2503 สงครามลับ สงครามลาว (74)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (74)

 

บันทึกของซีไอเอ : ฐานยิงคิงคอง

เจมส์ อี.ปาร์เกอร์ จูเนียร์ บันทึกสถานการณ์ที่ฐานยิงคิงคองซึ่งเป็นที่หมายรองของฝ่ายเวียดนามเหนือว่า พลประจำปืนต้องลดปากกระบอกปืนใหญ่ลงมาในแนวราบขนานพื้นเพื่อใช้เทคนิคยิงเล็งตรงไปยังข้าศึกที่บุกเข้ามาประชิดที่ตั้งขณะที่กระสุนปืนใหญ่ใกล้จะหมดจากฐานยิง

นักบินประจำเครื่อง คอนติเนนตัล ทวิน ออดเตอร์ ได้รับคำสั่งให้นำกระสุนไปส่งให้ฐานยิงสนับสนุนคิงคองด่วน แต่ขณะที่เขากำลังจะหย่อนลังกระสุนลงสู่ฐานยิง ปตอ.เวียดนามเหนือหลายกระบอกก็ยิงสวนขึ้นมา เครื่องบินเข้ามาอยู่ในระยะยิงของ ปตอ.กระบอกหนึ่งซึ่งทำการยิงอย่างรวดเร็วเสียจนกระทั่งใบไม้และอุปกรณ์ที่ใช้พรางกระเด็นออก เครื่องบินอยู่ท่ามกลางวิถีกระสุน เสี่ยงต่ออันตราย นักบินจึงล้มเลิกภารกิจแล้วบินลงไปทางทิศใต้

กองพล 316 เวียดนามเหนือซึ่งได้รับภารกิจให้เข้าตีฐานยิงสนับสนุนคิงคองร่วมกับรถถัง T-34 3 คัน รวมทั้งรถสายพานลำเลียงพลซึ่งบรรทุกทหารราบเคลื่อนที่มาจากแก่งไก่ วิ่งผ่านพื้นที่ซึ่งเคยมีทหารรัฐบาลลาว กรม GM 21 วางกำลังอยู่แล้วตรงไปทางทิศตะวันตก แต่ระหว่างที่เคลื่อนที่อยู่บนที่ราบทุ่งไหหิน รถถัง 2 ใน 3 คันเกิดติดขัด จึงเหลือรถถังเพียงคันเดียวในการสนับสนุนทหารราบ แต่แล้วก็ถูกยิงที่ป้อมปืนด้วยอาวุธต่อสู้รถถังจนปืนใหญ่ประจำรถใช้การไม่ได้ จึงหันหลังกลับไปช่วยเหลือรถถังสองคันที่ติดขัดอยู่

ผู้นำอากาศยานหน้าไทยนามรอสสินีอยู่ร่วมกับทหารไทยบนอีกยอดเขาทางขวาของพื้นที่ตอนเหนือฐานยิงสนับสนุนคิงคอง รายงานว่ากำลังเวียดนามเหนือจำนวนมากกำลังเคลื่อนที่ขึ้นเนินเขามาทางด้านตะวันออก กดดันให้เขาต้องละทิ้งที่มั่นแล้วถอนตัวเข้ามาอยู่ในฐานยิงสนับสนุนคิงคอง

 

บันทึกซีไอเอ : ฐานยิงไลอ้อนและมัสแตง

เจมส์ อี.ปาร์เกอร์ จูเนียร์ บันทึกว่า การสู้รบที่ฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนและมัสแตงที่หมายหลักในการเข้าตีของเวียดนามเหนือก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน กระสุนปืนใหญ่ของเวียดนามเหนือตกลงมาในฐานหนักกว่าที่อื่นๆ แต่แล้วปืนใหญ่เหล่านี้ก็หยุดยิงเพื่อให้ทหารราบเคลื่อนตัวกระชับวงล้อมที่มั่นทหารไทยให้ประชิดเข้าไปอีก

