‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะ ผู้บูชาความรัก (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วิรังคราช’

วีรบุรุษของชาวลัวะ

ผู้บูชาความรัก (จบ)

 

การนำเสนอเรื่องราวของขุนหลวงวิลังคะตอนสุดท้ายนี้

ดิฉันตั้งใจจะให้ข้อมูลที่ค่อนข้างอันซีน

ในเชิงมุขปาฐะที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับหลักฐานด้านโบราณคดีบ้างไม่มากก็น้อย

 

หนองสะเหน้าอยู่หนไหน

หลายท่านเข้าใจผิดคิดว่า “หนองสะเหน้า” นั้นคือหนองน้ำที่เราเห็นอย่างโดดเด่น ตั้งอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่าทางทิศตะวันตก เนื่องจากเป็นหนองน้ำที่สามารถมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดแล้วในเมืองลำพูน

กลับกลายเป็นว่าหนองแห่งนั้นมีชื่อว่า “หนองน้ำจามเทวี” ใช้เป็นที่ชำระสระสรงส่วนพระองค์ของพระนางจามเทวี อ้าว! หากไม่ใช่ที่นี่ แล้วที่ไหนล่ะหรือคือ “หนองสะเหน้า”?

หนองสะเหน้า หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านของอดีต ผอ.นิวัฒน์ชัย รัตน์ชเลศ อยู่นอกกำแพงเมืองลำพูนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ไกลจากวัดมหาวัน

ในความจริงนั้น “หนองสะเหน้า” ไม่สามารถตั้งอยู่ในคูเมืองหอยสังข์ของนครหริภุญไชยได้เลย มิเช่นนั้นแล้ว พระนางจามเทวีก็ต้องตกเป็นชายาของขุนหลวงวิลังคะไปเรียบร้อยแล้วสิคะตั้งแต่การพุ่งสะเหน้าครั้งแรก ไม่ต้องรอลุ้นครั้งที่ 2…3 ในเมื่อการท้าเดิมพันรักของขุนหลวงวิลังคะที่มีต่อพระนางจามเทวีมีเงื่อนไขอยู่ว่า

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ ในท่าถือสะเหน้า (หอก) สัญลักษณ์ที่ใช้พุ่งไปยังนครหริภุญไชย

“วิรังคราชจักพุ่งสะเหน้า (หอกใหญ่) จากเวียงลัวะ (สันนิษฐานว่าจุดที่พุ่งนั้น คือบริเวณดอยปุย เหนือดอยสุเทพ) ให้มาตกใจกลางนครหริภุญไชย โดยจะขอพุ่งสามครั้ง หากครั้งใดครั้งหนึ่งสะเหน้านั้นตกลงในเวียงหริภุญไชย พระนางจามเทวีต้องยอมอภิเษกกับวิรังคราช อย่างไร้ข้อแม้”

ปรากฏว่าการพุ่งสะเหน้าครั้งแรกนั้น ใบหอกมาตกด้านนอกกำแพงเมืองลำพูนทิศตะวันตกเฉียงใต้อย่างเฉียดฉิว ทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “หนองสะเหน้า” จวบจนทุกวันนี้

ถ้าเช่นนั้น หนองสะเหน้าก็ย่อมอยู่นอกกำแพงเวียงฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วอยู่ที่ไหนกันเล่า

เหตุที่ปัจจุบันมีบ้านเรือนขึ้นประชิดบดบัง โอบล้อมไม่ให้ใครๆ ได้เห็น “หนองสะเหน้า” กันอย่างง่ายๆ

ดิฉันทราบดีว่า จุดที่เรียกว่า “หนองสะเหน้า” นั้น อยู่ในพื้นที่บ้านเอกชน เจ้าของคืออดีตผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูน (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2546-2549) ชื่อคุณ “นิวัฒน์ชัย รัตน์ชเลศ” ท่านเกษียณอายุมานานกว่า 15 ปีแล้ว ดิฉันมีโอกาสเข้าไปชมหนองสะเหน้าและขอสัมภาษณ์เจ้าของพื้นที่

