‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘กู่เวียงยิง’ อยู่ที่ไหน

เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? (1)

 

เมื่อปี 2554 ดิฉันได้เขียนบทความในคอลัมน์นี้ชื่อเรื่องว่า “ประวัติศาสตร์บาดแผล ประวัติศาสตร์ปดปิด” มีเนื้อหาว่าด้วยการที่พระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาได้สั่งให้ “อ้ายเผียน” คนแม่นธนูใช้หน้าไม้ดักลอบปลงพระชนม์โอรสองค์โตของพระองค์เอง หลังจากจับได้ว่าลูกชายกำลังจะแย่งบัลลังก์

ในบทความชิ้นนั้น ดิฉันฟันธงว่า สถานที่ที่ “ขุนเครื่อง” พระโอรสของพระญามังรายถูกพระราชบิดาสั่งให้ฆ่านั้น คือบริเวณที่ปักป้ายว่า “กู่เวียงยิง” ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองพร้าว เชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือ (เส้นทางสู่เมืองฝาง) 3 กิโลเมตร

ปี 2549 ดิฉันเคยลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานขนาดมหึมาหลังดังกล่าว พบว่าชาวเมืองพร้าวเรียกขานสถานที่นี้ว่า “กู่เวียงยิง”

ดิฉันจึงปักใจเชื่อว่าสถานที่นี้คือกู่เวียงยิงจริงๆ

ทุกครั้งที่เห็นกู่เวียงยิง ดิฉันมักจะจินตนาการไปถึงภาพความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งของพระญามังราย ว่าในขณะที่พระองค์กำลังเหนื่อยยากปางตายต่อการสร้างบ้านแปงเมือง ขยายพระราชอาณาจักร นึกไม่ถึงว่าโอรสที่เคยไว้ใจ กลับคิดแย่งชิงราชสมบัติ หากปล่อยทิ้งไว้คงจะเป็นหอกข้างแคร่ ให้พระองค์ต้องคอยระแวดระวังใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข อย่ากระนั้นเลย จัดการวางแผนฆ่าขุนเครื่องเสียก็สิ้นเรื่อง

กระทั่งดิฉันได้หวนกลับมาสำรวจ “กู่เวียงยิง” อำเภอพร้าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565

คราวนี้ได้พิเคราะห์ป้ายคำบรรยายแผ่นใหญ่ แผ่นป้ายนี้มีการระบุว่าได้ข้อมูลมาจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปกรรมอำเภอพร้าว” เรียบเรียงโดยอาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ช่วงนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ และเป็นภาคีราชบัณฑิต)

ดิฉันเริ่มเอะใจว่า อ้าว! คนที่ชี้ว่ากู่เวียงยิงอยู่ที่เมืองพร้าวนี่ ตกลงเป็นข้อมูลที่อิงมาจาก “แม่ครูอรุณรัตน์” หรือ “พี่อู๊ด” ดอกล่ะหรือ? และเพิ่งทราบว่าในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนายังถกเถียงเรื่องนี้กันไม่จบ จึงตัดสินใจยกหูโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ “พี่อู๊ด” เพื่อให้ช่วยอรรถาธิบายถึงที่มาที่ไปให้กระจ่างสักนิด

แม่ครูอรุณรัตน์ยืนยันว่า อาจารย์ปวงคำ ตุ้ยเขียว (ผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระจารึก แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชาวเมืองพร้าว ได้พาแม่ครูลงพื้นที่สัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่เมืองพร้าวผู้มีอายุ 90 ปีกว่า (เมื่อ พ.ศ.2544) จำนวนหลายคน ซึ่งทั้งหมดเป็นประชากรดั้งเดิม ไม่มีการอพยพโยกย้ายมาจากที่ใด ให้ข้อมูลตรงกันว่า เนินโบราณสถานขนาดมหึมานี้ถูกเรียกขานต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า “กู่เวียงยิง”

ต่อมาแม่ครูอรุณรัตน์ได้เขียนบทความเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทำให้แนวคิดเรื่อง “กู่เวียงยิง” ว่าตั้งอยู่ที่พร้าวได้กระจายไปทั่วแวดวงวิชาการและผู้สนใจประวัติศาสตร์ล้านนา กระทั่งสภาวัฒนธรรมอำเภอพร้าวได้จัดทำป้ายคำบรรยายด้วยการฟันธงเรียกโบราณสถานหลังนี้ว่า “กู่เวียงยิง” โดยอ้างบทความของแม่ครูอรุณรัตน์

ครั้นผู้ที่มาพบเห็นป้าย “กู่เวียงยิง” ในยุคหลังๆ ยุคที่องค์ความรู้ด้านเอกสารตำนานสามารถโหลดมาอ่านได้ง่ายขึ้น ย่อมบังเกิดความสงสัย 3 ประการ

ประการแรก หลังจากพระญามังรายฆ่าลูกแล้ว พระองค์สั่งให้สร้างสถูปขนาดมโหฬารครอบศพลูกจริงหรือ มีหลักฐานลายลักษณ์ระบุไว้ที่ใดหรือไม่?

