‘เงียบ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เงียบ’

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะพูดถึงบ่อยๆ คือช่วงเวลาที่ใช้เวลาอยู่ในป่าด้านตะวันตก โดยเฉพาะในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ว่าตามจริง เวลาหลายปีในป่าแห่งนี้ ไม่ได้งานอย่างที่ตั้งใจหรอก หากพูดถึงเนื้องาน ล้มเหลวด้วยซ้ำ

แต่ความทุรกันดารของที่นี่ ทำให้ผมรู้ว่า หลายปีนั่นไม่ใช่ช่วงเวลาอันสูญเปล่า

ไม่แค่ได้ทักษะการเดินทาง การควบคุมรถในสภาพเส้นทางที่บางครั้งเกินกว่าสมรรถนะของรถจะฝ่าฟันไปได้

ได้ฝึกฝนจากคนทำงานในป่า ซึ่งทำให้การเดินทางเป็นไปได้

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อทำให้รถนำพาไปให้ถึงหน่วย ตัดไม้มาเหลาทำผ้าเบรก รู้การจัดเตรียมอุปกรณ์ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ยางในมอเตอร์ไซค์ใช้มัดคันชักคันส่ง ลูกหมากที่หักได้เหมาะ สบู่ใช้อุดรูรั่วหม้อน้ำ แม้แต่มะขามเปียกหลายครั้งก็พบว่าได้ผล

นำรถขึ้นจากหล่ม เป็นเรื่องปกติ อุปกรณ์อย่างวินซ์ช่วยได้ และเมื่อวินซ์พัง วิธีกระดี่ หรือนำไม้มางัดล้อให้ลอย นำหินหรือไม้ท่อนมารองล้อ นี่เป็นวิธีอันได้ผล

แต่ถึงที่สุด ความทุรกันดารของป่าแถบนี้ก็สอนให้รู้ว่า เส้นทางเช่นนี้ไม่ใช่เส้นทางที่จะเอาชนะ หลายครั้งต้องยอมรับว่า รอให้ทางแห้ง หรือยกเป้ขึ้นหลังเพื่อไปต่อ นั้นจำเป็น

 

เมื่อพูดถึงการทำงานในป่าด้านตะวันตก ผมจะพูดถึงเหล่าเพื่อนๆ ซึ่งเป็นคนทำงานในป่า เป็นเพื่อนร่วมทาง เกือบทุกคนมีชื่อไพเราะ ส่วนนามสกุลนั้นก็จะเป็นความหมายเกี่ยวกับป่าๆ ภูเขา เช่น พิทักษ์ไพร, พนากว้างไกล อะไรทำนองนี้

มีบ้างบางคนใช้ชื่อเดิม ชื่อใหม่เพราะๆ สร้างปัญหาบ้างเพราะเขียนภาษาไทยไม่แข็งแรงตอนเซ็นชื่อ บางคนต้องใช้ความพยายามมาก จำเป็นต้องฝึกฝน

คนที่ภาษาไทยไม่แข็งแรงนั้น ไม่มีปัญหาในตอนทำงาน พวกเขาบันทึกข้อมูลเป็นภาษากะเหรี่ยง การลาดตระเวนเชิงคุณภาพซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้อย่างเข้มข้นจำเป็นต้องบันทึกข้อมูลปัจจัยคุกคามที่พบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ในการประชุมประจำเดือน พวกเขาสามารถออกไปนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ได้

ครั้งที่ผมอยู่สถานีวิจัยสัตว์ป่า กับทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง

ในครัวเล็กๆ บางครั้งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเพราะมีนักวิจัยต่างชาติมาร่วมงานด้วย

ในป่าทุ่งใหญ่ เราพูดเล่นๆ ว่า ภาษากะเหรี่ยงคือภาษากลาง

 

เพื่อนร่วมงาน หรือที่ผมเรียกพวกเขาว่า “คู่หู” เกือบทุกคนมีทักษะการใช้ชีวิตในป่าสูง

ผมใช้คำว่า เกือบ เพราะมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ไม่มีทักษะเช่นนั้น เขาไม่ได้ช่วยให้การทำงานในป่าง่ายขึ้น แต่เขาทำให้ผมกระจ่างแจ้งกับสิ่งหนึ่ง

ชายหนุ่มผู้นี้ชื่อว่า ภู พื้นเพมาจากจังหวัดไกลจากป่าแห่งนี้มาก ไม่ได้เป็นคนมีบ้านอยู่ใกล้ๆ ป่าเช่นคนทำงานในป่าส่วนใหญ่

