‘3 ป.’ เนเวอร์ดาย แต่ไปคนละทาง เกม ‘น้อง’ กล ‘พี่’ ชูกลยุทธ์ ลันช์-ดินเนอร์ และ Woman behind the scenes จับตา ‘ตท.20’ ขยับ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘3 ป.’ เนเวอร์ดาย

แต่ไปคนละทาง

เกม ‘น้อง’ กล ‘พี่’

ชูกลยุทธ์ ลันช์-ดินเนอร์

และ Woman behind the scenes

จับตา ‘ตท.20’ ขยับ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลั่นวาจาอีกครั้งว่า “ไม่มีใครทำให้ ‘3 ป.’ แตกแยกกันได้” ในงานเลี้ยง 3 ป. กับพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคขนาดเล็ก

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ป. “ป้อม-ป๊อก และประยุทธ์” ขัดแย้ง แตกแยกกันเอง

หากพี่น้อง 3 ป.เหนียวแน่น ต่อให้มี “ม้าไม้เมืองทรอยด์” อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สักร้อยคน ก็ไม่สามารถทำให้ 3 ป.ขัดแย้งกันได้ อันสะท้อนได้ว่า ย่อมมีสาเหตุมาจากภายใน 3 ป.เอง หรือที่เรียกว่า สนิมเกิดแต่เนื้อในตน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามแสดงออกด้วยการกอด ประคอง เดินจูงมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ โชว์หวานสยบข่าวความขัดแย้งก็ตาม แต่ทว่า เกมการเมืองที่พี่น้อง 2 ป.กำลังเดินอยู่นั้น เหมือนหมากคนละกระดาน

มีสัญญาณหลายอย่างชี้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อ สู่การเป็นนายกฯ อีกสมัย ยังไม่วางมือพักผ่อน และประกาศชัดว่า จะไม่ยุบสภา ไม่กลัวโดนล้มกลางสภา ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งเป้าจะอยู่จนครบเทอมเลยด้วยซ้ำ

แตกต่างจาก พล.อ.ประวิตรที่อยากให้ยุบสภาเร็วๆ จากที่เคยส่งสัญญาณให้แกนนำ พปชร.เตรียมตัว ว่าจะยุบสภาช่วงเมษายน-พฤษภาคม ก็เลื่อนมาเป็นพฤศจิกายน หลังการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ดูจะไม่รับลูกเท่าใดนัก บอกว่า เป็นความคิดของ พล.อ.ประวิตรที่เคยพูดกับตนเองมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ส่วนตัวเห็นว่า แล้วแต่สถานการณ์ ว่าจะยุบสภาตอนไหน หรือจะอยู่ครบเทอมในต้นปี 2566 เลย

พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่29 เมื่อ 9 มิถุนายน 2562 จัดตั้งรัฐบาล 10 กรกฎาคม 2563 หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่อายุสภาจะครบเทอม 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566

แล้วสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ โดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรครองรับ ในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ขึ้นอยู่กับชะตากรรม ว่าจะอยู่ หรือแตก

เพราะ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ตกอยู่ในกระแสข่าวลือว่า ในที่สุดจะไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีบิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรัก เป็นหัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลูกรัก เป็นเลขาธิการพรรค

จนกล่าวกันว่า พล.อ.ประวิตรคือผู้ให้กำเนิดพรรคเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นเจ้าของไอเดียที่ให้ 2 น้องรักแยกวงไปจาก พปชร. ไปตั้งพรรคใหม่

พร้อมๆ กับการเติบโตของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีทุนใหญ่รายใหม่สุดมั่นคง มาสนับสนุน โดย พล.อ.ประยุทธ์จะส่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ มาดูแลแทน ในฐานะหัวหน้าพรรค

ในอนาคต เมื่อยุบสภา บรรดา ส.ส. นักการเมืองในสายจันทร์โอชา ก็จะย้ายบ้านจาก พปชร. มาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติกันหมด

แม้ว่าตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะส่งสัญญาณให้สายจันทร์โอชาอยู่ พปชร.ต่อไปก่อน เพื่อรอดูท่าทีของ พล.อ.ประวิตรเองว่า จะใช้แผนไหน จะไปต่อกับ พปชร. หรือจะแยกวง

เพราะกระแสข่าวลือ “ดีล” จัดตั้งรัฐบาลของ พปชร.กับพรรคเพื่อไทย เริ่มหนาหู แม้พรรคเพื่อไทยจะเปิดตัวอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวคนใหม่ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก็ตาม เพราะพรรคเพื่อไทยก็พร้อมยกเก้าอี้นายกฯ ให้พรรคร่วมรัฐบาล หากยอมมาจัดตั้งร่วมด้วย