ประการที่สอง รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เราเห็นโดยตาเนื้อ เก่าถึงยุคพระญามังรายจริงล่ะหรือ? ดูๆ แล้วอายุสมัยน่าจะหย่อนลงมาอีกสัก 1-2 ศตวรรษไหม?

ประการที่สาม ด้านทำเลที่ตั้ง มีเอกสารเล่มใดยืนยันอย่างหนักแน่นบ้างหรือไม่ว่าจุดที่เกิดเหตุนั้น ตั้งอยู่ที่เวียงพร้าวจริงๆ ไฉนเลย ก็ตอนที่พระญามังรายกำลังพิโรธโอรสจัดๆ อยู่นั้น พระองค์ทรงประทับที่เมืองฝางมิใช่หรือ แล้วไยโอรสที่ถูกเรียกให้มาพบจึงเดินทางอ้อมจากเชียงรายลงไปไกลถึงเมืองพร้าว?

คงต้องมาช่วยกันคลี่คลายคำถามทั้งสามข้อ ทีละประเด็น

 

เวียงยิง อำเภอพร้าว ผู้เขียนลงพื้นที่ปี 2549

มีการสร้างกู่

หรือสถูปครอบศพโอรสไหม?

ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับปริวรรตโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด วัยอาจ กล่าวไว้ในผูก 1 ตอนที่พระญามังรายรู้ว่าขุนเครื่องโอรสองค์โตผู้มีอายุเพียง 13 ขวบ สมคบกับขุนนางชื่อ “ขุนไสเรียง” คิดกบฏต่อพระองค์ พระญามังรายได้แต่งกลอุบายเรียกขุนเครื่องให้มาพบที่เมืองฝาง (ขณะนั้นพระญามังรายประทับ ณ เมืองฝาง) ว่า

“เจ้ามังรายบังคับชายผู้ 1 ยิงหน้าไม้แม่นนักชื่ออ้ายเผียน ถือหน้าไม้ปืนยาไปผกอยู่หนทาง ครั้นขุนอ่องนำขุนเครื่องขี่ช้างมา อ้ายเผียนก็เอาหน้าไม้ยิงขุนเครื่องตาย ในที่ขุนเครื่องตายนั้นราบเพียงงามนัก จึงสร้างที่นั้นหื้อเป็นเวียงเรียกว่าเมืองยิง

ต่อเท่าบัดนี้แล เจ้าพญามังรายจึงว่าขุนเครื่องมันได้คบมิตรผู้ร้ายก็ตามกรรมมันแล เจ้ามังรายกเอารี้พลเลิกซาก ส่งสการขุนเครื่องเสียยังเมืองเชียงราย แล้วเจ้าก็เสวยสมบัติยังเมืองเชียงราย หากังวลอันตรายบ่ได้…”

สรุปได้ว่า หลังจากขุนเครื่องตายแล้วก็ให้ “เลิกซาก ส่งสการขุนเครื่องเสียยังเมืองเชียงราย” สะท้อนว่ามีการย้ายศพขุนเครื่องนำไปทำพิธีเผาที่เมืองเชียงราย ทั้งยังไม่ปรากฏอีกด้วยว่า มีการสร้างกู่บรรจุกระดูกขุนเครื่องที่เมืองเชียงรายด้วยหรือไม่

ย่อมแสดงว่า ณ จุดที่ขุนเครื่องตาย (ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองพร้าว หรือเมืองฝางก็ตาม) ต้องไม่มีการสร้างกู่บรรจุอัฐิ เพราะมีการย้ายศพเอาไปทำพิธีเผาที่เชียงรายแล้ว ใช่หรือไม่?

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมเก่า

ถึงล้านนาต้นหรือไม่?