ผอ.นิวัฒน์ชัยเล่าว่า บริเวณที่เรียกว่า “หนองสะเหน้า” นี้ “เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีใครสามารถเข้ามาอยู่ได้ ชาวลำพูนกลัวมากบอกว่าเป็นที่เฮี้ยน แต่ว่าผมเป็นคนเชียงใหม่ ถือเป็นสายลูกหลานขุนหลวงวิลังคะหรือเปล่าไม่แน่ใจ จึงสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข ก่อนผมจะเข้ามาอยู่ เคยมีคนพบ ‘ใบหอกโบราณขนาดใหญ่ทำด้วยสำริดขึ้นสนิมเขียว’ ในหนองน้ำนี้ด้านใต้ ค่อนไปทางทิศที่ตั้งวัดมหาวัน แต่ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับหอกที่ขุนหลวงวิลังคะพุ่งมาเมืองลำพูนตอนท้ารบ-พนันรักกับพระนางจามเทวีหรือไม่นะครับ”

สันกู่ ฐานสถูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนหลายชั้นสมัยหริภุญไชย บนดอยปุย เชียงใหม่

สันกู่บนดอยปุยคืออะไร?

บนดอยปุย (เหนือดอยสุเทพขึ้นไปในช่วงที่ค่อนข้างสูงชัน ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านชาวม้ง) มีโบราณสถานก่ออิฐสมัยหริภุญไชยหลงเหลืออยู่หลังหนึ่ง แม้เห็นเพียงแค่ฐานล่างเท่านั้น ทว่า นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีก็สามารถกำหนดอายุได้ว่า

นี่ไม่ใช่ซากโบราณสถานสมัยล้านนา หากเก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชย ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. ก้อนอิฐที่ใช้ก่อก้อนใหญ่มากและผสมแกลบ เป็นอิฐยุคหริภุญไชย

2. รูปทรงสถาปัตยกรรม สร้างแบบฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันหลายชั้น ในลักษณะ “เจดีย์เหลี่ยม” กอปรกับมีแท่นบูชาวาง 4 ทิศ เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชย ไม่ใช่ล้านนา

3. หลักฐานยืนยันประการสุดท้ายคือ มีการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 20 พบโบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์หริภุญไชย

คำถามคือ “ใคร? หมายถึงชาวหริภุญไชยคนไหน เป็นผู้มาสร้างสถูปองค์นี้ให้ชาวลัวะ?” ในเมื่อดอยปุยลูกนี้ในยุคหริภุญไชย เป็นถิ่นอาศัยของชาวลัวะมาก่อน ยังไม่มีชาวม้ง กะเหรี่ยง มูเซอร์ ฯลฯ

ทำให้เกิดปริศนาตามมามากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “สันกู่” (ชื่อโบราณสถานแห่งนี้ เรียกตามทะเบียนกรมศิลปากร) เป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ที่วิรังคราชมีต่อพระนางจามเทวีใช่หรือไม่ หมายความว่า หลังจากที่ขุนหลวงวิลังคะไม่ประสบความสำเร็จในการพิชิตหัวใจพระนางจามเทวี ไม่ว่าจะด้วยการท้าพุ่งสะเหน้า รวมทั้งการออกรบประลองยุทธ์กันแล้วก็ตาม

ฉากสุดท้ายของขุนหลวงวิลังคะต้องหนีกลับคืนถิ่น กระทั่งสิ้นใจบน “ดอยคว่ำหล้อง” (ปัจจุบันเรียก “ม่อนแจ่ม”) อยู่รอยต่อแม่ริม-สะเมิง เมื่อไร้ราชะผู้นำ ลูกหลานของขุนหลวงวิลังคะจำต้องยอมกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประชากรชาวหริภุญไชย และชาวลำพูนนั่นเองได้นำเอาพระพุทธศาสนามาสถาปนาบนดอยสูงให้แก่ชาวลัวะ?

