‘วิรังคราช’ วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วิรังคราช’

วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (2)

 

ไม่ยอม

ให้สองวีรกษัตริย์ล้านนา

เป็นชาวลัวะ!

คําถามที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ลัวะ ไม่ใช่คำถามที่ว่า “ลัวะคือใคร” หรือ “ลัวะมาจากไหน” มากเท่ากับคำถามที่ว่า “ลัวะหายไปไหน” โดยเฉพาะ “ลัวะในลำพูน”?

รวมไปถึงแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในยุคหลังๆ เริ่มมีการปฏิเสธ “ชาติพันธุ์” ของกษัตริย์ล้านนาสองพระองค์ สองยุค จากที่เคยเชื่อว่าน่าจะมีเชื้อสายลัวะปะปนอยู่ด้วยนั้น กลายเป็นว่า “ไม่ให้ปฐมกษัตริย์ทั้งสองมีเชื้อสายลัวะ” เสียแล้ว

องค์แรกคือ “พระญามังราย” ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เดิมเชื่อกันว่าสายบิดาของท่าน (ลาวเมง) น่าจะมีเป็นชาว “ลัวะ” โดยสืบสกุลมาจาก “ปู่เจ้าลาวจก” หรือลวจังกราช

แต่ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เริ่มมีแนวโน้มจากนักวิชาการรุ่นใหม่ กลับเห็นว่า “ฝ่ายพ่อของพระญามังรายน่าจะเป็นชาวไทโยนหาใช่ลัวะไม่” โดยตีความว่า ลวจังกราช หรือลาวจง เป็นคนละคนกับลาวจก ส่วนฝ่ายแม่นั้นเป็นไทลื้อค่อนข้างแน่ชัด

เช่นเดียวกับมีผู้เสนอว่า “พระเจ้ากาวิละ” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในยุคฟื้นฟูบ้านเมืองจากพม่าเมื่อราว 250 ปีที่ผ่านมานั้น องค์ความรู้เดิมก็เชื่อกันว่าเป็นหลานปู่ของ “หนานทิพย์ช้าง” หรือ “พระญาสุลวะฦๅไชย” มองตามรูปศัพท์ “ลวะ” ก็คือ “ลัวะ”

ทว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็มีนักวิชาการท้องถิ่นลำปางบางท่าน ทำการตีความใหม่ว่า น่าจะเป็น “สุรฦๅไชย” มากกว่า “สุระ=ผู้กล้า” ดังนั้น สายเลือดของหนานทิพย์ช้างและพระเจ้ากาวิละจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นชาวลัวะ แต่อย่างใดเลยอีกเช่นกัน

ราชานุสาวรีย์องค์ขุนหลวงวิลังคะ หน้าเทศบาลตำบ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

พระกฤษณชัย หรือ “ตุ๊กุ้ง” แห่งวัดพระบาททุ่งอ้อ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จึงได้ตั้งคำถามกับดิฉันก่อนเปิดวงเสวนาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ว่า

“เหตุไรชาวลัวะจึงต้องอายในชาติพันธุ์ของตัวเอง ในขณะที่ชาติพันธุ์อื่นเขาเปิดเผยตัวตน ผงาดขึ้นจัดงาน “ยองโลก” “ลื้อโลก” “กะเหรี่ยงโลก” แต่ทำไมคนล้านนาด้วยกันเองจึงกลับมองว่าชาวลัวะต่ำต้อย แม้แต่อดีตบูรพกษัตริย์เช่นพระญามังราย และพระเจ้ากาวิละ นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังก็ยังไม่ยอมให้ท่านเป็นชาวลัวะเลย?”

จริงอยู่ แวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ เราเปิดกว้างเสมอสำหรับข้อเสนอใหม่ๆ ข้อสันนิษฐานที่กล้าคิดนอกกรอบ บางทีพระญามังรายกับพระเจ้ากาวิละอาจไม่ได้เป็น “ชาวลัวะ” ตามที่มีผู้เสนอก็ได้

เพียงแต่ชาวลัวะย่อมอดน้อยใจไม่ได้ว่า “การปฏิเสธไม่ให้สองวีรกษัตริย์ล้านนาองค์สำคัญที่สุดของแต่ละยุคสมัยเป็นชาวลัวะนั้น เกิดขึ้นจากอคติเรื่องการรังเกียจเชื้อชาติหรือไม่?”

 

ตกลงเป็น “ขุน” หรือ “หลวง”?

