‘แม่โพสพ’ เดิมเรียกพระไพศพ อีกชื่อของท้าวเวสสุวรรณ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘แม่โพสพ’ เดิมเรียกพระไพศพ

อีกชื่อของท้าวเวสสุวรรณ

 

ท้าวเวสสุวรรณ คือ พระไพศพ ถูกยืมชื่อใช้เรียก “แม่โพสพ” เป็นชื่อบทความผมเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับก่อนๆ (ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2565) มีสาระสำคัญว่า “แม่โพสพ” ได้ชื่อจากพระไพศพซึ่งป็นอีกนามหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ

ต่อมามีผู้ยกบทความไปเผยแพร่ในเพจ “ไอ้ทุย” จากนั้นผู้อ่านจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ โดยบางท่านบอกข้อมูลเพิ่มเติมว่าทางภาคใต้พบในหนังสือบุดเรียกพระไพศพและมีลายเส้นประกอบเป็นเทพบุตร (ไม่เป็นเทพธิดา) แต่บางฉบับวาดรูปพระไพศพเป็นเทพธิดา

ข้อมูลนี้สำคัญมาก ผมไม่เคยรู้มาก่อน จึงทบทวนข้อมูลที่เคยสอบทานไว้ทำให้รู้ว่าความรู้จากหนังสือบุดสอดคล้องหลักฐานในโคลงดั้นเรื่องทวาทศมาส แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น เรือน พ.ศ.2000 ว่าสมัยนั้นเรียกเทวะแห่งต้นข้าวว่าพระไพศพ (ยังไม่เรียกแม่โพสพ แต่จะเรียกต่อไปข้างหน้าซึ่งไม่รู้เมื่อไร?)

กิจกรรมสถาปนาแม่ข้าวเป็นพระไพศพเรียกพิธีเผาข้าว เดือน 3 (หรือพิธีธานย์เทาะห์) เป็นพิธีผีปนพราหมณ์ พบในเอกสารเก่าสมัยอยุธยาบอกว่ามีตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วราชอาณาจักรอยุธยาซึ่งน่าจะแผ่ลงไปคาบสมุทรภาคใต้ (เช่น เมืองนครศรีธรรมราช) จึงตกค้างถึงปัจจจุบันอยู่ทางเมืองพัทลุง แต่พิธีธานย์เทาะห์ถูกเรียกกลายเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ทานท่อ” ส่วนชาวบ้านเรียกพิธี “ลาซัง” มีจุดไฟเผาซังข้าวที่เหลือซากตกค้างในท้องนา (ความรู้เรื่องนี้ผมจำจากอ่านบทความของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เมื่อสัก 2 ปีมาแล้ว)

ขอบคุณท่านที่บอกข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ได้รู้กว้างออกไปกว่าที่เคยเข้าใจ จึงขออนุญาตคัดลงเผยแพร่แบ่งปันเป็นสาธารณะ

 

ความเห็นจากคุณ Ekkalak Max

เรื่องพระไพศพ

บทความนี้ช่วยไขข้อข้องใจได้ประการหนึ่งที่เรามักพบว่าบุดตําราทําขวัญข้าวในภาคใต้บางพื้นที่นั้น วาดภาพประกอบพระไพศพ เป็นเทพบุตรถือพระขรรค์ พร้อมระบุชื่อพระไพศพ/ ไพสพ/ ไพสบ ไม่ได้วาดเป็นเทพธิดา

อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีบุดในบางสํานวนก็วาดภาพเป็นเทพธิดาถือพระขรรค์ ถือรวงข้าว ยืนมาบนปลา อยู่ด้วยเช่นกัน แต่กลับระบุชื่อไว้ว่า พระไพศพ ทั้งนี้ บุดที่ระบุชื่อว่า แม่โพสพ/ พระโพสพ ก็ยังคงมีพบอยู่ด้วยเช่นกัน


ตัวอย่างยันต์พระไพสพ ที่วาดเป็นเทพธิดา จะสังเกตว่าไม่ใช้ชื่อว่าแม่โพสพ ภาพนี้นํามาจาก Facebook คุณเพชรกะปอม กลิ่นจันทร์ เป็นเอกสารพบที่ไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย

 

ภาพนี้พบที่ไทรบุรีเช่นกัน เป็นยันต์แม่ไภสพ แม้จะวาดเป็นเทพธิดา แต่สังเกตว่ายังคงเรียกชื่อ “ไภสบ” ภาพนี้นํามาจากบทความเรื่อง Enquête préliminaire sur les populations Sam Sam de Kedah et Perlis (Malaisie) โดย Archaimbault Charles ใน Bulletin de l’Ecole française d’Extréme-Orient. Tome 49 N°2, 1959. pp. 617-630 คําบรรยายใต้ภาพภาษาฝรั่งเศส ว่า “Représentation de la déesse du riz montée sur le poisson d’or. D’une main elle tient le coupe-coupe qu’elle donna aux Devatà, de l’autre des épis de riz. La tortue n’appartient pas au cycle des rites agraires, mais au rituel de la construction.”

มีผู้แปลให้ได้ความว่า “เป็นภาพแสดงถึงเทพธิดาแห่งข้าวขึ้นยืนบนปลาทองคํา มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ที่จะมอบแก่เทวดา และอีกข้างหนึ่งถือรวงข้าว เต่านั้นไม่ได้อยู่ในวงจรพิธีกรรมแห่งการเพาะปลูก แต่เป็นด้านการก่อสร้าง”

 

ความเห็นจากคุณ เขาเรียกผมว่า มหา’า ดัง’งงง

พระไพสพ ตําราบุดนายสงค์ คงหนู อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช