‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน

เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (จบ)

ฉบับที่แล้วได้ทิ้งคำถามส่งท้ายว่า หากเรายึดตามตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งระบุว่าสถานที่ที่ “ขุนเครื่อง” (ขุนเครือฅำลก/อ้ายเครือฅำ) เสียชีวิตนั้น อยู่แถวเมืองฝาง บริเวณป่ากวาว (ภาษาล้านนาออกเสียงเป็น กว๋าว) ดังนั้น “เวียงยิง” ก็ควรอยู่ในพื้นที่เมืองฝาง มิใช่เมืองพร้าว?

คำถามตามมาก็คือ แถวเมืองฝางจะพอมีหลักฐานอะไรมายืนยันบ้างไหม ถึงการค้นพบ “กู่เวียงยิง” หรือ “ป่ากวาว” ว่ามีอยู่จริง?

คำตอบคือ มีหลักฐานรองรับด้านจารึก ทั้งจากระฆังสำริด 2 ชิ้น และจากแผ่นอิฐที่เพิ่งขุดค้นพบหมาดๆ อีก 1 แผ่น

 

ระฆัง (เด็ง) ที่วัดพระธาตุสบฝาง

หลักฐานชิ้นแรก จารึกตัวอักษรธัมม์ล้านนาบนระฆังสำริด ปัจจุบันแขวนอยู่เชิงพระธาตุสบฝาง ด้านที่หันไปทางแม่น้ำฝาง

ระฆัง หรือภาษาล้านนาเรียกว่า “เด็ง” ลูกนี้ ข้อมูลจากหนังสือ “จารึกในจังหวัดเชียงใหม่ภาค 4” จัดทำโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าก่อนที่จะนำมาแขวนบนวัดพระธาตุสบฝางนั้น ชาวบ้านขุดพบที่ “หนองสามหาบ” ซึ่งจมอยู่ใต้ริมน้ำฝาง ด้านล่างของดอยขนาดย่อมที่ตั้งพระธาตุสบฝาง สันนิษฐานว่าหอระฆังคงจะพังทลายลงมาจากบนเขา ในยุคที่เมืองร้างจึงไม่มีใครใส่ใจกู้คืนมา ชาวบ้านช่วยกันขนย้ายเด็งขึ้นมาไว้บนวัดพระธาตุสบฝางปี 2548

อนึ่ง ในอดีตอำเภอฝางนั้นกว้างใหญ่มาก ต่อมาได้มีการแบ่งพื้นที่การปกครองใหม่ แยกอำเภอฝางออกเป็นอำเภอไชยปราการ และอำเภอแม่อาย ตัวพระธาตุสบฝางจึงตั้งอยู่ที่ตำบลแม่นาวาง เขตอำเภอแม่อาย

ทีมนักจารึกวิทยาของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.ฮันส์ เพนธ์ ชาวเยอรมัน และพ่อหนานศรีเลา เกษพรหม ได้เดินทางไปศึกษาคำจารึกบนระฆังราวปี 2550 ถอดความมาได้ดังนี้

ะฆังวัดพระธาตุสบฝาง มีการระบุคำว่า ป่ากวาว เมืองยิง

“จุลศักราช 985 (พ.ศ.2166) พระมหาสังฆโมลีสิรินันท อยู่วัด ป่ากวาว หลวง เป็นประธานหล่อระฆังลูกนี้ โดยมีพระภิกษุวัดป่าใหม่ ที่ เมืองยิง และพระภิกษุวัดป่าเลา เป็นผู้ออกแบบและแต่งลวดลาย ได้รับความอุปถัมภ์จากแสนราชโกฏิ และแสนสิทธินาวา”

จากข้อความในจารึกสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ ปีที่สร้างระฆัง อยู่ในช่วงที่พม่าปกครองล้านนาแล้วนานกว่า 6 ทศวรรษ (ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าปี 2101) พบว่าผู้คนยังคงดำรงชีวิตอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นปกติสุข เห็นได้จากยังคงมีการหล่อระฆังถวายวัด