ตกลงเป็น “ราชะ” หรือ “ผู้นำชนเผ่า”?

มีผู้ถามกันมากว่า ทำไมคำนำหน้าของวีรบุรุษชาวลัวะจึงใช้คำว่า “ขุนหลวง” คือมีทั้ง “ขุน” และ “หลวง” ตามที่เราทราบกันดีว่า ทั้ง “ขุน” และ “หลวง” ในยุคอยุธยา-รัตนโกสินทร์ เป็นบรรดาศักดิ์ของชั้นขุนนางอำมาตย์เท่านั้น แถม “หลวง” ใหญ่กว่า “ขุน” ในเมื่อมี “หลวง” แล้วไยจึงไม่ทิ้ง “ขุน”

ไย “วิรังคราช” จึงใช้ทั้งขุนและหลวง ไยจึงไม่ใช้คำว่า “ท้าว” นำหน้าแบบกษัตริย์ล้านนา หรือใช้ “ลาว” นำหน้าแบบยุคก่อนล้านนา เช่นราชวงศ์หิรัญนครเงินยาง หรือใช้คำว่า “พระญา” ซึ่งกษัตริย์ล้านนารับคติมาจากราชวงศ์หริภุญไชย

ในเวทีเสวนาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา วิทยากรคนสำคัญ ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ คืออาจารย์บี “ธีรยุทธ นิลมูล” แห่ง “สิปานคอลเลคชั่น” สำเร็จการศึกษาทั้งปริญญาตรีและโท จากคณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้อธิบายถึงที่มาของคำว่า “ขุนหลวง” ไว้อย่างน่ารับฟัง ดังนี้

“คำว่า “ขุน” แผลงมาจากคำว่า “กรุณา” หมายถึงผู้มีพระคุณ การุณย์ ผู้ปกครองที่มีความกรุณา ภาษาล้านนาเรียก “กรุณา” ว่า “ขูนา” คำว่า “ขูนา” เรียกแบบย่อๆ ได้ว่า “ขุน”

ส่วนคำว่า “หลวง” นั้นเป็นคำกลาง ใช้เรียกบุคคลสำคัญ เช่น แม่หลวงบ้าน พ่อหลวงบ้าน หมายถึงผู้ใหญ่บ้าน หรือวัดสำคัญที่สุดในชุมชน เช่น วัดดอนหลวง วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์หลวง วัดใดก็แล้วแต่มีคำว่า “หลวง” ต่อท้าย ย่อมเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นวัดหลักของหมู่บ้านหรือของเมือง

รูปปั้นขุนหลวงวิลังคะทำท่าพุ่งสะเหน้าไปเมืองลำพูน ที่บ้านแม่ก๊ะ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

การใช้คำว่า “ขุน” กับ “หลวง” ทับซ้อนกันนั้น มิได้เป็นการเรียกผิด ประมาณว่ามาเรียกภายหลังแล้วเอาชั้นยศขุนนางยุคอยุธยามาใช้ทับกันให้งุนงงเท่านั้น โปรดสังเกตให้ดีว่าในสมัยอยุธยาเองก็ยังมีการใช้คำว่า “ขุนหลวง” ควบซ้อนกัน สะท้อนถึงสภาวะของ “ราชะนักบวช” เป็นคำนำหน้าที่ใช้เรียกกับกษัตริย์ที่หนีไปบวชคือ “พระเจ้าอุทุมพร” ว่าเป็น “ขุนหลวงหาวัด”

“ขุนหลวง” จึงเป็นคำเรียกในภาษาโบราณ หมายถึง บุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำ ผู้ที่ปกครองโดยเมตตากรุณา

อีกคำถามที่ตามมาคือ สถานะของ “ขุนหลวงวิลังคะ” ถือว่าเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” ได้หรือไม่ สถานะต่ำต้อยกว่า “พระนางจามเทวี” ซึ่งเป็น “กษัตรีย์” หรือเช่นไร หากเป็นได้แค่ “หัวหน้าชนเผ่า” คือแค่ Chiefdom การจัดสร้างอนุสาวรีย์ครั้งนี้ทำไมจึงใช้คำใหญ่คำโตว่า “ลานราชานุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ”?

