ขันที-นักเทศขันที มีจริงในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา แต่ทำไมเป็น “นักเทศ”

ญาดา อารัมภีร
ภาพขันทีแขก ที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่แอบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)

ขันทีเป็นข้าราชการพลเรือนในราชสำนักอยุธยา “ตำแหน่งนาพลเรือน” ในหนังสือ “กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” กำหนดศักดินาและหน้าที่ของขันทีซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายในไว้ดังนี้

-ออกพระศรีมะโนราชภักดีศรีปลัยวัล นา ๑๐๐๐

-หลวงราชาชานภักดี นา ๕๐๐

-ปลัดจ่านุชิด ปลัดพิพิท ปลัดมระกฏ

-หลวงศรีมโนราชภักดีศรีองคเทพรักษาองค นา 1,000

-หลวงเทพชำนาญภักดีศรีเทพรักษาองครักษ นา 1,000

ยิ่งไปกว่านั้น “ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา” บันทึกเกี่ยวกับกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค มีรายนามขุนนางที่เป็นขันทีรับผิดชอบสิ่งของสำหรับสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี

“ให้เอาโค (และ) เกวียนมาบรรทุกสิ่งของข้างหน้าข้างใน ของเครื่องเล่น (มหรสพ) ของดอกไม้เพลิง ของแสงสรรพายุทธ ขึ้นไปพระพุทธบาทตามบัญชี (เจ้าพนักงาน) ข้างใน (คือ) หมื่นเทพขันที หมื่นราชขันที (และ) เจ้าพนักงานข้างหน้า (แต่จำนวนเกณฑ์) จะเป็นเมืองใดมากน้อยเท่าใดจำมิได้”

รู้จัก ‘ขันที’ กันแล้ว มาถึง ‘นักเทศขันที’ กันบ้าง

ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่มที่ 1” พระยาอนุมานราชธนได้เขียนจดหมายกราบทูลถามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เกี่ยวกับคำว่า ‘นักเทศขันที’ ว่า

“นักเทศขันที ขอประทานทราบเกล้าฯ ว่าพวกอะไร…สอบถามพราหมณ์ศาสตรีว่า ขันทีในอินเดียมีหรือไม่ ก็ตอบว่ามี เรียกว่า ยวน โดยที่ได้คติมาทางกรีก และขันทีนั้นโดยปกติ ใช้คนต่างประเทศที่พูดไม่รู้ภาษากัน นัยว่าเพื่อป้องกันเรื่องปากมาก ดูเค้าความก็เข้ากับคำว่า ‘นักเทศ’ ได้อยู่บ้าง”

ทรงมีลายพระหัตถ์อธิบายว่า

นักเทศขันที คำว่า ขันที เรารู้กันอยู่มั่นแล้วว่าเปนชายที่ได้ทำลายองคชาต จะต้องแปลแต่คำว่า นักเทศ ผะเอิญฉันได้เห็นสมุดสวดพระธรรมของครั้งกรุงเก่า ซึ่งมีเขียนรูปภาพกับหนังสือปนกัน รูปภาพในนั้นมีเขียนเผนิกหนึ่งเป็นเรื่อง ภูริทัต เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทอดพระเนตรนายอาลำภายเล่นงู เขียนเปนพลับพลา ตรงกลางมีพระมหากษัตริย์นั่ง ชั้นลดเบื้องซ้ายมีนางในนั่งอยู่เปนตับ ชั้นลดต่อนางในลงมาอีก มีรูปชายแต่งตัวเปนแขกนั่งอยู่ ๒ คน ข้าราชการที่แต่งตัวเปนไทยหมอบอยู่หน้าพลับพลาทั้งสิ้น

เมื่อเห็นเข้าก็สดุดใจ ทำไมแขกจึงขึ้นไปนั่งอยู่บนพลับพลาต่อกับนางใน คิดไปก็แปลออกว่านั่นเองคือขันที และยังได้ความรู้ต่อไปว่าขันทีของเราที่มีมาแต่ก่อนนั้นไม่ใช่คนไทย เปนแขกที่สั่งหามาแต่เมืองนอก โดยหลักอันนี้

เมื่อเอามาปรับเข้ากับคำ นักเทศขันที ก็ได้ความว่า ‘นัก’ ว่าคน ‘เทศ’ ว่าต่างประเทศ ‘ขันที’ ว่าชายทำลายองคชาต คือ คนต่างประเทศซึ่งทำลายองคชาต