จากการดักฟังทางวิทยุ ผู้บังคับกองร้อยเวียดนามเหนือคนหนึ่งรายงานว่าสามารถยึดที่หมายขั้นต้นซึ่งอยู่ระหว่างฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนกับมัสแตงได้เป็นผลสำเร็จ

แต่ในความเป็นจริงเขาหยุดการเข้าตีแล้วหลบอยู่ในแนวป่าเพื่อความปลอดภัย เมื่อถูกตรวจพบจึงได้รับคำสั่งให้ออกมาเข้าตีที่หมายด้วยการใช้บังกาโลว์ตอร์ปิโด อนาคตต่อไปของนายทหารคนนี้คงไม่ก้าวหน้านัก

ตอนสายวันนั้น กองพันลาวเทิงจากกรม GM 21 ซึ่งยังไม่รับทราบว่าฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนและมัสแตงกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก จึงพยายามเคลื่อนกำลังจากที่มั่นเคลื่อนที่ในทุ่งไหหินลงมาที่ฐานยิงสนับสนุนมัสแตง

ทำให้ฝ่ายเวียดนามเหนือเข้าใจผิดว่าเป็นกำลังเพิ่มเติมที่จะมาเข้าตีจากทางด้านหลัง จึงสั่งระงับการเข้าตีต่อที่หมายฐานยิงไลอ้อนและมัสแตงไว้ชั่วคราว เพื่อหันมาต่อสู้กับหน่วยทหารลาวเทิงเหล่านี้

 

บันทึกซีไอเอ

: ฐานยิงสติงเรย์ มิก 21

และกำลังเสริมจากไทย

ตอนเที่ยงวัน ขณะที่การสู้รบที่ฐานยิงสนับสนุนไลอ้อน มัสแตง แพนเธอร์ และคิงคอง เป็นไปอย่างหนัก ฐานยิงสนับสนุนสติงเรย์ซึ่งซีไอเอและ ฉก.วีพี ใช้เป็นที่บัญชาการก็ถูกยิงโจมตีและถูกเข้าตีทางพื้นดิน เหลือเพียงฐานยิงสนับสนุนคอบร้าที่ยังไม่ถูกโจมตีจึงยังคงสามารถยิงสนับสนุนฐานยิงไลอ้อนและมัสแตงได้เต็มที่

เวลา 15.00 น. เครื่องบินขับไล่ F-4 แฟนธอม นักบินนามเรียกขานฟอลคอน 66 ลาดตระเวนคุ้มกันหน่วยเฝ้าถนนซีไอเออยู่ในพื้นที่ใกล้ซำเหนือ ถูกยิงตกในทุ่งไหหินโดยเครื่องบินขับไล่ มิก-21 ของกองทัพอากาศเวียดนามเหนือด้วยอาวุธจรวด เอเอ-2 อะตอล

เครื่องบิน เอฟ-4 อีกสองลำเข้าปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย พบมิก-21 สองลำบริเวณพรมแดนลาว-เวียดนามเหนือจึงเข้าไล่ติดตาม เอฟ-4 ลำหนึ่งเกิดน้ำมันเชื้อเพลิงหมดจึงบินกลับฐานบินแล้วตกลงระหว่างทาง (สามารถช่วยเหลือนักบินได้ในวันต่อมา) ส่วนเอฟ-4 อีกลำหนึ่งที่นักบินนามเรียกขานฟอลคอน 75 บินกลับทะเลจีนใต้ แต่สูญหายและไม่สามารถติดต่อได้

บ่ายวันเดียวกันนี้ ที-28 ซึ่งมีนักบินเป็นชาวม้งลำหนึ่งถูกยิงตก และอีกชั่วโมงครึ่งต่อมา ที-28 อีกเครื่องหนึ่งก็ถูกยิงตกใกล้ฐานยิงสนับสนุนมัสแตงและไลอ้อน

สรุปแล้วมีการสูญเสียวันนี้คือ เอฟ-4 แฟนธอม 3 ลำ และที-28 2 ลำ การค้นหาและกู้ภัยดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วพื้นที่ ทำให้การสนับสนุนทางอากาศต่อที่มั่นของทหารไทยในทุ่งไหหินต้องลดน้อยลง นอกเหนือไปจากอุปสรรคของสภาพอากาศ

