‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ ณ กรุงสยาม (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ

ณ กรุงสยาม (จบ)

 

ตอนจบเรื่องพระบางฉบับนี้ จะมาวิเคราะห์ประเด็นที่เหลืออีกสามประเด็น

1. พุทธลักษณะของพระบาง สร้างโดยช่างขอมยุคไหน?

2. การทรงเครื่องของพระบาง เป็นมาอย่างไร?

และข้อสุดท้าย 3. สรุปว่าพระบางมีผีอารักษ์จริงหรือไม่?

 

พระบาง ได้มาสมัยพระญาฟ้างุ้ม?

เป็นที่ยอมรับกันอย่างแน่ชัดแล้วว่า จากทำเนียบรายชื่อกษัตริย์ของประวัติศาสตร์ลาวนั้น บุคคลที่มีตัวตนจริงค่อนข้างแน่นอนก็คือ “พระญาฟ้างุ้ม” ผิดกับกษัตริย์อีก 12 องค์ (เอกสารบางเล่มบอกจำนวนมากกว่านั้น) ที่ระบุรายนามก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดนัก

ชื่อของ “พระบาง” ปรากฏขึ้นพร้อมกับชื่อของ “พระญาฟ้างุ้ม” ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักประวัติของพระองค์พอสังเขป

พระญาฟ้างุ้ม (ท้าวฟ้างุ้ม/ฟ้างุ่ม/ฟ้างอม) หรือพระญาฟ้าหล้าธรณี ประสูติเมื่อ พ.ศ.1859 เป็นโอรสของขุนผีฟ้า (เจ้าฟ้าเงี้ยว) เป็นราชนัดดาของพระญาสุวรรณคำผง

เมื่อแรกเกิดท้าวฟ้างุ้มมีพระทนต์มากถึง 33 ซี่ เสนามาตย์ราชมนตรีพากันกราบทูลว่า เป็นสิ่งอัปมงคลต่อบ้านเมือง จึงลูกลอยแพไหลไปตามลำน้ำโขงพร้อมกับขุนผีฟ้าผู้เป็นบิดา ซึ่งได้ทำผิดฐานเป็นชู้กับนางขอม (นางสนมของพระญาสุวรรณคำผง)

แพของสองพ่อลูกลอยไปถึงแก่งหลี่ผีรอยต่อลาว-เขมร จนพระรูปหนึ่งชื่อ “พระมหาปาสมัน” มาพบเข้า นำเอาท้าวฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยง พอทราบว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเจ้าเมืองเชียงดง-เชียงทอง (นามเดิมของหลวงพระบาง) จึงนำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงกัมพูชา

เป็นเหตุให้ท้าวฟ้างุ้มได้เติบใหญ่ในราชสำนักกัมพูชา เมื่อคำนวณศักราช เหตุการณ์นี้ตกอยู่ในรัชกาลของ พระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวร กษัตริย์ขอมองค์สุดท้ายก่อนทิ้งเมืองพระนคร เมื่อท้าวฟ้างุ้มเจริญชันษาได้ 21 ปี กษัตริย์เขมรได้พระราชทานพระราชธิดานาม “พระนางแก้วกัลยา” (แก้วเก็งยา) ให้

ท้าวฟ้างุ้มกลับมาทวงบัลลังก์คืนจากอา เจ้าฟ้าคำเฮียว ที่เชียงดง-เชียงทองในปี 1896 โดยได้พานางแก้วเก็งยา อัครมเหสีมาด้วย ปรากฏว่าสิ่งที่พระนางได้พบคือ “ชาวลาวยังเคารพบูชาผีฟ้าผีแถนอยู่”

พระนางจึงกราบทูลพระญาฟ้างุ้มให้แต่งสมณทูตลงไปเชิญพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากกรุงกัมพูชา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่ง “พระบางเจ้า” หนึ่งในสิ่งที่พระสัสสุระ (พ่อตาของฟ้างุ้ม – หรือบิดาของนางแก้วเก็งยา) มอบให้มา นอกจากพระบางเจ้าแล้ว ยังประกอบด้วย

