ทำไมแผนรุกรานยูเครนของรัสเซียจึงล้มเหลว? (3) : กองทัพรัสเซียกับการต่อต้านของยูเครน | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

กองทัพรัสเซีย

ศาสตราจารย์เบ็ตตินา เรนซ์ (ฺBettina Renz) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและนโยบายกลาโหมของรัสเซีย สังกัดวิทยาลัยการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม สหราชอาณาจักร ผู้เขียนหนังสือ Russia’s Military Revival (Polity Press, ค.ศ.2018 https://www.nottingham.ac.uk/politics/people/bettina.renz) แจกแจงภูมิหลังกองทัพรัสเซียในการให้สัมภาษณ์รายการ The Inquiry ของสถานีวิทยุบีบีซีเมื่อ 24 มีนาคมศกนี้ว่า :

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ ค.ศ.1991 กองทัพรัสเซียตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายสิ้นหวัง ซังกะตาย ทหารรัสเซียติดอาวุธยุทโธปกรณ์คุณภาพแย่ ได้เบี้ยเลี้ยงเงินเดือนต่ำ สายตาสากลมองว่ากองทัพรัสเซียไม่สลักสำคัญเท่าไหร่อีกต่อไป แถมยังไปรบแพ้ในแคว้นเชชเนียของอดีตสหภาพโซเวียตจนต้องถอนทัพออกมาอย่างอับอายขายหน้าในสงครามเชเชนครั้งแรกระหว่าง ค.ศ.1994-1996 อีก นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่จึงไม่ใส่ใจกองทัพรัสเซียนัก

กระทั่งวลาดิมีร์ ปูติน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรัสเซียสืบแทนบอริส เยลต์ซิน ในปี ค.ศ.2000 และตระหนักว่าจำเป็นต้องปฏิรูปการทหารอย่างเร่งด่วน อันเป็นจังหวะสอดรับกันพอดีกับเศรษฐกิจรัสเซียฟื้นตัว เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ช่วยให้รัสเซียเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกในปี ค.ศ.2008

นั่นแปลว่าช่วง 8 ปีดังกล่าวเป็นโอกาสทองให้รัสเซียมีฐานะการเงินการคลังอู้ฟู่พอที่จะผลักดันการปฏิรูปกองทัพและปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยคืบหน้าไปได้

ปี ค.ศ.2008 ปูตินปรับตัวลงมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวภายใต้ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ (ค.ศ.2008-2012) ผู้เป็นหุ่นเชิด เดือนสิงหาคมปีนั้น รัสเซียก็เปิดฉากทำสงครามกับประเทศจอร์เจียซึ่งแยกตัวเป็นอิสระมาจากอดีตสหภาพโซเวียตเช่นกันในข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากจอร์เจียโดยรัสเซียหนุนหลัง (ได้แก่ สาธารณรัฐเซาธ์ออสเซเทียกับอับคาเซีย – เป็นเกมการเมืองเพื่อก่อสงครามรุกรานทำนองเดียวกับที่รัสเซียหนุนหลังและรับรองสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์และสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ให้แยกตัวเป็นอิสระจากยูเครนปัจจุบัน)

ปรากฏว่ารบกันเพียง 5 วัน รัสเซียก็ชนะจอร์เจีย แต่ผลการรบก็เผยจุดอ่อนต่างๆ ของกองทัพรัสเซียให้เห็นประจักษ์ไม่ว่าจะเป็นปัญหาร้ายแรงด้านการบังคับบัญชาควบคุม, เทคโนโลยีล้าหลัง ทำให้รัสเซียเสียเครื่องบินรบไปจำนวนมาก ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องกระตุ้นรัสเซียให้ประกาศโครงการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยในปี ค.ศ.2008 นั่นเอง

ผลสำเร็จของการปรับปรุงรอบนี้คือรัสเซียผลิตบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมกลาโหมที่ตนช่ำชองจัดเจนและตกทอดมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตเดิม ได้แก่ เครื่องบินรบเจ็ต รถถัง ฯลฯ แต่กลับไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนักในอาวุธไฮเทคอื่นๆ

ขีดจำกัดที่ว่านี้มีมูลเหตุสำคัญตรงอุตสาหกรรมกลาโหมรัสเซียติดลักษณะรัฐราชการรวมศูนย์สืบทอดมาตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์ ทำให้ค่อนข้างเป็นปึกแผ่นเดียวกันแบบแข็งทื่อตายตัวและอืดอาดเชื่องช้า เหลือวิสัยจะปฏิรูปชั่วข้ามวันได้ รัสเซียแก้ปัญหาดังกล่าวบางส่วนโดยนำเข้าชิ้นส่วนและความรู้อาวุธไฮเทคจากตะวันตก ทว่า ก็มาติดปัญหามาตรการลงโทษทางการค้าที่ตะวันตกทำต่ออุตสาหกรรมกลาโหมรัสเซียตั้งแต่ ค.ศ.2014 เป็นต้นมา ทำให้รัสเซียแก้ปัญหาดังกล่าวได้ไม่ง่ายและเรื้อรังยาวนานขยายตัวไปในอนาคต