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประวิตรไม่ปิดประตูสำหรับการจับมือกันของ พปชร.กับพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยแล้ว กระแสข่าวดีลก็ยิ่งสะพัด

อีกทั้งท่าทีของทั้ง พล.อ.วิชญ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และ ร.อ.ธรรมนัส เลขาธิการพรรค ที่ประกาศไม่ร่วมรัฐบาล และจะไม่ร่วมวงกินข้าวกับ พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งๆ ที่ พล.อ.วิชญ์ และ ร.อ.ธรรมนัส ล้วนเป็นน้องรักและลูกรักของ พล.อ.ประวิตร ที่ประกาศว่า คุมพรรคเศรษฐกิจไทยได้มาตลอด จึงทำให้จุดยืนของ พล.อ.ประวิตรถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่ออีกแล้ว รวมทั้งมีบรรดาอดีตคนเสื้อแดง คนพรรคเพื่อไทย ร่วมพรรคด้วย

แม้แต่ถูกมองว่า จะเป็นนายกฯ ในสมัยหน้า แทน พล.อ.ประยุทธ์ เสียด้วยซ้ำไป แม้ พล.อ.ประวิตรจะประกาศมาหลายครั้งว่า ไม่คิดจะเป็นนายกฯ ก็ตาม

แต่ข่าวที่สะพัดออกมาจากพรรคเศรษฐกิจไทย ก็มีทิศทางที่จะสนับสนุน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. หากพรรคนี้ยังอยู่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ พปชร. โดย พล.อ.ประวิตรเองจะไม่เสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ตาม

หรือไม่ว่า พล.อ.ประวิตรจะออกจาก พปชร. แล้วมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเศรษฐกิจไทยก็ตาม

เพราะ พล.อ.วิชญ์ คือน้องรักที่อยู่กับ พล.อ.ประวิตรมานานเกือบ 40 ปี ย่อมเห็นว่า พล.อ.ประวิตรมีความสามารถ มีบารมี สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะเคยทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ มาได้ถึง 8 ปี

เพียงแต่ พล.อ.ประวิตรไม่อยากเป็นนายกฯ เพราะไม่อยากแย่งน้อง แต่ทว่า น้องๆ พล.อ.ประวิตร คนอื่นๆ พร้อมที่จะช่วยกันทำให้ พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกฯ ในสักวัน

จนเป็นที่มาของกระแสข่าวลือที่ว่า พรรคเศรษฐกิจไทยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ครบ 3 คน คนหนึ่ง คือพลเรือน ที่ พล.อ.วิชญ์ระบุว่า เปิดชื่อมาไม่ยี้แน่นอน และตามหลักการ ก็ต้องเป็นชื่อหัวหน้าพรรค คือชื่อของ พล.อ.วิชญ์เอง

ส่วนอีกชื่อหนึ่ง อาจเป็นชื่อ พล.อ.ประวิตร หากว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประวิตรไม่ใช่หัวหน้าพรรค พปชร.อีกต่อไปแล้ว

จึงไม่แปลกที่เมื่อถูกถามว่า ใช่ชื่อของ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ พล.อ.วิชญ์ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่ระบุว่า “อย่าเพิ่งถามตอนนี้ ยังไม่ถีงเวลา” ก็ยิ่งทำให้กระแสข่าวลือสะพัด

แม้แต่กระแสข่าวลือที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่รอดปมศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม 2565 นี้แล้ว เมื่อนั้น เสียงพรรคร่วมจะเลือก พล.อ.ประวิตรมาเป็นนายกฯ ขัดตาทัพชั่วคราว เพื่อจัดการประชุมเอเปคในพฤศจิกายนนี้ แล้วจะยุบสภา เลือกตั้งใหม่ต้นปี 2566

โดยมีการนำไปโยงกับการที่ พล.อ.ประวิตรได้พูดกับพรรคเล็ก และให้สัมภาษณ์ไทม์ไลน์รัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่กลับสวนทางกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่รับลูกเรื่องการยุบสภา หลังจัดประชุมเอเปค

พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ

 

ความหวาดระแวงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีต่อ พล.อ.ประวิตร เริ่มตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัสปฏิบัติการล็อบบี้พรรคเล็กให้ไม่โหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 4 กันยายน 2564 เพราะไม่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่รับรู้

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องปลด ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มือขวา พล.อ.ประวิตร พ้น ครม. แบบไม่บอก พล.อ.ประวิตร จนทำให้ถูกมองว่า หักหน้าพี่ใหญ่ ก่อนที่ความขัดแย้งต่างๆ จะปรากฏตามมา

ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงออกด้วยการกอด พล.อ.ประวิตรทุกครั้งในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเล็ก แต่ก็ไม่อาจทำให้ใครๆ เชื่อว่า พี่น้องกลับมารักกันจริงตามเดิมอีกต่อไป

อาจเรียกได้ว่า ความเป็นพี่น้องยังคงอยู่ แต่เกมการเมือง แนวทางการเมือง ต่างคนต่างเดิน

อีกทั้งปฏิบัติการของ พล.อ.ประยุทธ์ในการนัดกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาลครั้งแรก 8 มีนาคม 2565 ก่อนตามมาด้วยกินข้าวกับพรรคเล็ก 17 มีนาคม 2565 แล้วเชิญพรรคร่วมมาด้วย ที่สโมสรราชพฤกษ์นั้น ก็เป็นการชี้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินเกมการเมืองเอง ให้นายทหารฝ่ายเสธ. นัดแต่ละคนแต่ละพรรคเอง ไม่ได้ให้ พล.อ.ประวิตรจัดการเช่นแต่ก่อนอีกแล้ว

ที่สำคัญ ทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ก่อศึกชิงพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นพรรคขนาดเล็ก หลัง ร.อ.ธรรมนัสนัดกินข้าวกลางวันกับพรรคเล็ก ตอกย้ำว่า เป็นคนดูแลพรรคเล็กมาตลอด 3 ปีที่ดึงมาร่วมรัฐบาล

จนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ได้กลิ่นแผนล้มนายกฯ ภาค 2 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพฤษภาคมนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเจรจา มีสัญญาใจกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะโหวตสนับสนุน จน พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะไม่ยุบสภาหนีอภิปราย และจะอยู่จนครบเทอมแล้วก็ตาม แต่ 30 เสียงของพรรคร่วม และ 16 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ไม่อาจมองข้าม

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องนัดกินข้าวกับพรรคเล็ก แต่ทว่า ก็หลังจากที่ พล.อ.ประวิตรเรียกพรรคเล็กพบปะที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ 16 มีนาคมก่อน

หลังจากที่นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล พปชร. ออกมาปูดว่า พล.อ.ประวิตรไม่สบายใจที่นายกฯ นัดกินข้าวพรรคเล็ก และต้องการให้เลื่อนออกไปก่อน เพราะเชิญไม่ครบทุกพรรค แต่ในที่สุด พล.อ.ประวิตรก็พลิกเกม โดยบอกให้พรรคเล็กมาร่วมโต๊ะกินข้าวกับนายกฯ พร้อมหน้า ขาดแค่นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ สายตรง ร.อ.ธรรมนัส

พร้อมประกาศลั่นผ่านสื่อว่า “ผมเป็นคนดูแลพรรคเล็กมาตลอดคนเดียว” แม้จะบอกว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่อยู่ พปชร.แล้ว ก็ไม่เกี่ยว เพราะผมดูแลเองคนเดียวมาตั้งแต่ต้นนั้น ที่เหมือนจะเป็นการบอกว่า พรรคเล็กต้องฟัง พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่ฟังนายกฯ

กล่าวกันว่า เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์รับนัดพรรคเล็กกินข้าว 17 มีนาคม เพื่อที่จะเลี่ยงไม่เชิญพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่เป็นพรรคที่สมบูรณ์ เพราะมีกำหนดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าและเลขาฯ พรรค 18 มีนาคมนั่นเอง

กล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็หวาดระแวงว่า พรรคเล็กจะจับมือ ร.อ.ธรรมนัส ล้มตนเอง หรืออาจดูด ส.ส.พรรคเล็กไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ขณะที่ พล.อ.ประวิตรเองก็กลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดูดพรรคเล็กไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงเป็นที่มาของศึกชิงพรรคเล็ก และเกิดมหกรรมกินข้าวกันอุตลุต พร้อมตอกย้ำว่า ไม่มีสัญญาใจ แต่ ต้องเป็นสุภาพบุรุษ

ด้วยกระแสข่าวลือ จนทำให้เกิดความหวาดระแวงกันระหว่าง 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร นี่เอง ที่ทำให้ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต้องขยับเพื่อที่จะช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป ในสมัยที่ 3 และสกัดกั้นดีลของ พปชร. กับพรรคเพื่อไทย

ทั้งการส่งนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ไปคุมพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังคงรีๆ รอๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจเรื่อง พปชร.อย่างไร และ พล.อ.ประวิตรจะเล่นเกมแบบไหน

