‘ท่องเที่ยว’ ส่งสัญญาณฟื้น! สายการบินแห่เปิดเส้นทาง ตปท. ลุ้นเลิก Test & Go/Thailand Pass หนุน ‘ธุรกิจ-เศรษฐกิจ’ คึกคัก/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘ท่องเที่ยว’ ส่งสัญญาณฟื้น!

สายการบินแห่เปิดเส้นทาง ตปท.

ลุ้นเลิก Test & Go/Thailand Pass

หนุน ‘ธุรกิจ-เศรษฐกิจ’ คึกคัก

ลุ้นกันอีกครั้งสำหรับการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศของไทย ซึ่งเป็นวาระพิจารณาหลักของการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายนนี้

จากข้อมูลการวิเคราะห์ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สนับสนุนโดยสำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรมสาธารณาสุข (สบวส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับโควิดแล้ว

ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฯลฯ

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดน โดยให้เหตุผลว่ามาตรการการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสร้างแรงกดดันทางสังคม

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2564 กระทั่งล่าสุดที่ประกาศยกเลิกการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงไปเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีชาวต่างชาติจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยประมาณ 7,000-8,000 คนต่อวัน เพิ่มมาเป็นกว่า 10,000 คนต่อวันในเดือนเมษายนนี้

 

การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกและประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินทั้งสายการบินในประเทศไทยและสายการบินต่างประเทศทยอยเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเชื่อมต่อการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

“สุวรรธนะ สีบุญเรือง” รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยและไทยสมายล์ ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง อินเดีย ทำให้สายการบินของทุกประเทศทั่วโลกมองเห็นโอกาสในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเดินหน้าฟื้นเส้นทางการบินเดิมที่เคยให้บริการในช่วงก่อนโควิด-19 เพื่อกลับมาเปิดให้บริการกันอีกครั้ง

เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการตลาดและส่วนแบ่งการตลาด (market share) ในส่วนที่เคยเป็นของตัวเองกลับคืนมา ขณะเดียวกันสายการบินที่มีความแข็งแรงด้านการเงินและเน็ตเวิร์กยังเปิดเกมรุกที่เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างถาวรในอนาคต

โดยในส่วนของ “การบินไทย” นั้น ปัจจุบันวางตารางการบินล่วงหน้าไปถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 (ตารางบินฤดูร้อน) ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่เคยทำการบินแล้วในช่วงก่อนหน้านี้เป็นหลัก ซึ่งทุกเส้นทางที่เปิดให้บริการไปล้วนได้รับการตอบรับดีต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเส้นทางสู่ยุโรป อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ สู่ลอนดอน, ปารีส, ซูริก, บรัสเซลส์, แฟรงก์เฟิร์ต, มิวนิก, โคเปนเฮเกน, สตอกโฮล์ม เป็นต้น

 

เช่นเดียวกับสายการบินไทยแอร์เอเชียซึ่ง “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บอกว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นเวลาเหมาะสมอย่างมากสำหรับการกลับมาขยายธุรกิจอีกครั้ง โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศครบทุกเส้นทางแล้ว (ความถี่ยังไม่เท่าเดิม) จากนั้นไปจะมุ่งทำแผนสำหรับเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ

โดยระยะแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 “ไทยแอร์เอเชีย” จะทำการบินไปยัง 18 จุดหมายปลายทาง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, กัมพูชา, มัลดีฟส์ และอินเดีย เนื่องจากประเมินแล้วว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น คนทั่วไปเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ ประเทศต่างๆ ก็พร้อมสำหรับเปิดประเทศรับต่างชาติโดยไม่กักตัว ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเริ่มทรงตัว ทำให้สามารถคาดการณ์ต้นทุนได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 “ไทยแอร์เอเชีย” ยังเตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ สปป.ลาว, เมียนมา, ฮ่องกง, มาเก๊า และจีน (เมืองทางตอนใต้) รวมถึงญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ และกรุงเทพฯ-โอกินาวา เป็นต้น

