กระจกวิเศษ ‘ลุงตู่’ เรตติ้งใครดีที่สุดในปฐพี/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

กระจกวิเศษ

‘ลุงตู่’

เรตติ้งใครดีที่สุดในปฐพี

 

ท่าทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงออกหลังทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภา กทม.

ซึ่งเป็นชัยชนะอันท่วมท้นของนายชัชชาติ พร้อมพันธุ์

ขณะที่ ส.ก. พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล กวาดที่นั่ง 20 และ 14 ที่นั่ง ครองเสียงส่วนใหญ่ น่าสนใจยิ่ง

ไม่ว่า

“ทำไมเหรอ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตย เป็นการเลือกตั้ง ก็เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งนี้เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งก็เท่านั้นเองในประเทศไทย”

“ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้นแหละ มันไม่สะท้อนอะไรกับผมนี่ ก็พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลผม พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ส่งใครลงเลือกตั้งมิใช่หรือ”

“ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน เลือกหรือไม่เลือกก็เป็นเรื่องของประชาชน ก็ดูต่อไปว่าเลือกมาแล้วมันจะทำอะไรให้ดีขึ้นไหม แต่ผมก็หวังว่าจะดีขึ้น”

“ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับเรตติ้งของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล”

“ใครจะนิยมหรือไม่นิยม ผมก็ทำของผมเต็มที่นั่นแหละ”

 

คําพูดข้างต้น แม้เหมือนไม่แคร์ ไม่เอาใจใส่

แต่น่าสังเกตว่า แฝงด้วยอารมณ์หงุดหงิด ขุ่นมัว

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน คือวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน

มีอีเวนต์ใหญ่ ที่ถูกจัดขึ้น การประชุมเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue)

พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีด้วยตนเอง

โดยกล่าวว่า “ย้อนคิดเสมอถึงวันที่ผมตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน วันนั้นประเทศไทยมีการแบ่งขั้ว สลับกันต่อต้านซึ่งกันและกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมานับ 10 ปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย เมื่อผมได้ตัดสินใจไปแล้ว ผมก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด การมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เข้าใจดีว่าต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย”

“ในช่วงเป็นรัฐบาล คสช.มีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ผมก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่างๆ องค์กรอิสระยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยผมไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ใดๆ”

“วัตถุประสงค์ของการเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย ทุกคนก็ได้เห็นว่าในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี Master Plan ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2561-2580 ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ”

“เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมและคณะรัฐมนตรีทุกคนได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง”

 

ผลงานและความตั้งใจ ตั้งแต่การรัฐประหาร มาจนถึงการเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศบนเวทีดังกล่าว

มุ่งหวังจะส่งสัญญาณต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในวันที่ 22 พฤษภาคม หรือไม่ก็ตาม

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ดูเหมือนจะมั่นใจเต็มเปี่ยมกับ 8 ปีในการครองอำนาจ ว่ายังมีเรตติ้งที่สามารถกุมความพึงพอใจของประชาชนเอาไว้ได้

ประหนึ่งมองเข้าไปในกระจกเงาแล้ว

เห็นภาพตัวเองสกาวสุกใส ในฐานะขวัญใจชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม พลันที่คะแนน 1,386,215 คะแนน ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปรากฏออกมา

ทิ้งห่างคะแนนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน หรือเป็นแนวร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมล้านคะแนน

ขณะที่ในส่วน ส.ก.พรรคที่มีจุดยืนตรงข้ามรัฐบาล ทั้งเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล สามารถกวาดที่นั่ง รวมกันแล้วมากกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนที่นั่งที่มีอยู่ เหนือพรรคและกลุ่มอิสระที่สนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาโดยพลัน ว่านี่ไม่ได้สะท้อนอะไรต่อเนื่องไปถึง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล ที่พวกผู้สมัครและพรรคการเมืองเหล่านั้นยืนเคียงข้างเชียวหรือ

และเงาสะท้อนในกระจกก็อาจมิใช่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์

หากแต่เป็นเงานายชัชชาติที่สะท้อนความล้มเหลวของฟากรัฐมากกว่า

 

ดังที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เชื่อมโยงคะแนนเสียงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. กับการเมืองในภาพใหญ่อย่างน่าสนใจว่า คะแนนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งได้อันดับ 5 นั้นไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มาด้วยการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่อง ส.ก.ที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลชนะเป็นส่วนใหญ่ คือการส่งสัญญาณของคนกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาก่อน