รวมทั้งการเตรียมขุนพลที่จะมาช่วยทำศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งแบบเปิดหน้า เปิดเผยได้ และทั้งแบบที่อยู่เบื้องหลัง

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง จากนั้น ก็จะส่งไม้ต่อให้กับบรรดาอดีตทหารน้องรักในเตรียมทหาร 20 ในการดูแลประเทศ และปกป้องสถาบันต่อไป ทั้งในส่วนเบื้องหน้า และเบื้องหลัง

จนมีข่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกสมัย และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็จะมีรัฐมนตรีหน้าใหม่หลายคน

ที่น่าจับตาคือ คนที่จะพ้นเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี หลังพ้นการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว ทั้งบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่ถอยจากสนามผู้ว่าฯ กทม. มาสู่การเมืองสนามใหญ่ หรือแม้แต่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ที่แม้วันนี้จะเป็นรองราชเลขาธิการก็ตาม

แต่จะได้กลับออกมาสู่การเมืองหรือไม่ ยังคงถูกจับตา ท่ามกลางกระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังมองหา รมว.กลาโหมมาช่วยดูแลกองทัพแทน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 ที่เริ่มห่างจาก ผบ.เหล่าทัพ เพราะรุ่นเตรียมทหาร เพราะน้องๆ ผบ.เหล่าทัพยุคต่อไป จะเข้าสู่ ตท.22-ตท.23-ตท.24 แล้ว

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เชื่อว่า ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย ทั้งกลไกต่างๆ และ ส.ว.ที่ยังมีอายุ 5 ปี ยังโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง แถมทั้ง ส.ว.ส่วนใหญ่ คือคนที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกมาเอง มีสัดส่วนที่มากกว่าสายของ พล.อ.ประวิตร

แต่หาก พล.อ.ประวิตรที่เคยเป็น 1 ใน 3 แผงอำนาจ 3 ป. และอดีต คสช. ที่วางระบบประเทศไว้ แปรเปลี่ยนเป็นอื่น ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไปแล้ว สมการอำนาจอาจเปลี่ยนไป

กระแสข่าวเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์กับทายาท ตท.20 สะพัดหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะกินข้าวกับแกนนำรุ่น ทั้งที่เกษียณไปแล้ว และที่ยังอยู่ในราชการ

แต่ที่น่าจับตามองคือในเวลานี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ก็ทำให้ ตท.20 ถูกจับตามองว่า ยังแน่นปึ้ก เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่

หากดูจาก ตท.20 ในบรรดา ผบ.เหล่าทัพตอนนี้ บิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกลาโหม ก็เป็นน้องรักสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2565 นี้ เช่นเดียวกับบิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สายตรงนายกฯ ที่ก็ต้องเว้นวรรคการเมืองอีก 2 ปี แต่ช่วยงานเบื้องหลังได้

ส่วนบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.นั้น ถูกมองว่าสนิทสนมและเสมือนเป็นหนี้บุญคุณบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหม ที่เป็นมือขวาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร เพราะ พล.อ.ณัฐมีส่วนสำคัญที่ทำให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ได้ข้ามจากรองปลัดกลาโหม กลับมาเป็น ผบ.ทร. จนทำให้เกิดการล้างบางใหญ่ใน ทร.ตามมา

แต่มีรายงานว่า แม้ พล.ร.อ.สมประสงค์จะทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรช่วง 2 ปีที่เป็นรองปลัดกลาโหม ตามที่ พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหมในเวลานั้นมอบหมาย แต่ก็เริ่มสนิทสนมกับ พล.อ.อภิรัชต์มากขึ้น

และได้พบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ และเพื่อนแกนนำ ตท.20 มาก่อนแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็น รมว.กลาโหม

อย่างน้อยก็ได้รายงานถึงปัญหาในกองทัพเรือ ตั้งแต่ยุคบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. จนทำให้ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนคนที่จะมาเป็น ผบ.ทร.ใหม่ ก่อนมีการเสนอขอบิ๊กจอร์จ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ รองเสธ.ทหาร ข้ามจาก บก.ทัพไทย มาเป็น ผช.ผบ.ทร. สลับกับบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ เพื่อให้ พล.ร.อ.เชิงชายเตรียมตัวขึ้นเป็น ผบ.ทร.ต่อในตุลาคมนี้

ขณะที่ พล.อ.ณัฐ ลูกรัก พล.อ.ประวิตร นั้นเพิ่งเกษียณเมื่อ 30 กันยายน 2564 จึงยังต้องเว้นวรรคการเมือง 2 ปี หลังพ้นจาก ส.ว. จึงยังไม่อาจรับตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ พล.อ.ประวิตรก็มอบหมายงานในฐานะทีมงานรองนายกฯ ให้เป็นประธานคณะทำงานต่างๆ มากมาย

นอกจากนั้น ยังมีบิ๊กตู่เล็ก พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา อดีต ผช.ผบ.ทบ. และรองปลัดกลาโหม น้องรักอีกคนของ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กป้ำ พล.อ.นภนต์ สร้างสมวงษ์ อดีตรองปลัดกลาโหม ที่มาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร

จึงเรียกได้ว่า แม้ ตท.20 จะมีทั้งที่เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งแตกขั้วกันไปด้วย แต่พยายามที่จะประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นของ 2 ป. เพราะเชื่อว่า สายเลือดพี่น้องทหาร ย่อมเข้มข้นกว่าอำนาจและเกมการเมือง

 

ไม่ใช่แค่นายทหารน้องๆ ตท.20 ที่พยายามจะสมานรอยร้าวของพี่ตู่-พี่ป้อมเท่านั้น แต่คนใกล้ชิดวงในที่สนิทสนมกับ 3 ป.มายาวนาน ก็พยายามที่จะเป็นกาวใจ

แม้แต่การที่พี่น้อง 3 ป.ได้มากินข้าวมื้อกลางวันด้วยกันอีกครั้งในรอบราว 2 เดือนที่ไม่ได้เจอกัน ก่อนหน้านี้ เมื่อ 4 มีนาคม 2565 ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ที่ พล.อ.ประวิตรลงทุนสวมบทเชฟเข้าครัวทำกุ้งทอดกระเทียมให้น้องๆ กิน แถมมีคนถ่ายภาพอาหารส่งให้สื่อเผยแพร่นั้น ก็มี woman behide the scenes คนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตร ที่เป็นคนนัดและจัดเตรียมอาหาร เตรียมทุกอย่าง ให้เป็นมื้อกาวใจ และเป็นคนเดียวที่ได้นั่งอยู่ในห้องรับประทานอาหาร ที่มีแต่ 3 ป.วันนั้น

แม้ว่าจะตระเตรียมทุกอย่างไว้ ทั้งพี่ป้อมเดินมาส่งน้องตู่ขึ้นรถกลับทำเนียบ และกอดกันก่อนขึ้นรถ ก่อนที่น้องตู่จะยิ้ม พร้อมส่งมินิฮาร์ทให้พี่ป้อมก็ตามที

แต่ทว่า เนื้อหาที่พูดคุยกันวันนั้น มีประเด็นต้องเคลียร์ เพราะมีข่าวลือหลายกระแส จนทำให้บรรยากาศไม่ดีอย่างที่หวัง หลังมีเสียงบ่นของพี่ใหญ่ว่า น้องเล็กไปฟังคนนั้นคนนี้ และเชื่อคนอื่นอีกแล้ว

แล้วจากนั้น ปฏิบัติการนัดหมายกินข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางก็มีขึ้น โดยนายกฯ เป็นเจ้าภาพ และให้ทีมงานส่วนตัวนัดหมายหัวหน้าพรรคและเลขาฯ พรรคเอง ตามมาด้วยดินเนอร์กับพรรคเล็ก และมื้อกลางวันกับ ครม. หลังประชุม ครม. 22 มีนาคม หลังวันเกิด 21 มีนาคม

และนัดหมายกินข้าวร่วมกันของ ครม. ส.ส. และ ส.ว. ในโอกาสทำบุญสงกรานต์ปีใหม่ไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล 12 เมษายนด้วย

จนปฏิบัติการลันช์ ดินเนอร์ กินข้าว กลายเป็นกลยุทธ์กระชับมิตรของ พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว

ท่ามกลางอีกกระแสข่าวลือว่า เสมือนเป็นการส่งท้ายอำลาของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพฤษภาคมนี้ หรือหากไม่ผ่านด่านนายกฯ 8 ปี สิงหาคมนี้ หรือส่งท้ายด้วยประชุมเอเปคพฤศจิกายน ที่อาจต้องประชุมผ่านออนไลน์ หรือแบบผสม ผู้นำชาติไหนมาได้ก็มา ที่ไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์หวัง เพราะสงครามรัสเซีย -ยูเครน

เพราะสุดท้าย ไม่ใช่อยู่ที่สัญญาณ หรือผลการเลือกตั้ง หรืออยู่ที่เสียงประชาชน แต่อยู่ที่กลยุทธ์ กลเกมแห่งอำนาจ และการต่อรองทางการเมืองเป็นสำคัญ