เช็กสต๊อกหนังสือ กาสะลอง/LES TROIS MOUSQUETAIRES ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ สำนักพิมพ์มติชน ผลงาน อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ (ALEXANDERE DUMAS) วัลยา วิวัฒน์ศร แปล

เช็กสต๊อกหนังสือ/กาสะลอง

LES TROIS MOUSQUETAIRES ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ

สำนักพิมพ์มติชน ผลงาน อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์

(ALEXANDERE DUMAS) วัลยา วิวัฒน์ศร แปล

ปกแข็ง จำนวน 848 หน้า ราคา 750 บาท

นานทีปีหนวงวรรณกรรมไทยถึงจะได้มีโอกาสอ่านงานวรรณกรรมคลาสสิคจากฝรั่งเศส ด้วยฝีมือแปลของนักแปลชั้นครู อย่าง วัลยา วิวัฒน์ศร ซึ่งที่ผ่านมาฝากผลงานในแนวนี้ไว้มากมาย

สำหรับนักอ่านรุ่นเก่าเชื่อว่ายังไงก็ต้องเคยผ่านตา ชื่อ ดาร์ตาญัง กับ ทแกล้วทหารสามเกลอ หรือ สามทหารเสือ มาบ้างแล้ว เนื่องเพราะจินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ชื่อก้องของนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ถูกนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ และภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์หลายครั้งหลายหน จนเป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วโลก แม้ในไทย ครั้งแรกจะเข้ามาในรูปแบบภาพยนตร์เงียบ แต่ต่อมาก็มีการนำเวอร์ชั่นของฮอลลีวู้ดที่มี ดักกลาส แฟร์แบงก์ส เป็นพระเอกมาฉาย ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างชื่นชม จนสมญา “ทแกล้วทหารสามเกลอ” ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ 3 นายทหารในยุคปฏิวัติ 2475 ที่เป็นเพื่อนเกลอที่สนิทชิดชอบกันอย่างที่สุด ดั่งที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “เบื้องหลังปฏิวัติ 2475” ว่าหมายถึง นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช และนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งล้วนสำเร็จวิชาการทหารจากเยอรมนี โดยที่มอบฉายา “ดาตายัง” ให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช

ขณะที่การแปลเป็นภาษาไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น มีหลายสำนวน แต่ก็มักไม่สมบูรณ์ บ้างก็ไม่จบ หรือต้องเปลี่ยนกันหลายมือ เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีความยาวมาก เกือบพันหน้า จนล่าสุดในปี 2545 สำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้นำมาพิมพ์อีกครั้ง โดยที่ฉบับแปลล่าสุดของอาจารย์วัลยานี้ ได้รับการยืนยันจาก สุพจน์ แจ้งเร็ว “กูรูด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม” บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้เขียนคำนำแทนสำนักพิมพ์มติชนไว้ว่า “เป็นฉบับแปลฉบับแรกที่แปลอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้ายจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส” และ “การแปลและจัดพิมพ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่แปลอย่างเที่ยงตรงและสละสลวยเท่านั้น หากผู้แปลยังลงแรงค้นคว้าหาคำอธิบายให้กับศัพท์หรือชื่อเฉพาะที่ผู้อ่านไม่คุ้นเคยอีกเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย” เพื่อให้ผู้อ่านได้อรรถรสอย่างเต็มที่เท่าที่ภาษาไทยจะเอื้อให้ได้

ในส่วนผู้แปลนั้น เวลา 2 ปีที่ทุ่มเทให้งานชิ้นนี้ดำเนินไปอย่างมีความสุข เพราะได้เพลิดเพลินเจริญใจกับการได้แวะข้างทางเพื่ออ่านข้อมูลของบุคคลในประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นตัวละครและที่อ้างอิงอย่างสนุกสนาน จนได้บทสรุปกับหลังแปลงานชิ้นเอกนี้ว่า การแปลวรรณกรรมคือ ชีวิต

ขณะที่ผู้เขียนก็เกริ่นไว้ในคำนำของเขาถึงที่มาของงานชิ้นนี้ว่า เป็นเพราะต้องมนต์หนังสือชุด “บันทึกความทรงจำของเมอสิเยอร์ดาร์ตาญัง” ในประเด็นที่ไม่มีผู้ใดใส่ใจมาก่อน นั่นคือ ดาร์ตาญังเล่าว่าเมื่อเขาได้ไปเยี่ยมคำนับเมอสิเยอร์เดอ เทรวิล ผู้บัญชาการหน่วยทหารมูสเกอร์แตร์ของพระราชาครั้งแรก ขณะอยู่ในห้องพักรอ เขาได้ขอคารวะทำความรู้จักชายหนุ่ม 3 คนซึ่งรับราชการอยู่ ทั้ง 3 มีนามว่า อาโธส ปอร์โธส และอะรามิส ทำให้สงสัยใคร่รู้ว่า นี่เป็นนามแฝงที่ดาร์ตาญังตั้งขึ้นเพื่อปกปิดนามจริงอันเกรียงไกรหรือไม่ ดูมาส์จึงทุ่มเทตามหาร่องรอยของทั้ง 3 คนนี้จนเจอ ใน “บันทึกความทรงจำฉบับลายมือของ เคานต์เอ ลา แพร์ ว่าด้วยเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และต้นรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” อันเป็นเค้าโครงที่มาของงานชิ้นนี้ของเขา

ปี ค.ศ.2002 ในวาระฉลอง 200 ปีชาตกาลของ อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ เขาได้รับเกียรติในยุคประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัค ให้เป็นนักประพันธ์คนที่ 6 ที่ได้นำศพเข้าประดิษฐานในมหาวิหารป็องเต-อง กรุงปารีส อยู่ใต้หลังคาเดียวกับ วอลแตร์ รูสโซ อูโก้ โซลา และมาลโรซ์ เพื่อเป็นการ “คืนความยุติธรรม” ให้แก่เขา

เกียรติยศนี้แม้จะช้าไป 130 ปี แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผลงานอมตะ ย่อมยืนยันคุณค่าผู้เป็นเจ้าของได้ตราบนิรันดร

สรุปสุดท้าย LES TROIS MOUSQUETAIRES ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ เป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สมควรมีไว้ในครอบครอง