คำอธิบายคือ สังคมชนเผ่าในทุกแว่นแคว้นของชาวอุษาคเนย์ ล้วนเริ่มต้นจาก Chiefdom ก่อนทั้งสิ้น หมายถึงผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด ผู้มีความสามารถมากที่สุด จักถูกยกขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า เช่น เป็นผู้มีพละกำลังสูงสุด สามารถพุ่งสะเหน้า (หอก) ยิงธนูได้ไกลกว่าคนอื่น หรือสามารถผลิต “ขอบก” (จอบเสียม) ได้มากกว่าคนอื่น จึงมีโอกาสสถาปนาตนขึ้นเป็นผู้นำชนเผ่าได้ เพราะคนในชุมชนให้ความเคารพยำเกรง

ในอดีตนอกเหนือไปจากบางชนเผ่ามีผู้นำเป็นคนกล้าหาญ แข็งแกร่งแล้ว สังคมบางกลุ่มชนยกให้ผู้นำเป็นผู้หญิง หรืออาจมีผู้นำเป็นฤๅษี สุดแท้แต่ความต้องการของสังคมนั้นๆ กระทั่งอิทธิพลอินเดียเข้ามาตั้งแต่ยุคที่ (สมมุติเรียกกันว่า) ทวารวดี ได้มีการนำเอาระบบการปกครองแบบกษัตริย์เข้ามาให้แก่คนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ

สังคมชนเผ่าจากระบบ Chiefdom จึงค่อยๆ พัฒนากลายเป็นระบบ “กษัตริย์” หรือ “ราชา” แบบอินเดีย ดังนั้น การจักเรียกผู้นำเผ่าของชาวลัวะว่าเป็น “กษัตริย์” ตามความหมายของอินเดียที่ต้องมีองค์ประกอบครบเครื่องคือมีพราหณาจารย์ ปุโรหิต เสนามาตย์ นั้น คงไม่เหมาะที่จักใช้เรียกกับขุนหลวงวิลังคะแน่ๆ

เว้นแต่ว่า หากเรียกว่า “ราชา” ในความหมายว่า “ผู้ปกครอง” แว่นแคว้นใดแว่นแคว้นหนึ่งที่ยกระดับสูงขึ้นมาเหนือกว่าสังคมชนเผ่าดั้งเดิม ถึงแม้ว่าแว่นแคว้นนั้น ยังไม่ได้มีระบบการปกครองภายในแบบมาตรฐานตามอย่างขบวนการ “ภารตาวิทยา” ก็ตาม ก็สามารถเรียกผู้นำนั้นว่า “ราชา” ได้ ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงใช้คำว่า “วิรังคราช”

 

ทำไม “ลัวะ” ไม่มีตัวอักษรใช้?

ทำไมเอา “พุทธ” มาครอบ “ผี”?

ตามที่เราทราบกันดีว่า “ลัวะ” เป็นเผ่าพันธุ์ที่ใช้ภาษาพูดในตระกูลเดียวกันกับ “มอญ” และ “ขอม” มีหน้าตารูปร่างผิวพรรณคล้ายกันอยู่บ้าง แต่ไฉน “ลัวะ” จึงไม่มีตัวอักษรใช้เหมือนคนชาติพันธุ์อื่น

ส.ส.สงวน พงษ์มณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูนนานกว่า 20 ปี พรรคเพื่อไทย ท่านมีความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้ตั้งข้อสังเกตในเวทีเสวนาหลายครั้งว่า

“แม่น้ำปิงมีอีกชื่อว่า ‘แม่ระมิงค์’ ชื่อนี้สะท้อนว่าใครเป็นเจ้าของ มีอยู่สองชนเผ่าคือ ‘ลัวะ’ กับ ‘เม็ง’ (มอญ) ก่อนลัวะจะหนีขึ้นดอยไปกลายเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งนั้น ลัวะเคยอยู่ที่ลุ่มริมน้ำมาก่อน แต่ความที่ลัวะไม่ยอมสมาทานศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ ผิดกับเม็งที่ยอมสมาทานพุทธ ขอมสมาทานพราหมณ์ ลัวะยังสมาทานผีบรรพบุรุษ ทำให้ลัวะหนีขึ้นดอย แต่ชื่อบ้านนามเมืองทั้งหมดที่ลัวะเคยสร้างไว้ ยังคงปรากฏอยู่ที่ โดยมีคำว่า ‘ละ-ระ-หละ’ นำหน้า ไม่ว่า ‘หละปูน-หละกอน-ละมัก-ระมาด-ระแหง-ระแงะ’ ฯลฯ”