พระไตรปิฎก พร้อมอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ต่างๆ หน่อพระศรีมหาโพธิ์จากลังกา (ตำนานเรียกลังกาว่า “ธรรมทวีป”) เครื่องดุริยางค์ทั้งปวง พร้อมพระเถระชาวลังกาอีก 3 รูป กับภิกษุสงฆ์ชาวกัมพูชาอีก 20 รูป

หากทุกอย่างเป็นตามนี้ ก็จะสมเหตุสมผลทั้งหมด ว่า “พระบางเจ้า” เป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในกัมพูชาช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 หรือยุคแรกรับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ผ่านขอม

ทว่า ตำนานพระบาง กลับอ้างอิงเรื่องราวให้ไปไกลถึง พ.ศ.1400 เศษๆ เสียนี่

 

พระบางเก่าถึงศิลปะลังกา

พุทธศตวรรษที่ 15 จริงหรือไม่?

ตํานานพระบางเจ้า ระบุว่าหล่อในลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.1417 ต่อมากษัตริย์กรุงอินทปัตถ์ทรงแต่งทูตไปทูลขอต่อกษัตริย์ลังกาเมื่อ พ.ศ.1599

จากศักราชที่ปรากฏในตำนานพระบางเจ้า เมื่อตรวจสอบปฏิทินราชวงศ์ของลังกาพบว่าปี 1417 ตรงกับรัชกาลของ “พระเจ้าเสนะที่ 2” (พ.ศ.1394-1428) ไม่ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารลังกาฉบับใดว่ามีการหล่อ “พระบาง” ด้วยสำริด

ส่วน พ.ศ.1599 ราชวงศ์เขมรก็ตรงกับกษัตริย์ชื่อ “อุทัยทิตยวรมันที่ 2” (พ.ศ.1593-1609) ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์เสด็จไปผูกสัมพันธ์กับทางลังกาแต่อย่างใดเลย อีกทั้งยุคสมัยของพระองค์นี้ในทางศิลปะจะเรียกว่าแบบ “บาปวน” ยังมีการนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ก็ยังน้อยกว่าศาสนาฮินดูทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกายซึ่งแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ เริ่มเผยแพร่เข้ามาในกัมพูชาจริงๆ จะตกอยู่ในช่วงหลังยุคศิลปะบายน หรือหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชไปแล้ว แม้รัชสมัยของพระองค์จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ยังไม่ใช่นิกายลังกาวงศ์

ซ้าย ศิลปะขอมพุทธมหายานแบบบายน ขวา ศิลปะแบบคอมมาย Post-Bayon กลุ่มเดียวกับพระบาง

Post-Bayon พระแบบ “คอมมาย”

เมื่อพินิจดูรูปแบบศิลปะของ “พระบาง” พบว่า สร้างด้วยปาง “ห้ามสมุทร” กล่าวคือยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างระดับพระอุระขึ้นในลักษณะปางประทานอภัย ตำนานพระบางเจ้าเล่าว่า จากเดิมเรียกกันยาวๆ ว่า “พระปางห้ามสมุทร” เรียกไปเรียกมาจึงย่อเหลือ “พระปาง” แล้วกร่อนเป็น “พระบาง”

การทำปางห้ามสมุทรนี้ ถือเป็นหมวดใหญ่ที่นิยมสร้างในศิลปะกัมโพช จนถึงศิลปะล้านช้าง

พระพักตร์ไม่ดุดันถมึงทึง คิ้วไม่ต่อเป็นปีกกา ตรงข้ามกลับดูค่อนข้างยิ้มแย้ม มีแผ่นไรพระศกรอบพระนลาฏหนา พระเกตุมาลาเป็นกรวยสูงรองรับรัศมีลูกแก้วเตี้ยๆ มีขอบสบงคาดด้วยรัดปะคต ชายจีวรด้านล่างค่อนข้างงอนขึ้นที่หน้านาง ซึ่งต่อไปลักษณะเช่นนี้จักได้รับการขยายเน้นต่อในศิลปกรรมล้านช้างให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเรียกศิลปะพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่า “แบบคอมมาย” (Commaille) หมายถึงเรียกตามนามสกุลของนาย “ฌ็อง คอมมาย” (Jean Commaille) ภัณฑารักษ์ชาวฝรั่งเศสคนแรกที่ดูแลโบราณสถานที่เมืองพระนคร (Angkor) แล้วพบพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งที่สร้างขึ้น “หลังศิลปะบายน” (Post-Bayon)

