หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด…กว่า 90% จีดีพี สภาพการณ์เศรษฐกิจบีบบังคับ หรือ รบ.อัดมาตรการสร้างความเคยชิน/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด…กว่า 90% จีดีพี

สภาพการณ์เศรษฐกิจบีบบังคับ

หรือ รบ.อัดมาตรการสร้างความเคยชิน

 

หนี้ครัวเรือนสูง ยังคงเป็นปัญหาที่กระทบด้านเศรษฐกิจ ที่ยังคงหาทางออกไม่ได้ รวมทั้งเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยิ่งทำให้แรงงานไทยตกงาน รายได้หดหาย ความสามารถในการใช้คืนหนี้ยิ่งลดลง จนหลายส่วนค้างจ่ายหนี้ จนเป็นหนี้เสีย

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมามากมาย โดยปัจจุบันมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยได้ 4.2 ล้านบัญชี เป็นวงเงิน 1.55 ล้านล้านบาท ทางด่วนแก้หนี้ ช่วยได้ 2.6 แสนบัญชี คลินิกแก้หนี้ ช่วยเหลือแล้ว 8 หมื่นบัญชีในเดือนมีนาคม 2565 และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มีลูกหนี้เข้าร่วมกว่า 2.3 แสนบัญชี

แต่ดูเหมือนจะยังไม่ช่วยลดหนี้ลงมากนัก

เมื่อรายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 นั้น ยังคงขยายตัวเพิ่มต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท

คิดเป็น 89.6% ของจีดีพี

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ “ดนุชา พิชยนันท์” ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้น จากข้อมูลล่าสุด ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นสินเชื่อกลุ่มระยะยาวสูง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยหนี้ครัวเรือนไทยมีความต่างจากหลายประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) บางส่วนขอสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตไปใช้ในการลงทุนธุรกิจ ทำให้สินเชื่อกลุ่มบัตรเครดิตยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่คุณภาพการชำระสินเชื่อมีการปรับตัวดีขึ้น และมีการขยายตัวในลักษณะชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกประเภท แต่มีส่วนที่ต้องจับตา คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ส่งสัญญาณว่าต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย

จากข้อมูลพบว่ามีลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 11.08% ต่อสินเชื่อโดยรวม!

 

ขณะที่ “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลของ ส.อ.ท.ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีความกังวลเรื่องปัญหาราคาน้ำมันและค่าเงินบาทกดดันต้นทุนสินค้าหลายอย่างให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งหนี้ครัวเรือนระดับสูงทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยพบว่าการปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ซื้อรถยนต์ไม่ผ่านการพิจารณาเฉลี่ย 30% ของยอดที่ยื่นขอแล้ว

“การที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ ก็ต้องเข้ามาดูว่าคนที่จะมาขอกู้เงิน มีหนี้สินอยู่แล้วเท่าไหร่ และมีรายได้เท่าไหร่ แล้วถ้าจะทำการกู้เงินก้อนใหม่ ก็ต้องดูว่ามีรายได้พอที่จะส่งเงินใช้หนี้ก้อนใหม่หรือไม่ และถ้าสถาบันการเงินมองว่าไม่มีกำลังผ่อนส่ง ก็เท่ากับไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้น หนี้ครัวเรือนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์”

นายสุรพงษ์กล่าว

 

ส่วนนักวิชาการอย่าง “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนว่า ต้องมองย้อนกลับไปที่พื้นฐาน คือ การก่อหนี้นั้น มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ หนี้สำหรับการบริโภค และหนี้เพื่อการลงทุน จุดต่างของหนี้สองส่วนนี้คือ หนี้เพื่อการบริโภคใช้แล้วก็หมดไป แต่หนี้เพื่อการลงทุน เมื่อใช้แล้วมีโอกาสได้รายได้เพิ่มขึ้น

หลักการปกติต้องพยายามก่อหนี้เพื่อการลงทุน และไม่ก่อหนี้เพื่อการบริโภค แต่ที่เกิดในสังคมไทยกลับต่างกัน คือคนมีหนี้เพื่อการบริโภคเยอะ และเมื่อเป็นหนี้เพื่อการลงทุนก็ต้องดูว่าสิ่งที่จะลงทุนนั้นตอบโจทย์หรือไม่ เพราะในที่สุดก็ต้องมีการใช้คืนหนี้ และยิ่งเป็นหนี้เพื่อการบริโภคก็ต้องคิดมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า “ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะคิดไม่ทัน ต้องตั้งคำถามเสมอ เมื่อก่อหนี้แล้ว จะหาเงินจากไหนมาใช้คืน ซึ่งเป็นหลักคิดที่ผู้กู้เงินส่วนใหญ่ละเลย” ดร.นณริฏกล่าว

อีกปัจจัย คือสถาบันการเงิน ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ จะปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมากกว่าเพื่อการลงทุน เพราะได้รับผลจากดอกเบี้ยสูง จึงปล่อยกู้ง่ายแต่เป็นการสร้างนิสัยเสียให้ประชาชนเคยชิน ขณะที่หนี้เพื่อการลงทุนกลับปล่อยยาก ทำให้บางคนต้องขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคมาใช้ลงทุนธุรกิจแทน

ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจก็เพิ่มตาม

 

ส่วนสุดท้าย คือภาครัฐทำให้พื้นฐานกลไกการกู้เงินมีความผิดเพี้ยน โดยพื้นฐานที่แท้จริงของการกู้ มีเพียงข้อเดียวคือ เป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ในอนาคต และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คนก็ต้องนับถือกฎข้อนี้ด้วย แต่เมื่อไรก็ตาม เมื่อมีช่องว่างให้คนที่ก่อหนี้ แล้วไม่ต้องใช้คืน เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะเจอปัญหา

“ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ ถ้าหากไม่มีเงินก็ต้องไปกู้ยืมเงินมา แปลว่า คนนั้นจะต้องหาเงินในอนาคตมาโปะ ไม่มีใครสามารถใช้หนี้แทนกันได้” ดร.นณริฏกล่าว

สิ่งที่ภาครัฐทำ คือ การเข้าไปอุดหนุนให้กับคนที่ไม่ควรจะได้ เช่น การมองเกษตรกรทุกคนเป็นคนจน ทั้งๆ ที่เกษตรกรบางคนไม่ได้จน แต่กลับไปทำประกันราคาสินค้าเกษตรให้ ซึ่งไม่ต่างจากการให้เงินฟรี

ในเรื่องหนี้สิน ภาครัฐก็เข้ามาช่วยลดหนี้เยอะเกินไป ซึ่งบางส่วนก็เห็นด้วย อาทิ กรณีช่วงที่เกิดโควิด-19 แต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก็มีมาตรการลดดอกเบี้ย ออกเงิน หรือลดเงินต้น ซึ่งมาตรการแบบนี้ทำให้คนไม่เคารพต่อกฎเพราะมองว่าเดี๋ยวภาครัฐก็เข้ามาช่วย

อีกประเด็นสำคัญคือ “การล้มบนฟูก” ในปัจจุบันเกิดการนิรโทษกรรม ทำให้กลไกการล้มบนฟูกทำได้เร็วและง่ายขึ้น รวมทั้งการติดเครดิตหนี้เสียสั้นลง ซึ่งเป็นการให้โอกาสจริง แต่กลับกัน คือ โทษน้อยไป ก็เหมือนทำให้คนก่อหนี้มาไม่ยอมคืน และก็จะกลับไปทำใหม่ซ้ำๆ อีก

“มาตรการที่รัฐออกมา และการลดโทษ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎการใช้คืนหนี้หายไป” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวทิ้งท้าย