ไทยมี “ขันที” ในวรรณคดีและชีวิตจริง มีหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา

ญาดา อารัมภีร
หุ่นขี้ผึ้งชุด “พระอภัยมณี” ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

คําว่า ‘ขันที’ ใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์

“คือคนที่ไม่เปนผู้หญิง, ไม่เปนผู้ชาย, เปนกะเทย, สำรับใช้สอยราชการภายในพะราชวัง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

รายละเอียดที่ชัดเจนอยู่ใน “สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 4”

“ขันที คือ ชายที่ถูกทำลายองคชาตหรือถูกตัดถูกตอนแล้ว ในภาษาฝรั่งเรียกขันทีว่า ยูนุก”

“วรรณกรรมของเสฐียรโกเศศ” อธิบายความหมายคำนี้ว่า

“เปิดดูคำ ยูนุก ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ให้ที่มาของคำว่าเป็นภาษากรีก แปลว่า ตัดหรือบีบให้แตก ซึ่งคงหมายถึง อาการที่กระทำแก่ผู้ที่จะเป็น ยูนุก หรือ ขันที นั่นเอง”

‘ขันที’ หรือชายที่ถูกตอนแล้ว ย่อมไม่อาจมีเพศสัมพันธ์กับหญิงได้เหมือนชายทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงสามารถทำงานภายในพระราชฐานชั้นใน ซึ่งนอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ก็มีแต่เจ้านายและข้าราชสำนักที่เป็นสตรี วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์มีเรื่องราวของขันทีแทรกอยู่ในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายใน

 

บทละครนอกเรื่อง “คาวี” ตอนที่ไวยทัต (หลานนางคันธมาลี มเหสีท้าวสันนุราช) มารบกับคาวีแก้แค้นแทนท้าวสันนุราชที่ตายในพิธีชุบตัวให้เป็นหนุ่ม ไวยทัตแพ้คาวีจึงวอนขอชีวิต แต่ไม่เป็นผล คาวีให้พวกขันทีนำตัวไวยทัต นางคันธมาลีและยายเฒ่าทัศประสาทไปลงโทษให้สาสมความผิด รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายท่าทีของคาวีว่า

“เมื่อนั้น พระคาวีผินผันกลั้นหัวร่อ

เห็นไวยทัตเต็มกลัวตัวงอ วิงวอนอ่อนง้อขอชีวิต

พระแกล้งเฉยเลยสั่งพวกขันที อันนางคันธมาลีเป็นคนผิด

กับอีเฒ่าทัศประสาทร่วมคิด โทษถึงชีวิตมรณา

จงจับตัวไว้ให้มั่นคง คุมออกไปส่งเขาข้างหน้า

สั่งเสร็จเสด็จลีลา ออกมาพระโรงคัลทันใด”

 

เช่นเดียวกับตอนที่กุมารน้อยนารายณ์ธิเบศร์พาพระไชยเชษฐ์พระบิดาไปขออภัยท้าวสิงหลที่ขับไล่นางสุวิญชาออกจากเมือง รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงขันทีไว้ในบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ตอนนี้ว่า

“เมื่อนั้น ท่านท้าวสิงหลยักษี

สถิตเหนือแท่นรัตน์รูจี พรั่งพร้อมนารีกำนัลใน

คอยองค์หลานน้อยเสนหา จะชักนำบิดามาไหว้

แกล้งส่งสุรเสียงสนั่นไป ภูวไนยทำตึงบึ้งพักตร์

เหวยเหวยกำนัลขันที ออกไปสั่งเสนีมีศักดิ์

ให้ตำรวจตรวจเตรียมจงพร้อมพรัก กูจะซักไซ้ถามความผัวเมีย”

 

 

นอกจากนี้นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ และสินสมุทรไปปลงพระศพท้าวสุทัศน์และพระมเหสีที่เมืองผลึก พระอภัยมณีเอ่ยถึงขันทีเมื่อฝากฝังบ้านเมืองไว้กับนางสุวรรณมาลี พระมเหสี

“เจ้าอยู่ด้วยช่วยบำรุงกรุงผลึก ทั้งข้าศึกเกรงสง่ามารศรี

จัดแต่นางสาวสวรรค์พวกขันที ไปกับพี่แต่พอให้ช่วงใช้การ”

 

