การเมืองระอุ… จับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่อเค้าวุ่น หรือสร้างเม็ดเงินมหาศาลฟื้น ศก. บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

การเมืองระอุ…

จับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ส่อเค้าวุ่น หรือสร้างเม็ดเงินมหาศาลฟื้น ศก.

 

เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในหลายจังหวัดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะครึกครื้นเป็นพิเศษ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนเรียกได้ว่าเป็นตัวจี๊ดทั้งนั้น

อาทิ ที่พัทยา กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย เป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า มีประวัติเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เคยทำงานธนาคารของไทย และธนาคารต่างประเทศ ถือเป็นผู้สมัครที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าหมายมั่นลงสู้ศึกสนามนี้ เพื่อมาท้าชนกับปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ จากทีมเรารักษ์พัทยา ที่หลายคนทราบดีว่า ปรเมศร์นั้นทำงานคลุกคลีกับคนในตระกูลคุณปลื้ม ผู้กุมอำนาจฐานเสียงใหญ่ในจังหวัดชลบุรีมาเนิ่นนาน

ส่วนสนามการแข่งขันผู้ว่าฯ กทม.ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน ซึ่งในปีนี้มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กว่า 14 คน แต่บุคคลที่เป็นที่พูดถึงและได้รับเสียงเชียร์แบบสนั่นหวั่นไหวมีเพียง 4 คน ได้แก่ 1.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 2.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 3.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการ กทม. และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ซึ่งแต่ละคนเรียกได้ว่าเดินหน้าหาเสียงกันสุดฤทธิ์ แต่เรื่องที่หน้าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือการเลือกตั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันจะครบวาระในปี 2565 แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่าอาจมีการยุบสภาก่อน

 

แม้จะยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นผลบวกหรือลบ แต่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

“วรวุฒิ อุ่นใจ” รองหัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็นว่า จากกระแสข่าวที่คาดว่าจะมีเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2566 รัฐบาลจะมีโครงการประชานิยมออกมามากมาย เพื่อเป็นการหาเสียงล่วงหน้า แต่ข้อเสียคือจะทำให้ขีดความสามารถของผู้ประกอบการลดลง เพราะผู้ประกอบการจะรอเงินจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดประชานิยมโดยการแจกเงิน เหมือนเป็นการหาเสียงโดยใช้เงินภาษีของประชาชน และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็จะมีเงินสะพัดเป็นแสนล้าน ถ้ามองในแง่ดี ก็จะมีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ฟากความเห็นจากนักวิชาการอย่างนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่าแม้รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุน การฟื้นเศษฐกิจ แต่อีกหนึ่งปัจจัยคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ สนามแรกของปีคือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน และคาดว่าระยะถัดไปรัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีลาออกหรือยุบสภาช่วงปลายปี 2565 หรือหลังจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) หรืออาจจะลากยาวอยู่จนครบเทอม ช่วงกลาง 2566 เป็นไปได้หมด

แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ประชาชนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแน่นอน เรื่องนี้จึงมีนัยยะสำคัญ โดยทั่วไปช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจะเตรียมแผนและพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน รวมถึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งใจทำงาน จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ และช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นเช่นกัน

ท้ายที่สุดต้องอยู่ที่ว่าเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ การเมืองจะคลี่คลายอย่างไร ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้งในอนาคต รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีอายุการทำงานถึงเมื่อไร ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ ถ้าปัญหาเหล่านี้คลี่คลาย จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกช่วยทั้งเรื่องดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง รวมถึงมีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 จะเติบโตมากกว่า 3% ได้อีกด้วย

 

ขณะเดียวกัน หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า จีดีพี ปี 2565 มีโอกาสเติบโตแตะ 3% แน่นอน โดยในส่วนของทีดีอาร์ไอ เดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4% แต่ด้วยปัจจัยลบจึงได้ปรับประมาณการเหลือ 3% แม้จะดีกว่าปีก่อนหน้า แต่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับไปเท่ากับปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ปี 2565 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหลือ 2.5-4.5% จากเดิมคาด 3-4.5%

และศูนย์วิจัยกรุงศรี มีการปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 2565 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.7% โดยหลักๆ มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ลดลง จากสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ

แม้หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะได้การเลือกตั้งมาช่วยสร้างเงินสะพัดภายในประเทศ แต่ไทยยังต้องเติบโตจากแรงส่ง โดยเฉพาะการลงทุนที่มุ่งบีซีจีถูกทางแล้ว คือการดึงกลุ่ม บีซีจี ส่งผลให้เกิดโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ พอได้เห็นเม็ดเงินลงทุนในช่วงนี้ อาทิ ดิจิตอลแอสเซท หรือการลงทุนประเภทบิตคอยน์

นอกจากนี้ คาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากความกังวลเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ จีน รัสเซีย ยูเครน ไต้หวัน จนเป็นเหตุให้นักธุรกิจในประเทศเหล่านั้นมีโอกาสเบนเข็มย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ยังไม่ได้ช่วยให้การลงทุนทุกประเภทกลับมา ตอนนี้ยังกลับมาเป็นหย่อมๆ เพราะการลงทุนจะฟื้นกลับมาเต็มที่เศรษฐกิจไทยจะต้องกลับมาดีก่อน

ส่วนความคาดหวังของรัฐที่ต้องการให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการลงทุน นณริฏประเมินว่า ตอนนี้ความสำเร็จกับไม่สำเร็จเท่ากันที่ 50% เนื่องจากปัจจุบันไทยไม่ได้อยู่ในยุคทองของเศรษฐกิจแบบเดิมคือหยิบจับหรือลงทุนอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด

บวกกับโลกในอนาคตเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ ไม่แน่นอน เสี่ยงสูง หรือที่เรียกว่า วูก้า จึงทำให้ภาพปีแห่งการลงทุนของไทยไม่ชัดเจน จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวและโควิด-19 จะผ่านพ้นไป สรุปคือ จึงยังไม่มีทางที่ไทยจะกลับไปสู่ยุคทองได้ง่ายๆ

สุดท้ายนี้คงต้องลุ้นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะกลับมาโงหัวได้อีกครั้ง หรือต้องสะดุดจากความวุ่นวายทางการเมือง ต้องติดตามกันต่อไป