ในสงครามรุกรานยูเครนครั้งนี้ แม้กองทัพรัสเซียจะผ่านการปรับปรุงให้ทันสมัยบ้างแล้ว แต่ประสิทธิภาพการรบยังไม่ค่อยดีดังคาดหมาย และออกอาการปัญหาโลว์เทคมาให้เห็นในสนามรบ ทำให้ยุทธวิธีหลายอย่างของรัสเซียในสมรภูมิจริงถูกฝ่ายยูเครนดักสกัดได้ง่าย

ทั้งนี้ก็เพราะจุดอ่อนเปราะในการควบคุมสั่งการและการติดต่อสื่อสารทางทหารของรัสเซียที่เคยก่อปัญหาในสงครามเชเชนและจอร์เจียแต่ก่อนกลับมากำเริบซ้ำอีก ดังปรากฏรายงานข่าวว่าผู้บัญชาหน่วยรบต่างๆ ของรัสเซียยังต้องสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุสื่อสารที่ไม่มั่นคงปลอดพ้นจากการดักฟังหรือรบกวนโดยฝ่ายยูเครน

ปัจจัยความล้มเหลวอีกอย่างของกองทัพรัสเซียคือความผยองลำพองและหลงชะล่าใจว่าตนมีกำลังพลใหญ่โตมโหฬารเหนือยูเครนกว่าเท่าตัว อีกทั้งได้เก็บรับประสบการณ์รบในเชชเนีย จอร์เจีย ไครเมียและซีเรีย ต่อเนื่องมาระดับหนึ่งในระยะใกล้ เป็นต้น ทว่า สิ่งที่รัสเซียมองข้ามไปคือสงครามรุกรานยูเครนนั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเป็นอันมาก กองทัพรัสเซียยังไม่เข้าขั้นมาตรฐานคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทางด้านไฮเทค ขาดยุทธศิลป์เชิงปฏิบัติการ การประสานงานย่ำแย่ ขวัญกำลังใจทหารต่ำ

การอาศัยแต่กำลังพลและอาวุธหนักถาโถมเข้าไปถล่มทำลายล้างตึกรามบ้านเมืองและพลเรือนยูเครนจนพินาศวอดวายล้มตายก่ายกองแบบเดิมๆ หาได้แปรเปลี่ยนคุณภาพและประสิทธิภาพการทหารของรัสเซียไปมากมายแต่อย่างใดไม่

ตารางเปรียบเทียบแสนยานุภาพด้านต่างๆ ของยูเครนกับรัสเซีย : งบฯ กลาโหม, กำลังทหาร, รถถัง, รถเกราะ, ปืนใหญ่ : เครื่องยิงจรวด, เครื่องบินรบ : เครื่องบินขับไล่, เฮลิคอปเตอร์ https://www.voanews.com/a/chart-comparing-ukrainian-and-russian-military-strength/6409977.html

การต่อต้านของยูเครน

พันเอกเกษียณราชการชาวอเมริกัน ดร.เลียม คอลลินส์ (Liam Collins) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Modern War Institute ณ West Point, New York (https://mwi.usma.edu/) ระหว่างปี ค.ศ.2016-2018 คอลลินส์ได้รับมอบหมายจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐให้เป็นนายทหารฝ่ายบริหารประจำตัวพลเอกเกษียณราชการ จอห์น แอบบิซาอิด (John Abizaid) ผู้ได้รับแต่งตั้งจาก รมว.กลาโหมสหรัฐ ให้ไปเป็นที่ปรึกษาอาวุโสงานปฏิรูปกิจการป้องกันประเทศแก่ รมว.กลาโหมยูเครน (https://www.youtube.com/watch?v=zXEvbVoDiU0)

คอลลินส์เล่าว่า ตลอดช่วงสองปีดังกล่าว เห็นชัดว่าตัวประธานาธิบดี รมว.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารของยูเครนต่างหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าจะป้องกันรับมือการรุกรานขนานใหญ่ของรัสเซียอย่างไรดี

ปี ค.ศ.2016 ยูเครนพลิกรื้อทบทวนกิจการความมั่นคงและกลาโหมของประเทศอย่างกว้างขวางทั้งระบบ ประธานาธิบดียูเครนตอนนั้นคือ เปโตร โปโรเชนโก สั่งตั้งหน่วยปฏิบัติการดำเนินงานปฏิรูปการป้องกันประเทศเชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้านใหญ่ๆ ด้วยกันได้แก่ การบังคับบัญชาควบคุมวางแผน, ปฏิบัติการทหาร, แพทย์สนาม, การส่งกำลังบำรุงและการทำให้กองกำลังเป็นทหารอาชีพ