“มีญาติอยู่ในอำเภอใกล้ๆ นี่ครับ มาเที่ยวหาเขา เห็นที่นี่รับสมัครคนเลยมาสมัคร”

เขาถูกส่งมาอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าริมแม่น้ำ และมาช่วยผม

วันหนึ่งเรือนำผมและภูมาส่งตรงจุดที่จะตั้งแคมป์พักแรม จากที่นี่ เราต้องข้ามลำน้ำ และเดินไปอีกราวหนึ่งชั่วโมงจึงจะถึงที่ผมจะทำงาน ทุกเช้าและเย็นเราใช้เรือไม้ลำเล็กๆ เป็นพาหนะข้ามฝั่ง

เมื่อพายเรือ ท่าทางของภูทำให้รู้ว่า เขาไม่คุ้นเคยกับน้ำเอาเสียเลย

นกแสก – ร่างกายของนกแสกได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกับงาน บินได้เงียบปราศจากเสียง เหยื่อ เช่น หนู จะรู้ตัวเมื่อกรงเล็บถึงตัวแล้ว ความเงียบเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของพวกมัน (ภาพ : กิตติพร ธิสอน)

ความแตกต่างอย่างมากอีกประการของภู กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ คือ ภูไม่ช่างพูด หากถามอะไรก็ตอบงึมงำในลำคอ

นอกจากนั้น เขายังไม่คุ้นเคยกับการเดินป่า เย็นวันแรก เขาไปรับผมที่ซุ้มบังไพรตั้งแต่ยังไม่ 5 โมง โผล่เข้าไปตอนกระทิงสองตัวกำลังกินน้ำ กระทิงวิ่งโครมครามออกไป ผมเก็บของออกจากบังไพร

เราเดินออกจากที่นั่น ผมเดินตามภูไปเรื่อยๆ สักพักเริ่มเอะใจ เพราะด่านไม่คุ้นตา แต่ด้วยความเชื่อใจคนนำทางจึงยังไม่ทักท้วง ภูเดินนำตัดไปมาวกเข้าด่าน ออกจากด่านลงไปในห้วยแห้งๆ

แม้จะมุ่งไปทางทิศตะวันตก แต่การเดินวกวนของเขาทำให้เสียเวลามาก ในที่สุด เราก็หลุดออกจากเส้นทาง

หลุดเพราะความวางใจของผม

ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่จึงจับเส้นทางอันเป็นด่านที่ใช้ได้

วันนั้นเรากลับถึงแคมป์ร่วม 3 ทุ่ม

ก่อไฟหุงข้าว ตำน้ำพริกปลากระป๋อง ทอดไข่

ทั้งหมดนั่นผมทำเอง เพราะภูบอกไม่ถนัดการทำกับข้าว

“พรุ่งนี้เอาเชือกฝางมัดไว้ตรงด่านที่มีแยกนะครับ จะได้ไม่เสียเวลา” ผมเลี่ยงคำว่าหลง

ผมไม่รู้ว่าภูได้ยินไหม เขาไม่รับคำ ไม่พยักหน้า เดินไปขึ้นเปล

 

หลายวัน ผมกับภูพูดกันน้อยมาก กลางคืนกินข้าวเสร็จเขาขึ้นเปลนอน ผมนั่งฟังเสียงน้ำไหลกระทบแก่งหิน แหงนหน้าดูท้องฟ้าที่ดาวส่องประกายระยิบ

ไม่ได้พูดคุย ไม่ใช่ปัญหา ผมคุ้นเคยกับความเงียบ การใช้เวลาอยู่ในซุ้มบังไพรวันละ 8-9 ชั่วโมง นั่นคือช่วงเวลาซึ่งต้องเงียบ

ช่วงเวลาที่ฟังอย่าง “ได้ยิน”

 

ภูไม่ได้ช่วยให้ผมทำงานง่ายขึ้น เขาไม่มีทักษะที่จะให้ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติม แต่เขาทำให้ผมรู้ว่า การเงียบเกินไป บางครั้งทำให้ผู้อยู่ด้วยอึดอัดไม่น้อย

พูดก็พูดเถอะ เขาทำให้ผมเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น

เขาทำให้ผมเข้าใจมากขึ้น กับความหมายของความเงียบ

เมื่อไหร่ควรเงียบ เมื่อใดควรพูด

อยู่ในป่า การเงียบนั้นสำคัญ เพราะมันเป็นเครื่องมือในอันที่จะทำให้ได้ยินสิ่งรอบๆ

คล้ายกับว่า เมื่ออยู่ในที่ซึ่งมีแต่ความอึกทึก

“เงียบ” เพื่อฟังอย่างได้ยินและทำความเข้าใจ ยิ่งจำเป็น •