ดังนั้น การที่คนกรุงเทพฯ ลงคะแนนให้นายชัชชาติเป็นเอกฉันท์ ในขณะเดียวกันก็เลือก ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภากรุงเทพมหานคร คือ “ประชามติของคนกรุงเทพฯ”

และคิดว่าน่าจะเป็นการสะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศเลยด้วยซ้ำไป ว่าคนไทยไม่ยอมรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในปัจจุบันนี้แล้ว

ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่าถ้าจะดันทุรังต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนายสุชาติ ชมกลิ่น ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐจะมีมุมมองที่แตกต่าง

โดยบอกว่า อย่าไปคิดว่าเป็นแลนด์สไลด์อะไรใหญ่โต นายชัชชาติไปลงจังหวัดอื่นก็คงไม่ได้แบบนี้

ตนยังเชื่อมั่นว่าพรรค พปชร.ซึ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไงภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ยังดีกว่าหลายๆ คน ในความซื่อสัตย์สุจริต และการทำงานไม่ได้มีอะไรด่างพร้อย อาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้างก็ต้องยอมรับสถานการณ์

สอดคล้องนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งระดับชาติมีบริบทที่แตกต่างกัน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้เป็นเรื่องความนิยมของตัวบุคคล ไม่ใช่ของพรรคการเมือง

การตัดสินใจของประชาชนครั้งนี้มีหลายเหตุผลด้วยกัน ดังนั้น การเหมารวมว่ารัฐบาลล้มเหลวจึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

 

แต่กระนั้น คนกันเองอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ออกมาปลุกกระแสโหวตเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการลงคะแนนให้คนใดคนหนึ่งในปีกที่สนับสนุนรัฐบาล โดยในส่วนของ นพ.วรงค์ รณรงค์ให้ลงคะแนนให้กับ พล.ต.อ.อัศวิน

แต่ก็แพ้ย่อยยับ

นำมาสู่ความรู้สึกที่ระบายฝ่ายเฟซบุ๊กของ นพ.วรงค์ ว่า

“ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ คุณชัชชาติชนะแบบแลนด์สไลด์จริงๆ ผมคิดว่าพวกเราไม่ควรไปตำหนิผู้สมัครที่เราให้การสนับสนุน

แต่เราควรตำหนิ 3 ป. ที่ประชาชนเขาอุตส่าห์ให้โอกาส ให้พวกท่านทำหน้าที่ แม้ท่านมาจากการรัฐประหาร ประชาชนเขาก็ให้โอกาส แทนที่ท่านจะทำหน้าที่ในโอกาสที่ประชาชนมอบให้ แต่ท่านกลับไปเกรงอกเกรงใจกันเอง แทนที่จะเกรงใจประชาชน ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ยอมปฏิรูปประเทศ เหิมเกริมในอำนาจ พวกเราเตือนแล้ว ยื่นหนังสือแล้ว กลับไม่สนใจ

โชคดีที่…นี่คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ท่านยังมีเวลาปรับปรุงตนเอง ก่อนที่จะสายเกินไป และต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ที่ช่วยกันสั่งสอน 3 ป. ก่อนที่บ้านเมืองจะเละมากไปกว่านี้”

 

จะเห็นว่าท่าทีของคนกันเองอย่าง นพ.วรงค์ ไปคนละทางกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์และคนในรัฐบาลแทบจะสิ้นเชิง

แน่นอนว่า ภาพ 3 ป.อันรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่สะท้อนในกระจกเงา

มิใช่ภาพอันสง่างาม ตรงกันข้าม กลับสะท้อนด้านลบอย่างตรงไปตรงมา

คำถามจึงมีว่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะปรับมุมมองอย่างไรหรือไม่

จะยังยืนยันเหมือนเดิมว่า นี่คือการเลือกตั้งเพียงจังหวัดเดียวของประเทศไทย

ยืนยันว่า นี่คือการเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้น

ยืนยันว่า นี่คือการเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับเรตติ้งของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

อยู่ต่อไปหรือไม่

หากยืนยัน ก็ถือเป็นการเดิมพันทางการเมืองอันสูงลิ่ว

เพราะในสายตาชาวบ้าน ภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนผ่านกระจกนั้น

คือ ภาพนายชัชชาติ และภาพของพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารงานออกมามากกว่า

เปรียบได้ดั่ง “ประชามติ” ที่สื่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

สื่อถึงภาพที่ไม่ได้บิดเบี้ยว และบอกเล่าความจริงให้ตระหนักว่า เรตติ้งใครดีสุดในปฐพีตอนนี้