ปัญหาประการที่สองคือ ตัวสถูปมีขนาดมหึมา อิฐแต่ละก้อนมีขนาดเล็ก ลบมุมจนคม เป็นอิฐสมัยล้านนาตอนกลางค่อนปลาย คือมีอายุราวสมัยพระเจ้าติโลกราชราว พ.ศ.1980-2030 แล้ว

คุณมนัส ตันสุภายน อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพร้าว ได้ตั้งข้อสมมุติฐานว่า

“ยุคพระญามังรายนั้นอาจไม่มีการนำกระดูกขุนเครื่องกลับมาสร้างสถูปครอบแถวนี้ก็จริง (ด้วยเอกสารระบุว่าเลิกซากส่งสการไปแล้วที่เชียงราย) แต่คนในพื้นที่เมืองพร้าว (สมมุติหากเชื่อว่า เมืองพร้าวคือที่ตั้งกู่เวียงยิงจริง) อาจมีการเอาก้อนหิน หรือกองอิฐขนาดย่อมๆ ทำสัญลักษณ์เป็น landmark ไว้ ณ จุดที่ขุนเครื่องตายนั้น เพื่อให้อนุชนได้รู้ว่าจุดนี้เคยมีเหตุการณ์อะไรในอดีต

ครั้นถึงยุคพระเจ้าติโลกราชปกครองล้านนา อย่าลืมว่าช่วงวัยหนุ่มสมัยยังเป็นท้าวลก เคยถูกพระญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาส่งมาปกครองเวียงพร้าว ก่อนที่ท้าวลกจะก่อกบฏแล้วถูกส่งไปจองจำที่เมืองยวม

เป็นไปได้หรือไม่ว่า วีรกรรมของ ‘ขุนเครื่อง’ นั้นคล้ายกับการกระทำของ ‘ท้าวลก’ เอง เมื่อพระเจ้าติโลกราชเสวยราชสมบัติ ก็อาจหวนรำลึกนึกถึงสมัยที่พระองค์เคยกินเวียงพร้าว เวียงที่เคยมีเรื่องราวโศกนาฏกรรมของขุนเครื่อง พระองค์จึงโปรดให้สร้างกู่อัฐิอุทิศให้กับขุนเครื่องก็เป็นได้”

หมายความว่า สถูปขนาดใหญ่ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยล้านนากลาง-ปลาย หรือยุคทองนี้ ในมุมมองของคุณมนัสเห็นว่า น่าจะเป็นผลงานของพระเจ้าติโลกราชที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง “วีรกรรม” ของขุนเครื่อง ที่มีอุปนิสัยอยากนั่งบัลลังก์แทนพ่อ คล้ายกับพระองค์เองในวัยหนุ่ม

ทฤษฎีดังกล่าวก็น่าสนใจไม่น้อย เรายังไม่ควรปิดกั้นความเห็นของปราชญ์ชาวบ้านเมืองพร้าว แม้จะมีข้อมูลที่คู่ขนานกันไปอีกด้านหนึ่งว่า สถูปแห่งนี้เคยมีชื่อว่าวัดสันป่าเหียง เป็นการนำพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน จากนั้นก็นำมาเรียกชื่อวัดประจำหมู่บ้าน โดยไม่มีนัยยะใดๆ ทั้งสิ้นเชิงประวัติศาสตร์

ผู้เขียนลงพื้นที่กู่เวียงยิงล่าสุด 23 เมษายน 2565 เริ่มตั้งคำถามว่า กู่เวียงยิงควรอยู่ที่ไหน

ตกลงกู่เวียงยิงอยู่ที่ไหนกันแน่?

หลายท่านเริ่มสงสัยว่า อ้าว! ก็ที่เมืองพร้าวเขายืนยันว่าบริเวณนี้เรียกว่า “กู่เวียงยิง” อย่างแน่นหนัก แล้วทำไมจึงยังต้องตามหา “กู่เวียงยิง” ที่เมืองฝาง อะไรที่ไหนอีกด้วยเล่า?

ปัญหาคือ ขณะที่เกิดเหตุการณ์การยิงขุนเครื่องนั้น พระญามังรายประทับอยู่เมืองฝาง สั่งให้ขุนเครื่องเดินทางจากเชียงรายมาเข้าเฝ้า เพื่อจะมัดข้อมือทำพิธีสืบชาตาให้ลูก โดยอ้างว่าพ่อฝันร้าย เห็นนกแหลว (แร้ง) ได้คาบลูกไป

ถามว่าถ้าคุณเป็นขุนเครื่อง การเดินทางจากเชียงรายไปฝางเมื่อครั้งอดีต สมัยยังไม่มีถนนสายต่างๆ มากมายแบบนี้ คุณย่อมต้องใช้เส้นเลียบแม่น้ำสายหลักใช่ไหม และแม่น้ำสายนั้นก็ต้องเริ่มจากแม่น้ำกก เข้าสู่แม่น้ำฝางหมายความว่า เมื่อเทียบกับเขตอำเภอในปัจจุบัน ขุนเครื่องออกจากอำเภอเมืองเชียงราย เข้าสู่อำเภอแม่จัน จากนั้นก็ถึงอำเภอแม่อาย ของเชียงใหม่