นัยยะสำคัญที่จับประเด็นได้คือ มีชื่อวัดว่า “ป่ากวาวหลวง” ด้วย วัดนี้ต้องเป็นวัดที่สำคัญยิ่งทีเดียว เพราะเป็นถึงที่พำนักของ “พระมหาสังฆโมลีสิรินันท” ผู้ซึ่งน่าจะเป็นพระสังฆราชาของแว่นแคว้นแถบเมืองฝาง

เท่านั้นไม่พอ ยังมีพระภิกษุสองรูปช่วยกันออกแบบตกแต่งลวดลายบนระฆัง หนึ่งในนั้นคือ พระภิกษุจากวัดป่าใหม่ เมืองยิง เมืองที่เรากำลังตามหาอีกด้วย

จะเป็นไปได้ล่ะหรือ ที่ต้องไปขอแรงพระภิกษุแดนไกลจากเมืองพร้าวมาช่วยออกแบบลวดลายบนระฆัง? (สมมุติว่าหากเชื่อตามทฤษฎีเดิม ว่าเวียงยิงนั้นอยู่ที่เมืองพร้าว) วัดป่าใหม่ ตั้งอยู่ในเมืองยิง (เวียงยิง) ก็คงต้องอยู่ในละแวกเมืองฝางแถวๆ นั้นนั่นเอง

ดิฉันได้สอบถามผู้รู้จากเมืองฝางว่า ปัจจุบันยังมีชื่อวัดป่ากวาวหลวง วัดป่าใหม่ และวัดป่าเลา อยู่แถววัดพระธาตุสบฝาง หรือแถวอำเภอแม่อายบ้างหรือไม่ คำตอบคือ ไม่พบชื่อวัดเหล่านั้นอีกเลย

ส่วนหลักฐานชื่อ “เวียงยิง” นี้ ล่าสุด (ยุคที่พม่าปกครองล้านนาเมื่อ 250-400 ปีที่ผ่านมา) พบว่าเป็นหนึ่งในพันนาย่อยของเวียงฝาง ในบรรดาพันนาต่างๆ มีชื่อ “เวียงยิง” ปรากฏด้วยอยู่จริง (แต่ไม่ทราบว่าอยู่จุดใด)

หลังจากนั้น ยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ราว 200 ปีมานี้ ชื่อของเวียงยิงในแถบสบฝาง ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

 

เด็งอีกลูกจากพระบาทผาสะแคง

หลักฐานคำจารึกบนระฆังสำริดอีกชิ้นปรากฏอยู่บน “เด็ง” ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ห้องล้านนา โดยป้ายคำบรรยายไม่ได้ระบุว่าได้รับโบราณวัตถุชิ้นนี้มาจากที่ไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ มีเพียงคำแปลตัวอักษรธัมม์ล้านนา ออกมาเป็นภาษาไทยกลาง สรุปใจความได้ว่า

“จุลศักราช 976 (พ.ศ.2157) พระมหาป่าใหม่ เมืองยิงเจ้า และพระมหาเถรเจ้าวัดหนองผา วัดก่อน้อย… พร้อมกันสร้างเด็งลูกนี้ นำมาไว้ตีบูชาพระบาทเจดีย์เจ้าผาสะแคงขุนฝาง…”

ระฆังจากพระบาทสะแคง ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีการระบุชื่อเมืองยิง

คีย์เวิร์ดสำคัญที่ปรากฏ คือ 4 คำเหล่านี้

1. ศักราช 2157 เป็นปีที่ไม่ห่างไกลจาก 2166 ที่มีการสร้างระฆังถวายวัดพระธาตุสบฝางมากนัก

2. พบคำว่า “ป่าใหม่” อีกครั้ง อันเป็นชื่อเดียวกันกับวัดที่พบในจารึกบนระฆังพระธาตุสบฝาง

