การกลับคำของ Marcel Duchamp และเส้นทางแห่งผีบุญ ศิลปะแห่งเกลือที่สะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวอีสาน / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

การกลับคำของ Marcel Duchamp

และเส้นทางแห่งผีบุญ

ศิลปะแห่งเกลือ

ที่สะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวอีสาน

 

“เกลือ” นอกจากจะเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงอาหารที่เก่าแก่ สำคัญ และเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ที่หาได้ง่ายในทุกหนทุกแห่งแล้ว

ในบางครั้ง เกลือยังสามารถเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้

ดังเช่นผลงานในนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า การกลับคำของ Marcel Duchamp และเส้นทางแห่งผีบุญ ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ทางสังคมเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนชาวอีสานในอดีตที่มีความผูกพันกับเกลืออย่างแน่นแฟ้นยาวนาน

นิทรรศการ การกลับคำของ Marcel Duchamp และเส้นทางแห่งผีบุญ

จากการริเริ่มของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน/นักแปลผู้เสาะแสวงหาความรู้ทางอาหาร ในบทบาทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ เขาเลือกเกลือเป็นโจทย์ตั้งต้น ในฐานะวัตถุดิบที่เคยมีส่วนขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวอีสาน ด้วยความเป็นภูมิภาคแห้งแล้ง ยากต่อการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์

เกลือจึงเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างมากในฐานะเครื่องถนอมอาหารของชาวอีสาน

อีกทั้งพ่อค้าเกลือในอดีต ผู้นอกจากจะเดินทางไปยังภูมิลำเนาต่างๆ ในอีสานเพื่อทำการค้าแล้ว ยังเป็นบุคคลผู้คอยนำข่าวสารและความรู้จากที่หนึ่งไปเผยแพร่ที่หนึ่ง

และพ่อค้าเกลือเหล่านี้นี่เอง ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์สำคัญของประชาชนในภาคอีสานอย่างเหตุการณ์ “กบฏผู้มีบุญ” หรือ “กบฏผีบุญ” ที่เป็นการลุกฮือขึ้นต่อสู้การกดขี่กับอำนาจรัฐ ของประชาชนทั่วทุกหัวเมืองอีสาน

ยิ่งไปกว่านั้น เกลือยังเป็นวัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการถนอมอาหารในระหว่างการต่อสู้อีกด้วย

 

ประติมากรรมกึ่งสำเร็จรูปจากเกลือที่อนุสรณ์เก็บจากบ่อเกลือทั่วอีสาน

อนุสรณ์เริ่มต้นเก็บตัวอย่างเกลือจากบ่อเกลือ 15 แห่งในจังหวัดทั่วภาคอีสาน โดยเน้นไปในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏผีบุญ และส่งต่อวัตถุดิบกับเรื่องราวให้ศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, สิ่งแวดล้อม และอาหารการกินอย่าง อุบัติสัตย์ มาสานต่อ

จนกลายเป็นผลงานศิลปะที่ประกอบด้วยประติมากรรมจัดวางจากเกลือ รูปลักษณ์คล้ายพระพุทธรูปบนกำแพงแฝดขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านคับห้องแสดงงาน

และประติมากรรมกึ่งสำเร็จรูป รูปลักษณ์คล้ายแผ่นศิลา ที่ทำขึ้นจากเกลือที่เก็บจากบ่อเกลือทั่วอีสาน

อนุสรณ์ผู้รับบทบาทภัณฑารักษ์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“พอได้รับการทาบทามให้มาทำนิทรรศการศิลปะที่ VS Gallery ผมก็เลือก ‘เกลือ’ เป็นจุดตั้งต้น เพราะนับแต่อดีต ความเค็ม เป็นรสชาติพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นรสชาติที่มีราคาแพงมาก่อนน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเสียอีก

ประติมากรรมจัดวางจากเกลือ

อย่างคำว่า ‘Salary’ (เงินเดือน) นั้นมีที่มาจากภาษาละตินว่า ‘Salarium’ ซึ่งมีรากมาจากคำว่า sal (salt) หรือ ‘เกลือ’ ในยุคโรมันโบราณ (ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินเดือนที่จ่ายให้ทหารสามารถซื้อเกลือ ซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้) หรือในอดีต สมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองลาวใหม่ๆ เกลือเป็นสินค้าที่มีราคาแพงมาก เกลือ 1 กิโลกรัม สามารถแลกข้าวได้ 3 กิโลกรัมได้เลยทีเดียว

ผมมองว่าเกลือมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ของอีสานมาโดยตลอด ในฐานะวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารและถนอมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาร้าหรือปลาแดก ที่ถือว่าเป็นอาหารสำคัญที่มีมาแต่โบราณ

หลังจากนั้นผมก็นึกถึงศิลปินที่ผมอยากชวนมาร่วมงานด้วย

ก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นอุบัติสัตย์ทำงานภาพพิมพ์เรื่องปลาแม่น้ำโขง ผมก็เลยชวนเขามาทำงานในนิทรรศการนี้”

 

ประติมากรรมจัดวางจากเกลือ

“เมื่อพูดถึงเกลือ ผมก็นึกถึงประวัติศาสร์การเมืองสำคัญของภาคอีสานอย่าง ‘กบฏผีบุญ’ ที่เป็นการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับการกดขี่โดยอำนาจรัฐของประชาชนแทบทุกจังหวัดในอีสาน

