์อุดมการณ์ (1)

เกษียร เตชะพีระ

ในโอกาสที่ครูเบ็นของเพื่อนพ้องลูกศิษย์ลูกหา หรือนัยหนึ่ง ศาสตราจารย์ Benedict Anderson (ค.ศ.1936-2015) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชียอาคเนย์ ไทยศึกษาและกระแสชาตินิยมกับอนาธิปไตยที่มีชื่อกระฉ่อนโลก อำลาจากไปใกล้ครบปีที่สอง

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ชวนผมและพรรคพวกไปร่วมสังสันทน์สนทนารำลึกถึงครูเบ็นในด้านต่างๆ พร้อมเปิดตัวหนังสือ เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก ของผม ณ โถงหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เนื่องจากพูดได้ไม่ครบถ้วนกระบวนความเพราะเวลาจำกัด ผมจึงอยากนำเนื้อหาที่เตรียมไว้มาเขียนเล่าต่อสำหรับผู้สนใจในวิธีการมองโลก วิธีสอนและคิดค้นหาความรู้ของครูเบ็นเท่าที่ผมเคยสัมผัสและเข้าใจด้วยตัวเองมา ในแง่จุดยืน-ทรรศนะ-วิธีการในการศึกษาและจัดวางวิถีชีวิตของปัญญาชนนักวิชาการ

เอาเข้าจริงมีน้อยครั้งมากที่ผมกับครูเบ็นจะได้คุยกันเรื่องจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองตลอดช่วงที่เรียนหนังสือและรู้จักกับแกมาราว 30 ปี

เท่าที่จำได้ การคุยกันเรื่องนี้หนแรกเกิดที่งานเลี้ยงสังสันทน์ในบ้านของครูเบ็นที่หมู่บ้าน Freeville (“เมืองไท” บ้านนอกชนบทมาก มีชาวบ้านอยู่ราวครึ่งพัน) ใกล้เมืองอิทากะที่ตั้งมหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งแกทำงานอยู่ พวกเราที่เป็นนักศึกษากำลังยืนล้อมวงดื่มเหล้าเบียร์คุยเล่นกับแก 3-4 คน แล้วจู่ๆ ครูเบ็นก็ตั้งคำถามแปลกพิสดารตามวิสัยของแกขึ้นว่า :

“ถ้าเลือกได้ ชาติหน้าจะไปเกิดเป็นอะไร?”

คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บ.ก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เครือมติชน ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ด้วยกันที่นั่น เอ่ยตอบหน้าตาเฉยว่า :

“A prince.”

พวกเราหัวร่อครืน ครูเบ็นหันมาถามว่า แล้วผมล่ะ?

ในฐานะฝ่ายซ้ายเพิ่งออกจากป่า จะให้ผมตอบเป็นอื่นไปได้อย่างไรล่ะครับ นอกจากว่า :

“A communist revolutionary.”

ปรากฏว่าครูเบ็นทำท่าประชดกึ่งขำขันประจำของแก คือเอาแขนซ้ายโอบพุง ยกแขนขวาตั้งฉากกับแขนซ้าย กางมือขวาออกกุมขมับ ก้มหน้าพลางส่ายเบาๆ เป็นทีว่า…น่าปวดหัวมาก ไม่ไหวเลยคำตอบของหมอนี่ อะไรทำนองนั้น

ผมก็หน้าแตกโพละไปซีครับ 555

อีกหนหนึ่ง เกิดขึ้นหลายปีให้หลังเมื่อผมเรียนจบคอร์แนลมาแล้วในปี พ.ศ.2545 ตอนนั้นผมได้ไปร่วมงานสังสันทน์กับบรรดาอดีตสหายพร้อมร่วมกันทำบุญรำลึกถึงสหายผู้พลีชีพในป่าทั้งหลาย ณ เขตงานแห่งหนึ่งทางอีสาน

ประสบการณ์ที่ได้พบเห็นทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจและเขียนเล่าให้ครูเบ็นอ่านทางอีเมลว่า :

“I went to จังหวัด… สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อร่วมงานชุมนุมพบปะอดีตสหายที่วัดในอำเภอแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งมีการก่อตั้งอนุสรณ์สถานให้สหายเขตงานนั้นที่เสียชีวิตไปราว 500 คน รูปร่างของอนุสรณ์สถานดูเหมือนกระสุนปืนวางตั้งอยู่หรือจะดูเป็นองคชาตลุกขึ้นตั้งโด่เด่ (ลุกขึ้นตั้งหรือลุกขึ้นสู้?) ก็ได้แล้วแต่มุมมองของผู้ดู ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สหายผู้ชมที่ค่อนข้างเคร่งศีลธรรมบางคนจะแอบบ่น มีคนเข้าร่วมหลายพัน มีการกล่าวปราศรัยกันหลายรอบ คำกล่าวปราศรัยของ บ.ก.อาวุโสแห่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งยาวเหยียดฟาดไปเกือบชั่วโมง ทำเอาผู้ฟังที่เป็นชาวนาหลายคนม่อยหลับปุ๋ยและลูกสาวอายุแปดขวบของผมหงุดหงิดงุ่นง่าน (เธอกระซิบบอกแม่ว่าเธออยากจับคนกล่าวปราศรัยส่งขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ หรือไม่ก็บีบให้ตัวเล็กลงเท่าตุ๊กตาแล้วปล่อยให้เขาปราศรัยกับพุ่มไม้ใบหญ้าว่างเปล่าไป…)