ทั้งนักเทศและขันทีน่าจะถูกทำลายความเป็นชายไปแล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่อาจรับใช้ในที่ใกล้ชิดเช่นนี้ได้ สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่รับใช้ฝ่ายในของ ‘ขันที’ และ ‘นักเทศขันที’ ที่พบในวรรณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์

ดังจะเห็นได้จากบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 ตอนนางแก้วอุดรมเหสีท้าวมหาชมพูทราบว่าพระสวามี ‘หายไปในราตรีกาล ทั้งแท่นประพาอลงการ์’ ความตื่นตระหนกทำให้นางสลบไป ทันทีที่ฟื้นคืนสติ

“กัลยาจึ่งสั่งขันที
เอ็งจงเร่งรีบออกไป หาโหรผู้ใหญ่ทั้งสี่
โหรหลังโหรหน้าบรรดามี เข้ามายังที่พระโรงคัล
บัดนั้น นักเทศขันทีคนขยัน
รับสั่งถวายอภิวันท์ ก็พากันวิ่งวุ่นออกไป
แซ่ซ้องร้องเรียกอึงมี่ โหราธิบดีนั้นอยู่ไหน
มีพระเสาวณีอรทัย ให้หาไปเฝ้าพระบาทา”

จะเห็นได้ว่า ขันทีเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายในรับคำสั่งพระมเหสี ดังข้อความว่า ‘กัลยาจึ่งสั่งขันที’ ให้ไปนำโหรทั้งสี่มาทำนายเหตุการณ์

น่าสังเกตว่ามิได้มีแต่คำว่า ‘ขันที’ เท่านั้น ยังมีคำว่า ‘นักเทศขันที’ ในข้อความว่า ‘นักเทศขันทีคนขยัน รับสั่งถวายอภิวันท์ ก็พากันวิ่งวุ่นออกไป’

แสดงว่ามีทั้งนักเทศและขันทีรวมกันเป็นจำนวนมาก

 

แม้จะเรียกคู่กันว่า ‘นักเทศขันที’ ทำงานในพระราชฐานชั้นใน รับใช้กษัตริย์และเจ้านายสตรีเช่นเดียวกัน แต่น่าจะเป็นคนละพวก งานบางอย่างทำร่วมกัน บางอย่างต่างฝ่ายต่างทำ ดังที่ “ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา” บันทึกเกี่ยวกับขันทีไว้ในส่วนเกี่ยวกับตำราหน้าที่ของตำรวจว่า

“ถ้าประพาสถ้ำประพาสเขา กรมฝ่ายในพระสนมโดยเสด็จนั้น เจ้ากรมปลัดกรมแห่นอก ชาวที่ขันทีออกไปให้ไกลแต่พอเรียกได้ยิน ให้ระแวดระวังค้นคว้าดูอย่าให้มีเหตุการณ์ได้”

ในที่นี้ไม่มี ‘นักเทศ’ มีแต่ ‘ขันที’ ทำงานร่วมกับ ‘ชาวที่’ หรือเจ้าพนักงานผู้หญิงที่ดูแลความเรียบร้อยประจำสถานที่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน นอกจากขันทีจะมีหน้าที่ตามเสด็จแล้ว ยังคอยดูแลความปลอดภัยให้เจ้านายฝ่ายในระหว่างเดินทางอีกด้วย

บางครั้งมีแต่ ‘นักเทศ’ ไม่มี ‘ขันที’ ดังที่ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ในหนังสือ “กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” ระบุหน้าที่ของนักเทศไว้ว่า

“งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล…๔ นาลิกา เสดจ์มังคลาภิเศกนักเทศตีกรับ ครั้นหายเสียงประโคมหอพระ ท้าวพญาเสนามนตรีมุกขลูกขุนเตรียมตัว ตั้งหน้าระมัดคอยฟังกรับ”

 

นักเทศและขันทีมีหน้าที่ตามเสด็จ บางครั้งแยกกัน บางครั้งร่วมกัน กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2 มีข้อความที่บันทึกต่อเนื่องกันในกฎมณเฑียรบาล ดังนี้

“ถ้าเสดจ์หนในมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง

ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง”

นอกจากตามเสด็จ ยังทำหน้าที่อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสไปถ่ายทอดอีกทีหนึ่ง

