anthroposphere สำรวจวิถีชีวิตของสังคมเมือง ผ่านภาพภูมิทัศน์ทางอากาศ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

anthroposphere

สำรวจวิถีชีวิตของสังคมเมือง

ผ่านภาพภูมิทัศน์ทางอากาศ

 

ในตอนนี้ขอกลับมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่เราได้ชมมาอีกคราว

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า anthroposphere โดย ขวัญชัย ลิไชยกุล ศิลปินชาวอุตรดิตถ์ผู้อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ

เขาหยิบเอาแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมไทยแบบประเพณี มาสร้างสรรค์เป็นผลงานลายเส้นละเอียดซับซ้อนละลานตา แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเรียบง่ายสะอาดตา

ถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ผ่านทั้งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีต, เหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน, หรือจินตนาการถึงเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้า ด้วยภาพกิจกรรมของสังคมเมืองจากภูมิทัศน์ทางอากาศในมุมสูง เพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจเรื่องราวต่างๆ ทั้งประเด็นของสังคมและความเปลี่ยนแปลงของโลก

ขวัญชัยสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและรูปแบบทางสังคม ผ่านกิจกรรมนานาของมนุษย์อย่างเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และการขยายตัวของเมือง รวมถึงการดึงเอาทรัพยากรต่างๆ มาใช้อย่างมหาศาล

ขวัญชัยใส่รายละเอียดสำคัญเหล่านี้ในภาพของเขา เพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตของผู้คนและเมือง เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เฝ้ามองเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านภูมิทัศน์เมืองในภาพวาดของเขา

ล่าสุด ขวัญชัยยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ศิลปินเจ้าของผลงานอย่างขวัญชัย เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานนี้ว่า

“แนวคิดของงานชุดนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว นำมาเล่าใหม่ ผ่านการวางจังหวะของภาพด้วยการดึงเอาลักษณะคล้ายๆ เส้นสินเทา (เส้นแถบหยักฟันปลาที่ใช้แบ่งพื้นที่หรือฉากในงานจิตรกรรมไทยประเพณี) มาเป็นตัวแบ่งพื้นที่และมิติของงาน, เรื่องราวที่เล่าเป็นเรื่องราวหลากหลาย ทั้งเรื่องสังคม, ความเชื่อ, สงคราม ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในช่วงเวลาหนึ่ง นำมาเขียนเล่าเรื่องราวทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน”

“ผมมีความรู้สึกว่าเส้นสินเทาไม่ได้ทำหน้าที่แบ่งฉากเพียงอย่างเดียว แต่มีหน้าที่สำคัญกว่านั้น, คือทำให้ภาพไม่ดูเลี่ยนเกินไป, อย่างในงานของผม หรือแม้แต่งานจิตรกรรมไทยประเพณี, ถ้าเราลองเอาเส้นสินเทาออกไป จะเห็นว่าภาพดูเลี่ยน ลายตา เต็มไปด้วยรายละเอียดเกินไป, เส้นสินเทาทำหน้าที่เหมือนเวลาเรากินอาหารบางอย่างแล้วเรามีเครื่องเคียงมาตัดเลี่ยน”

“ถึงผมเรียนมาทางด้านศิลปะไทย แต่ตอนเรียนก็ไม่ได้ทำงานที่มีสีสันเยอะแบบจิตรกรรมไทยประเพณีทั่วไป แต่เริ่มต้นจากงานในลักษณะที่เป็นขาวดำ เพราะผมคิดว่างานแบบขาวดำมีความเรียบง่าย, ผมยังสนใจในกลวิธีบางอย่างของงานจิตรกรรมไทย เช่นการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิงของการวางตำแหน่งด้วยการสอดแทรก, เชื่อมต่อ, เช่น การเชื่อมต่อระหว่างป่ากับเมือง”

“ผมคิดว่าการเชื่อมต่อเรื่องราวในงานจิตรกรรมไทยนั้นสนุกและน่าสนใจ ผมจึงหยิบมาใช้ในงานของผม”

“ทิวทัศน์และเรื่องราวที่เห็นในภาพเป็นการผสมระหว่างสิ่งที่มีอยู่จริงกับจินตนาการมาทับซ้อนกัน อย่างภาพที่เขียนเกี่ยวกับโคราชก็จะมีวัดบ้านไร่, ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช, แต่ส่วนอื่นๆ อย่างสวนสนุกในโคราช ผมก็ไม่ได้หยิบเอาสวนสนุกจริงๆ มาเขียน แต่เป็นการสร้างสวนสนุกของผมขึ้นมาเอง”

“หรืออย่างภาพวาดเรือสำเภา ก็เกิดจากการที่ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองโคราชเก่าในอดีต ย้อนเวลากลับไปในยุคเก่าที่สุดของโคราชที่เคยเป็นยุคมนุษย์ถ้ำ, โดยได้แรงบันดาลใจจากเพลงพื้นบ้านที่พูดถึงความเป็นมาของโคราช ที่เล่าถึงพระราชาแห่งเมืองโคราชเก่า ที่เชื่อว่าถ้าได้หนังสิงโตมาปูบัลลังก์แล้วเขาจะเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ เขาเลยประกาศหาผู้กล้าไปตามหาหนังสิงโตมา ซึ่ง ณ ตอนนั้นเชื่อกันว่ามีชาวแอฟริกาอพยพจากแอฟริกาใต้มาที่ลังกาทวีป หรือศรีลังกา และนำสิงโตมาด้วย ผมก็เลยจินตนาการภาพของผู้กล้าล่องเรือสำเภาไปตามล่าหนังสิงโตขึ้นมา”

