ถอดบทเรียน ปฏิรูปเถรวาทในรัฐอินโดจีน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ถอดบทเรียน

ปฏิรูปเถรวาทในรัฐอินโดจีน

 

รอบปีแห่งแวด-วง-ดง-ขมิ้น กับเรื่องราวที่ช็อกสังคมไทยในวงการพระศาสนา และดราม่าต่างกรรมต่างวาระ

ตั้งแต่ พส.มหาสมปองและมหาไพรวัลย์ ไปจนถึงอดีตพระกาโตะ ที่แม้จะลาสิกขาไปหมดแล้ว แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังถูกวิจารณ์ต่อบทบาทการทำหน้าที่ปกป้องพุทธศาสนา โดยเฉพาะกรณีของหมอปลา-มือปราบพระนอกรีต-อลัชชี

แรงกระทบทั้งหมดนี้ สะเทือนถึงแก่นกลางเถรวาททั้งคณะชาวพุทธและองค์กร

ในฐานะเถรวาทชนคนหนึ่ง ฉันได้แต่ครุ่นคิดและหาทางออกต่อปัญหานี้โดยหยิบเอาเถรวาทเขมรยุคปฏิรูปที่มีบารังดำเนินการมาถอดบทเรียน

พลัน ความรู้สึกที่ว่า เถรวาทไม่ว่าไทยหรือแขมร์ไม่เคยแก้ “ตุมรง” หรือ “สังคายนา” ตัวเองได้ แม้แต่เมื่อบารังหยิบไปทำให้จะโดยอะไรก็ตาม การตอบโจทย์ปัญหา “ร่วมสมัย” ก็ยังไม่ไปถึง?

เหลียวหน้าแลหลังครั้งที่บารังรื้อฟื้นครั้งนั้นเป็นการจับมือกับราชสำนัก ฟันฝ่าอุปสรรคบ้านเมืองร่วมกัน โดยมิใช่สำนักเถรวาทและนักบวชเขมรก่อปัญหาแต่อย่างใด ทว่า มาจากเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่วิกฤตการเมืองระหว่างประเทศเขมร-สยาม ดังที่รัฐบาลฝรั่งเศสอินโดจีนเคยหวาดระแวงและมองว่าศาสนจักรเขมรคืออุปสรรคในการพัฒนา

ขณะเดียวกัน ฝ่ายเถรวาททั้งเขมรและไทยก็ปักใจเชื่อว่าคนนอกศาสนาอย่างบารังนั่นเองที่มุ่งทำลายสงฆ์และศาสนา

ชาวนักล่าอาณานิคมมีภาพลักษณ์เช่นนั้น แต่จริงแล้วพวกเขาก็ทำได้เพียงแค่สถาปนารัฐอินโดจีน ขณะที่แคว้นเขมร-เถรวาทกลับไม่เคยเข้าถึงซึ่งแก่นกลาง ไม่ว่าจะใช้ไม้อ่อนหรือแข็งต่อราชสำนักหรือคณะนิกายและทำหลายอย่างมาก

ในที่สุด พวกปกครองแคว้นเขมรก็ขอให้สำนักวิจัยที่กรุงฮานอยซึ่งเรียกชื่อตอนนั้นว่าโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศร่างแผนวิจัยและออกแบบคู่มือให้ซึ่งแผนแม่บทนี้จะกลายเป็นนโยบายพัฒนาแคว้นเขมร

เชื่อไหม แก่นกลางที่บารังตีโจทย์ออกมาของแคว้นกัมพูชากลับเป็นเรื่องเถรวาท

ความไม่อาจใช้อิทธิพลทางใดมาเปลี่ยนเถรวาทในประเทศนี้ได้ แต่สิ่งเดียวที่ฝรั่งเศสสนใจคือการปฏิรูปเศรษฐกิจกัมพูชาที่คงต้องเริ่มที่ผู้มีต้นทุนการศึกษาซึ่งก็คือบรรพชิตเถรวาท

เพราะการส่งเสริมคนกลุ่มนี้ เท่ากับต่อยอดศักยภาพที่จะสามารถคืนกลับสู่รัฐได้ และมันเท่ากับทำให้แคว้นที่ตนปกครองเดินต่อไปได้

น่าขนลุกไหม? การปกครองแคว้นว่าล้าหลังยังถูกดำเนินไปโดยอาศัยสถาบันวิจัยมองภาพรวมให้

และนี่คือ การแก้ปัญหาของรัฐบาลฝรั่งเศสอินโดจีนเมื่อเกือบร้อยปีก่อน!