จะเห็นได้ว่าขันทีไม่เพียงแต่มีหน้าที่ทำตามคำสั่งของกษัตริย์ เช่น พระคาวี ท้าวสิงหล และพระอภัยมณีเท่านั้น ยังมีหน้าที่ตามเสด็จพระมเหสีอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากบทละครเรื่อง “สังข์ทอง” ตอนหกเขยตีคลี บรรยายถึงขบวนเสด็จของท้าวสามลว่า

“ครั้นเสร็จเสด็จทรงคชสาร ทวยหาญโห่ลั่นสนั่นเสียง

ซ้ายขวาม้าลูกเขยเป็นคู่เคียง พร้อมเพรียงไพร่พลมนตรี

เมียรักร่วมจิตกับธิดา ขี่วอช่อฟ้าหลังคาสี

เฒ่าแก่กำนัลขันที ตามเสด็จเทวีมาคึกคัก”

 

‘ขันที’ ในวรรณคดีมีหน้าที่อยู่ในรั้วในวังดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี เรื่องแต่งไม่ต่างจากเรื่องจริง ขันทีในสังคมไทยน่าจะมีมานานแล้ว นานแค่ไหนไม่ทราบแน่ แต่มีหลักฐานสมัยอยุธยาจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสสองคนที่เข้ามาเมืองไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน

หนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์) ที่นิโกลาส์ แชรแวส เขียน สันต์ ท. โกมลบุตร แปล มีข้อความตอนหนึ่งเล่าถึงพระราชฐานชั้นในของเมืองละโว้ว่า

“เหล่าสนมกำนัลก็มีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถวยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชธิดาตั้งแต่มุมโน้นจนจรดมุมนี้ และการเข้าออกก็ยากมาก ห้ามแม้กระทั่งพระราชโอรส มีแต่พวกขันที (eunuque) เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนนิบัติได้”

อีกทั้ง “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” ที่เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล บทที่ 13 ว่าด้วยสตรีในพระบรมมหาราชวังและเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา ได้เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของขันทีในพระราชฐานชั้นในไว้เป็นระยะๆ

“ส่วนห้องที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น ตัวเจ้าพนักงานที่แท้ล้วนเป็นสตรีทั้งนั้น เจ้าพนักงานเหล่านี้จำพวกเดียวมีสิทธิที่จะล่วงล้ำเข้าไปได้เป็นผู้แต่งที่พระบรรทมและแต่งเครื่องพระกระยาหาร ทรงเครื่องพระองค์ท่านและคอยบำเรอพระยุคลบาทเวลาเสวย แต่ไม่มีใครจะต้องพระเศียรพระองค์ได้เลยในขณะที่แต่งเครื่องถวายหรือจะส่งสิ่งไรข้ามพระเศียรก็ไม่ได้ดุจกัน บรรดาผู้รับเหมาส่งอาหาร (Pourvoyeurs) จัดส่งเครื่องโภชนาหารให้แก่ขันที (eunuque) ขนไปให้ผู้หญิงห้องเครื่องต้น”

จะเห็นได้ว่า นอกจากเจ้าพนักงานที่เป็นหญิง ยังมีขันทีทำงานและพักอยู่ในบริเวณพระราชฐานชั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย

“บรรดานารีในพระบรมมหาราชวังนั้น จะออกไปข้างไหนไม่ได้เลยนอกจากตามเสด็จพระราชดำเนิน พวกขันทีก็เหมือนกันไม่ออกไปภายนอก นอกจากเชิญกระแสพระราชดำรัสไปจัดการตามพระบรมราชโองการเท่านั้น ว่ากันว่าพระองค์ทรงมีขันทีอยู่เพียง 8 หรือ 10 คนเท่านั้น มีทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ”

“พระอัครมเหสีทรงมีช้างพระที่นั่งกับเรือพระที่นั่งสำหรับทรงและมีขุนนางเจ้าพนักงานบำรุงรักษาฉลองพระเดชพระคุณ และโดยเสด็จพระราชดำเนิน ยามเสด็จประพาสที่ใดๆ จะมีเฉพาะนางกำนัลกับขันทีเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นพระนาง”

ไทยมีขันทีในวรรณคดีและชีวิตจริง

ฉบับนี้ ‘ขันที’ ฉบับหน้า ‘นักเทศขันที’ •