‘รัง’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘รัง’

 

ผมเริ่มต้นที่บึงน้ำ นี่เป็นข้อความที่ผมเขียนและบอกใครๆ เสมอ บึงน้ำในความหมายของพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งอาศัยของชีวิตมากมาย ทั้งชีวิตในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งคน

ผมเริ่มต้นดูนกในพื้นที่ชุมน้ำ และทึกทักเอานกอีโก้งเป็นนกในดวงใจทันที เมื่อเห็นนกชนิดนี้ครั้งแรกด้วยการดูผ่านเทเลสโคบกำลังขยาย 20 เท่า

ผมฝึกฝนทักษะการใช้กล้อง และเรียนรู้โดยเฝ้าดูอยู่ในซุ้มบังไพรกลางบึงกว้าง เฝ้าบันทึกภาพนกอีแจวตัวผู้กกไข่ตั้งแต่เช้ามืดกระทั่งพลบค่ำ

ในบังไพรแคบๆ ร้อนอบอ้าว ตัวชุ่มไปด้วยเหงื่อ มองนกที่นั่งกกไข่ท่ามกลางไอแดดร้อนระอุ ความคมชัดที่เห็นขณะมองผ่านเลนส์ ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคล้ายจะไม่ใช่คนกำลังเฝ้าดู แต่เหมือนกับว่า ชีวิตหนึ่งกำลังทำความรู้จักกับชีวิตหนึ่ง

อีกทั้งผมพบความจริงอย่างหนึ่ง ภาพนกเบื้องหน้าชัดเจนมากขึ้น เมื่อผมละสายตาจากช่องมองภาพ…

 

ผมพูดถึงนกน้ำบ่อย อาจไม่ใช่เรื่องแปลก จุดเริ่มต้นนั้นไม่เพียงจะเป็นเรื่องซึ่งนึกถึงเสมอๆ แต่มีความจริงอยู่ว่า ไม่ว่าจะไปไกลแสนไกลเพียงใด จุดเริ่มต้นคือที่ซึ่งต้องกลับมา

กับเหล่านกน้ำ ผมไม่มีเรื่องราวใหม่ๆ แต่ทุกครั้งที่ย้อนกลับมาที่บึงน้ำ เรื่องเก่าเดิมๆ นี่แหละทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลากลางๆ ปี ราวๆ เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม คือช่วงเวลาที่กลางวันยาวนาน ท้องฟ้าไม่ปรากฏเมฆหนา บางวันมีฝนตกบ้าง หลังจากนั้น ท้องฟ้าหลังฝนจะแจ่มใส

สำหรับคน นี่คือฤดูอันร้อนระอุ แต่สำหรับเหล่านกน้ำ นี่เป็นช่วงเวลาที่ลูกๆ จะได้ออกจากไข่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งสมาชิกของโลกใบนี้

แสงดวงอาทิตย์ในเวลากลางวันที่ยาวนาน ให้ความร้อนกับไข่ที่วางอยู่กลางแจ้ง

เหล่านกน้ำส่วนหนึ่งพอใจวางไข่บนที่โล่งๆ บนแพจอกแหน ไม่ทำรังมิดชิด

ไม่มีรังเป็นกิจจะลักษณะ นั่นไม่ได้หมายความว่า ความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูกจะลดลงหรือน้อยกว่าบรรดานกที่สร้างรังมิดชิดพิถีพิถัน…

 

นกน้ำ อย่างนกอีแจว, นกเป็ดผี, นกพริก รวมทั้งนกอีโก้ง มีคุณสมบัติของความเป็นพ่อแม่ดีเลิศ อดทน นั่งกกไข่ท่ามกลางเปลวแดดระยิบ จนถึงเวลาลูกออกจากไข่

ในระหว่างการเลี้ยงลูกนั้น หากมีผู้ล่าเข้ามาใกล้อาจเป็นอันตรายต่อลูก พวกมันจะเริ่มแสดงละครตบตาทันที

เช่น จะลุกขึ้นยืนทำท่าเซแซดๆ ไม่ก็เดินๆ ล้มๆ คล้ายกำลังบาดเจ็บ กระโดดขึ้นลง ขณะแสดงจะขยับห่างออกไปจากจุดที่ลูกอยู่เรื่อยๆ

พวกมันตบตาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจสัตว์ผู้ล่าให้มาสนใจตัวเองแทน

นี่ไม่ใช่การกระทำอันเรียกได้ว่า ยอมตายแทนลูกหรอกหรือ

การแสดงละครฉากนี้ผู้ที่ได้ชม คงรู้สึกเหมือนกันคือ คิดถึงพ่อและแม่

นกเป็ดผี – ในช่วงเวลาที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูก นกเป็ดผีจะอยู่รวมกันเป็นฝูง หากมีผู้ล่าเข้ามาใกล้ จะดำน้ำหายไปโผล่ไกลๆ หรือเลือกการวิ่งไปบนผิวน้ำก่อนบินขึ้น

นกน้ำ ต่างจากนกป่าในเรื่องการเลี้ยงดูลูก

นกป่าทำรังมิดชิด ให้ลูกรออยู่บนรัง พ่อแม่ออกไปหาอาหารมาป้อน จนเติบโตแข็งแรง บินได้ จึงออกจากรัง

นกน้ำไม่ทำเช่นนั้น ส่วนใหญ่ที่วางไข่ เป็นเพียงกอหญ้าสุมๆ หรือแพจอกแหนโล่งๆ ไม่มิดชิด ลูกนกต้องช่วยตัวเองตั้งแต่อยู่ในไข่

เมื่อถึงเวลา มันจะพยายามเจาะเปลือกไข่ดันตัวเองออกมา ออกมาแล้วต้องลุกขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพราะหากนอนคอพับคออ่อนอยู่อย่างนั้น โอกาสที่งูหรือเหยี่ยวจะเข้ามามีมาก

ส่วนพ่อแม่เห็นลูกออกจากไข่แล้ว จะรีบคาบเปลือกไข่ไปทิ้งไกลๆ ไม่ให้กลิ่นคาวต่างๆ โชยไปถึงผู้ล่า

หลังจากนั้น จะพาลูกที่ลุกขึ้นได้แล้วออกไปฝึกบทแรกของวิถีชีวิตทันที

 

ลูกๆ นกน้ำได้รับบทเรียนการเอาชีวิตให้รอดในระยะเริ่มต้น อย่างลูกนกเป็ดผี หากมีผู้ล่าเข้าใกล้ จะรีบกระโดดขึ้นหลังพ่อแม่ บางครั้งเข้าไปซุกใต้ปีก

ถ้ากระโดดขึ้นหลัง หรือเข้าซุกใต้ปีกไม่ทัน เจ้าตัวเล็กจะแสดงลีลาแกล้งตาย นอนนิ่งคอพับ

ฝ่ายพ่อแม่ก็ไม่ไปไหนไกล ส่งสัญญาณเป็นเสียงจิ๊กๆ ค่อยๆ แอบย่องเข้ามาใกล้ พอได้จังหวะ เจ้าตัวเล็กที่นอนนิ่งคอพับนั่นจะกระโดดขึ้นหลังแม่ พาว่ายน้ำออกห่างไปทันที

เมื่อไม่มองผ่านช่องมองภาพ แต่อย่างที่ผมพูดบ่อยๆ ว่า มองผ่านหัวใจ

ความจริงจะปรากฏให้เห็น

 

ผมเริ่มต้นในบึงน้ำ ทำให้ได้ใช้วันเวลาส่วนใหญ่ในป่า จากบึงน้ำไปค่อนข้างไกล วันเวลาในป่าทำให้นึกถึงบทเรียนที่ได้จากบึงน้ำ บนโลกใบนี้มีนกจำนวนมากหลากหลายชนิด หลายตัวทำรังมิดชิด สวยงาม ขณะบางตัวเลือกวางไข่ในที่โล่งๆ

เมื่อกลับมาที่บึงน้ำอีกครั้ง พบกับนกและเรื่องราวเดิมๆ ของพวกมัน

ผมพบความจริงอีกแบบหนึ่งว่า เหตุใดเหล่านกน้ำจึงไม่ทำรัง พวกมันสอนให้ผมรู้ว่า รังของพวกมันใหญ่กว่ารังที่ต้องทำอย่างพิถีพิถัน รังของพวกมันนั้นคือโลก

เป็น “รัง” ที่เราทุกชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน

และเป็นความจริงที่เราหลงลืมเสมอ •