RCEP ทุกชาติได้ประโยชน์?/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

RCEP ทุกชาติได้ประโยชน์?

 

ตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาเซป เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา

นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศสมาชิกในแถบเอเชียตะวันออกที่ใหญ่ที่สุด นั่นหมายถึงข้อจำกัดและอุปสรรคทางภาษีจะยกเลิกหรือลดอัตราลง อย่างภาษีศุลกากรนำเข้าของประเทศต่างๆ หรือกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาติสมาชิกเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

มีการคาดการณ์ว่า ข้อตกลงนี้ เอื้ออำนวยต่อจีนในฐานะประเทศยักษ์ใหญ่ที่ผลักดันให้ข้อตกลงนี้เกิดขึ้น แม้จะมีข้อกำหนดที่ให้ทุกชาติมีโอกาสได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาคดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ เป็นความสำเร็จอย่างที่กล่าวกันและเอื้อต่อทุกชาติสมาชิกได้จริงหรือไม่?

แม้ว่า RCEP ดูเหมือนจะเป็นความหวังของหลายประเทศในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และเนื้อหาในข้อตกลงจะมีข้อกำหนดหลายเรื่อง ไปจนถึงการแก้ไขข้อพิพาท การยึดระเบียบข้อตกลงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของ WTO

แต่กระนั้น ชาติสมาชิกในข้อตกลงก็มีระดับทางเศรษฐกิจที่ต่างกันมาก โดยเฉพาะในชาติสมาชิกอาเซียน ข้อปฏิบัติทางการค้าจะปฏิบัติได้จริงแค่ไหน ไม่ว่าการทุ่มอุดหนุนจากรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กฎเกณฑ์ด้านแรงงานที่กลับไม่ระบุเรื่องสิทธิคุ้มครองแรงงาน และการยกเลิกภาษีก็เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรเสียส่วนใหญ่

อีกเรื่องคือ ข้อตกลง RCEP กลับไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) หรือผลกระทบทางการค้าซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่อการค้าเสรี หรือข้อตกลงนี้อาจทำร้ายเกษตรกรรายย่อย ก่อให้เกิดความขัดแย้งในที่ดินมากขึ้น และทำให้คนงานในประเทศยากจนไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อม

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในแง่การโอบรับคุณค่าแบบเสรีนิยมใหม่ มากกว่าเรื่องการสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งบางส่วนอ้างว่า RCEP มีการตั้งข้อตกลงมาตรฐานขั้นต่ำตามที่จีนเสนอ แต่ชาติสมาชิกอื่นไปไกลถึงข้อตกลงมาตรฐานขั้นสูงแบบสากล

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ RCEP ปฏิเสธไม่ได้คือ การถอนตัวของอินเดียจากข้อตกลงกลางคัน และไม่มีไต้หวันทั้งที่เป็นประเทศที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูงโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่

และมีบางประเทศได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ในระยะยาว

 

แม้ข้อตกลง RCEP จะเป็นโอกาสสำหรับชาติสมาชิกที่จะได้ประโยชน์ แต่การจะสนใจแต่เรื่องทำมาค้าขาย จนมองข้ามข้อเท็จจริงอื่นของโลกที่มีความซับซ้อน เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี หรือประเด็นไต้หวัน รวมถึงกลการเมืองเรื่องการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ อีกทั้งชาตินอกข้อตกลง RCEP อย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปก็ขยับมาสนใจในพลังทางเศรษฐกิจในแถบอินโด-แปซิฟิกด้วย หรือปัญหาภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเอง นี่จึงเป็นเรื่องที่มองบวกได้แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วย

ล่าสุดกับสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็มีชาติสมาชิก RCEP ที่เป็นมิตรกับรัสเซียและยูเครน และจีนในฐานะมิตรใกล้ชิดกับรัสเซียที่ตอนนี้วางตัวเองไม่ให้โดนลากไปร่วมความขัดแย้ง และสถานการณ์โควิด-19 ในจีนยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น ทำให้หลายชาติที่พึ่งพาพลังทางเศรษฐกิจจากจีนมาช่วยฟื้นตัวก็ต้องรอกันต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไหนได้ประโยชน์จาก RCEP นั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศว่าจะคว้าประโยชน์ได้มากแค่ไหน?