อวโลกิตะ ดอกบัวกลางมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

อวโลกิตะ

ดอกบัวกลางมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏ

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเพิ่งไปร่วมพิธีอำลาสถานที่ตั้งของ “วัชรสิทธา” พื้นที่เรียนรู้ทั้งด้านธรรมะ สังคม และศิลปะ ที่ดำเนินการมาถึงห้าปี ภายใต้การดูแลของมูลนิธิวัชรปัญญาซึ่งมีวิจักขณ์ พานิช เป็นประธาน

วัชรสิทธายังไม่ได้ยกเลิกหรือยุบไปนะครับ เพียงแต่เราต้องย้ายออกไปเพราะท่านเจ้าของสถานที่เดิมซึ่งกรุณาให้เราใช้พื้นที่โดยไม่ได้คิดราคาค่างวดมาหลายปี มีความจำเป็นจะต้องขอคืนสถานที่

เราจึงย้ายไปเช่าสถานที่ใหม่แถวๆ เทเวศร์ ซึ่งช่วงนี้ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง และคงจะได้จัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้คนในอีกไม่ช้านี้

ผมได้เล่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่วัชรสิทธาบนพื้นที่ของคอลัมน์นี้มานาน พอถึงเวลาต้องย้ายออกไปก็รู้สึกใจหาย วัชรสิทธาเป็นมากกว่าพื้นที่ของการจัดกิจกรรม แต่เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมพลังงานที่หลายคนได้มาฝากเอาไว้ ด้วยการภาวนาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และด้วยความรักความกรุณาที่แผ่ออกมาจากวิทยากรและผู้เข้าร่วม

อาจฟังดูแปลกๆ แต่ผมเชื่อครับว่าสถานที่ทั้งหลายมีชีวิตของมันเอง เมื่อเราเข้าไปสัมพันธ์กับมันเราก็ส่งผ่านความรู้สึกและอะไรต่างๆ ไว้ บางคนพอเข้าไปในบางพื้นที่ก็รู้สึกสงบ บางพื้นที่ก็รู้สึกเหงา บางพื้นที่ก็รู้สึกอบอุ่นก็เพราะมันเคยมีคนหรืออะไรมาสัมพันธ์กับพื้นที่นั้น

ผมหวังใจว่า วัชรสิทธาบนพื้นที่ใหม่จะนำเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะพาเอาประโยชน์แบบไหนมาสู่สังคมไทย ก็อยากให้ร่วมกันลุ้นและสนับสนุนครับ

 

ที่จริง ในปีนี้นอกจากพื้นที่วัชรสิทธาแล้ว มูลนิธิวัชรปัญญายังได้ริเริ่มโครงการใหม่อีกสองโครงการได้แก่ “ปัทมคาระ” ศูนย์ภาวนาและกิจกรรมในลักษณะ wellness center บนเกาะพะงัน ปัจจุบันทางมูลนิธิได้ซื้อที่ดินเล็กๆ บนเกาะแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างอาคาร

เหตุที่เป็นเกาะพะงันเพราะหลายคนเห็นว่า เกาะพะงันมีศักยภาพด้านจิตวิญญานและพลังธรรมชาติที่โอบอุ้มผู้คนไว้มาก แต่หลายปีที่ผ่านมา เกาะพะงันถูกมองว่าเป็นแค่แหล่งมั่วสุมยาเสพติดและเซ็กซ์ ทั้งๆ ที่เกาะมีด้านที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก มูลนิธิเลยเล็งเห็นโอกาสนั้น โดยนำเอานามของคุรุริมโปเช “ปัทมกร” หรือ “ปัทมคาระ” อาคารแห่งพระปัทมกร มาเป็นสิริมงคลและแรงบันดาลใจ

ส่วนโครงการพิเศษสุดท้ายที่ผมออกจะตื่นเต้นมากๆ คือ โครงการ “อวโลกิตะ” เพราะผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่ง จึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง

จึงเป็นที่มาของบทความวันนี้

 

โครงการนี้มีชื่อยาวๆ ในภาษาอังกฤษว่า AVALOKITA : meditation space for cultivating inner peace & compassion แปลไทยว่า “อวโลกิตะ พื้นที่ภาวนาเพื่อบ่มเพาะสันติภายในและความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ในหัวใจ”

นาม “อวโลกิตะ” มาจากนามของ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” แปลว่าผู้เพ่งเสียงโลก พระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ที่นับถือแพร่หลายที่สุดในพุทธศาสนา ท่านเป็นตัวแทนแห่งความกรุณาของพระพุทธะทุกองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

ชาวทิเบตเรียกท่านว่า เชนเรซี ท่านเป็นที่เคารพของทุกนิกายและทุกผู้คน ว่ากันว่าเด็กทิเบตสวดมนต์ของท่านได้ก่อนที่จะพูดเป็นประโยคเสียอีก และเชื่อกันว่า องค์ทะไลลามะเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวรบนโลกนี้

