‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วิรังคราช’

วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (1)

 

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ดิฉันได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพิธีสมโภช ประดิษฐานอนุสาวรีย์ (บางท่านใช้คำว่า “ราชานุสาวรีย์) ของ “ขุนหลวงวิลังคะ” (ชื่อนี้เขียนได้สองแบบ ทั้ง “วิรังคะ” และ “วิลังคะ”) องค์ใหญ่กว่า 3.9 เมตร ณ บริเวณลานด้านหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

หากใครไม่ทราบว่าสถานที่ดังกล่าวนี้อยู่แถวไหน ให้นึกถึงบริเวณ “สวนสนบ่อแก้ว” อุทยานต้นสนสะพรั่งพลิ้ว โดดเด่นอยู่ริมถนน ณ จุดทางผ่านของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปแม่ฮ่องสอนโซนใต้ ในสายแม่สะเรียงนั่นเอง

เมื่อพูดถึงอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะองค์ใหม่ จำเป็นทีเดียวที่ต้องเท้าความถึงอนุสาวรีย์องค์เก่าของท่านด้วย

ไม่น่าเชื่อจริงๆ ที่ดิฉันต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสององค์

 

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ

องค์แรกแห่งบ้านบ่อหลวง

ย้อนกลับไป 17-18 ปีก่อน ราว พ.ศ.2546-2547 สมัยที่ดิฉันยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กรมศิลปากรอยู่นั้น ได้มีพี่น้องชาวลัวะจำนวนหนึ่งเดินทางข้ามแม่ปิงจากอำเภอฮอดมาหาดิฉันที่ลำพูน

ด้วยความปรารถนาที่อยากจัดสร้างอนุสาวรีย์ “วีรบุรุษในตำนานของชาวลัวะ” นาม “ขุนหลวงวิลังคะ” หรือเรียกแบบทางการคือ “วิรังคราช” หรือเรียกแบบภาษาพูดคนพื้นเมืองคือ “หลวงมะลังก๊ะ” ขึ้นกลางหมู่บ้านบ่อหลวง ในฐานะที่หมู่บ้านนี้และละแวกใกล้เคียงในเขตตำบลบ่อหลวงมีชาวลัวะอาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดในเชียงใหม่ คือมากถึง 4 หมื่นกว่าชีวิต

เมื่อดิฉันถามว่า “ทำไมจึงไม่ไปปรึกษาตัวแทนกรมศิลปากรในเขตพื้นที่เชียงใหม่ หรืออาจารย์สอนประวัติศาสตร์ใน มช.เล่า? ไยจึงต้องข้ามน้ำปิงด้วยความเหนื่อยยากมาถึงถิ่นที่ผู้คนมีความผูกพันกับพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองและทางหัวใจตัวฉกาจกับขุนหลวงวิลังคะ?”

ชาวลัวะบ้านบ่อหลวงอธิบายว่า พวกเขาได้ตระเวนสอบถามขอข้อมูลจากผู้รู้ตามสถาบันต่างๆ แล้วหลายแห่ง ทว่าผู้รู้เหล่านั้นปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยอ้างว่า

“เรื่องราวของ ‘ขุนหลวงวิลังคะ’ นั้นไม่มีอยู่จริง เป็นแค่ Myth, Legend เป็นเพียงนิทานปรัมปรา ที่เล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น ไม่สามารถค้นหาหลักฐานทาง ‘จารึก’ มาอ้างอิงได้ว่าท่านมีตัวตนจริงหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถช่วยออกแบบอนุสาวรีย์ให้ได้”

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ องค์ที่เพิ่งจัดสร้างใหม่ ประดิษฐานหน้าเทศบาลตำบลบ่อหลวง

นี่คือที่มาของการที่ดิฉันจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทให้ข้อคิดให้คำแนะนำสนองความฝันความต้องการของชุมชนในค่ำคืนนั้นเลย นับตั้งแต่ตัวแทนชาวลัวะกลุ่มหนึ่งเดินทางมาพบดิฉันที่พิพิธภัณฑ์ลำพูน (จำวันที่ไม่ได้แต่จำเวลาได้) ประมาณ 16.00 น. ดิฉันก็บอกคนขับรถของพิพิธภัณฑ์ ให้ขับตามชาวลัวะไปบ้านบ่อหลวง ถึงบ้านบ่อหลวงเวลาประมาณ 20.00 น. (การเดินทางเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ใช้เวลานานกว่าปัจจุบันมาก เพราะถนนเป็นลูกรัง)