“หรือภาพของเมืองที่ผมมองว่ายิ่งมีแต่ความหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จากการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างขึ้นใหม่, ผมมองว่าเขาก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาตรงนี้อยู่เหมือนกัน ด้วยการสร้างรถไฟฟ้า สร้างถนนหนทางอะไรเยอะขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ได้จริงๆ ไหม, เพราะนับวันคนยิ่งหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่กระจายตัวออกไปไหน”

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของศรัทธาและความเชื่อในบ้านเรา ที่แม้จะพัฒนาไปไกลขนาดไหนก็ตาม แต่ผมก็ยังเห็นข่าวคนกราบไหว้สัตว์พิการ แมวสี่ตา หมูห้าขาอยู่ดี, หรือเรื่องของเซ็กซ์ครีเอเตอร์อย่าง ‘เดียร์ลอง’ ที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็รู้ว่ามีอยู่ และใครๆ ก็ชอบดูกันทั้งนั้น แต่บ้านเรากลับทำให้เป็นเรื่องลับๆ ล่อๆ เป็นเรื่องต้องห้ามที่พยายามเซ็นเซอร์ ผมก็เลยเอาภาพของเธอมาวางบนตึก เพื่อเปิดเผยให้ผู้คนเห็นว่า เธอก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกันกับเรา, ผมก็เอาแนวคิดต่างๆ เหล่านี้มาประกอบกันเป็นภาพภูมิทัศน์เมืองขึ้นมา”

“เวลาทำงาน ผมใช้วิธีการ Improvise (ด้นสด) โดยไม่ได้มีการวางแผนหรือร่างภาพก่อน แค่คิดว่าจะต้องวาดอะไรบ้าง แล้วหาข้อมูล และจดบันทึกเป็นตัวหนังสือ, เวลาทำงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ผมทำงานแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะร่างภาพได้ อาจเพราะงานของผมไม่มีจุดเด่น ไม่มีตัวละครไหนเป็นพระเอกหรือนางเอกของภาพ แต่จะเฉลี่ยเท่าๆ กันหมด”

“ความสนุกของงานจะอยู่ที่เราจะวางจังหวะและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบในภาพยังไงมากกว่า”

ส่วนภัณฑารักษ์ของนิทรรศการอย่าง ชล เจนประภาพันธ์ เผยให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ชื่อนิทรรศการ anthroposphere นั้นมีที่มาจากคำว่า anthropos เป็นภาษากรีกหมายถึง มนุษย์, ส่วน sphere หมายถึง โลก, เพราะฉะนั้น สองคำนี้เมื่อรวมกันหมายถึง ภูมิทัศน์ที่ทำให้เห็นว่าโลกนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง และสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นภูมิทัศน์ที่ว่านี้ก็คือการมองจากมุมสูงทางอากาศ ที่บางคนอาจจะเรียกว่า มุมสายตานก (Bird’s-eye view), ในปัจจุบันเราอาจจะมีดาวเทียม, มีโปรแกรม Google Earth ซึ่งทำให้เรามองเห็นภูมิทัศน์บนโลกได้อย่างง่ายดาย แต่การมองจากเทคโนโลยีเหล่านี้สังเกตได้แต่ภูมิทัศน์ แต่ไม่สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหว, กิจกรรม หรือความเป็นอยู่ของคนได้”

“แต่งานของขวัญชัยเป็นการประยุกต์กลวิธีและภูมิปัญญาแบบจิตรกรรมไทยแบบประเพณีมาถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เป็นทั้งอดีต, ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านจินตนาการของเขาด้วยการใช้ลายเส้นเล่าเรื่องจากล่างขึ้นบนแบบจิตรกรรมฝาผนังไทย และใช้วิธีการหลายอย่างเพื่อทำให้ภาพที่มีรายละเอียดเยอะและซับซ้อนดูเรียบง่าย”

“สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในผลงานชุดนี้ของเขาคือการใช้ตัวละครที่เรียกว่า “ภาพกาก” หรือตัวละครประกอบฉากที่เป็นสามัญชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบรองในงานจิตรกรรมไทยประเพณี, อย่างเวลาเราดูงานจิตรกรรมฝาผนัง เราจะเห็นว่าเขาจะเน้นตัวพระ ตัวนาง หรือพระพุทธเจ้าเป็นตัวละครสำคัญ แต่งานของขวัญชัยไม่ได้พูดถึงตัวละครสำคัญเป็นหลัก ไม่มีพระเอก, นางเอก แต่เป็นเรื่องของชุมชน วิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเมือง”

“พูดง่ายๆ ก็คือการนำเอาภาพกากมาเป็นเนื้อหาหลัก หรือในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการบันทึกวิถีชีวิตของยุคสมัยนั่นเอง”

นิทรรศการ anthroposphere โดยขวัญชัย ลิไชยกุล จัดแสดงระหว่างวันที่ 22 เมษายน-9 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ณ อาคารหอศิลป์ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)

เปิดบริการทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10:00-18:00 น. (ปิดวันอาทิตย์, วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.sac.gallery, facebook.com/sacbangkok และ instagram.com/sacbangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก SAC Gallery •