ธงทอง จันทรางศุ | ‘วาระ’ ดำรงตำแหน่ง

ธงทอง จันทรางศุ

ช่วงนี้ไปจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ข่าวสารเรื่องหนึ่งที่มีความเข้มข้นและอยู่ในความสนใจของคนจำนวนมากคือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นสำคัญสองแห่งคือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

เฉพาะที่สนามแข่งกรุงเทพมหานครมีผู้สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนในราวสองโหล ดังข่าวสารที่รับทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว

ในวันเวลาเช่นนี้ถ้าผมจะแสดงท่าทีว่าท่านทั้งหลายควรจะเลือกคนโน้น อย่าเลือกคนนี้เลย ก็ต้องระมัดระวังหน่อย แก่แล้วไม่ควรยื่นเท้าเข้าไปในตะรางเล่นๆ เพราะไม่ใช่ของสนุก

ยิ่งเป็นนักกฎหมายอย่างผมด้วย ถ้าไปทำผิดกฎหมายเมื่อไหร่ คนเขาก็ไม่ค่อยเห็นใจหรอกครับ เพราะฉะนั้น เราเองจึงต้องระวังตัวให้ดี

ดังนั้น วันนี้จึงมาพูดเรื่องตัวผมเองนี่แหละครับ ปลอดภัยดีที่สุด

 

หากมีใครตั้งคำถามว่าในชีวิตนี้ผมเคยสมัครรับเลือกตั้งอะไรมาบ้าง คำตอบก็คือมีบ้างเหมือนกันครับตอนที่มีชีวิตอยู่ในวัยเป็นนักเรียนและเป็นนิสิต

การลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของผมคือรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนสาธิตปทุมวันเมื่อปีพุทธศักราช 2515 บวกลบคูณหารแล้วได้ครึ่งศตวรรษพอดี ฮา!

การสมัครรับเลือกตั้งครั้งนั้นดูเหมือนจะมีคนสมัครสามคน ก็เป็นเพื่อนกันทั้งนั้นแหละครับ ตอนที่มีการเลือกตั้งนั้นเราอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สี่ เพื่อที่ผู้ชนะเลือกตั้งจะได้ทำหน้าที่ตอนที่เราอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้าซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาระดับมัธยมในครั้งนั้น ถ้าจะเทียบกับปัจจุบันนี้ก็คือมัธยมหกนั่นเอง

ผู้สมัครสามคนนั้นเป็นผู้ชายสองคนและเป็นผู้หญิงหนึ่งคน ข้อที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือในสนามเลือกตั้งที่ว่านี้ไม่เคยมีผู้หญิงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนมาก่อนเลย เพื่อนผู้หญิงรุ่นผมที่สมัครรับเลือกตั้งคราวนี้เป็นคนแรก จึงเรียกเสียงฮือฮาได้มากและคะแนนได้มากพอกับเสียงฮือฮานั้น

ไม่น่าแปลกใจที่ผมจะสอบตกในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก

วิถีประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนั้น ในสนามเลือกตั้งย่อมมีทั้งคนชนะและคนแพ้

แต่เราต้องไม่ลืมว่านั่นเป็นสนามเลือกตั้งในโรงเรียนที่ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เมื่อเพื่อนของผมชนะเลือกตั้งแล้ว ในเวลาจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียน อารมณ์ประมาณตั้งคณะรัฐมนตรี เธอมาขอให้ผมทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการนักเรียน ผมก็รับปากทำให้โดยไม่อิดเอื้อน และสนุกกับการทำหน้าที่นั้นจนตลอดปีการศึกษา

ใครเลยจะนึกว่านั่นเป็นการฝึกทำหน้าที่เลขานุการครั้งแรกในชีวิตของผม ซึ่งต่อมาภายหลังได้พัฒนาไปเป็นเลขานุการในคณะกรรมการสำคัญหลายชุดหลายระดับ

เราซึ่งหมายถึงประธานนักเรียน ผมซึ่งเป็นเลขานุการ และเพื่อนอีกหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการหน้าที่ต่างๆ สวมหมวกรับบทบาทเป็นกรรมการนักเรียนอยู่หนึ่งปีการศึกษาก็ครบวาระ และมีกรรมการชุดใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาทำหน้าที่

 

พูดมาตั้งนมนานกำลังจะเข้าประเด็นแล้วครับ

ประเด็นวันนี้ก็คือ การทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยมากแล้ว มักมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไว้ ว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งก็ดี เลือกตั้งก็ดี จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นนั้นได้ยาวนานเพียงใดแค่ไหน เมื่อครบวาระแล้วจะเป็นซ้ำได้อีกกี่รอบ หรือเป็นไปได้แบบตลอดกาลนานเทอญ

การกำหนดวาระอย่างนี้ เป็นข้อทุ่มเถียงกันทุกครั้งว่าควรเขียนจำกัดเคร่งครัดเพียงใดในเวลาที่ทำกติกาสำคัญต่างๆ ตั้งแต่ในระดับรัฐธรรมนูญลงมาจะถึงกฎหมายเล็กน้อยต่างๆ แม้กระทั่งข้อบังคับของสมาคม หรือแม้กระทั่งกติกาของการเลี้ยงรุ่นนักเรียนเก่าโรงเรียนทั้งหลาย