3. คำว่า “เมืองยิง” เป็นคำขยายที่ติดสอยห้อยตามคำว่า “ป่าใหม่” ไปทุกหนทุกแห่ง สะท้อนถึงที่ตั้งของวัดป่าใหม่ว่า ตั้งอยู่ในมืองยิง เช่นเดียวกับเด็งลูกแรก แถมลูกนี้ยังเรียกว่า “เมืองยิงเจ้า” เจ้าคำนี้หมายถึง “ขุนเครื่อง” ใช่หรือไม่

4. คำว่า “พระบาทผาสะแคง” ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกใช้คำว่า “พระบาทผาชะแคง” มี “ขุนฝาง” ต่อท้าย สะท้อนว่าต้องตั้งอยู่ในเขตภูเขาสูงต้นกำเนิดแม่น้ำฝาง ปัจจุบันเราหารอยพระพุทธบาทผาสะแคงไม่พบทั้งในอำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ แสดงว่าจุด “ผาสะแคง” น่าจะถูกตัดแบ่งเขตพื้นที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าแล้ว

คีย์เวิร์ดทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ช่วยยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า บริเวณลุ่มน้ำฝางเคยมี “เมืองยิง” ตั้งอยู่ที่ไหนสักแห่งจริง โดยในเมืองยิงนั้น มีวัดสำคัญระดับเป็นที่จำพรรษาของพระมหาป่ารูปหนึ่งที่มีความสามารถในการออกแบบหล่อเด็งได้ อย่างน้อยที่สุดเมื่อ 400 ปีก่อน บริเวณนี้ยังเคยมีการเรียกกันว่า “เมืองยิง/เวียงยิง”

 

ก้อนอิฐค้นพบใหม่จากวัดดงส้มสุก

ตลอดปี 2564 ถึงต้นปี 2565 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ทำการขุดแต่งศึกษาซากโบราณสถานร้างวัดดงส้มสุก (ส้มสุกเป็นภาษาล้านนา หมายถึงต้นอโศก) ตั้งอยู่ที่ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย

ท่ามกลางการค้นพบอิฐหน้าวัวขนาดใหญ่มากกว่า 2,500 ก้อน กำหนดอายุได้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 อิฐเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อใช้ล้อมเรียงกันประกอบซ้อนชั้นขึ้นเป็นเสาพระวิหาร มีอิฐก้อนหนึ่งเขียนคำจารึกเป็นตัวอักษรฝักขามว่า

“ดินหมื่นน้อยผัวสาวบ้านป่ากวาวเมืองญิง (ยิง)”

ก้อนอิฐจากโบราณสถานวัดดงส้มสุก แม่อาย มีจารึกอักษรฝักขาม เขียนคำว่า ป่ากวาว เมืองยิง

คงต้องถอดรหัสกันอีกยกใหญ่ว่า “หมื่นน้อย” คือใคร ทำไมต้อง “ผัวสาว” แต่ที่แน่ๆ คือมีการระบุถึงชื่อบ้านนามเมืองของผู้ร่วมนำดินมาปั้นอิฐถวายแด่พระอารามดงส้มสุก ว่าอยู่ที่บ้านป่ากวาว เมืองยิง

เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำอย่างแน่นหนักว่า แถวเมืองฝางนั้นมีเมืองยิงหรือเวียงยิงอยู่จริง มีบ้านป่ากวาวอยู่จริง

สอดคล้องตรงตามกับที่ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า บริเวณที่พระญามังรายสั่งให้นายธนูยิงขุนเครือฅำลก (ขุนเครื่อง) นั้นเป็นจุดที่มี “ป่ากวาว” และให้เรียกบริเวณที่โอรสเสียชีวิต ณ ป่ากวาวแห่งนั้นว่า “เวียงยิง/เมืองยิง”

 

สรุปผลการศึกษา

ดิฉันเขียนบทความนี้เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ตัวเองหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ “กู่เวียงยิง” อำเภอพร้าวอีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกปี 2549 โดยดิฉันได้ฟันธงไปแล้วตามป้ายคำบรรยายว่ากู่เวียงยิงตั้งอยู่ที่เมืองพร้าว

ครั้งที่สองลงพื้นที่อีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2565 เพิ่งมานึกเอะใจ ถึงประเด็นเส้นทางการเคลื่อนขบวนของขุนเครื่องจากเชียงรายมาเมืองฝาง ว่าทำไมต้องย้อยลงมาถึงแม่สรวยแล้วตัดออกเวียงพร้าวให้เสียเวลา ไฉนจึงไม่ตัดตรงจากแม่กกเข้าแม่ฝาง?