ในสายตาคนนอก อย่างน้อยแม้กัมพูชาจะสูญเสียเอกราช แต่ก็ได้มาซึ่งการปกครองสมัยใหม่ที่เข้ากับกับเถรวาทเมื่อเทียบกับระบอบเก่า ทั้งยังเปิดมุมถึง 2 ด้านทั้งศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ที่ตั้งอยู่บนมรรคาเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังจัดการ “คืนอำนาจ” บางส่วนเพื่อกระตุ้นภูมิรู้ประชาชนนั่นคือกลุ่มเถรวาทอย่างเท่าเทียมด้วย 2 มาตรวัดการศึกษาคือระบบเถรวาทและการศึกษาสมัยใหม่ เนื่องจากพลเมืองชั้นแรงงานเขมรเวลานั้นเป็นนักบวชไปเกือบเสียทั้งหมด

อย่ากระนั้นเลย เพื่อยกฐานะทรัพยากร เพื่อเป็นฐานแรงงานใหม่ของรัฐจึงจำเป็นต้องอาศัยคนกลุ่มนี้ และก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็คือต้องปฏิรูป!

ในความเห็นคนยุคหลังอย่างฉัน ถึงกับเอามือทาบอกส่งเสียงอุทานว่า พวกเขาเห็นก่อนเราไปก้าวหนึ่งถึงร้อยปี!

ด้วยเหตุนั้น โมเดลเถรวาทปฏิรูปจึงเริ่มจากสำนักบรรณาลัยแบบเดียวกับหอสมุดวัชรญาณ (หอสมุดแห่งชาติ) ของไทย และตามมาด้วย “สำนักพุทธศาสนาบัณฑิต” (1927)

เพื่อบริหารองค์กรพุทธกัมพูชาที่เน้นการพัฒนาบุคลากรของคณะ “บรรพชิต” เช่นเดียวกับการอุปถัมภ์กรมการศาสนาและกระทรวงธรรมการ แต่อยู่ในขั้นทดลองและออกแบบว่าจะนำคุณค่าทรัพยากรส่วนนี้ไปพัฒนาตามนโยบายรัฐรูปแบบใด

คิดดูว่าแม้อับจนปัญญาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดก็ค้นพบว่า การจำลองเถรวาทสยามไปเป็นแนวพัฒนาพระสงฆ์กัมพูชา นี่ไม่ใช่ตรรกะในการทำลายพุทธศาสนาเช่นในอดีตที่ผ่านมา

แต่เป็นเศรษฐศาสตร์และการเมืองล้วนๆ

เรื่องที่พระเอาแต่กิน นอน ท่องพระสูตร เรียนบาลีไปเพียงวันๆ พวกบารังหาว่าเปลือง!

ภายใต้แนวคิดนี้ เท่ากับศาสนจักรซึ่งขณะนั้นมีประชากรอยู่ราว “150,000 รูป” ได้รับการส่งเสริมทะนุบำรุงทรัพยากร ทันทีที่รัฐบาลอินโดจีนปรับทัศนะใหม่ในการบริหารประเทศที่จะ…ทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ไม่เป็นภาระของรัฐ?

วิธีการคือ เสนอตำแหน่งข้าราชการที่มีเงินเดือนไม่กี่อัฐเรียล แต่เป็นตำแหน่ง “ศาสนาจารย์” ทั้งการสอนบาลีที่วัดและหลักสูตรฆราวาสในโรงเรียน ซึ่งนอกจากเพิ่มรายได้ประชากรแคว้นเขมรแล้ว ยังบูรณาการพัฒนาแคว้นเขมรในชั่วเวลาอันสั้นอย่างทันทีอีกด้วย

บทเรียนกรณีบารังต่อประเด็นดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า 1.ความสำคัญของการวิจัย 2.มุมมองแบบคนนอก (บารัง) ต่อปัญหาของภายใน (เถรวาท) ที่อาจเกื้อกูลต่อการพัฒนา 3.ความจำเป็นของการสังคายนา

ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “แก่นแท้” ของศาสนาในสายตาของชาวเถรวาท แต่เป็นหลักการของรัฐศาสตร์และการปกครองร่วมสมัยในการส่งเสริมทรัพยากรของรัฐ ซึ่งหากเกี่ยวกับองค์กร หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูป (สังคายนา)