ชาวลัวะได้หลามข้าวเหนียวให้ดิฉันพร้อมด้วยน้องๆ นักศึกษาฝึกงานชายหญิงคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รวม 4 คน ทานในมื้อค่ำนั้น

ฝ่ายแม่ญิงลัวะนั่งทอผ้าด้วยกี่เอว ใช้ฝ้ายดิบไม่ย้อมสี ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนได้ผ้าพันคอผืนขนาดเขื่องหนึ่งผืนเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่ดิฉัน ตอนที่เราลาจากพวกเขาเวลาตีสามของวันรุ่งขึ้น

พวกเรานั่งล้อมวงเสวนาท่ามกลางป่าสนโอบล้อม แสงจันทร์ส่องต้องลงมา เงาไม้สนทอดพาดผ่านกองไฟเรืองแสง เราคุยกันนับแต่ประเด็นเรื่อง “ชาวลัวะคือใคร” “ทำไมพระนางจามเทวีจึงปฏิเสธความรักของขุนหลวงวิลังคะ” “ลัวะกับเม็ง (มอญ) เหมือนหรือต่างกันด้านใดบ้าง” “ขุนหลวงวิลังคะควรมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร” “การแต่งกายของผู้นำชาวลัวะโบราณควรประมาณไหน?”

ยอมรับว่าเป็นเวทีเสวนาใต้แสงจันทร์ที่ต้องถือว่าบรรยากาศ “โรแมนติกที่สุดในชีวิต” ในขณะเดียวกัน กว่าดิฉันจักเค้นคำพูดให้ได้ดั่งใจคนฟังก็ต้องถือว่าเป็นเวทีที่ “พูดยากที่สุดในชีวิต” ด้วยเช่นกัน

เหตุที่ในมุมมองของคนลำพูนนั้น ขุนหลวงวิลังคะคือ “ผู้ร้าย” คนก้าวร้าว คนป่า คนต่ำต้อยด้อยปัญญา คนรูปไม่หล่อใช่ไหม พระนางจามเทวีจึงไม่รับรัก หรือจะเป็นนักเลงโตที่ใช้แต่พละกำลัง

ช่วงนั้นดิฉันทำงานในลำพูน ย่อมถูกเกลาถูกหล่อในเบ้าหลอมของคนลำพูนที่มองว่า “พระนางจามเทวี” เป็นจักรพรรดินีผู้เลอโฉมสง่างาม เป็นกษัตรีย์ที่ถูกรังแก เป็นวีรสตรีผู้ฉลาดเฉลียว เป็นขัตติยนารีที่มาจากราชวงศ์สูงศักดิ์ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จักต้องยอมลงหอร่วมห้องกับขุนหลวงวิลังคะด้วยประการทั้งปวง

จึงใคร่ขอถามผู้อ่านว่า ค่ำคืนที่ล้อมวงเสวนากันนั้น จักให้คำพูด “เชิงบวก” ที่มีต่อขุนหลวงวิลังคะพรั่งพรูออกจากปากของดิฉันเป็นต่อยหอยเหมือนทุกครั้งที่สดุดีวีรกรรมของพระนางจามเทวีท่ามกลางชาวลำพูนได้ไฉน

จำได้ว่าดิฉันผ่านคืนนั้นอย่างทุลักทุเล เพราะต้องพลิกหัวใจกระดิกกลับมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามอีกด้าน จินตนาการถึงความรู้สึกที่ถูกเหยียบย่ำมาตลอดของชาวลัวะ เอามาสวมวิญญาณของตัวเองดูบ้างว่า หากดิฉันเป็นพวกเขา จักเจ็บปวดรวดร้าวเพียงไร

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะองค์เดิม (ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 10 กว่าปีก่อน) เมื่อกลางปีถูกพายุกระหน่ำจนกิ่งสนตกใส่แขนหัก ปัจจุบันทำการซ่อมบูรณะแล้ว

