“เจ้าตี้เจ้าตาง” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เจั้าที่เจั้าทางฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เจ้าตี้เจ้าตาง”

หมายถึงเจ้าที่เจ้าทาง

เจ้าที่เจ้าทางดังกล่าวมีสภาพเป็นผี มีหน้าที่หลักคือดูแลรักษาบริเวณนั้นๆ คนล้านนาเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้มีผีชนิดนี้อยู่ จึงปรากฏมีคำกล่าวถึงเจ้าที่เจ้าทางในภาษาพิธีกรรมว่า “เจ้าที่ เจ้าแดน เจ้าแห่ง เจ้าหน” หรือ “เจ้าที่ เจ้าแดน เจ้าแหนแหล่งหล้า” (แหน-เฝ้าระวัง)

เจ้าที่เจ้าทาง แบ่งเป็น 2 คำ คือเจ้าที่กับเจ้าทาง

 

เจ้าที่ เป็นผีที่ดูแลรักษาบริเวณ ชาวล้านนามักปลูกหอผี (ศาล) แล้วทำพิธีเชิญผีนี้ขึ้นสถิต มีตั้งแต่ระดับเมือง ระดับหมู่บ้าน ระดับวัด และเคหสถาน ซึ่งแต่ระดับย่อมมีข้อแตกต่างในรายละเอียด

ถ้าชุมชนระดับเมืองนอกจากจะปลูกหอขนาดใหญ่ อาจมีสิ่งอื่นร่วมด้วย เช่น ต้นไม้ใหญ่ที่ถือเป็น “ไม้มิ่งเมือง” หรือ “ไม้หมายเมือง” ตลอดจน “เสาหลักเมือง” เจ้าที่ชนิดนี้มีคำไวพจน์เป็นชื่อเรียก เช่น เจนเมือง เสื้อเมือง อินทขีล

หากเป็นชุมชนระหมู่บ้านเป็นขาดกลาง อาจมี “เสาใจบ้าน” ของชาวไทลื้อ หรือ “เสาสะกั้ง” ของชาวลวะ เป็นต้น เจ้าที่ชนิดนี้มีคำไวพจน์เป็นชื่อเรียกเหมือนกัน เช่น เจนบ้าน เสื้อบ้าน พ่อบ้าน เจ้านาย

ถ้าระดับวัดจะมีขนาดย่อมลงมา มักเรียกว่า เสื้อวัด และระดับสุดท้ายคือเคหสถานซึ่งจะหมายรวมไปถึงหน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท โรงแรม จะมีหอขนาดไม่ใหญ่โตนัก เรียกกันโดยทั่วไปว่า หอเจ้าที่

 

เจ้าทาง เป็นผีที่ดูแลรักษาบริเวณเช่นกัน แต่มีอยู่ทั่วไปทุกแห่ง เวลาคนไปทำกิจกรรมที่ไหน เช่น เดินทางผ่าน ทำงานภาคพื้นที่ ตลอดจนนอนค้างอ้างแรม คนล้านนาก็จะให้ความเคารพโดยการบูชาบอกกล่าว กล่าวคำขอขมาทุกครั้งเมื่อจะถ่ายหนักถ่ายเบา อย่างเช่น “สูมาเต๊อะเจ้าที่เจ้าทาง หื้อขดค้ายย้ายหนีก่อนเน้อ” (ขอประทานอภัย ขอให้ขยับขยายไปที่อื่นก่อน) ผีชนิดนี้บางที่อาจมีหอ เช่น ทางผ่าน ปาง (ที่พักชั่วคราว) ใต้ต้นไม้ ริมลำน้ำ เป็นต้น

ทั้งผีเจ้าที่เจ้าทางจะได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันไป

ผีเจ้าที่ระดับเมืองจะมีพิธีบูชาเซ่นสังเวยทุกปีที่เรียก “แกล้มเลี้ยง” “เข้าอินทขีล” หรือ “ใส่ขันดอก”

เจ้าที่ระดับวัดจะมีพิธีเซ่นไหว้ทุกครั้งเมื่อวัดมีกิจกรรมทำบุญ

ถ้าเป็นเจ้าที่เคหสถานจะมีการบูชาเซ่นสรวงในโอกาสสำคัญ เช่น เทศกาล วันพระ หรือแล้วแต่การเอาใจใส่ของเจ้าของสถานที่นั้นๆ

ส่วนเจ้าทางมักจะมีการเซ่นสรวงเป็นครั้งคราวเมื่อเดินทางผ่าน หรือพักอาศัย ส่วนใหญ่จะแบ่งอาหารเซ่นไหว้ทุกครั้งเมื่อจะบริโภคอาหาร

กล่าวถึงหอผี ถ้ามีขนาดใหญ่ก็มักมีเสื่อสาดอาสนา กระโถน คนโท แจกัน ดอกไม้ ธูป เทียน จัดวางภายใน ถ้าเป็นเจ้าที่ในบ้าน หอจะคับแคบลงจึงพบว่ามีเพียงแจกันหรือกระถางธูปเล็กเท่านั้น

เจ้าที่ทั้งหมดก่อนตั้งจะประกอบพิธีขับไล่ผีร้ายออกจากบริเวณ จากนั้นจึงเชิญผีดีผีที่มีเดชานุภาพขึ้นสถิต แล้วกราบไหว้บูชาเป็นประจำ ส่วนเจ้าทางไม่ปรากฏพิธีดังกล่าว

หํอฯเจั้าที่ในมหาวิทยฯาไลยฯชยฯงใหมฯ่ หอเจ้าที่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ที่กล่าวมาโดยลำดับเป็นเจ้าที่เจ้าทางแบบความเชื่อเดิมๆ

ปัจจุบันเจ้าที่เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะเจ้าที่ที่อยู่ตามเคหสถาน เนื่องจากการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมอื่นที่ไหลเข้าไป เจ้าที่ในความหมายเดิมเริ่มสับสนปนเปกับพระภูมิพระพรหม หรือเรื่องเทวนิยมองค์อื่นดื่นดาษ รูปแบบหรือวิธีปฏิบัติจึงหลากหลายกันไป

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ย่อมต้องการตัวช่วย ตัวช่วยที่เป็นที่พึ่งทางใจ เจ้าที่เจ้าทาง หรืออย่างหนึ่งอย่างใดในเชิงศรัทธา ล้วนเป็นสิ่งจรรโลงใจ ให้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่อย่างมั่นใจและมีความสุข •