เย็นวันนี้ กองพันทหารเสือพรานไทย 3 กองพันที่อยู่ระหว่างการฝึกในประเทศไทยถูกเคลื่อนย้ายด้วย ซี-130 อย่างเร่งด่วนมายังล่องแจ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าวางกำลังเพิ่มเติมบนพื้นที่สูงทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งหิน

หมายเหตุ : “วีรกรรมนิรนาม เสือพราน” ของเฉลิมชัย ธรรมเวทิน ปรากฏรายชื่อผู้นำอากาศยานหน้าลำดับที่ 69 “Somchai Ascharyachayabhantha” นามเรียกขาน “Rossini”

ปรับแผน

บันทึกของพันเอกเหงียน ชวน กล่าวถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในตอนค่ำของวันที่ 18 ธันวาคม จากการพิจารณาข้อจำกัดสภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้ทหารไทยขาดการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี บวกกับรายงานข่าวกรองจากฮานอยว่ากำลังมีการเพิ่มเติมกำลัง 3 กองพันทหารไทยที่กำลังสดชื่นเข้าสู่สนามรบ

ผู้บังคับการกรม 165 พันเอกเหงียน ชวน ได้เสนอแนะนายพลอัน ให้ยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามแผนในการปิดล้อมฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนและมัสแตงต่อไป และควรออกคำสั่งให้กรม 165 ของเขาเข้ากวาดล้างกองพันบีซี 609 ของทหารไทยที่ตั้งฐานที่มั่น 3 แห่งบนยอดภูเทิง อันเป็นจุดสูงสุดเพื่อป้องกันฐานยิงไลอ้อนให้สำเร็จในวันรุ่งขึ้น

เขาเสนอให้ล้มเลิกแผนเดิมที่จะใช้เวลาในการปิดล้อม 4 วัน แต่ให้เข้าตีและเอาชนะยอดเขานี้ให้ได้ในวันรุ่งขึ้นคือ 19 ธันวาคม

ข้อเสนอนี้ได้รับอนุมัติจากนายพลอัน ผู้บัญชาการ CAMPAIGN Z

หน่วยทหารเวียดนามเหนือทุกหน่วยที่รับผิดชอบในการเข้าโจมตีฐานยิงสนับสนุนคิงคองก็ได้รับคำสั่งให้ระงับแผนเดิมที่ต้องใช้เวลาปิดล้อม 4 วัน เป็นให้รวมกำลังเข้าตีแตกหักให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นเดียวกัน

การวางแผนปิดล้อมเป็นเวลา 4 วันก่อนเข้าตีแตกหักก็เพื่อบั่นทอนกำลังและความได้เปรียบของฝ่ายตั้งรับเพื่อให้ง่ายต่อฝ่ายเข้าตี แต่การลดระยะเวลาในการปิดล้อมจาก 4 วัน เป็นเข้าตีแตกหักทันทีจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างคาดไม่ถึง เพราะกำลังทหารไทยที่ตั้งรับยังคงมีความสดชื่นเข้มแข็งจึงสามารถต้านทานการเข้าตีได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความสูญเสียแก่ฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหนัก

ดังจะปรากฏในรายงานของฝ่ายเวียดนามเหนือเองในเวลาต่อมา

 

ภูเทิงสู้ตาย

บันทึกของ “ผาอิน”…

“สถานการณ์ในคืน 18 ธันวาคม เงียบสงัดอย่างผิดปกติ ซึ่งฝ่ายเราก็คาดว่าข้าศึกคงจะทำการเพิ่มเติมหรือปรับกำลังเพื่อเตรียมปฏิบัติการต่อไปในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าการคาดการณ์ของเราเป็นความจริง ข้าศึกได้เริ่มหนุนเนื่องกำลังเข้าหาฝ่ายเราอย่างหนาแน่นตั้งแต่เช้าตรู่และได้ระดมยิงอาวุธหนักเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทางด้านภูเทิง กระแสคลื่นมนุษย์ของข้าศึกหนุนเนื่องเข้าพัน ทสพ.609 ทุกทิศทาง ระลอกแล้วระลอกเล่า พัน ทสพ.609 ยังคงสู้ต่อไปอย่างเข้มแข็งสมศักดิ์ศรีของทหารเสือพราน”