ผมเองเคยเป็นกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีวาระตามกฏหมายคราวละสามปีมาแล้วสองวาระติดต่อกัน เมื่อเป็นครบสองวาระแล้ว กฎหมายเขียนห้ามไม่ให้ผมหรือใครก็ตามเป็นกรรมการสภาแห่งนั้นต่อเนื่องเป็นวาระที่สามอีก

นอกจากการกำหนดวาระว่าเป็นได้ครั้งละสามปีไม่เกินสองรอบแล้ว สำหรับตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งในกฎหมายหลายฉบับยังมีการกำหนดเงื่อนไขสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือเงื่อนไขในเรื่องอายุ ว่าต้องมีอายุไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ เช่น คนจะเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ต้องมีอายุเกิน 70 ปี หรือ 75 ปีก็ว่ากันไป

แค่นี้ก็น่าเป็นห่วงเต็มทีแล้วล่ะครับว่า จะพูดกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตัวเองด้วยคลื่นความถี่ที่ปรับเข้าหากันสำเร็จไหม

เพราะอธิการบดีที่อายุ 75 ปีมักจะหูตึงตึ๊ดตื๋อ ฟังใครพูดก็ไม่ได้ยินแล้ว

 

ข้อกำหนดเรื่องจำนวนครั้งของการดำรงตำแหน่งว่าเป็นได้ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้วาระก็ดี ข้อกำหนดในเรื่องอายุขั้นสูงการดำรงตำแหน่งก็ดี ผมเข้าใจว่าเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะให้ผู้ทำงานสำคัญในหน้าที่ต่างๆ ไม่ “รากงอก” คือติดยึดกับหน้าที่นั้นๆ หลักสำคัญ คือ ใครก็ตามที่ทำงานมานานพอสมควรแล้ว ก็ควรผลัดเปลี่ยนให้คนอื่นเขามาทำหน้าที่บ้าง

อย่าไปนึกว่าเราเก่งอยู่คนเดียว หรือคนอื่นรักชาติไม่เท่าเรา

ตามความสัจจริงของโลกแล้ว ตำแหน่งทั้งหลายก็เคยมีคนทำหน้าที่มาก่อนเรา และเมื่อเราพ้นหน้าที่ไปแล้วก็จะมีคนมาทำหน้าที่ต่อจากเราไปอีก

อย่าได้หลงผิดเป็นอันขาดว่า ถ้าเราไม่อยู่ในตำแหน่งนี้แล้วโลกจะแตก

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำหน้าที่หรือดำรงตำแหน่ง ต้องปลูกฝังความเข้าใจอย่างนี้ไว้ให้ลึกในหัวใจ พร้อมกับความตั้งใจว่าในระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่เราก็จะทำเต็มที่ ฝากฝีมือของเราไว้ให้ดีที่สุด และวันหนึ่งเราก็จะลุกจากเก้าอี้ตัวนี้ไป พร้อมกับคำว่า “พอ”

ถึงเวลานั้นอย่าไปหลงเชื่อใครที่เอาหลายรอบอยู่แล้วส่งเสียงเชียร์กันเกรียวกราวนะครับว่า ขอให้ท่านอยู่ต่ออีกสามวาระหรืออีกสักสิบปีเถิด

พวกนี้โกหกทั้งเพครับ

 

เมื่อติดตามข่าวสารบ้านเมืองเวลานี้ ผมคิดว่าความไม่รู้จักพอนี้กำลังเป็นประเด็นสำคัญของเมืองไทย เห็นกำลังเถียงกันให้วุ่นวายว่าที่กฎหมายเขียนว่าอายุ 70 ปีแปลว่าอะไร และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะต้องเถียงกันอีกว่าแปดปีตามกฎหมายแปลว่าอะไร

ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้เสียด้วย พูดได้ก็แต่ในฐานะตัวผมเองเห็นอย่างไรคิดอย่างไร

ถ้าผมตกอยู่ในฐานะที่คนทั้งเมืองต้องมาทุ่มเถียงกันว่ากฎหมายเขียนว่าอย่างนั้นแล้วแปลว่าอะไร ผมไม่คิดว่าผมจะต้องรอให้คนอื่นแปลหรือตีความหรอกครับ ผมออกเองก็ได้

ความ “พอ” นี้ มันอยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ในกฎหมายที่ไหนหรอก

คนที่รู้จักพอในจังหวะที่พอดี พอเหมาะ จะสามารถก้าวลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม ทิ้งไว้แต่ผลงานและอดีตที่น่าภาคภูมิใจให้คนจดจำ ตรงกันข้ามกับคนซึ่งขวนขวายอยากจะอยู่ในตำแหน่งยาวนานต่อไปทั้งๆ ที่อยู่มานานพอสมควรแล้ว ผลงานมีบ้างไม่มีบ้าง ก็ต้องอยู่ในฉายาต้องสงสัยล่ะว่าทำไมหนอ จึงไม่รู้จัก “พอ” เสียที

ชะดีชะร้ายชาวบ้านจะพลอยสงสัยต่อไปอีกว่า นั่งทับอะไรไว้หรือจึงไม่กล้าลุกจากเก้าอี้

ทำตัวแบบนี้ “อัศวินขี่ม้าขาว” มาแต่ไกลก็ช่วยไม่ได้นะครับ อิอิ