ส่วนในเมืองจีนท่านมีรูปลักษณ์สตรีด้วยอิทธิพลของความเชื่อพื้นบ้าน คนจีนรู้จักท่านในพระนามกวนซีอิม หรือกวนอิม และไม่ว่าพุทธศาสนาแบบจีนจะแพร่ไปสู่ที่ใด ก็นำเอาพระกวนอิมไปสู่ที่แห่งนั้นด้วย

ในคติวัชรยาน พระองค์มีมนต์ประจำคือ “โอม มณี ปัทเม หูม” แปลว่า โอม มณีในดอกบัว หูม! มนต์นี้มีที่มาจากพระกรัณฑวยูหะสูตร ด้วยเหตุที่มนต์นี้สัมพันธ์กับพระอวโลกิเตศวร ผู้คนจึงเรียกกันว่ามนต์แห่งความกรุณา นิยมสวดท่องกันในโลกพุทธศาสนาสากลมากกว่ามนต์อื่นใดของพุทธศาสนา

ผมเองมีศรัทธาต่อมนต์หกพยางค์นี้อย่างยิ่ง เป็นมนต์ที่โอบอุ้มดูแลผมในยามยากลำบาก ในความทุกข์ความเศร้า ในความสุขและความรื่นรมย์ และตั้งใจว่าจะสวดภาวนาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผมไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรมากนักในชีวิตนี้ มีเพียงมนต์นี้แหละที่อาจกล่าวได้ว่าผมพอจะได้ปฏิบัติอยู่บ้าง

 

ผมอยากจะแต่งบทสรรเสริญมนต์นี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นน้ำหวานบนลิ้นและปากแห้งผาก เป็นอมฤตต่อหัวใจ เป็นอริยสมบัติชิ้นเดียวที่มี ในโลกที่ผมก็ไม่ค่อยจะแน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ผมควรสะสม เป็นเรือพาข้ามฝั่ง เป็นเสียงไพเราะแก่หู เป็นเพื่อนที่จะอยู่ในยามหวาดหวั่น เป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่ผมอยากเผยแผ่แก่ผู้อื่น

ส่วนพระอวโลกิเตศวรนั้น ผมก็รักท่านอย่างจริงใจ หวังว่าท่านจะเป็นเพื่อนร่วมทาง จนท้ายที่สุดได้บรรลุสภาวะเดียวกับท่าน ซึ่งตามมโนคติของฝ่ายวัชรยานแล้ว เราทุกคนล้วนมีธรรมชาติของพระอวโลกิตะอยู่ในตัว ทำอย่างไรจะให้สภาวะนี้ปรากฏขึ้น ซึ่งหมายความว่า เราควรบ่มเพาะคุณลักษณะของพระอวโลกิเตศวรคือความรักความกรุณาขึ้นในใจ ทีละนิดจนสุกงอม

ที่เล่ามายืดยาวเพื่อจะบอกว่า นามอวโลกิตะของโครงการนี้มีความหมายเป็นพิเศษต่อผมอย่างไร ส่วนตัวโครงการจะไปตั้งอยู่ใจกลางเมือง คือที่สาธรซอยสิบบนชั้นเก้าอาคารตั้งฮั้วปัก เราตัดสินใจเช่าพื้นที่นี้เพราะพื้นที่มันน่าสนใจมากๆ ครับ

อวโลกิตะ : อาคารตั้งฮั้วปัก ชั้น 9 สาธร ซอย 10

บนยอดสุดของอาคารดังกล่าว มีห้องประชุมเล็ก จุคนได้สักสามสิบเป็นอย่างมาก สันฐานคล้ายศาลเจ้า ประภาคาร หรือดอกบัวก็สุดจะมอง บรรยากาศโล่งโปร่ง รายล้อมด้วยตึกใหญ่กลางเมือง

เมื่อออกไปยังลานหน้าห้องจะพบกับทิวทัศน์ของตึกสูงต่างๆ ในทุกทิศทาง ราวกับเราถูกโอบล้อมด้วย “สังสารวัฏ” หรือความเจริญที่วุ่นวายสับสน ดาดาษไปด้วยแสงสีและความเคลื่อนไหวไม่หยุดยั้ง มีสุขมีทุกข์มากมายเกิดขึ้นข้างนอกนั้น

เราคิดกันว่า พื้นที่ตรงนี้เราจะใช้เพื่อ “นั่ง” เท่านั้นครับ คือมีเพียงแท่นบูชาพระอวโลกิเตศวรเล็กๆ มีเบาะนั่ง ทุกๆ วันราวห้าโมงเย็นไปจนถึงสามทุ่ม