“หลังจากนั้น อดีตสหายหญิงอีกสองคนซึ่งมีภูมิหลังเป็นชาวนาและชนชาติส่วนน้อยก็กล่าวปราศรัยบ้าง ซึ่งฟังเข้าทีและกระชับกว่าท่าน บ.ก.อาวุโสหรือนักการเมืองไทยจำนวนมาก พวกเธอนับเป็นหลักฐานอันมีชีวิตแห่งความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงชาวนาชาวไร่ไม่รู้หนังสือให้กลายเป็นนักคิดที่เป็นระบบ นักกล่าวปราศรัยและนักเคลื่อนไหวการเมืองที่เชื่อมั่นในตัวเองได้ ที่น่าเสียดายก็ตรงพวกเขาถูกเปลี่ยนแปลงออกมาแบบค่อนข้างคล้ายคลึงกันไปหมดตามเบ้าหลอมอันแข็งตัวของพรรค

“สิ่งที่ตราตรึงความคิดจิตใจผมมากคือการที่สหายเก่าทั้งหลายได้กลับมาพบหน้าค่าตากันและเรียนรู้ว่าเอาเข้าจริงพวกเขาได้กลายสภาพไป แตกต่างกันมากในแง่ชนชั้น มาบัดนี้พวกเขากิน ดื่มและหลับนอนไม่เหมือนกันแล้ว อดีตสหายกระฎุมพีชาวเมืองหันไปนิยมชมชอบบะหมี่สำเร็จรูป (ซึ่งพวกเขาเตรียมพกมามากมายหลายห่อ) มากกว่าข้าวหม้อใหญ่ น้ำพริกปลาร้าและต้มแกงที่อดีตสหายชาวนาผู้ยากไร้เตรียมหุงหาไว้ให้ อดีตสหายชาวเมืองยังพกพาเอาขวดน้ำพลาสติกมาด้วย แทนที่จะดื่มน้ำจากแท็งก์น้ำใหญ่ใส่ถ้วยพลาสติกสองสามใบที่อดีตสหายชาวนาจัดวางไว้ ส่วนเรื่องหลับนอน อดีตสหายชาวเมืองบางคนก็ทนนอนคลุกฝุ่นในกุฏิเจ้าอาวาสหรือในเปลและเต็นท์รอบบริเวณวัดไม่ไหว และตัดสินใจไปเช่าห้องในโรงแรมใกล้ๆ นอนแทน ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นโรงแรมม่านรูดที่มีกล่องถุงยางคุมกำเนิดเตรียมไว้ให้บริการในห้องพร้อมสรรพเพื่อความสะดวกของแขกผู้เข้าพัก

“ความเสมอภาคก็ดี ความไม่เห็นแก่ตัวก็ดี และจิตวิญญาณกบฏก็ดี ที่สร้างขึ้นอย่างเสมือนจริงเพื่อเผชิญหน้ากับอำนาจอธรรมซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยปฏิบัติมันและมีมันร่วมกันในชุมชนยูโทเปียต่อต้านกระฎุมพีอันได้แก่ขบวนการปฏิวัติภายใต้การนำของคอมมิวนิสต์ในอดีตนั้นได้มลายหายไปสิ้นและเปิดทางให้แก่ความเป็นจริงทางชนชั้นของทุนนิยมอันคมชัดบาดตาแทน ในความหมายนั้น ขบวนการปฏิวัติก็ทำงานเหมือนคณะสงฆ์ กล่าวคือ เป็นข้อพิสูจน์อันมีชีวิตชีวาชนิดหนึ่งว่าชีวิตและสังคมทางเลือกนอกเหนือไปจากที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นปฏิบัติได้และเป็นไปได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมจึงพูดกันหนาหูในที่ชุมนุมถึงเรื่องที่พรรคทำให้ผู้คนเกิดใหม่และได้ชีวิตใหม่ – เพราะมันเป็นการเกิดใหม่ทางการเมืองและอุดมการณ์ อีกทั้งเป็นชีวิตใหม่ในอุดมคติภายในชุมชนยูโทเปียซึ่งก็คือตัวขบวนการปฏิวัตินั่นเอง”

“ครูเบ็นคิดว่าไงบ้างครับเรื่องนี้?”