ทำไมต้องอ้อมลงไปไกลที่เมืองพร้าวด้วย? ดิฉันทดลองตามรอยเส้นนี้ดูแล้ว พบว่าจากเมืองพร้าวไปฝาง ทางลัดสุดต้องตัดขึ้นเขาค่อนข้างสูงชันหฤโหด ขนาดนั่งรถยังใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง กว่าจะถึงไชยปราการ ฝาง เป็นการย้อนศรโดยใช่เหตุ

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ค่อนข้างน้อย เราจึงต้องใช้ข้อมูลจากตำนานพื้นเมืองเชียงแสนอีกฉบับหนึ่งมาประกอบกัน ซึ่งให้รายละเอียดเรื่องราวตอนนี้ว่า

“พระญามังรายเจ้ามีลูก 7 ตน 6 ชาย หญิง 1 ผู้ช้อย (น้องคนเล็ก) ตายไปเสียชาย 1 ผู้พี่เค้าชื่อขุนอ้ายเครือฅำลก”

มาถึงตรงนี้ต้องขอหยุดอธิบายก่อน มิเช่นนั้นผู้อ่านจะต้องขมวดคิ้วมากไปกว่านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเอกสารอื่นๆ ให้ข้อมูลว่า พระญามังรายมีโอรส 3 องค์ชื่อ ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ ทว่าพื้นเมืองเชียงแสน กลับระบุจำนวนโอรสธิดาของพระญามังรายมากกว่าเล่มอื่น

นอกจากนี้ ยังเรียกโอรสองค์โตว่า “ขุนเครือฅำลก” อีกด้วย จึงต้องขออธิบายว่าผู้อ่านอย่าได้สับสนกับน้องชายคนที่สามผู้มีนามว่า “ขุนเครือ” (ไม่มีสร้อย) ด้วยเช่นกัน อนึ่ง ชื่อ “ขุนเครือฅำลก” นี้ ในพื้นเมืองเชียงแสนเล่มเดียวกัน บางครั้งก็เรียกสั้นๆ แค่ “ขุนเครือฅำ” ซึ่งไปพ้องกับสร้อยต่อท้ายที่อาจพบในเอกสารบางเล่ม ที่เรียกขุนเครื่องว่า “ขุนเครื่องคำ”

“(พระญามังราย) ก็แต่งหื้ออ้ายเครือฅำไปกินเมืองฝางได้ 2 ปี อ้ายเครือฅำคดคิดต่อมังรายตนพ่อแล้ว ท่านก็แต่งหื้อพวกธนูไปยิงตายเสียที่ ป่ากวาวเมืองฝาง นั้น ลวดได้ชื่อว่า กวาวเมืองยิง”

ข้อความในพื้นเมืองเชียงแสนไม่มีรายละเอียดของนายขมังธนูชื่ออ้ายเผียน ไม่มีการพรรณนาถึงการที่พระญามังรายคับแค้นใจจนต้องวางแผนการให้คนไปหลอกลูกว่าพ่อฝันร้าย คือนึกจะยิงก็ยิงเลย

ความแตกต่างของตำนานสองเล่มคือ พื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า ขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น พระญามังรายกำลังสร้างเมืองฝาง มอบโอรสองค์โตให้ช่วยดูแลเมืองเชียงราย แต่พื้นเมืองเชียงแสนกลับให้ข้อมูลด้านตรงกันข้าม กลายเป็นว่า พระญามังรายส่งโอรสองค์โตไปนั่งเมืองฝาง?

ไม่ว่าขณะนั้น ขุนเครื่อง (ขุนเครือฅำลก/อ้ายเครือฅำ) จักได้รับมอบหมายจากพระญามังรายให้ปกครองเมืองแห่งใดก็ตาม (เมืองฝาง หรือเชียงราย?) ที่แน่ๆ คือเหตุการณ์ขณะที่เขาถูกยิงนั้น พื้นเมืองเชียงแสนระบุชัดว่า เกิดขึ้นที่ “ป่ากวาวเมืองฝาง”

ฉบับหน้า จะพาท่านไปตามหาว่า “เวียงยิง ป่ากวาว” ที่เมืองฝางนั้นมีจริงหรือไม่? •