สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูนอกกรอบแห่งเวียดนาม (12)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สัมมนาเชิงปฏิบัติการ Show and Share ลำดับที่ 7 ของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ช่วงบ่ายวันที่ 27 เมษายน 2560 เป็นคิวของ ครูทราน ติ ตวย ดุง (Mrs. ThanThiThuy Dung) ประเทศเวียดนาม หัวข้อ การแสวงหาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในห้องเรียนไร้พรมแดน (Acquiring the 21st Century Skills in Borderless Classroom)

ครูสตรีอายุ 38 ปี เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียน เลอ ง้อก ฮัน (Le Ngoc Tan) ประสบการณ์การทำงานเป็นครูมากว่า 20 ปี

โดยเริ่มต้นจากการเป็นครูในระดับชั้นประถมศึกษา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัด Lao Cai ซึ่งสภาพภูมิประเทศแตกต่างกัน มีทั้งส่วนที่เป็นเมืองและพื้นที่ราบสูง

ประชากรมีระดับการศึกษาแตกต่างกัน

เป็นจังหวัดที่จนที่สุดของเวียดนามอยู่ติดพรมแดนจีน

 

บันทึกของครูกฤษณพงศ์ กีรติกร วันที่นำคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปเยี่ยมเยียนเธอเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เล่าว่า ครูดุงได้รับการประกาศเกียรติคุณจากประวัติการทำงานว่า เป็นครูนอกกรอบ ผู้เปิดประตูการศึกษารูปแบบใหม่ให้กับเวียดนาม

ครูออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยจนกลายเป็นต้นแบบโรงเรียนประถมรูปแบบใหม่ (Vietnam New School Model) จากการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนรวมกับเพื่อนครู

ริเริ่ม “ระบบการศึกษาแบบเปิด (Open Orientation) เน้นการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นสูง จัดตั้งสภาผู้ปกครองนักเรียนแบบสมัครใจ เปิดช่องทางให้ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนของทุกชั้นเรียนอย่างเท่าเทียม

นำระบบสองภาษามาใช้ในโรงเรียนเพื่อฝึกใช้ภาษาอังกฤษ จัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดในห้องเรียน โดยยึดหลัก นักเรียนคือผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ ครูต้องเรียนรู้จากนักเรียน เน้นฝึกทักษะจากการลงมือปฏิบัติจริง แนะแนวเพื่อนครูผ่านการจัดชั้นเรียนในรูปแบบปฏิสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการสอนของครูให้มีประสิทธิภาพ

“ครูไทยพบครูเทศ “ของครูกฤษณพงศ์ เล่าอีกว่า หลักคิดประจำใจของเธอ คือ รักลูกศิษย์เหมือนรักลูกของตน รักโรงเรียนเหมือนบ้านของตน

ครับ อ่านแล้วคิดถึงคำกลอนสอนใจครูไทยที่ว่า “รักโรงเรียนเหมือนบ้าน รักนักเรียนเหมือนลูกหลาน รักเพื่อนร่วมงานเหมือนญาติพี่น้อง”

 

ครูดุงเป็นครูโดยยึดหลักในการทำงานว่า “กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ต้องทำให้ครูมีความสุขกับการทำงาน แล้วพวกเขาจะให้ความร่วมมือกับทุกโครงการของเรา”

แนวคิดที่จะสร้างโรงเรียนประถมศึกษารูปแบบใหม่ ได้ต้นแบบจากการศึกษาดูงาน ณ ประเทศโคลอมเบีย แต่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศเวียดนาม

และปัจจุบันได้กลายมาเป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ของเวียดนาม มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาเข้าร่วมโครงการ 165 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการอีก 100 โรงเรียน

โรงเรียนรูปแบบใหม่มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ “เน้นประชาธิปไตย ความคิดสร้างสรรค์ และความมีประสิทธิภาพ” เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้ดำเนินการ 5 ประการ

1. ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เช่น ผู้ปกครองที่เป็นแพทย์ มาให้ความรู้เรื่องสุขศึกษา ผู้ปกครองที่เป็นทหาร มาให้ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และผู้ปกครองที่เป็นชนกลุ่มน้อย มาสอนดนตรีพื้นเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้บริหาร และผู้นำชุมชน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันทุกต้นปีการศึกษา รวมทั้งการประชุมภายในของครู จะเปิดโอกาสให้ผู้แทนนักเรียนเข้าร่วมประชุมด้วย

2. ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง

3. พัฒนาบุคลากรครูอย่างต่อเนื่อง และในทุกปีครูต้องเสนอโครงการที่สนใจจะทำเพื่อพัฒนาห้องเรียนของตนต่อผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาเทคนิค วิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง รักในการสอน และต้องการพัฒนาตนเองตลอดเวลา

4. ประเมินผลการเรียนจากกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่เพียงใช้คะแนนในการประเมินเท่านั้น

5. จัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และครูสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการใช้กิจกรรมเสริมมาช่วยในการพัฒนาทักษะของผู้เรียน เช่น ทักษะภาษาต่างประเทศ เนื่องจากจังหวัด Lao Cai เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกพูด แนะนำนักท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีรถไฟ เป็นต้น

ซึ่งช่วยฝึกทักษะ และสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี

 

การดำเนินโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ ต้องมีการปรับการดำเนินงานให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น โรงเรียนในเมือง เน้นการฝึกความมั่นใจ และภาษาต่างประเทศ ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในเมือง จะเน้นกิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นท้อ ฝึกฝนกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของนักเรียน การดูแลนักท่องเที่ยว ฝึกภาษาต่างประเทศ เล่นฟุตบอล แข่งขันหมากรุก เป็นต้น

ผลการดำเนินโครงการพบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครองต้องการมีเวลาอยู่ที่โรงเรียนเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมมากขึ้น ต้องการให้ช่วงวันปิดภาคเรียนสั้นลง แสดงให้เห็นว่าสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองได้ จากเดิมที่อยากให้ลูกมีทักษะในวิชาพื้นฐาน ภาษา และคณิตศาสตร์ สามารถปรับให้ผู้ปกครองเข้าใจบริบทของสังคม จึงอยากให้ลูกมีความรู้รอบด้าน และพัฒนาทักษะนอกห้องเรียน เพื่อทำงานในสายอาชีพ หรือทำงานตามความต้องการและความถนัดของนักเรียน

แรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพครูสำหรับครูดุง มาจากความคิดความเชื่อที่ว่า การศึกษาสามารถนำพาคนให้พ้นจากความยากจน ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาและยกระดับตัวเอง ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก และความประทับใจในครูประถมศึกษาของตนเองที่เป็นแบบอย่างที่ดี สอนและใส่ใจนักเรียน

ทำให้อยากเป็นครูเพื่อช่วยพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดีของสังคม

 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสร้างความประทับใจให้ครูอย่างยิ่ง และตั้งใจจะนำแบบอย่างที่น่าประทับใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และครูท่านอื่นๆ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลแล้ว ครูดุงได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตสถานศึกษาในจังหวัด Lao Cai ต้องดูแลโรงเรียน 20 โรงเรียน ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ครูคาดหวังว่าจะขยายผลการดำเนินงานโครงการไปในหลายๆ พื้นที่รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับครูต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือประเทศอื่นๆ และตั้งใจจะถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้ครู และผู้บริหาร และขยายผลไปในโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศเวียดนาม

ความคิด ประสบการณ์ ที่ครูเล่าในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติวันนั้นยังดังก้อง ถ่ายทอดต่อๆ กันไปถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพทั่วอาเซียนและทั่วโลก เช่นเดียวกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนก่อนหน้านั้น ร่วมกันถอดบทเรียนออกมาจากใจของครูผู้ให้อย่างเต็มเปี่ยม