วิรัตน์ แสงทองคำ : ผู้นำ กับยุทธศาสตร์ (3) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมในบางมิติซึ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

ผู้นำกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีความเชื่อมโยงกัน จากปัจเจก จากความรู้ ประสบการณ์ สู่ “ตัวแทน” กลุ่มพลังอิทธิพล และสถาบันต่างๆ ของสังคมไทย

เรื่องราวข้างต้นเกี่ยวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคน ในตอนนี้ ขอกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ถึง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

เรื่องราว โปรไฟล์ บุคคลสาธารณะ มีแหล่งอ้างอิงมากมาย

ในที่นี้ ขออ้างอิงข้อมูลพื้นฐานซึ่งปรากฏในฐานะเลขาธิการ (Director-General) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) หรือ WTO (www.wto.org ) และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Conference on Trade and Development ) หรือ UNCTAD (http://unctad.org) รวมทั้งข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ (http://www.democrat.or.th) ในฐานะที่เขาเป็นคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค

นอกจากนั้น มาจากข้อเขียนของผมเองที่อ้างไว้ในตอนก่อน (หนังสืออำนาจธุรกิจใหม่ โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2541)

 

จุดเริ่มต้นสำคัญของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จากเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกๆ ของธนาคาร อันเป็นแผนการสร้างบุคลากรในยุค ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (2502-2514) ผู้ซึ่งสามารถผลิตนโยบายการเงินสำคัญๆ ได้ ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร

นักเรียนทุนแบงก์ชาติ เป็นแผนการส่งนักเรียนไทยหัวกะทิเข้าเรียนตั้งแต่ประดับปริญญาตรีในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศซึ่งทรงอิทธิพลในโลกทุนนิยม

เขาเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน ได้ไปเรียนยังภาคพื้นยุโรป–ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยปกติแล้วแบงก์ชาติมักส่งไปเรียน ณ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

เขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นถึง 10 ปีเต็ม (2506-2516) ศึกษาต่อเนื่อง ระดับปริญญาตี-โท สาขา Econometrics, Development Planning ต่อด้วยปริญญาเอกสาขา Economic Planning and Development ณ Netherlands School of Economics (ชื่อขณะนั้น)

สถาบันการศึกษาแห่งนี้มีประวัติก่อตั้งมายาวนานทีเดียวเมื่อกว่าศตวรรษ มีการเปลี่ยนชื่อจาก Netherlands School of Commerce มาเป็น Netherlands School of Economics ในปี 2482

จากนั้นในปี 2526 ได้ควบรวมกับ Medical Faculty Rotterdam กลายเป็น Erasmus University Rotterdam

ส่วน Netherlands School of Economics เดิมคงเป็น Erasmus School of Economics ในปัจจุบัน

หลายปีก่อนหน้านี้เคยยกเรื่องราว ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะศิษย์เก่าเป็นเรื่องเด่นประกอบใน Brochure ภาคภาษาอังกฤษของ Erasmus School of Economics (ESE)

ที่สำคัญเป็นพิเศษคงเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เนื้อหาเกี่ยวกับ Human Resource Planning and Development อยู่ภายใต้การกำกับของ Jan Tinbergen ศาสตราจารย์ชาวดัตช์ผู้มีชื่อเสียง ผู้ก่อตั้งสถาบันเศรษฐมติ (Econometric Institute) ที่ Netherlands School of Economics ต่อมาเขาคือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนแรก (ปี 2512) “วิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในหัวข้อ Educational Planning and Growth in Developing Countries โดย Rotterdam Press และได้ใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางโดยมหาวิทยาลัยในยุโรป” ประวัติ (Biodata) อย่างเป็นทางการบางตอน ปรากฏใน website องค์การการค้าโลก

ความสนใจเรื่องในภาพกว้างกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป คงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญบางอย่างในชีวิตการงานของเขาได้ในเวลาต่อมา

 

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเวลาทั้งหมด 12 ปี

“เขาทำงานที่แบงก์ชาติเพียง 8 ปี (2517-2525) สามารถไต่บันไดเป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ ถือเป็นคนหนุ่มที่เติบโตที่สุดคนหนึ่งของแบงก์ชาติ ศูนย์รวมนักเรียนนอกและคนเก่ง เขาเป็นนักอรรถาธิบายเรื่องยากๆ ทางเศรษฐกิจต่อสาธารณชน จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงประเทศไทยกำลงเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ” (จากหนังสืออำนาจธุรกิจใหม่) นั่นคือช่วงประสบการณ์สำคัญช่วงหนึ่ง

ความเป็นจริง ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ ถือเป็นตำแหน่งโฆษกของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่อยู่เพียง 2 ปี ก่อนจะเข้ามาอยู่ใจกลางบทบาทสำคัญอย่างมากๆ ของแบงก์ชาติในเวลานั้น ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน (ปี 2525-2527)

ช่วงเวลาอันวุ่นวาย สับสน ทดสอบความสามารถของแบงก์ชาติ ในความพยายามแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันของโลกในช่วง 3-4 ทศวรรษที่แล้ว ช่วงต่อเนื่องกับการลดค่าเงินบาท

เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีข้อมูลพื้นฐานเป็นที่ทราบกัน โดยเฉพาะในช่วงต่อเนื่อง ราวปี 2524 ประเทศไทยเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เงินบาทผูกติดกับดอลลาร์ของสหรัฐแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพืชผลเกษตร

รัฐบาลในเวลานั้นได้ประกาศลดค่าเงินบาทถึง 3 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สาม (2 พฤศจิกายน 2523) มีการปรับลดถึง 15% ในช่วงใกล้เคียงกัน มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจาก “อัตราแลกเปลี่ยนคงที่” ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น “ระบบตะกร้าเงิน”

บทบาท ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นผลต่อเนื่อง ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงิน มาตรการของแบงก์ชาติ อ้างไว้ใน Biodata ของ WTO พอสรุปได้ว่า

หนึ่ง-ควบคุมการก่อหนี้ของภาครัฐอย่างเข้มงวด

สอง-ในเวลาเดียวกัน ส่งสัญญาณการยกเลิกสถาบันการเงินไม่เป็นทางการ (non-formal) และไม่ถูกกฎหมาย (illegal) ออกจากระบบ ประเด็นหลังมีบางคนตีความว่า เป็นความพยายามแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการค้ำจุนระบบธนาคารดั้งเดิม ซึ่งก่อตั้งมาทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

“นับเทียบในคนรุ่นเดียวกันแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่สามารถแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ได้มากที่สุดคนหนึ่ง…” (หนังสืออำนาจธุรกิจใหม่) นำเสนอไว้ตอนแรกนั้น หมายถึงปรากฏการณ์ว่าด้วยผู้บริหารแบงก์ชาติก้าวสู่โลกภายนอก

ในขณะคนอื่นๆ มักก้าวจากผู้กำกับนโยบายและกติกา มาเป็นผู้เล่นเสียเอง ซึ่งดำเนินเป็นกระแสมานาน ตั้งแต่ยุคธนาคารไทยก่อตั้งไม่นาน จนมาสู่กระแสใหม่อันคึกคักในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ตัดสินใจก้าวออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยเฉพาะกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งแรกของไทย ซึ่งมีพัฒนาการเกี่ยวกับทีมงานบริหาร เกี่ยวข้องกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยมานานกว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุค ประจิตร ยศสุนทร (ผู้จัดการใหญ่และประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วงปี 2516-2542) ตั้งแต่ช่วง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เพิ่งเข้าทำงานที่แบงก์ชาติ มาจนถึงยุค ดร.โอฬาร ไชยประวัติ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วงปี 2535-2544) ซึ่งก้าวออกจากแบงก์ชาติก่อนเขาเพียง 2 ปี

มีอีกบางกรณีผู้บริหารแบงก์ชาติ ก้าวพ้นจากผู้กำกับชั่วคราว กลายมาเป็นผู้เล่น ผู้แก้ปัญหาธนาคาร เช่นกรณี เริงชัย มะระกานนท์ กับธนาคารกรุงไทย หรือบางคนก้าวไปสู่หน่วยงานใหม่ๆ เช่นกรณี เอกกมล คีรีวัฒน์ (เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ในช่วงปี 2535-2538)

 

ในปี 2529 ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลือกเส้นทางที่แตกต่าง เข้าสู่การเมืองขั้นพื้นฐาน ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้กลายเป็น ส.ส. หน้าใหม่ในวัย 40 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น เขาได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกะทรวงการคลัง ถือเป็นจังหวะก้าวอันโลดโผนที่สุดในตำนานคนแบงก์ชาติ

และเป็นช่วงจังหวะเวลาของรัฐบาล เปรม ติณสูลานท์ ช่วงสุดท้าย (5 สิงหาคม 2529 – 3 สิงหาคม 2531)

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

ข้อมูลบุคคล
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
เกิด
30 พฤษภาคม 2489

การศึกษา
– ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
– มัธยมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
– ปริญญาตรี-โท Netherlands School of Economics สาขา Econometrics & Development planning ประเทศเนเธอร์แลนด์ (2506-2512)
– ปริญญาเอก Netherlands School of Economics สาขา Economic Planning & Development ประเทศเนเธอร์แลนด์ (2512-2516)

การทำงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย
–ฝ่ายวิชาการ (2517-2518) สำนักงานผู้ว่าการ (2518-2521) และฝ่ายต่างประเทศ (2521-2525)
–ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ (2525-2527)
–ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน (2527-2529)

ธนาคารทหารไทย
–ที่ปรึกษา (2531-2534)
–กรรมการผู้จัดการใหญ่ (2534-2535)

ตำแหน่งทางการเมือง
–รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (2529-2531)
–รองนายกรัฐมนตรี (2535-2538)
–รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (2540-2544)

องค์การระหว่างประเทศ
–เลขาธิการองค์การการค้าโลก หรือ WTO (2543- 2546)
–เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD (2548-2556)