ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
กำเนิดศิลปะสุโขทัย
ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (จบ)
พระราชนิพนธ์เรื่อง “ขอมดำดิน” ใน พ.ศ.2455 เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนในการนำเสนออุดมการณ์ดังกล่าว
รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงระบุเป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้เอาไว้ว่า
“…หวังใจว่าจะเปนเครื่องบำรุงใจให้ผู้อ่านรำพึงถึงตำนานแห่งชาติไทยเราและให้รู้สึกว่าชาติเราไม่ใช่ชาติที่เกิดขึ้นใหม่ เปนชาติเก่าอันมีตำนานดีมาแล้ว จะได้แลเห็นว่าชนกของเราได้พยายามตั้งตนขึ้นเปนอิศรภาพ พ้นจากความเปนข้าของพวกขอมซึ่งเปนชนต่างชาติต่างภาษาได้อย่างไร…ข้าพเจ้าเห็นว่าพระร่วงเปนตัวอย่างอันดีแห่งผู้ที่รักชาติยิ่งกว่าตัว…เพื่อมิให้ชนที่อยู่ในความปกครองต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งฝ่ายไทยชาวละโว้โดยความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง ก็อุส่าห์ออกรบพุ่งพวกขอม…จนมีชัยชำนะได้โดยอาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน…ต้องถือว่าพระร่วงเปนผู้จุดไฟขึ้นก่อน แล้วชาวเมืองละโว้จึงลุกขึ้นตามโดยความจงรักภักดี เปนที่น่าชมว่าสมเจ้าสมข้ากัน สมควรที่ไทยเราในชั้นหลังนี้จะถือเปนคติใส่ใจไว้ได้…”
จากที่ยกตัวอย่างมา เราสามารถจะกล่าวได้ว่า เครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ที่เน้นกษัตริย์ในฐานะหัวใจหลักของชาตินั้นมีแกนกลางที่สำคัญอยู่ที่ “สุโขทัย”
ไม่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์หลายชิ้นที่พูดถึงพระร่วงและสุโขทัย (ที่นอกเหนือไปจากที่กล่าวไปแล้วยังมีอีกหลายชิ้น) ที่สำคัญ เช่น “บทละครร้อง เรื่อง พระร่วง” ในปี พ.ศ.2467 และ “หนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี พระพุทธศักราช 2468” ซึ่งเนื้อหาภายในเป็นการเขียนถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งน่าสังเกตว่าเริ่มต้นด้วยการพูดถึงประวัติศาสตร์สุโขทัยในฐานะ “ราชธานีแห่งแรก” ของชาติไทย
หนังสือเล่มนี้อาจถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย “แบบ 3 กรุง” (สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์) ที่จะกลายเป็นต้นแบบการเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ พระองค์ยังพระราชทานนาม “พระร่วง” ไปตั้งเป็นชื่อเรือรบที่ “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์” (The Royal Navy League of Siam) เสนอให้มีการสั่งซื้อเมื่อ พ.ศ.2457 เพื่อนำเข้ามาประจำการในสยาม ว่า “เรือหลวงพระร่วง” ผ่านงบประมาณของรัฐส่วนหนึ่งและการเรี่ยไรจากประชาชนส่วนหนึ่ง
พระองค์ได้ทรงนำเสนออุดมการณ์ชาตินิยมแทรกผ่านเรื่องราวของพระร่วงและโครงการจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วงนี้ในหลายช่องทาง อาทิ ในบทละครพูดเรื่อง “มหาตมะ” ที่พูดถึงตัวละครที่หลงผิดและไม่รักชาติ ไม่ยอมเสียสละทรัพย์เพื่อซื้อเรือรบในการรักษาเอกราชของชาติ จนสุดท้ายตัวละครนี้ได้รับบทเรียนผ่านความฝันจนสุดท้ายกลับใจกลายเป็นคนดีในที่สุด
หรือการจัดงานไหว้พระประจำปีวัดเบญจมบพิตร ใน พ.ศ.2458 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบแผนผังงานในปีนั้นที่เน้นเรื่อง “เรือหลวงพระร่วง” เป็นแกนกลางหลักของงานทั้งหมด
สําคัญที่สุดคือ ความหลงใหลของพระองค์ที่มีต่อโบราณวัตถุสถานที่สุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความประทับใจที่ทรงมีต่อเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (ที่มีรูปทรงแปลกประหลาดและไม่เคยถูกสนใจมาก่อน) เป็นอย่างมาก รัชกาลที่ 6 ทรงมีแนวคิดที่จะนำรูปแบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในโครงการต่างๆ มากมายในรัชสมัย
ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวไปแล้วว่า คุณสมบัติทางรูปแบบของเจดีย์ทรงนี้มีเสน่ห์ในการนำมาปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมมากที่สุด อีกทั้งยังสอดคล้องกับตำนานการปลดแอกความเป็นไทยให้เป็นอิสระจากการเป็นข้าพวกขอม
แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการอธิบายเชื่อมโยงรูปทรงเจดีย์นี้เข้ากับสัญลักษณ์ของความมีเอกราชและอิสรภาพอย่างชัดเจน แต่กระนั้นด้วยรูปแบบที่แปลกประหลาดดังกล่าวก็ดูจะสร้างลักษณะของการมีเอกลักษณ์ไทยที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครให้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
โดยในรัชสมัยของพระองค์ เราจะพบหลักฐานในการนำเจดีย์ทรงดอกบัวตูมมาทำเป็นแบบร่างในการก่อสร้างศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมหลายชิ้น
ที่สำคัญควรแก่การกล่าวถึง คือ “อนุสาวรีย์ยุทธหัตถี” ออกแบบขึ้นในปี พ.ศ.2456 โดยตั้งใจจะสร้างครอบทับโบราณสถานที่เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีของพระนเรศวร ณ ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่เพิ่งถูกค้นพบในช่วงนั้น