ศาสนามาพร้อมกับ “อักขระ” เมื่อคุณปฏิเสธการนับถือศาสนาไม่ว่าพุทธหรือพราหมณ์ ก็เท่ากับคุณปฏิเสธอักขระไปในตัว ศาสนาพุทธและพราหมณ์ จำเป็นต้องมีการจารึกอักษรเขียนคาถาหัวใจศาสนา เช่น คำสั้นๆ ง่ายๆ “เยธัมเม” “อุอากะสะ” ศาสนาพราหมณ์ก็ต้องมีการท่องบ่นโองการสดุดีเทพเจ้า

ในขณะที่ศาสนาดั้งเดิมหรือวิญญาณนิยม (Animism) นั้น เป็นศาสนาที่ไม่จำเป็นต้องท่องบ่น ไร้มนต์พิธี ไร้การเขียนคำประกาศสดุดี คาถาต่างๆ ดังนั้น ชาวลัวะจึงไม่จำเป็นต้องมีตัวอักษรใช้เหมือนชาติพันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิมที่ตีคู่กันมาอีกสองชาติพันธุ์คือมอญและขอม

การไม่มีตัวอักษรใช้ มิได้เป็นเครื่องหมายแสดงว่าเผ่าพันธุ์นั้นมีความล้าหลัง ไร้อารยธรรม แต่อย่างใดไม่ หากเป็นการตอกย้ำ “เจตจำนง” ของชนเผ่านั้นๆ เองที่พวกเขาเลือกแล้วที่จะยึดมั่นต่อศาสนาดั้งเดิมของพวกตนนั่นคือการนับถือผีบรรพบุรุษ

อ้าว! ถ้าชาวลัวะนับถือศาสนาผีมาอย่างเข้มแข็ง ฉะนี้แล้วอิทธิพลของศาสนาผีก็คงแผ่คลุมครอบรวมถึงวีรบุรุษอย่าง “วิรังคราช” ด้วยเช่นกันกระมัง

แล้วเหตุไฉนในพิธีสมโภชราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีการนำเอาวัตถุมงคลที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธไปบรรจุบนเกศาของขุนหลวงวิลังคะด้วยเล่า กระทำเช่นนี้จะไม่เป็นการ “ผิดฝาผิดตัว” ไปหรือเช่นไร

ผู้เขียนถ่ายกับพี่น้องชาวลัวะจากทั่วทุกสารทิศ ไม่เพียงแต่ลัวะเมืองฮอดเท่านั้น ยังมีลัวะสันป่าตอง ลัวดอยหล่อ ลัวจอมทอง ลัวะแม่ริม ลัวะแม่วาง ลัวะแม่ฮ่องสอน ที่มาร่วมงานสมโภชราชานุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เรื่องดังกล่าว ดิฉันได้ถกเสวนากับคณะวิทยากรจนตกผลึกได้ข้อสรุปว่า

“จริงอยู่ที่ตัวขุนหลวงวิลังคะนั้น ยุคสมัยของท่านราว พ.ศ.1200 ชาวลัวะทุกคนล้วนแต่บูชาผีบรรพบุรุษทั้งสิ้น ครั้นกาลเวลาผ่านไปนานกว่าพันสองร้อยปี ชาวลัวะจำนวนมากที่กระจายอยู่ในบ้านบ่อหลวง หรือแม้แต่ลัวะที่บ้านแม่ก๊ะ อำเภอแม่ริม ก็ล้วนแล้วแต่มีสองศาสนาควบคู่กันในการดำรงชีวิต นั่นคือ ไหว้ทั้งพระ แต่ไม่เคยละผี อันที่จริงก็คือฮีตฮอยเดียวกันกับ “ชาวไทกลุ่มต่างๆ ทั่วล้านนา” นั่นเอง ไม่ว่าไทโยน ลื้อ ยอง ขึน เงี้ยว เม็ง ม่าน ก่อนจะสมาทานพุทธก็เคยบูชาผีปู่ย่าหรือผีมตผีเม็งมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ชาวไท-เม็ง-ม่านกลุ่มต่างๆ แม้จะทำบุญใส่บาตร ทว่าวันสำคัญทางประเพณีดั้งเดิม ก็ไม่เคยละทิ้งฮีตฮอยที่จะต้องเซ่นสรวงบวงระบำต่อผีบรรพชนเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ควรมองลัวะแบบเหยียดว่า “จักต้องเป็นชาติพันธุ์เดียวเท่านั้น ที่ปฏิเสธศาสนาพุทธ”

ก็ในเมื่อพระญามังรายก่อนจะเข้ารีตเป็นพุทธก็ยังเคยนับถือผีมาก่อนด้วยเช่นกัน •