“ถ้าแลมีพระราชฎีกาดำเนีรมีตราขุนจันทราทิตยนำ ถ้าพระราชเสาวนีดำเนีรตราขุนอินทรทิตยนำ ถ้าพระราชฎีกานักเทศถือไป พระเสาวนีจำถือไป”

แสดงว่านักเทศอัญเชิญพระราชฎีกาของพระเจ้าแผ่นดิน ขันทีอัญเชิญพระราชเสาวนีย์ ลองสังเกตข้อความ ‘พระเสาวนีจำถือไป’ น่าจะละคำ ‘ขันที’ ไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะคำว่า ‘พระเสาวนี’ หรือ ‘พระเสาวนีย์’ หมายถึงคำสั่งของพระราชินี รูปประโยคที่ใช้น่าจะใกล้เคียงกัน คือระบุตัวผู้อัญเชิญไว้ทั้งสองประโยค ดังนี้

‘ถ้าพระราชฎีกานักเทศ (จำ) ถือไป พระเสาวนี (ขันที) จำถือไป’

นักเทศและขันทียังมีหน้าที่ช่วยกันรักษาความปลอดภัยของกระบวนเสด็จฝ่ายใน ดังที่ ‘พระราชกำหนดใหม่’ ใน “กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” ระบุถึงอาวุธที่ใช้ไว้ด้วยว่า

“ถ้าเสด็จพระราชตำเนิรไปด้วยราทยาน แลฝ่ายในตามเสดจพระราชตำเนิรด้วย ให้นักเทดขันทีถือกระสุนแห่”

 

นอกจากนี้ “ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา” ส่วนที่เกี่ยวกับตำราหน้าที่ของตำรวจ ยังกล่าวถึง ‘ทิม’ หรือที่พำนักของเจ้าพนักงานฝ่ายในว่า มีทั้งของนักเทศและของขันทีอยู่แยกกัน

“ตำรวจนอกรวมกับสนม พระตำหนักเรือนหลังที่ลงพระบังคน พนักงานสนมซ้ายขวา ตำหนักเรือนพระราชทาน พลับพลาข้างใน ฉนวนทางเสด็จกรมฝ่ายใน คลังฝ่ายในทั้งปวง โรงสะดึง โรงเทียน ทิมนักเทศ ทิมขันที ทิมโขลน เรือนเพลิง”

ในการพระราชพิธีเบาะพก ตำแหน่งที่นั่งของนักเทศและขันทีชี้ชัดว่าเป็นคนละกลุ่ม ที่แยกเป็นขวาและซ้าย คงเพราะทำหน้าที่คู่กัน ดังที่ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ใน “กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” บันทึกว่า

“ครั้นเสรจ์การเสดจ์ขึ้นพระธี่นั่ง เลี้ยงลูกขุน มีหม่งครุ่มซ้ายขวา คุลาตีไม้ ไต่เชือกหนัง เล่นแพน พุ่งหอก ยิงธนู พระราชกุมารสมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลูกเธอหลานเธอ แม่เจ้าพระสนม ออกเจ้ากำนัลซ้ายนักเทศขวาขันทีซ้าย”

 

อีกทั้งกฎมณเฑียรบาลยังกำหนดธรรมเนียมเข้าเฝ้าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกว่า

“ฝ่ายเฉนียงนอกพระศรีมโนราชแลพระศรีอไภย ขุนราชาข่าน ขุนมโนบหลัดทัง ๔ นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช นายจ่านายกำนัลมหาดเลกเตี้ยค่อม”

‘เฉนียง’ เป็นภาษาเขมร แปลว่า เฉลียง หรือ ระเบียง ‘เฉนียงนอก’ น่าจะหมายถึง เฉลียงนอก หรือ ระเบียงนอก กำหนดเป็นที่เข้าเฝ้า

นอกจากนักเทศและขันทีจะเข้าเฝ้าที่เดียวกัน ข้อห้ามก็ไม่ต่างกัน ห้ามมิให้ออกนอกเมืองเนื่องจากผิดกฎหมาย ดังที่กฎมณเฑียรบาลใน “กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 2 มีข้อความว่า

“อนึ่งพระราชกุมาร พระราชบุตรี นักเทษขันที จ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ”

เมืองไทยในอดีต ขันทีและนักเทศขันทีมีครบ •

รูปฉากกั้นเขตพระราชฐานเป็นรูปขันทีหรือยูนุคแขกอิหร่าน
ภาพขันทีแขกที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)