เราจะเปิดพื้นที่ให้ชาวกรุง มนุษย์เงินเดือน หรือใครต่อใครที่ใช้ชีวิตในสังสารวัฏนี้ มาผ่อนพักอยู่กับความสงบ มานั่งในช่วงเวลาใดที่เขาหรือเธอสะดวก

จะเรียกว่านั่งภาวนาหรือจะใช้คำไหนก็ได้ ไม่มีใครมาสั่งสอน ชี้นำ ไม่มีเทคนิคอะไรพิเศษ

ดังคำที่นิกายเซนกล่าว “ชิเคนทาสะ” “แค่นั่งเท่านั้น” กลับมาสู่เนื้อตัว ลมหายใจและความรู้สึก เริ่มบ่มเพาะความกรุณาแรกแก่ตนเองคือการ “ไม่ตัดสิน” ไม่ว่าประสบการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เราเพียงแค่รับรู้มัน โอบรับมันไว้ จากการที่เราไม่ตัดสินตัวเอง เราเปิดกว้างต่อประสบการณ์ แผ่ขยายเป็นความเปิดกว้างต่อโลกและสรรพสัตว์

นี่คือ “ความว่าง” ที่ประสานกับความกรุณา เป็นความกรุณาที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกหรือความกรุณาในทางเหตุผลเท่านั้น

เป็นความกรุณาที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการภาวนา มิใช่ในทางความคิด

 

หากเรารู้สึกถึงความสงบและความรัก เราก็ใช้โอกาสตรงนั้นในการแผ่ขยายและส่งออกไป อาจฟังดูเพ้อเจ้อที่ในโลกอันเต็มไปด้วยสงครามและการต่อสู้ เรากลับพากันไปนั่งเงียบๆ อยู่ตรงนั้น แล้วแผ่ความรักความกรุณาออกจากใจ แต่ผมคิดว่า นานมาแล้วที่เราพากันคิดว่าการต่อสู้ทางสังคมการเมืองแยกออกจากการปฏิบัติภาวนาหรือการบ่มเพาะคุณลักษณะของจิตใจ ทั้งที่สองอย่างนี้สามารถดำเนินไปด้วยกันได้

สังคมไทยต่างหากที่พยายามจะแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน โดยคิดว่าการภาวนาหรือปฏิบัติธรรมจะต้องตัดขาดจากโลก หรือไม่ก็เห็นเป็นสิ่งไร้สาระ ทั้งที่นักเคลื่อนไหวหรือผู้ที่ระวังไหวทางการเมืองก็ควรจะต้องบ่มเพาะพลังภายในของเขาที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการ ไม่ใช่แค่พลังของความเกลียดชังที่อาจกัดกินในระยะยาว หรืออย่างน้อยๆ พวกเขาต้องมีที่ผ่อนพักของหัวใจบ้าง

ในขณะที่นักภาวนาที่แท้ก็จำจะต้องเอาโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เรื่องราวความยากลำบากของผู้คน เรื่องราวทางการเมืองอันวุ่นวาย-เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแห่งประสบการณ์การภาวนาของเขา เพื่อที่การภาวนานั้นจะไม่เป็นเพียงแค่การหนีโลก หรือเป็นแค่พวกเคร่งรูปแบบ สนใจเฉพาะเชิงเทคนิค แล้วกลายเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์มักเรียกว่า “ฤษีจำพวกนึง” เท่านั้น

ในบางโอกาสเราอาจสวดมนตร์ที่เน้นความรักความกรุณาร่วมกันบ้าง เราอาจมีเสวนาอาทิตย์ละครั้ง แต่หลักๆ ที่นี่จะเป็นที่ภาวนา เป็นที่เยียวยาหัวใจ

 

อวโลกิตะไม่มีทุนใหญ่สนับสนุน

เราหวังการบริจาคที่บรรดาผู้เขามาจะหยอดตู้ให้เพื่อใช้ดูแลพื้นที่

ซึ่งเอาจริงๆ ก็บ้ามากนะครับกับการเช่าพื้นที่กลางเมือง มาเพื่อให้คนมานั่งวันละสี่ชั่วโมง ไม่รู้ใครจะมานั่งบ้าง แล้วจะอยู่รอดมีค่าเช่าให้เขาไหม

แต่วิจักขณ์พูดอะไรที่ทำให้ผมประทับใจ เขาบอกว่า ก็ลองดูว่าครูบาอาจารย์และพระโพธิสัตว์ท่านจะช่วยเราแค่ไหนอย่างไร

ถ้าไม่ได้เราก็แค่เลิก

อวโลกิตะกำลังจะเกิดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้แล้ว ผมมาบอกเล่าในขณะเดียวกันก็อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านซึ่งต้องการที่ผ่อนพักทางใจ ไปบ่มเพาะความสันติและความกรุณาบนพื้นที่นั้น

แล้วร่วมกันแผ่ความรักไปยังสังคมไทยอันรุ่มร้อนนี้ด้วยกัน •