การที่ฝ่ายเวียดนามเหนือเร่งรัดการเข้าตีต่อที่หมายภูเทิงเช่นนี้ เป็นผลจากการยกเลิกการปิดล้อมตามแผนเดิม 4 วัน เป็นการเข้าตีแตกหักโดยทันที

“‘อินทนิล’ (ร.ท.ชูเกียรติ สินค้าเจริญ นายทหารยุทธการ พัน ทสพ. 609) รายงานจำนวนซากศพของข้าศึกนับร้อยที่ทับถมกันอยู่หน้าแนว และรายงานการบาดเจ็บของฝ่ายเราว่า ‘ถ้วนหน้า’ ทำให้เลือดในกายของพวกเราที่ได้ยินเดือดพล่าน ข้าศึกหนุนเนื่องเข้าหากองร้อยที่ 3 บนยอดภูเทิงจนกระทั่งขาดการติดต่อ อินทนิลเงียบเสียงไปแล้วเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. และ ‘ชูพันธ์’ (ร.ท.โรม ชัยมงคล) ผบ.หมวดอาวุธหนัก และเป็น FAG ใช้นามเรียกขานว่า ‘VOLTAGE’ ได้พูดวิทยุขอให้ฐานยิงสติงเรย์ยิงแตกอากาศเหนือฐานให้เมื่อเวลา 17.00 น. ว่า ‘แตกอากาศเหนือฐานด่วนที่สุด เป็นทางเดียวเท่านั้นที่เราจะอยู่รอด’ นั่นเป็นสัญลักษณ์ว่า พัน ทสพ.609 ถึงวาระที่จะต้องสู้ตายคาฐานแล้ว ความพินาศของพัน ทสพ.609 เป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ซึ่งจะสถิตแนบแน่นอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดกาล”

“ข้าศึกต้องเอาชีวิตมาสังเวยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของทหารเสือพรานหน่วยนี้หลายร้อยศพ และจำต้องหยุดชะงักอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ฝ่ายเราสูญเสียกำลังพลไป 134 นาย เหลือรอดมาได้ประมาณ 30 นายเท่านั้น”

“ภูสิน” บันทึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า

“สถานการณ์ฝ่ายเราไม่ดีขึ้นดังหวัง ร.209 และ ร.141 ของข้าศึกเข้าตีบีซี 609 อย่างรุนแรงต่อไป ฝ่ายเราใช้ปืนใหญ่จากทุกที่ตั้งยิงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และกระสุนปืนใหญ่นั้นก็ร่อยหรอลงไปทุกขณะ ในตอนบ่ายได้รับข่าวจากบีซี 609 บนยอดภูเทิงว่าได้ส่งกำลังออกไปลาดตระเวนได้ปะทะกับข้าศึกที่เชิงภูเทิงห่างจากที่ตั้ง บก.บีซี 609 ประมาณ 2 ก.ม. ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไป เมื่อฝ่ายเรากลับถึงที่ตั้งได้ขอให้ไลอ้อนยิงตามเส้นทางที่คาดว่าข้าศึกจะเคลื่อนที่ไป แต่ไม่ทราบผลหรอกครับ เพราะเป็นการยิงที่ไม่มีการตรวจการณ์ แต่คาดว่าข้าศึกก็คงไปรายงานหน่วยเหนือของเขา (ถ้าไม่ถูกกระสุนปืนใหญ่ของไลอ้อนบาดเจ็บล้มตายเสียก่อน) เพราะฝ่ายข้าศึกเพิ่มเติมกำลังกดดันบีซี 609 มากขึ้นทุกทีๆ และบีซี 609 ก็ส่งเป้าหมายและคำขอยิงให้ไลอ้อนทำการยิงให้อยู่ตลอดเวลา”