ช่วงแรกๆ เพื่อนๆ ภัณฑารักษ์-นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสทั้งหมด เข้าใจว่าศิลปะขอมน่าจะปิดยุคสมัยแบบลงตัวแล้วในศิลปะบายน หลังจากที่ศาสนาพุทธนิกายมหายาน (เน้นวัชรยาน) ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชล่มสลายลงแล้ว

แต่ในที่สุดนายคอมมายกลับเป็นคนแรกที่ค้นพบ พระพุทธรูปแกะสลักหินทราย บ้างหล่อสำริดอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นในยุคหลังบายนเล็กน้อย Post-Bayon ซ้ำพบว่าพระกลุ่มนี้ยังทำขึ้นในศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์อีกด้วย ทำให้ต่อมาพระพุทธรูปกลุ่มนี้มักถูกเรียกกันแบบลำลองว่า ศิลปะกลุ่ม “คอมมาย”

เมื่อพินิจดูพุทธลักษณะของ “พระบาง” แล้ว พบว่าจัดอยู่ในกลุ่ม “คอมมาย” หรือ “หลังบายน” ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับคติเรื่องพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เพียงแต่ไม่ได้มีอายุเก่าถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ตามที่ตำนานกล่าวอ้าง

ซ้าย พระบางยุคไม่สวมเครื่องทรง ขวา พระบางสภาพปัจจุบันสวมเครื่องทรงแล้ว

พระบางเริ่มทรงเครื่องเมื่อไหร่

พระบาง จากพระยืนปางห้ามสมุทร มีแค่ขอบสบงเรียบๆ ท่อนบนเกลี้ยง เริ่มเปลี่ยนเป็นพระทรงเครื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ น่าสนใจทีเดียวเพราะภาพถ่ายเก่าโดยช่างภาพชาวฝรั่งเศส ยุคล่าอาณานิคมพระบางยังไม่ถูก “แต่งองค์ทรงเครื่อง” แต่อย่างใด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่พระบางถูกทำให้เป็นพระทรงเครื่อง สืบเนื่องมาจาก “การถูกตำหนิติเตียน” จากฝ่ายสยามอยู่บ่อยครั้ง การถูกประณามว่าไม่งามพอ ไม่มีความคู่ควรพอที่จะได้รับการประดิษฐานร่วมกับพระพุทธปฏิมาองค์อื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่ทรงเครื่องเลิศหรูวิจิตรไฉไล

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อพระบางได้รับการอัญเชิญกลับไปเวียงจันท์สมัยรัชกาลที่ 1 ตรงกับยุคเจ้านันทเสนนั้น อาจเริ่มมีการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับพระบางบ้างแล้วก็เป็นได้ ทำให้เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชานำพระบางกลับมาสยามอีกรอบสมัยรัชกาลที่ 3 ละม้ายว่าพระบาง “น่าจะทรงเครื่องแล้ว?”

ที่สันนิษฐานเช่นนี้ ก็เพราะจากหนังสือ “ประชุมพระราชปุจฉาของรัชกาลที่ 3 ภาคที่ 4” ตอนที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ทรงลังเลพระทัยว่าจะนำพระบางประดิษฐานไว้ที่แห่งไหนดี ที่แน่ๆ ไม่ควรให้นำไปไว้ในอุโบสถวัดพระแก้ว แต่…

“ครั้นจะเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอารามแห่งใดแห่งหนึ่งก็เกรงโจรผู้ร้าย ด้วยสรรพเครื่องสักการบูชาประดับพระองค์ล้วนแล้วด้วยแก้วแลทองทั้งสิ่งของเครื่องสักการบูชาอื่นๆ ก็มีมาก”

คำว่า สรรพเครื่องสักการบูชาประดับพระองค์ ของพระบางคำนี้ ควรช่วยกันตีความให้แตกด้วยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ เริ่มมีการทำสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ มงกุฎ เทริด กุณฑล ฉลองพระบาทเชิงงอน ฯลฯ ประดับให้แก่องค์พระบางเจ้าแล้วหรือไฉน?

หรือแค่หมายถึงมีการสวมสร้อย กำไล เล็กๆ น้อยๆ ที่พร้อมถอดได้?

