ครูใหญ่ ‘ปั๊ด’ สร้างนักสืบ 5 G ดึง ‘กูรู’ ต้นแบบถ่ายทอด DNA ยก ตร.องค์กรนำสมัย-ปชช.เชื่อมั่น/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ครูใหญ่ ‘ปั๊ด’ สร้างนักสืบ 5 G

ดึง ‘กูรู’ ต้นแบบถ่ายทอด DNA

ยก ตร.องค์กรนำสมัย-ปชช.เชื่อมั่น

 

ในที่สุดการอบรม “นักสืบ” รุ่น 2 ได้สำเร็จตามเป้าประสงค์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

เรียกชื่อเต็มว่า “โครงการฝึกอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา รุ่นพิเศษ 5 G” ระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2564-8 เมษายน 2565 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม งบประมาณกว่า 4 ล้านบาท

เจ้าของไอเดียโปรเจ็กต์นี้คือ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นการสร้าง ตร. ให้เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่นำสมัยในระดับมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

ย้อนไปรุ่น 1 เมื่อ 26 ปีที่แล้ว พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผบช.น.ในขณะนั้น ได้จัดอบรมหลักสูตรการสืบสวนเช่นกัน มี “ครูต้นแบบ” สำคัญๆ อาทิ “อ.ปั๊ด” พ.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผกก. กลุ่มงานข่าว บช.น. พ.ต.ท.ปรีชา ธิมามนตรี รอง ผกก.สืบสวน นครบาลเหนือ ยศในขณะนั้น

ดังนั้น แนวคิดหลักสูตรที่เกิด พ.ศ.นี้มาจาก ผบ.ตร.ปั๊ด เนื่องจากเห็นปัจจุบันนักสืบขาดแคลน ประกอบกับการอบรมรุ่นแรกได้ผลดี จบไป 30 คน ล้วนเป็นตัวหลักงานสืบสวนใน ตร.ขณะนี้ จึงอยากสร้างนักสืบคุณภาพขึ้นมา

จึงยกให้เป็น “ครูใหญ่” ของรุ่นนักสืบ 5 G

ผู้เข้าอบรมช่วยกันอุ้ม พล.ต.อ.สุวัฒน์ ครูใหญ่โยนขึ้น ฉลองความสำเร็จตามประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา

จากลูกศิษย์รุ่น 1 แล้วมาเป็น “ครูต้นแบบ” รุ่น 2 อย่าง พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2 สะท้อนมุมมองว่า “ไม่คิดว่าจะเกิดรุ่น 2 ในปี 2565 เพราะหลังจากปี 2539 การฝึกแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะต้องใช้ปัจจัยหลายๆ อย่างเป็นอย่างสูง ผมรู้ตั้งแต่ผมเข้าอบรมแล้วว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างมาก เพราะการทำงานสืบสวน เป็นหัวใจหลักขององค์กรทำให้ภาพพจน์ตำรวจดีขึ้น ถ้าหมดยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ไปแล้ว อยากให้ ผบ.ตร.คนต่อไปสร้างบุคลากรในโครงการนี้เพิ่มขึ้น เพราะได้ทั้งองค์ความรู้ จริยธรรม ศีลธรรม และเป็นไปตามปรัชญาการทำงานพิทักษ์สันติราษฎรสูงมาก โดยครั้งนี้เป็นการระดม ‘ครูพี่เลี้ยงนักสืบ’ ที่มีความรู้ความสามารถครั้งแรกของหลักสูตรสืบสวนมาดูแลน้องแต่ละกองบัญชาการตั้งแต่ บก.สส.น.1-9, สตม., สอท. และ จชต.”

สำหรับผู้เข้าอบรม “นักสืบ 5 G” คัดมาจากตำรวจงานสืบสวนไม่น้อยกว่า 3 ปี มีความสนใจด้านงานสืบสวน ตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดว่าไม่โยงใยขบวนการผิดกฎหมาย ธุรกิจสีเทา เพื่อไม่ให้องค์กรอาชญากรรมส่งคนมาแฝงตัวล้วงข้อมูล

ฉะนั้น การอบรมไม่มีตำราสักเล่ม และคุณสมบัติที่สำคัญ ผู้เข้ารับการอบรมต้องมีความรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

การเข้าค่ายฝึกนั้นมีความเข้มข้น ต้องตื่นมาฝึกตั้งแต่ตี 5 จนถึงเที่ยงคืนทุกวัน ไม่ปล่อยให้กลับบ้านตลอด 16 สัปดาห์ ปรากฏว่าผู้เข้าอบรมทั้ง 42 คนมีความตั้งใจ อดทน มีพัฒนาการความก้าวหน้าทุกสัปดาห์