และตัวอย่างที่สัมฤทธาในแง่ทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาประเทศและการศึกษาสำหรับบทบาทของเถรวาทกัมพูชาผ่านการปฏิรูปโดยฝรั่งเศสอินโดจีน ต่อโครงสร้างการปกครองยุคหนึ่งซึ่งมุ่งเน้นไปที่เถรวาทประชากร โดยแม้ว่าหลักการของมันจะยังเป็นความมั่งคั่งของรัฐอำนาจก็ตาม

กระนั้น เราเห็นเค้าลางของการปกครองที่ลงไปสู่ฐานรากของการพัฒนา ตั้งแต่การกระตุ้นศักยภาพของชาวเถรวาทชน ที่นำไปสู่การกระจายอำนาจทางอ้อมจากรัฐต่อประชาชน โดยแม้ว่าประชาชนกลุ่มนั้นจะต่างเผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือใดๆ ก็ตาม

และทั้งหมดนี้ คือฝ่ายรัฐและท้องถิ่น ต่างก้าวออกมาจาก “ขนบเดิม” และนี่คือคุณูปการของงานวิจัย และความท้าทายในคณะบารังกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องคิดต่างไปจากทั้งหมดในองคาพยพเดิมเพื่อให้เกิดความเท่าทันต่อการพัฒนาและยุคสมัยของสังคม

น่าเสียดายว่า เมื่อได้รับเอกราชแล้ว องค์กรพุทธศาสนาโดยเฉพาะสำนักพุทธศาสนบัณฑิตกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเขมรซึ่งเป็นเถรวาทด้วยกัน

ตรงข้ามกลับมุ่งทำลายโครงสร้างดังกล่าวเพราะอะไรกัน?

ตั้งแต่ยุคสีหนุราช จนถึงลอนนอลที่พยายามยึดโยงในตัวบุคคล/บรรพชิตในคณะสำนักพุทธศาสนบันฑิต ที่ถูกเบียดเบียนและอ่อนแอลงจากระบบพวกพ้องและคอร์รัปชั่น

แต่จริงๆ แล้ว รัฐบาลเขมรทุกสมัย ไม่เคยเห็นความสำคัญในการทำนุบำรุงองค์กรเถรวาทในรูปแบบนี้ และคืออันตรายของความล้มเหลวเบื้องต้นที่ตามมา กล่าวตามตรงว่า รัฐบาลเขมรเองต่างหากที่ไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้!

ซ้ำร้ายยังหวาดระแวงการเมืองที่มีต่อพระสงฆ์เขมรยุคที่โน้มเอียงฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อง่ายต่อการปกครองโดยรัฐอำนาจจึงมุ่งแต่ทำลายด้วยการทำให้คณะสงฆ์ภายในอ่อนแอตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่บารังทำไว้ในช่วงต้น แต่ในที่สุดก็ค้นพบว่าไม่ก่อประโยชน์ทางตรงต่อการพัฒนาประเทศแบบองค์รวม

และผลของการปฏิรูปครั้งนั้น ได้มีส่วนทำให้แผนเศรษฐศาสตร์การเมืองสมัยอินโดจีนได้จุดรุ่งรางภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษครึ่ง

ทีมงานฝรั่งเศสอินโดจีนในการสำรวจวัดเถรวาทในเขตกัมพูชาใต้

 

ใช่ไหม เราแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าภายในเวลา 15 ปี เถรวาทที่ผ่านการปฏิรูปจากคนนอกจะไปได้ไกลถึงเพียงนั้น (2470-2485)

ข้อพิสูจน์นั้น

โดยแม้ว่าที่สุดแล้ว เถรวาทเขมรจะสูญสิ้นความเป็นตัวเองเมื่อได้เอกราชจากสมัยสีหนุราช (1955-1970) ได้ฟื้นฟูใหม่ในสมัยลอนนอล (1970) และถูกทำลายอย่างถึงรากจากระบอบเขมรแดง (1975)

แต่ศัตรูภายนอกที่มาจากคนภายในและเป็นเถรวาทร่วมกัน อย่างไรก็ไม่มีวันจะทำลายโครงสร้างของพุทธเถรวาทให้ล่มสลายลงได้ ตราบใดที่คณะสงฆ์เถรวาทจะกล้าหาญสังคายนาสนิมในตมของตัวเอง

และสิ่งนั้นคือใดกัน? สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไทย โปรดทบทวนตัวเองจากการถอดบทเรียนนี้

เผื่อจะเห็นทางออกปัญหาร่วมสมัย-ในไทยเถรวาท

สมเด็จกรมพระวรจักร รณฤทธิ์ (กลาง) อธิบดีสถาบันพุทธศาสนบัณฑิต (1934)