นึกถึงกิจกรรมที่ดิฉันเคยจัดให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมปลายชายหญิงโรงเรียนจักรคำคณาทรโต้วาทีกันหัวข้อ “พระนางจามเทวี VS ขุนหลวงวิลังคะ : การเมืองหรือรักแท้?” เป็นหัวข้อที่ชาวลำพูนมีคำตอบอยู่แล้วในทุกลมหายใจว่าการที่ขุนหลวงวิลังคะมาขอพระนางจามเทวีแต่งงานนั้น

เป็นการทำไปเพื่อ “ทวงคืนพื้นที่ลุ่มแม่ระมิงค์ หาได้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระนางจามเทวีแต่อย่างใดไม่”

ครั้นเมื่อดิฉันต้องมาอยู่ในวงล้อมของชาวลัวะ สบสายตาบริสุทธิ์ทุกคู่ ที่ตัดพ้อต่อว่าดิฉัน ว่าทำไมพระนางจามเทวีไม่เห็นใจ “รักแท้” ของขุนหลวงวิลังคะที่มีต่อพระนางบ้างเลย ยอมรับว่าดิฉันรู้สึกละอายแก่ใจเหลือเกิน ยามนึกถึงประเด็นหัวข้อโต้วาทีเมื่อปี 2545 ณ โรงเรียนจักรคำคณาทร

ดังนั้น ในเวทีเสวนา ดิฉันจึงไถ่โทษตัวเอง ด้วยการพยายามไม่ตัดสินบุคคลในตำนานทั้งสองฝ่ายว่าใครดีกว่ากัน ทั้งฝ่ายที่ “โปร” พระนางจามเทวี หรือฝ่ายที่ “โปร” ขุนหลวงวิลังคะ ดิฉันไม่อาจอธิบายเหตุการณ์การท้าพุ่งสะเหน้า 3 ครั้งของขุนหลวงวิลังคะได้ว่า มีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

รวมไปถึงการทำคุณไสยของพระนางจามเทวีใส่ฝ่ายขุนหลวงวิลังคะ ตอนที่ต้องพุ่งสะเหน้าครั้งที่ 2 เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของพระนางเอง ว่าพระนางจามเทวีมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด

สายตาทุกคู่ของชาวลัวะจับจ้องมองมาว่า “แม่ญิงที่มาจากเมืองหละปูน” (ดิฉันเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนลำพูน) คนนี้ จะมาไม้ไหน ใครเป็นคนไปเชิญหล่อนมา ทำไมตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน สภาวัฒนธรรมตำบลจึงไม่เลือกนักวิชาการที่อยู่ในฝั่งเชียงใหม่?

พวกเขาหารู้ไม่ว่าอันที่จริง ดิฉันคือทางเลือกสุดท้ายแล้วในสายวิชาการที่พวกเขาพึ่งพาได้

ดิฉันพยายามโฟกัสไปยังประเด็นที่ว่า “ลัวะคือใคร” “ประเพณีเลี้ยงดงของลัวะตอบโจทย์อะไรบ้างไหมในสังคม” “ลัวะมีรูปลักษณ์ สูงต่ำดำขาวอย่างไร” “ลัวะสักขาลายหรือไม่” “คำว่าสะเหน้า หมายถึงอะไรกันแน่ เอกสารบางเล่มกล่าวว่าคือธนู บางเล่มว่าหมายถึงหอก” “อนุสาวรีย์ควรสูงประมาณกี่เมตร”? “เสื้อผ้าหน้าผมของขุนหลวงวิลังคะ?”

สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ ความที่ดิฉันเดินทางไปฮอดแบบปุบปับฉับพลัน จึงไม่ได้เตรียมเครื่องอัดเทปไปด้วย (เกือบ 20 ปีที่แล้ว มือถือเป็นรุ่น 1 G หรือ 2 G ไม่สามารถอัดเสียงได้) ดิฉันได้แต่นั่งจดข้อมูลที่ปราชญ์ชาวลัวะระดมสมองกันเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟัง โดยไม่รู้สึกง่วงแม้เวลาล่วงเลยไปตีหนึ่งตีสองแล้ว จดทันบ้างไม่ทันบ้าง รู้แต่ว่าทุกถ้อยวลีนั้นทรงคุณค่าเหลือเกิน