 

ใครสร้างผีให้พระบาง?

คนที่บอกว่า “ผีอารักษ์พระพุทธรูปสององค์ คือพระบางกับพระแก้วนั้นไม่ถูกกัน” ก็คือ “เจ้านันทเสน” โอรสเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งเจ้านันทเสนพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาอรรถาธิบายอย่างแน่นหนัก เพื่อให้ฝ่ายสยามเคลิ้มคล้อย ก็เพียงเพื่อจะได้มอบพระบางคืนฝ่ายลาว?

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น พระบางประทับคู่กับพระแก้วมรกตที่นครหลวงพระบางนานมากกว่า 1 ศตวรรษแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองก็ย่อมมีดีบ้างร้ายบ้าง ขึ้นบ้างลงบ้าง หาได้มีแต่เรื่องเลวร้ายทุกเรื่องเสมอไปไม่

ยิ่งเมื่อย้อนมองถึงมูลเหตุแห่งการอัญเชิญพระบางมาไว้ที่เมืองเชียงดง-เชียงทอง อย่าลืมว่าคนที่อยากให้ชาวพื้นเมือง “เลิกบูชาผีแถน” เป็นคนแรกๆ ก็คือ “นางแก้วเก็งยา” ธิดากษัตริย์ขอม ผู้เป็นชายาของพระญาฟ้างุ้ม

ถึงขนาดลงทุนอาราธนาทูลขอสิ่งต่างๆ มากมายที่เป็นเครื่องค้ำจุนหนุนนำพระพุทธศาสนาจากราชสำนักกัมพูชามาสถาปนา ณ ดินแดนล้านช้าง ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคนานา พระบางมาไม่ถึงเชียงทองบ้างล่ะ ต้องประดิษฐานที่เวียงคำก่อนบ้างล่ะ พระญาฟ้างุ้มต้องระเหเร่ร่อนไปจบชีวิตที่เมืองน่านบ้างล่ะ

เมื่อเรามองดูช่วงชีวิตของพระญาฟ้างุ้ม (ครองราชย์ 1896-1915) นั้นพบว่า ทรงเป็นบุคคลร่วมสมัยกับ พระญากือนาแห่งล้านนา (1898-1928) พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระญาลิไทแห่งสุโขทัย (1890-1916 โดยประมาณ) รวมไปถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง (1893-1912)

บุคคลร่วมสมัยกับพระญาฟ้างุ้มทั้งหมดนี้ ต่างมีความกระตือรือร้นที่จะ “ปรับปรุงหรือปฏิรูปการพระศาสนา” อย่างแรงกล้าทุกพระองค์ บรรยากาศของรัฐจารีตในอุษาคเนย์ยุคนั้นน่าจะส่งอิทธิพลหรือแรงกระเพื่อมมาสู่ดินแดนล้านช้างร่มขาวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

แต่แทนที่ล้านช้างจักรับพุทธศาสนาลัทธิกาวงศ์ผ่านเมืองมอญ เมือนพัน เมาะตะมะ เฉกเดียวกับทางสุโขทัยและล้านนา หรืออย่างน้อยก็รับลังกาวงศ์ (สายรามัญวงศ์) ผ่านสุโขทัยหรือล้านนา หากกลับไปรับอิทธิพลลังกาวงศ์ผ่านทางกัมพูชา

สะท้อนให้เห็นว่า ยุคนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระญาฟ้างุ้มกับทางล้านนา สุโขทัย ยังไม่แนบแน่นพอ พี่เลี้ยงหรือ “แบ๊กอัพ” ของล้านช้างก็คือเมืองกัมพูชา บ้านเกิดเมืองนอนแห่งชายาของพระองค์เท่านั้น

ไม่ว่าลาวจะรับแนวคิดเรื่องพุทธลังกาวงศ์จากดินแดนใดก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด “คำว่าพุทธลังกาวงศ์” ก็น่าจะช่วยยืนยันว่า ความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ หรือปีศาจคอยเฝ้าพระพุทธรูปไม่น่าจะมีขึ้นจริงในยุคที่พระนางแก้วเก็งยาปรารถนาจะได้พระบางองค์นี้มาปราบความเชื่อของคนบูชาผีแถน •