ครูเบ็นเขียนตอบมาว่า :

“เกษียรที่รัก

“ผมชอบเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางไปพบสหายเก่าของคุณ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่คุณสังเกตเห็นมานั้น จากประสบการณ์ของผมในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปและเกี่ยวกับเรื่องชนชั้น คนหนุ่มนักอุดมคติและบางทีก็รวมทั้งคนหนุ่มหัวรุนแรงที่มักใหญ่ใฝ่สูงด้วยซึ่งมักแต่งงานกับสาวที่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าตัวเองนั้น เข้าใจตัวเองว่า ก) เป็นกองหน้าที่มีความรู้ และ ข) เป็นผู้ที่ได้สมัครใจเสียสละภูมิหลังคนชั้นกลางรวมทั้งความคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จและไต่เต้าทางสังคมโดยปกติของตนไป

“พวกเขาจึงคาดหวังว่าผู้คนจะตระหนักเห็น “คุณงามความดี” ของตน และบ่อยครั้งที่พวกเขาจะเลื่อนขั้นไต่ลำดับชั้นในพรรคสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหากพวกเขาทำตัวดีๆ และแล้วเมื่อเวลาล่วงเลยไปปีแล้วปีเล่าและพวกเขาอายุอานามย่าง 40 ปีขึ้นไป บางสิ่งบางอย่างก็เริ่มบังเกิดขึ้น ถ้าหากพวกเขาอยู่ในพรรคที่ประสบความสำเร็จอย่างในเวียดนามละก็ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำบุญไว้มาก ได้เสียสละวัยหนุ่มสาวของตนให้ และดังนั้น การปฏิวัติและสังคมจึงติดค้างหนี้บุญคุณพวกเขาอยู่อักโข – กล่าวคือ การปฏิวัติและสังคมควรต้องจัดหาโรงเรียนพิเศษมาให้ลูกๆ ของพวกเขา จัดหารถหรูหรา บ้านหลังงาม และเงินทองไม่ว่าจะได้มาโดยซื่อหรือโดยคดก็ตามให้แก่พวกเขา

“ชีวิตช่างสั้นเสียนี่กระไร! ถ้าหากพรรคที่พวกเขาสังกัดไม่ประสบความสำเร็จละก็ พวกเขาก็มักจะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ในเมืองใหญ่ พยายามรื้อฟื้นการงานอาชีพที่ประสบความสำเร็จทางสังคมของตนขึ้นมาใหม่ กวดไล่ให้ทันกับชีวิตคนชั้นกลางที่ได้สูญเสียไป อย่างไรก็ตาม พวกที่เป็นชาวนากลับต้องอยู่กับที่เก่าและไม่ได้เข้าพรรคด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะขึ้นเป็นแกนนำหรือประสบความสำเร็จมากมายอันใด พวกเขาจึง “ยืนหยัดได้นานกว่า” เพราะพวกเขาไม่มีที่อื่นจะให้ไป เว้นเสียแต่ว่าจะกลับกลายเป็นอันธพาลให้นักการเมืองท้องถิ่น…”

ข้อวิเคราะห์วิจารณ์อันเลือดเย็นเป็นจริงของครูเบ็น ยิ่งทำให้ผมสะทกสะท้อนใจหนักขึ้น ผมรำพึงกลับไปว่า :

“…ความจริงที่มีลักษณะทั่วไปเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายที่เป็นคนชั้นกลางกับชาวนาในเอเชียอาคเนย์และไกลโพ้นกว่านั้นที่ครูเล่าในอีเมลของครูทำให้ผมอดเศร้าใจไม่ได้ ความจริงที่ว่าทำให้ผมรู้สึกอึดอัดนับแต่งานพบปะกับสหายเก่าสุดสัปดาห์นี้เป็นต้นมา แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่ามันจริง ครูคงบอกว่านี่เป็นท่าทีที่โง่เขลา ผมคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับความฝันสมัยเป็นฝ่ายซ้ายในอดีตถึงความเสมอภาคและเอกภาพข้ามชนชั้นที่สูญสลายไป มันคงเป็นเรื่องโง่เขลาที่จะยึดติดอยู่กับความฝันนั้น แต่ทว่า การสละมันทิ้งเมื่อเผชิญกับความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ชวนเจ็บปวดเหมือนกัน”

ครูเบ็นตอบกลับมาสั้นๆ แต่ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า :

“มันไม่ได้เป็นเรื่องโง่เขลาตรงไหนเลย! อย่าได้ละทิ้งมันเด็ดขาด สิ่งดีที่สุดทั้งหลายทั้งปวงนั้นใช่ว่าเราจะสามารถบรรลุถึงมันอย่างสมบูรณ์หมดก็หามิได้ แต่บางสิ่งบางอย่างในประดานั้นก็พอจะบรรลุได้บ้างเสมอ และคนเราจะดำเนินชีวิตที่ดีได้ก็โดยพยายามไปบรรลุมันนั่นแหละ มิฉะนั้นแล้ว ทางเลือกอีกทางก็คือกลายเป็นพวกลัทธิฉวยโอกาส มองโลกอย่างประชดประเทียดไปวันๆ และคอยขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ฯลฯ เท่านั้นเอง”

(ยังมีต่อสัปดาห์หน้า)