วัดใจรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ 1 พฤษภาคมกึ่งลอยตัวดีเซล ธุรกิจอ่วมต้นทุน-เงินเฟ้อพุ่ง/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วัดใจรัฐบาล ‘ประยุทธ์’

1 พฤษภาคมกึ่งลอยตัวดีเซล

ธุรกิจอ่วมต้นทุน-เงินเฟ้อพุ่ง

 

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 30 เมษายน 2565 “กระทรวงพลังงาน” ส่งสัญญาณว่าจะมีการ “ปรับสูตร” การดูแลราคาน้ำมันดีเซลในรูปแบบใหม่ “กึ่งลอยตัว” เป้าหมายเพื่อพยุงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องแบกรับภาระในการตรึงราคาดีเซล และก๊าซหุงต้ม

จนปรากฏข้อมูลว่า ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2565 ติดลบ 56,278 ล้านบาท โดยในส่วนของบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 31,976 ล้านบาท

กลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐจะตรึงราคาดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรต่อไป “ไม่ไหว” กองทุนติดลบบานปลาย ขณะที่การหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนก็ยัง “ไม่คืบหน้า” ว่าจะมีสถาบันการเงินใดเข้ามาปล่อยกู้ในวงเงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันเวลาในเดือนมิถุนายนนี้

 

สําหรับ “โมเดลการดูแลราคารูปแบบใหม่” กระทรวงพลังงานระบุว่าจะมีการปรับราคาขึ้นแบบ “ขั้นบันได”

โดยกองทุนจะเข้าไปอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งของอัตราที่ปรับขึ้น ณ จุดเริ่มต้น คือ 30 บาท/ลิตร อาจจะปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์/ลิตร หรือ 1 บาท/ลิตร จาก 30 เป็น 31 เป็น 32 และ 33 บาท/ลิตร และย้ำว่าจะไม่ปรับขึ้นพรวดเดียวเป็น 35 บาท/ลิตร ส่วนความถี่ในการปรับราคา ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลัก คือ ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก

ดังนั้น หมายความว่าถ้าราคาตลาดโลกขึ้นแล้วลง ราคาจำหน่ายก็อาจไม่ปรับขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคการขนส่งและภาคผลิต ที่ใช้ “ดีเซล” เป็นหลัก ทาง “สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย” จึงเปิดฉากนำรถบรรทุกเข้ากรุง นับร้อยคัน เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ค้านการยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมัน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการภาคขนส่งได้รับผลกระทบจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% เช่นกัน

“วันที่ 1 พฤษภาคม 2565” จะเป็นวันชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ท่ามกลางแนวโน้ม “ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก” ยังคงผันผวนสูงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทั้งปัจจัยการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งอาจจะอ่อนค่าลงและกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ เหล็ก ปุ๋ย ธัญพืชต่างๆ

และที่สำคัญการปรับราคาดีเซลครั้งนี้ ถือเป็นโชคร้ายของประชาชน-ภาคการผลิต เพราะเป็นจังหวะเดียวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที ) งวดใหม่ที่จะใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ขยับอีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 4 บาทต่อหน่วย

และการปรับลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ทยอยลอยตัว เดือนละ 1 บาท/ก.ก. หรือ 15 บาทต่อถังขนาด 15 ก.ก.

งวดที่ 2 ที่จะขยับต่อเนื่องจาก 1 เมษายน 2565 ปรับขึ้น 15 บาท เป็น 333 บาท

งวด 1 พฤษภาคม 2565 จะปรับขึ้นอีก 15 บาท รวมเป็น 348 บาทต่อถัง

และยังมีงวดที่ 3 ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่จะขยับเป็น 363 บาทต่อถัง และยังไม่นับรวม “ค่าแรงงาน” ที่มีเส้นตายในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน ว่าอัตราปรับขึ้นจะเป็นเรตเท่าไร เป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ 475 บาทหรือไม่

แน่นอนว่า หากมีการปรับราคาสินค้าสูงขึ้นจะกระทบต่อค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยสูงขึ้นแน่นอน

 

ก่อนหน้านี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุชัดว่า ในไตรมาส 2-ไตรมาส 3 นี้ สินค้าหลายรายการคงต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสถานการณ์ราคาสินค้าราคาแพงมาจากหลายส่วน ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และปัจจัยการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งหากมองดูเรื่องการผลิตแล้ว หลายสินค้ายังมีต้นทุนที่ใช้จากเมื่อปีที่แล้วและตอนต้นปี ซึ่งก็ต้องดูว่าจะสามารถตรึงราคาได้นานขนาดไหน