ในที่สุด ผ่านไปสักระยะหนึ่ง การออกแบบจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะก็ดำเนินการเสร็จสิ้น จัดตั้งอยู่ที่หน้าสำนักงาน อบต.บ่อหลวง (สมัยนั้นยังไม่ได้ยกระดับเป็นเทศบาล) ดิฉันได้เดินทางมาร่วมงานเปิดอนุสาวรีย์ด้วย

และทุกครั้งที่ต้องผ่านมาเส้นทางนี้ เช่นไม่ว่าจะไปแม่แจ่มตอนล่างก็ดี หรือไปแม่สะเรียงก็ดี ไปอมก๋อยก็ดี ดิฉันจักต้องแวะคาวระอนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะเสมอ ด้วยมีความผูกพันตั้งแต่แรกก่อสร้าง

 

ข่าวเศร้า

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะแขนหัก

ราวเดือนกันยายน 2564 ดิฉันได้รับการประสานจาก “ตุ๊กุ้ง” หรือ “พระกฤษณชัย” แห่งวัดพระบาททุ่งอ้อ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะองค์ที่ดิฉันเคยไปช่วยระดมสมองให้ข้อคิดเห็นในค่ำคืนอันแสนโรแมนติกนั้น ได้ถูกกิ่งสนหักหล่นทับใส่ท่อนแขนจนชำรุดเสียแล้ว ในช่วงพายุพัดกระหน่ำกลางปี กอปรกับกาลเวลาล่วงผ่านมานานถึง 17-18 ปี เนื้อปูนที่ใช้สร้างอนุสาวรีย์ก็เริ่มกะเทาะผุกร่อน เกิดการชำรุดอยู่หลายส่วน

พระกฤษณชัย “ตุ๊กุ้ง” ซ้ายมือสุด ผู้ประสานงานจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ ภาพถ่ายในพิธีสมโภชเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ท่าน “ตุ๊กุ้ง” เป็นชาวลัวะ ได้รับมอบหมายจากชาวลัวะบ้านบ่อหลวง บ่อพะแวน บ่อสะหลี บ่อเหล็กแม่โถ และบ่อสะแหง (อ่าน แง๋ ไม่ใช่อ่าน แฮ๋ง) ฯลฯ ว่าให้เป็นผู้ประสานงานกับทุกฝ่ายในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะองค์ใหม่

โดยชาวลัวะมีมติว่าจะต้องดำเนินการซ่อมอนุสาวรีย์องค์เก่าด้วย จากนั้นต้องหาสถานที่จัดตั้งอย่างเหมาะสม พร้อมกับระดมงบประมาณจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะองค์ใหม่

ชาวลัวะบางท่านได้เอ่ยถึงชื่อของดิฉันให้ตุ๊กุ้งฟังด้วย ว่าก่อนจักทำอะไรควรปรึกษาหารือกับ “ดร.เพ็ญ” สักหน่อย เพราะเธอเป็นผู้วางรากฐานให้เกิดอนุสาวรีย์องค์เดิมมาก่อน

ขอบคุณชาวลัวะมากนะคะที่ยังระลึกนึกถึงกัน ทั้งๆ ที่ดิฉันไม่ได้ช่วยอะไรมากมายเลย แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ได้พบกับ “ตุ๊กุ้ง” พระหนุ่มชาวลัวะไฟแรง ท่านเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะว่า มิได้จัดสร้างแค่รูปเคารพแบบพระอิฐพระปูนเท่านั้น

หากชาวลัวะยังฝันว่าอยากมี “หอศิลป์บ่อหลวง” เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวลัวะในทุกมิติ ส่วนอนุสาวรีย์องค์เดิมที่แขนหักเพราะกิ่งสนนั้น ก็จักนำมาจัดแสดงไว้ในอาคารหอศิลป์นี้อีกด้วย

นำมาซึ่งการเปิดเวทีเสวนาว่าด้วย “ลัวะ ขุนหลวงวิลังคะ และหอศิลป์บ่อหลวง” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ณ วัดกิ่วลม เนื้อหาที่เสวนากันวันนั้นมีความเข้มข้นน่าสนใจขนาดไหน โปรดติดตามฉบับหน้า •