ขณะที่ “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” ระบุว่า ปัจจุบันสายการบินให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่โฮจิมินห์, ดานัง และพนมเปญ ความถี่ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ (ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้ เพิ่มเป็น 1 เที่ยวบิน/วัน)

และในอนาคตอันใกล้นี้จะเพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-สิงคโปร์ (28 เมษายน 2565 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน), ภูเก็ต-สิงคโปร์ (2 มิถุนายน 2565 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน) และเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ฟุกุโอกะ ในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเส้นทางสู่อินเดีย อาทิ กรุงเทพฯ-อาเมดาบัด, กรุงเทพฯ-พุทธคยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการบินช่วงเดือนตุลาคมนี้

 

ไม่เพียงแต่สายการบินในประเทศไทยเท่านั้น สายการบินรายใหญ่ในต่างประเทศที่ให้บริการเส้นทางสู่ประเทศไทยก็เปิดเกมรุกหนักเช่นกัน โดยที่ผ่านมา “ลุฟท์ฮันซ่า” ขาใหญ่ฝั่งยุโรปได้เปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-มิวนิก ไปแล้วตั้งแต่ 27 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทำให้ตามตารางบินฤดูร้อนนี้กลุ่มลุฟท์ฮันซ่าให้บริการเที่ยวบินมาประเทศไทยรวม 20 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ประกอบด้วยสายการบินลุฟท์ฮันซ่า จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, สวิส อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ (กรุงเทพฯ-ซูริก) จำนวน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และออสเตรียน แอร์ไลน์ (กรุงเทพฯ-เวียนนา) จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ขณะที่สายการบินรายใหญ่แห่งตะวันออกกลางอย่าง “กาตาร์แอร์เวย์ส” นั้นปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-โดฮา จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน

โดยหนึ่งในเที่ยวบินนั้นกาตาร์แอร์เวย์สกลับมาใช้เครื่องบินแบบแอร์บัส A380 เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบันด้วย

 

ด้าน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า วันศุกร์ที่ 22 เมษายนนี้เป็นวันที่คนท่องเที่ยวรอลุ้นอีกครั้งว่าที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของไทยตามที่ร้องขอได้แค่ไหน

โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลักคือ 1.การยกเลิก Test & Go ไม่มีการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง โดยเปลี่ยนเป็นการตรวจด้วย ATK P หรือไม่มีการตรวจเลย และ 2.การยกเลิก Thailand Pass จะเริ่มทันทีในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ หรือวันที่ 1 มิถุนายน 2565

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เป็นสาระรองลงมาคือ การลดจำนวนวันกักตัวกรณี Quarantine จากเดิมกักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR วันที่ 4-วันที่ 5 เช่นเดียวกับกรณีผู้ควบคุมยานพาหนะและลูกเรือ ลดระยะเวลากักตัว หรือผ่อนคลายอื่นๆ จากเดิมกักตัว 5 วัน และตรวจ Self-ATK วันที่ 5

รวมถึงพิจารณาผ่อนคลายกรณีผู้เดินทางติดเชื้อและเป็นผู้เสี่ยงสูง (HRC) และประเด็นการปรับวงเงินประกันภัย หรืออื่นๆ จากเดิมประกันภัยหรือประกันในรูปแบบอื่นๆ วงเงิน 20,000 เหรียญสหรัฐ

พร้อมกับย้ำว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะเห็นชอบและประกาศเปิดประเทศอย่างไม่มีเงื่อนไขตามที่ภาคเอกชนร้องขอว่าให้เปิดรับคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสให้เข้ามาได้โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR เหลือเพียงแค่มาตรการ ATK & Go พร้อมทั้งยกเลิก Thailand Pass โดยเร่งด่วน

เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ทันทีที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง และยกเลิก Thailand Pass ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำให้ดีมานด์การเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2565 นี้เป็นต้นไปแน่นอน