ข้อสมมุติฐานนี้จะถูกต้องหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ แต่จวบจนวันนี้ก็ยังไม่อาจหาคำอธิบายอื่นใดที่เข้าท่า เข้าเค้ามากไปกว่านี้ เหตุที่ “สันกู่” เป็นเจดีย์ของชาวหริภุญไชยที่สร้างบนดอยสูงสุดเหนือดอยลูกอื่นใดทั้งหมด ไฉนชาวหริภุญไชยต้องบากบั่นมาสร้างวัด-ศาสนสถานบนที่สูงซ้ำทุรกันดารถึงเพียงนี้

หากมิใช่เพราะต้องการประกาศชัยชนะด้านพุทธศาสนาเหนือชาวลัวะ?

วังพระเจ้าลัวะ (วัดสะหลีพันต้น) ที่บ้านกาด แม่วาง เป็นซากโบราณสถานร้าง กำแพงก่ออิฐขนาดใหญ่ นอกกำแพงมีการตั้งศาลขุนหลวงวิลังคะ

ปริศนาวังพระเจ้าลัวะ

ไปที่ไหนๆ ในโซนหุบเขาที่ต่อเชื่อมกันภายใน ล้วนพบแต่คำว่า “วังพระเจ้าลัวะ” หรือไม่ก็ “ห้วยพระเจ้าลัวะ” กระจายตัวอยู่หลายแห่ง

บางแห่งฟันธงไปเลยด้วยซ้ำว่า “พระเจ้าลัวะ” องค์นี้หมายถึง “ขุนหลวงวิลังคะ” ยกตัวอย่างเช่น มีวัดร้างชื่อ “วัดสะหลีพันตน” (บ้างเขียน สรี = ต้นศรีมหาโพธิ์) ตั้งอยู่ที่บ้านกาด อำเภอแม่วาง เชียงใหม่

ตำนานที่ฟังมาจากชาวบ้านในพื้นที่มีสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกระบุว่าเมื่อขุนหลวงวิลังคะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อพระนางจามเทวีแล้ว พระนางจามเทวีได้ขอให้ขุนหลวงวิลังคะหันมานับถือพระพุทธศาสนา โดยสร้างวัดแห่งนี้ให้ ชื่อเดิมของวัดสะหลีพันตนเคยมีชื่อว่า “วัดพระเจ้าลัวะ” หรือ “วังพระเจ้าลัวะ”

อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเล่าว่า บริเวณนี้เป็นถิ่นกำเนิดหรือบ้านเกิดของขุนหลวงวิลังคะ ก่อนที่จักขยายดินแดนไปถึงดอยสุเทพ ดอยปุย สถานที่นี้มีสถานะเป็นคุ้มหรือวังไม่ใช่วัด

ไม่ว่าตำนานเวอร์ชั่นใดจะถูกต้องก็ตาม (หรืออาจไม่ถูกทั้งสองเวอร์ชั่นเลยก็ได้) แต่อย่างน้อยที่สุด ด้านนอกกำแพงวังพระเจ้าลัวะทิศตะวันออก มีการตั้งศาลขุนหลวงวิลังคะ สะท้อนถึงความผูกพันของคนในชุมชนที่มีต่อวีรบุรุษชาวลัวะผู้นี้ แม้นว่าปัจจุบันประชากรหลักในพื้นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงผสมไทใหญ่ (ไม่ใช่ลัวะแล้ว) ก็ตาม

หากเอาตำนานเรื่อง “พระนางจามเทวี-วิรังคราช” มาเป็นตัวตั้ง โบราณสถานแห่งนี้ก็ย่อมมีอายุเก่ามากถึง 1,300 กว่าปี แต่เนื่องจากยังไม่มีการขุดศึกษาทางโบราณคดีในชั้นดิน (ผิดกับที่สันกู่) จึงไม่อาจทราบได้ว่าอายุที่แท้จริงของโบราณสถานแห่งนี้เก่าแค่ไหน และควรจะเป็นวัดหรือวัง? รวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกับขุนหลวงวิลังคะจริงหรือไม่?