“ส่วนนี้คงไปฝืนกลไกตลาดมากไม่ได้”

สอดรับกับประเด็นที่เขาสะท้อนว่า ภาคการผลิตแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับขึ้นมาเป็นเวลานาน โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อ (CPI) ในไตรมาส 1 ปี 2565 ตามที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า มีอัตราเพิ่มขึ้น 4.75% สูงสุดในรอบ 13 ปี เป็นจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 3.81% และสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.39% จากราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 26.68% เป็นแรงกดดันทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อขยายตัว 4-5% จากเดิม 0.7-2.4%

เมื่อพิจารณาดัชนี CPI เทียบกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในไตรมาส 1/2565 ที่ปรับสูงขึ้น 9.8% โดยผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและประมงสูงขึ้น 4.7% ผลิตภัณฑ์จากเหมืองสูงขึ้น 61.4% และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น 8.8%

สะท้อนว่าผู้ผลิตต้องเผชิญปัจจัยด้านราคาพลังงาน จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ ทั้งเหล็กที่ใช้ในการผลิตแพ็กเกจจิ้งทั้งกระป๋อง ราคากระดาษ และพลาสติกที่เป็นบายโปรดักต์ของน้ำมัน ต่างปรับขึ้น ต้นทุนปุ๋ยนำเข้า จากรัสเซียปรับสูงขึ้นกระทบต่อภาคเกษตรทำให้เกษตรกรอาจจะใส่ปุ๋ยน้อยลงซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ต้นทุนการผลิตต่อไรก็จะสูงขึ้น

 

เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ รัสเซียประกาสลดการผลิตน้ำมันลงวันละ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าสหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 2.24 แสนบาร์เรลต่อวันก็ยังไม่สามารถชดเชยส่วนที่ขาดไป อีกทั้งกองทุนน้ำมันของไทยเริ่มตึงตัว หากสถานการณ์โลกไม่ดีขึ้น ราคาน้ำมันที่รัฐบาลประคองไว้จะทำได้ถึงระดับหนึ่ง เมื่อถึงจุดที่ประคองต่อไปไม่ไหวจะกระทบทั้งค่าขนส่งและต้นทุนการผลิต

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้จะปรากฏข่าวว่า “ราคาสินค้าพาเหรดปรับขึ้นรายวัน” ทั้งเหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กแผ่นสำหรับผลิตกระป๋อง อะลูมิเนียม ปุ๋ย อาหารสัตว์ ลามมาถึงเนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และจะขยายวงไปเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีสัญญาณจะขยายตัวแบบ “ชะลอตัวลง” โดยปรากฏข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ศึกษาสมมุติฐานไว้ 3 สถานการณ์ คือ กรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลในประเทศจะอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โต 3.5% ซึ่งน่าจะเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับสภาพจริงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วงนี้เคลื่อนไหว 100 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบ 125 เหรียญ/บาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 40 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 6.2% GDP โตลดลงเหลือ 3.2%

และกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ 150 เหรียญ/บาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 46 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 7.2% GDP โตลดลงเหลือ 3%

 

ถึงจุดนี้ภาคเอกชน “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน” หรือ กกร. ได้ชิงปรับลดคาดการณ์จีดีพีไปก่อนแล้ว จากเดิมคาดว่าจะโต 2.5-4.5% เหลือเพียง 2.5-4.0% โดยระบุว่า ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยปีนี้พุ่งไปถึง 5.5% จากเดิมที่กรอบบนกำหนดไว้ที่ 4.5% ถือเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ไทยมีเพียงเครื่องยนต์ส่งออก ที่อาจจะโตได้ 3-5% และมีความหวังจากการยกเลิกมาตรการเทสต์แอนด์โกที่จะมาช่วยให้ “รายได้ภาคการท่องเที่ยว” กระเตื้องขึ้นมาบ้าง

ขณะที่การลงทุนและการบริโภคในประเทศสัญญาณไม่ชัดเจน

เอกชนหวังว่ารัฐบาลจะปลดล็อกในการหาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพิ่มเข้ามา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง และแก้หนี้ภาคครัวเรือนที่ขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ใต้พรมของคนไทยที่มีอัตราการติดหนี้ถึง 90%

สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ฟื้นฟูกำลังซื้อ ควบคู่กับการดูแลบริหารจัดการเรื่องราคาสินค้า เพื่อประคองเศรษฐกิจไปให้ได้