กำลังทหารทั้งหมดของยูเครนมีขนาดไล่เลี่ยกับกองกำลังที่รัสเซียระดมมาตั้งอยู่บริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครนก่อนเปิดฉากรุกรานเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้เท่านั้น กล่าวคือ ประกอบด้วยทหารราบ 125,000 คน ทหารอากาศโยธิน 20,000 คน ทหารอากาศ 35,000 คน ทหารเรือ 15,000 คน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษราว 1,000 คน ดังนั้น หากเทียบกับกำลังทัพรัสเซียทั้งประเทศแล้ว ก็เล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนั้น ภารกิจการป้องกันประเทศยูเครนนับว่าท้าทายใหญ่หลวง เส้นพรมแดนยาวร่วม 2,000 ไมล์ ยากจะรู้แน่ว่ารัสเซียจะบุกทะลวงข้ามเส้นพรมแดนตรงไหน เมื่อไหร่

ฝ่ายยูเครนจึงมุ่งปกป้องศูนย์รวม ประชากรและที่ตั้งอุตสาหกรรมกลาโหมซึ่งน่าจะตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซียก่อนเพื่อน

และกล่าวในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว ที่ผ่านมาก็นับว่ายูเครนป้องกันมันได้ดีพอควร

กองทัพยูเครนมีจุดแข็งที่การวางแผนเตรียมตัว ขวัญกำลังใจและยุทธวิธี ซึ่งเผยให้เห็นจุดอ่อนด้านกลับของกองทัพที่ผ่านการปรับปรุงให้ทันสมัยของรัสเซีย กองกำลังรัสเซียเผชิญการต่อต้านดุเดือดกว่าที่คาดหมายเมื่อพยายามจะปิดล้อมกรุงเคียฟเมืองหลวง

การโจมตีตอบโต้ของยูเครนได้ชะงักกองทัพรัสเซียเอาไว้ไม่ให้รุกคืบหน้าได้ในพื้นที่อื่นๆ

คอลลินส์ชี้ว่า ความปักใจเด็ดเดี่ยวพร้อมสู้รบของฝ่ายยูเครนเป็นปัจจัยเสริมเติมสำคัญ ในฐานะที่พวกเขากำลังปกป้องชาติของตนจากการรุกราน ไม่ยอมให้ชาติถูกยึดครองและตกเป็นบริวารรัสเซียเหมือนประเทศเบลารุส

ประกอบกับแง่ยุทธวิธี แม้รัสเซียจะเหนือกว่าอย่างเทียบไม่ติดในแง่พลังอำนาจการรบโดยรวม แต่ในระดับหน่วยรบย่อยในสนามรบจริงแล้ว ฝ่ายยูเครนมีประสิทธิภาพเหนือกว่าไม่ว่าในแง่ความเป็นมืออาชีพ ค่านิยมที่ยึดถือ และการริเริ่มสร้างสรรค์ของบุคคลพลรบ

สายโซ่บัญชาการในสนามรบดังกล่าวทำให้ยูเครนชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เพราะการตัดสินใจทำได้รวดเร็วฉับไว กำลังทหารระดับล่างรู้ชัดว่าภารกิจของตนคืออะไรและพยายามทำสุดความสามารถเพื่อบรรลุมัน

ขณะที่ฝ่ายรัสเซียมุ่งเน้นแต่วิธีการบรรลุภาระหน้าที่เฉพาะหน้าทื่อๆ ตรงๆ ของตน ไม่ค่อยรู้อะไรมากไปกว่านั้น จึงไม่อาจริเริ่มสร้างสรรค์ใดๆ ได้เพราะไม่รู้แผนการทั้งหมด

เอาเข้าจริงความสัมพันธ์รัสเซีย-ยูเครนตึงเครียดมานานปี เมื่อ ค.ศ.2014 รัสเซียบุกยึดคาบสมุทรไครเมียทางใต้ของยูเครนไปในการรบดังกล่าว รัสเซียไม่เพียงแต่เผชิญหน้าทหารอาชีพของยูเครนเท่านั้น หากยังต้องรับมือการโจมตีประสานกันไม่หยุดยั้งจากกองอาสาพลเรือนติดอาวุธชาวยูเครน ซึ่งสู้รบปกป้องชายแดนจากกองกำลังพวกแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังด้วย กองอาสาพลเรือนยูเครนดังกล่าวมีกำลังนับเป็นกองพัน พวกเขาแสวงหาอาวุธปืน เสื้อเกราะ เครื่องแบบและเครื่องอำพรางตัวกันเองเพราะทางกองทัพยูเครนไม่มีสนองให้

ประวัติพื้นฐานที่มาดังกล่าวบวกกับกำลังพลสำรองของยูเครนก่อตัวเป็นพลังต่อต้านการรุกรานภาคประชาชน/ชาวบ้านที่เข้มแข็งประสานกับกองทหารอาชีพในรอบนี้จนรัสเซียแปลกใจ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)