โดยรัชกาลที่ 6 เมื่อทรงทราบข่าวการค้นพบนี้จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงปีติยินดีมาก ถึงขนาดที่เสด็จไปชมด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ.2456 และภายหลังจากเสด็จฯ กลับพระนครก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบเจดีย์ขึ้นเพื่อครอบทับซากโบราณสถานโดยตั้งพระทัยที่จะทำให้สถานที่แห่งนี้กลายมาเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของชาติไทยต่อไป
หากพิจารณาจากหลักฐานแบบร่างที่เหลืออยู่ พบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่พระองค์ทรงเลือกรูปแบบเจดีย์ดอกบัวตูมมาสร้างครอบทับลงบนอนุสรณ์สถานของพระนเรศวร กษัตริย์อยุธยา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่สามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องใดๆ เลยระหว่างพระนเรศวรกับรูปแบบเจดีย์ทรงนี้
เพราะหากจะมองว่า พระนเรศวรคือกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัย แต่รูปทรงเจดีย์ของกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยที่สร้างขึ้นในอยุธยาตามความเชื่อกระแสหลักก็คือ เจดีย์ทรงระฆังกลม มิใช่ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม แต่อย่างใด
ดังนั้น จึงไม่น่าจะเกินเลยไปนัก หากเราจะพูดว่า การเลือกรูปแบบเจดีย์ยุทธหัตถีเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกๆ ถึงความพยายามที่จะสร้างความหมายชาตินิยมไทยที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับเจดีย์ทรงดอกบัวตูม
นอกจากนี้ ยังมีการนำรูปแบบเจดีย์ทรงดอกบัวตูมไปทำเป็นแบบ “จิตกาธาน” (เชิงตะกอน) ประดิษฐานภายในพระเมรุของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อ พ.ศ.2463
รวมไปถึงการนำไปก่อสร้าง “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” อนุสาวรีย์ที่ระลึกในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใน “ดุสิตธานี” เมืองจำลองของเล่นประชาธิปไตยของพระองค์ ภายในพระราชวังพญาไท เป็นต้น
ยังไม่นับรวมสถาปัตยกรรมอีกบางชิ้นที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบขึ้นโดยต้องมีแนวความคิดมาจากโบราณสถานที่สุโขทัย
เช่น ตึกบัญชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระองค์ถึงขนาดที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนิกผู้ออกแบบต้องเดินทางไปดูแบบโบราณสถานต่างๆ ที่เมืองเก่าสุโขทัยและสวรรคโลกก่อนที่จะมาทำการออกแบบ
ตัวอย่างโครงการทั้งหมดเหล่านี้ คือหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางความหมายที่สำคัญครั้งแรก ของ “ศิลปะสุโขทัย” ที่เริ่มเข้ามาทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของความเป็นไทย ที่จะส่งทอดต่อมายังชนชั้นนำไทยในยุคหลังจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน
จากที่ผมอธิบายมาทั้งหมด 7 ตอนโดยละเอียด ผมอยากสรุปปิดท้ายอีกครั้งว่า ทัศนะกระแสหลักของสังคมไทยปัจจุบันที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะสุโขทัย” นั้น เป็นทัศนะที่ถูกสร้างขึ้นอย่างช้าๆ ในบริบทสังคมยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านเงื่อนไข 3 ประการ
ประการแรก คือ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมในยุคแรกสถาปนากรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดนโยบายขนย้ายพระพุทธรูปครั้งใหญ่จากเมืองสุโขทัยลงมาที่กรุงเทพฯ ที่ส่งผลทำให้เรื่องเล่าและเรื่องราวของสุโขทัยกลายมาเป็นที่รับรู้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
ประการที่สอง คือ การสร้างความหมายใหม่ผ่านวรรณกรรมหลายชิ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์จนทำให้สุโขทัยกลายมาเป็นเมืองในอุดมคติทางพุทธศาสนาที่มีสถานะพิเศษในการรับรู้ของผู้คนยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสถานะพิเศษดังกล่าวได้กลายมาเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอันสำคัญในการถูกเลือกขึ้นมาให้กลายเป็นต้นกำเนิดของชาติไทยอันยิ่งใหญ่ในยุคสมัยที่แนวคิดว่าด้วย “ชาติ” และ “ชาตินิยม” แพร่เข้ามาในสังคมไทย
ประการที่สาม คือ รูปแบบทางศิลปะของสุโขทัยที่บางอย่างมีลักษณะที่เรียกได้ว่าแหวกขนบแบบจารีตออกไปมาก ซึ่งความแปลกหรือแหวกแนวดังกล่าวไม่เคยถูกประเมินค่าด้านบวกมาก่อนในบริบทแบบจารีต แต่เมื่อแนวคิดว่าด้วย “รัฐ-ชาติ” แบบสมัยใหม่แพร่เข้ามาในสังคมไทย ซึ่งเป็นบริบทที่เรียกร้องหาเอกลักษณ์เฉพาะของชาติ
ศิลปะสุโขทัยที่แหวกขนบจึงได้กลายมาเป็นคุณสมบัติแง่บวกที่สามารถหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ชาตินิยมไทยได้อย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี และได้กลายเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่เหมาะสมที่สุด ที่หาไม่ได้จากศิลปะยุคสมัยอื่น ในการนำมาขยายความเพิ่มเติมในฐานะยุคทองทางศิลปะของชาติไทย