 

การกระจายตัวของ

“ศึกจามเทวี-วิรังคราช”

น่าสนใจทีเดียวที่เรื่องราว “สงครามแห่งความรัก-สงครามแห่งการทวงคืนพื้นที่” ระหว่างขุนหลวงวิลังคะกับพระนางจามเทวี ได้กระจายตัวไปไกลแทบทุกหย่อมย่าน ในพื้นที่หุบเขาตอนกลางของเชียงใหม่ นับแต่อำเภอแม่ริม สะเมิง จอมทอง สันป่าตอง แม่วาง นอกจากวังพระเจ้าลัวะที่บ้านกาดแล้ว แถบแม่วางยังมีเรื่องเล่าทำนองเดียวกันนี้อีกแห่งหนึ่ง

นั่นคือบริเวณวัดดอยธาตุ (พระธาตุแม่เตียน) ณ บ้านห้วยตอง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง แม้ป้ายจะเขียนชื่อว่า วัดพระธาตุศรีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ทว่า คนในชุมชนยังคงเรียกกันว่า “ดอยธาตุ” เนื่องจากเป็นพระธาตุที่สร้างบนดอยสูง

ส่วนชื่อดั้งเดิมสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะมีชื่อว่า “พระธาตุแม่เตียน” (แม่เทียน) ปัจจุบันบ้านแม่เตียน เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านขุนเตียน ตั้งอยู่ในหมู่ 8 ไกลจากสำนักสงฆ์ขึ้นไปทางสะเมิงเพียงประมาณ 2 กิโลเมตร เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดแบ่งเขตพื้นที่การปกครองใหม่ ทำให้ “พระธาตุแม่เตียน” ในอดีต ต้องกลายมาอยู่ในเขตพื้นที่บ้านห้วยตอง และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ดอยธาตุ” จนทุกวันนี้ไม่มีใครทราบว่าดอยธาตุเคยชื่อ “พระธาตุแม่เตียน” กันอีกเลย

ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา (คนผมยาวยืนกลาง) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้าน “ลัวะ-เม็ง” งานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ขุนหลวงวิลังคะ” ที่วัดกิ่วลม บ้านบ่อหลวง ฮอด เชียงใหม่

ครูบาพรรณ ฐิตมโน หัวหน้าสำนักสงฆ์วัดดอยธาตุ เล่าว่าอาณาบริเวณนี้ในอดีตเป็นเขตพื้นที่ในปกครองของชาวลัวะที่มีผู้นำนาม “ขุนหลวงวิลังคะ” เคยสู้รบกับพระนางจามเทวี เมื่อฝ่ายพระนางจามเทวีชนะ ทำให้ชาวลัวะบางกลุ่มหันมานับถือพระพุทธศาสนา และได้มีการสถาปนาพระธาตุไว้ในผอบฝังดินไว้

ทุกวันนี้ ตามภูเขาต่างๆ รายล้อมดอยธาตุ ยังมี “หลุมศพชาวลัวะ” เรียกว่า “ป่าช้าลัวะ” นับพันๆ หลุม

สะท้อนว่าก่อนจะนับถือพระพุทธศาสนา คนในพื้นที่เคยนับถือผีมาก่อน และมีความเชื่อในการฝังศพในหลุมดิน

อาหารในชีวิตประจำวันของชาวลัวะ

ครั้นเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยจาริกธุดงค์มาพบ โดยใช้เส้นทางเดินป่าของชาวลัวะ-กะเหรี่ยง เรียกกันว่า “เส้นทางลัดเขาของเชียงใหม่สายใต้” คือจากลี้ตัดเข้าจอมทอง-แม่วาง เมื่อนั่งวิปัสสนาท่านสามารถรับรู้โดยญาณทัศนะได้ว่า ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี จึงได้ทำการบูรณะพระเจดีย์องค์เก่าแก่ที่พระนางจามเทวีสร้างให้ชาวลัวะ

เรื่องราวที่พรรณนามาทั้งหมดสามตอนนี้ ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ แต่มันคือส่วนหนึ่งของ “ความทรงจำอันงดงาม” ของลูกหลานชาวลัวะ เป็นทั้งความรักและความชัง เป็นทั้งบาดแผลและรอยปรารถนา ซึ่งยากที่จักลบเลือน •

 

อ่าน ‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (2) ได้ที่นี่

‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

อ่าน ‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (1) ได้ที่นี่

‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