กอปรกับการได้พบหลักฐานด้านจารึกเพิ่มเติมสามชิ้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่ตัวดิฉันเองมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณข้อมูลจากนายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณปิยะวัฒน์ ศรีธิทอง ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองฝาง-แม่อาย ที่ช่วยกันขบคิดวิเคราะห์ และค้นหาหลักฐานด้านต่างๆ ส่งมาให้จำนวนมาก

บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนความเชื่อของคนเมืองพร้าว ซึ่งเคยฝังจิตฝังใจกันมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา นับแต่ที่แม่ครูอรุณรัตน์ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่จนได้ข้อมูลมาจัดทำป้ายคำบรรยายระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ครั้นจะให้ยืนยันว่าการรับรู้ชื่อ “กู่เวียงยิง” ที่เมืองพร้าวนี้ มีมาก่อนหน้านั้นแล้วนานแค่ไหน ไม่มีใครทราบได้ เนื่องจากพ่อหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว ปราชญ์คนสำคัญเมืองพร้าว ผู้จุดประเด็นเรื่องกู่เวียงยิงเป็นรายแรกๆ ได้วายชนม์ไปนานแล้ว หากยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะอายุ 90 กว่า ท่านผู้นี้น่าจะไขความจริงได้ดีที่สุด

ดิฉันได้แต่ทำหนังสือถึงสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ว่าขอให้จัดสรรงบประมาณมาทำการขุดค้นขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี ณ บริเวณกู่เวียงยิงเมืองพร้าวอย่างละเอียด บางทีอาจมีการค้นพบจารึกบนแผ่นอิฐ หรืออาจได้หลักฐานอะไรใหม่ๆ มาช่วยอธิบายความถูกต้องว่าตกลงแล้วสถานที่แห่งนี้คืออะไรกันแน่

พระเจ้าติโลกราชสร้างเพื่อเป็นมหาสถูปโดยตรงล่ะหรือ และนามเดิมของมหาสถูปในยุคล้านนาเคยมีชื่อว่าอะไร ทำไมถึงมีขนาดมหึมา น้องๆ มหาสถูปวัดเจดีย์หลวงนั่นเทียว ภายในของมหาสถูปนี้ จักมีกองอิฐเก่าที่พระญามังรายทำเป็น landmark ถึงเหตุการณ์ที่เคยประหารโอรสไว้ด้วยหรือไม่?

ข้างฝ่ายเมืองฝาง-แม่อายเองก็เช่นกัน แม้นเราจะพบคำว่า ป่ากวาว เวียงยิงก็จริง แต่เป็นการค้นพบแค่ในจารึก เอกสารตำนาน มีใครสามารถชี้จุดได้หรือไม่ว่า ตัวเวียงยิงนั้นควรตั้งอยู่แถวใดกันแน่?

เขตป่ากวาวในแถบแม่อายนั้นมีหรือไม่ ระหว่างเส้นทางจากวัดพระธาตุสบฝางไปยังวัดดงส้มสุก?

นักวิชาการด้านโบราณคดีและปราชญ์ชาวบ้านของทั้งเมืองฝาง-เมืองพร้าว คงต้องร่วมด้วยช่วยกัน ระดมสมองศึกษาปมปัญหาที่ดิฉันเปิดปูมมานี้อย่างละเอียด ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร ไม่สำคัญ ไม่ถือว่ามีใครแพ้-ชนะ เพียงขอให้เรามีความจริงใจมุ่งมั่นที่จะสืบค้นความจริงของประวัติศาสตร์ล้านนาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเท่านั้นก็พอ •

 

อ่าน ‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้ที่นี่

‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