หัวใจสำคัญหลักสูตรนี้ คือการถ่ายทอดดีเอ็นเอนักสืบที่ดี จากนักสืบคุณภาพรุ่นพี่ ให้แก่ตำรวจรุ่นใหม่ โดยมีนักสืบรุ่นพี่ที่มีความสามารถการสืบสวนระดับแถวหน้าประเทศเป็นวิทยากร ครูพี่เลี้ยง และเป็นแม่แบบ ถ่ายทอดทักษะการสืบสวน ผสมผสานเทคนิคการสืบสวนจากยุคอะนาล็อก สู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ พัฒนาศักยภาพ ความสามารถด้านการสืบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด ตามขั้นตอนและหลักยุทธวิธีสากล

ปูพื้นฐานตั้งแต่ความรู้งานสืบสวนต้นตำรับ จากเมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ นักสืบทำกันอย่างไร เริ่มตั้งแต่ยุค 90 มีวิทยากร อาทิ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีต ผบช.น. พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) เป็นต้น

นอกจากความรู้งานสืบสวน ยังอบรมเทคนิคการช่วยเหลือประชาชน เช่น สถานการณ์การจับกุมเกิดอันตรายสูญเสีย ไม่เป็นไปตามยุทธวิธี, การซักถามในเชิงจิตวิทยา, การสะกดรอยติดตาม และการปลอมตัว เป็นต้น

 

หลังจบการอบรม พล.ต.อ.สุวัฒน์ลงนามคำสั่ง ตร.ที่ 150/2565 วันที่ 8 เมษายน 2565 แต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา รุ่นพิเศษ 5 G 40 นาย จาก 42 นาย ให้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตร ในสายงานสืบสวนตามหน่วยต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม และเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสืบสวนอย่างสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

โดยให้โอนอัตราเงินเดือนเดิม ไปตั้งจ่ายสำหรับตำแหน่งใหม่ หรือให้ขาดจากอัตราเงินเดือนเดิมไปรับอัตราเงินเดือนใหม่ ส่วนอีก 2 นาย เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งงานด้านสืบสวนอยู่แล้ว จึงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม

คำสั่งระบุด้วยว่า ให้ทั้ง 40 นายปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอื่นได้ เว้นแต่เป็นการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

นั่นคือ นักสืบไม่คืนกลับไปบ้านหลังเก่า ไปบ้านหลังใหม่ รุ่นนี้ลงที่ บช.น.ถึง 17 คน ที่เหลือลงตาม บช.ต่างๆ ตามครูต้นแบบ

หลักการคือครูต้นแบบ หรือครูพี่เลี้ยงอยู่ที่ไหน ลูกศิษย์ที่จบมาจะไปทำงานภาคปฏิบัติด้วย

ต้องยอมรับว่านี่คือวิสัยทัศน์ผู้นำองค์การ เพราะถ้าไม่ใช่ ผบ.ตร.ทำไม่ได้ เพราะต้องมีการกันตำแหน่งแล้วแต่งตั้งนอกวาระ และหลังจากแต่งตั้งแล้วต้องประจำที่อยู่ 2 ปี โยกย้ายไม่ได้ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตำแหน่งว่างที่มีความจำเป็น ซึ่งใครๆ ก็อยากไปลงตำแหน่งนั้น

 

เมื่อวันที่ 11-17 เมษายนที่ผ่านมา ตำรวจที่ผ่านการอบรมไปดูงานที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาด้วย อาทิ เอฟบีไอ ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ และสถานีตำรวจระบบงานสายตรวจ

ร.ต.อ.หญิงธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ นักสืบรุ่นพิเศษ 5 G เปิดใจว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา หลักสูตรนี้ได้ให้ข้อคิดและแนวทางในการทำงานด้านงานสืบสวน รวมถึงการทำงานในอาชีพตำรวจ สอนให้รู้ว่า นักสืบที่ดีต้องมีใจรักในงานสืบสวน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ขยัน อดทน เสียสละ รู้จักการทำงานเป็นทีม และที่สำคัญ มีความซื่อสัตย์ ไม่ทรยศต่อวิชาชีพของตนเอง

ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ให้โอวาทลูกศิษย์ว่า การเรียนจบหลักสูตรนี้ เปรียบเหมือนเราเรียนจบ ป.4 เท่านั้น ชีวิตการทำงานยังอีกยาวไกลมาก ยังต้องเพิ่มเติมความรู้ระหว่างที่ทำงานกันไปอีกเรื่อยๆ สิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ชีวิตจริงอยู่ข้างหน้า และความล้มเหลวจะเป็นอาจารย์ เป็นบทเรียนที่ดีที่สุด…อนาคตในการทำงานต่อไป เราต้องเป็นนักสืบที่มียี่ห้อ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ว่าเราถนัดด้านใด เพราะผู้บังคับบัญชาจะเลือกใช้งาน ไม่ได้เลือกจากตำแหน่งแห่งหน แต่เลือกจากแบรนด์ว่าคนนี้เก่งเรื่องไหน ไม่ว่าเราจะไปอยู่ตำแหน่งแห่งหนใด อยู่ที่เราเลือกว่าเราจะทำตัวอย่างไร แบบพี่จ๋อ (พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์) กับพี่นพ (พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น.)

พร้อมทิ้งท้ายว่า จะเฝ้ารอนักสืบ 5 G รุ่นนี้ เจริญเติบโตอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