ตรวจการบ้าน ‘ตรีนุช’ หลังนั่งเก้าอี้เสมา 1 ครบปี / การศึกษา

การศึกษา

 

ตรวจการบ้าน ‘ตรีนุช’

หลังนั่งเก้าอี้เสมา 1 ครบปี

 

ครบรอบ 1 ปีหลัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับไม้ต่อจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ต้องพ้นจากเก้าอี้เพราะอุบัติเหตุทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ทันที่ทีรับตำแหน่ง น.ส.ตรีนุชประกาศแนวทางการทำงาน 4 เรื่องด่วน

1. โรงเรียนคุณภาพของชุมชนและการพัฒนาเด็กปฐมวัย

2. ความปลอดภัยของสถานศึกษา

3. ความรู้เรื่องดิจิตอลและทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21

4. การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา

และ 12 นโยบายที่จะดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิตอล เพื่อให้ครูและอาจารย์ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการ เรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิตอล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อ ผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน ฯลฯ

แน่นอนว่า ถูกจับตามองทั้งจากกลุ่มนักเรียน ผู้ปกครองและประชาชน ในสภาวะการศึกษาถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี

ถือเป็นการตรวจการบ้านโอกาสครบรอบ 1 ปี ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า เท่าที่ดูการทำงานของ น.ส.ตรีนุชไม่แตกต่างจากรัฐมนตรีที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ยังถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกราชการ ซึ่งถ้ามองในแง่ความมุ่งมั่น ส่วนตัวให้ผ่าน แต่ถ้ามองในแง่ผลการทำงาน ยังถือว่าสอบตก ภาพรวมให้คะแนน 5.5 จากคะแนนเต็ม 10 เนื่องจากผลงานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่แม่นยำ เด็ดขาด ยังมีความห่วงภาพลักษณ์ การตัดสินใจต่างๆ ยังยึดผลลัพธ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

ระยะหลัง น.ส.ตรีนุชลงภาคสนามค่อนข้างบ่อย ส่วนตัวอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงพื้นที่โดยไม่มีผู้บริหารระดับสูงตามไปด้วย โดยอยากให้ลงไปพบครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งถือเป็นคนทำงานตัวจริง เพื่อที่จะได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน ไม่เช่นนั้น นโยบายที่ออกมาทั้งหมดจะกลายเป็นเรื่องปรุงแต่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และคะแนนที่ได้ 5.5 ในปีนี้ ก็จะลดลงเหลือไม่ถึง 4 ในปีต่อไป โดยการทำงานควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ระบบราชการเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการจัดการศึกษาไม่ใช่หน่วยงานหลักดังเช่นทุกวันนี้

“ผมอยากให้ น.ส.ตรีนุชปรับท่าทีกับกลุ่มนักเรียนที่มาเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยลงมารับฟังข้อเสนอของเขาให้มากขึ้น ไม่ใช่ให้ข้าราชการมารับเรื่องแทน เพราะเชื่อว่าในเดือนเมษายนนี้ ปัญหาต่างๆ จะร้อนระอุมากขึ้น ทั้งเรื่องความรุนแรงแม้จะตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัยขึ้นมา แต่การแก้ไขในเรื่องนี้กลับไม่ได้รับฟังเด็กมากเท่าที่ควร ผมไม่อยากให้รัฐมนตรีหนีม็อบเด็ก แต่อยากให้เผชิญหน้า แล้วนำปัญหามาคุยกัน”

นายสมพงษ์กล่าว

 

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุชทำงานเชิงรุกพอสมควร รวมถึงเข้าไปแก้ปัญหาที่หมักหมม ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ ปัญหาหนี้สินครู ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่สามารถการันตีได้ แต่คิดว่าเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาหนี้ครูเกิดจากหลายปัจจัย

ส่วนเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ น.ส.ตรีนุชดำเนินการอยู่นั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เหมือนการสร้างภาพในช่วงแรก เพราะไม่สามารถลงไปถึงนักเรียนและผู้ปกครอง

ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็มีการขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหา แต่ก็เป็นเรื่องยาก ส่วนการแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนยังไม่เห็นภาพชัด เพราะ น.ส.ตรีนุชแทบไม่ได้สัมผัส อาจเพราะมอบหมายให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กำกับดูแลอยู่จึงไม่อยากก้าวก่าย

“หากให้ประเมินผลการทำงานแล้ว ผมให้เกรด 2 คะแนนอยู่ที่ 6.5 ที่ให้ผ่านเพราะเห็นความพยายามในการทำงาน ทั้งนี้ ส่วนตัวสนับสนุนให้ น.ส.ตรีนุชเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อลดภาระผู้ปกครอง เป็นแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง โดยไม่อยากให้กังวลว่าเป็นนโยบายหาเสียง” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

จากนี้คงต้องจับตา ปีที่ 2 ของเสมา 1 จะมีผลงานเป็นที่พอใจของคนในแวงวงการศึกษาหรือไม่!! •