กระแสการลุกฮือที่ว่านี้ถูกส่งต่อโดยนักเดินทางสองสามกลุ่มในอีสานที่ช่วยกระจายข่าวสาร อย่าง พระธุดงค์, หมอลำ และสุดท้ายคือ พ่อค้า หรือนายฮ้อย ผู้นอกจากจะเดินทางไปค้าวัวควายแล้ว ยังมีพ่อค้าเกลืออีกด้วย

ชุมชนที่เกิดการลุกฮือส่วนใหญ่ก็เป็นชุมชุมดั้งเดิมที่มีฐานะดีจากการมีที่นาและบ่อเกลือ ทำให้สามารถสะสมทุนในระดับที่แลกเป็นอาวุธมาใช้ในการลุกขึ้นต่อสู้ได้ อย่างเช่น ชุมชนบ้านสะพือ ในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการต้มเกลือมาช้านาน ส่งออกไปให้ลาว หรือชุมชนบ่อพันขัน ในจังหวัดร้อยเอ็ด ก็เป็นแหล่งต้มเกลือสำคัญที่ส่งออกให้เขมร

ผมจึงเดินทางไปเก็บเกลือจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสานที่มีตำนานของกบฏผีบุญ 15 แห่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่เหล่าบรรดาพ่อค้าเกลือเดินทางส่งต่อเชื่อมร้อยการต่อสู้ของกบฏผีบุญ เพราะพวกเขามองเห็นว่าตนเองมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหลากหลายทางอาหาร พวกเขาสามารถยืนบนลำแข็งของตนเองได้ แล้วทำไมจึงต้องยอมถูกกดทับอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จนในที่สุดก็เกิดเป็นการลุกฮือขึ้นมา

ส่วนประเด็นอีกอย่างของนิทรรศการนี้ก็คือเรื่องของ มาร์แซล ดูชองป์ ซึ่งเป็นศิลปินที่ต่อต้านความเป็นสถาบัน ต่อต้านระเบียบ กฎเกณฑ์ และค่านิยมต่างๆ ในยุคสมัยของเขา

ครั้งหนึ่ง ดูชองป์เคยกล่าวว่าเขาไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นพ่อค้าเกลือ และเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “Marchand du Sel” (พ่อค้าเกลือ) ที่เป็นการเล่นคำผวนกลับคำกับชื่อของเขา (Marcel Duchamp)

ซึ่งลงตัวอย่างเหมาะเจาะกับประเด็นเกี่ยวกับพ่อค้าเกลืออีสานที่กล่าวไปข้างต้นพอดี

นิทรรศการครั้งนี้ผมทำหน้าที่เหมือนกึ่งๆ ภัณฑารักษ์ และผู้จัดหาวัตถุดิบและข้อมูลสำหรับทำนิทรรศการ ส่วนอุบัติสัตย์ก็จะเป็นคนถอดรหัสวัตถุดิบที่ผมส่งให้ทำออกมาเป็นงานศิลปะอีกที”

 

ประติมากรรมจัดวางจากเกลือ

ส่วนศิลปินอย่างอุบัติสัตย์กล่าวถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการทำงานในนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ตอนที่ อ.ต้น (อนุสรณ์) ติดต่อผมมาว่าสนใจทำนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับเรื่องของเกลือ และเล่าเกี่ยวกับการเดินทางเก็บเกลือตามจังหวัดต่างๆ ในอีสานให้ผมฟัง พอดีช่วงนั้นผมกำลังจะไปอีสาน ผมก็เลยบอกกับทีมงานว่า ผมไม่เคยเห็นเกลือสินเธาว์มาก่อน เลยให้พวกเขาพาไปดู ระหว่างเดินทางผ่านทุ่งนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทีมงานก็ชี้ให้ผมดูคราบขาวๆ บนพื้นดินแล้วบอกว่านี่แหละเกลือสินเธาว์

ผมลองหยิบมาชิมดูก็มีรสเค็มๆ รู้สึกแปลกดี และจดจำเป็นประสบการณ์ว่าเกลือเกิดขึ้นจากดิน, พอดีวันนั้นผมได้กินปลาเผาเกลือ จากที่ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยสนใจว่าทำไมเกลือเกาะอยู่บนตัวปลาได้ แต่วันนั้นผมลองเคาะๆ ดูแล้วพบว่าเกลือจับตัวเป็นก้อนแข็งจากความร้อน

หลังจากนั้นผมก็ไปดูบ่อเกลือสินเธาว์ของชาวบ้าน แล้วเห็นผลึกเกลือจับตัวเป็นก้อน ก็เลยเกิดไอเดียว่าจะทำประติมากรรมจากเกลือ

ผมก็เลยทดลองทำในหลายรูปแบบ ล้มเหลวอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายก็พบสูตรในการทำเกลือให้ขึ้นเป็นรูปทรงได้ด้วยการผสมแร่ธาตุต่างๆ ทั้งน้ำด่าง, ดินจากน้ำบาดาล ฯลฯ เข้าด้วยกัน

ประจวบกับการที่ผมได้ไปไหว้พระที่วัดในอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ที่เป็นพระพุทธรูปปางเอามือทาบท้อง (พระพุทธรูปมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส) ชาวบ้านที่นั่นเล่าตำนานให้ฟังว่าเป็นพระพุทธรูปมงคลที่ถูกสร้างในยุคโบราณที่บ้านเมืองอดอยากแห้งแล้งจากเหตุอาเพท ที่กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเป็นคนโหดเหี้ยม สังหารบิดามารดาตัวเองเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ จึงต้องสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อไถ่บาป

ผมก็เลยหยิบรูปลักษณ์ของพระพุทธรูปองค์นี้มาเป็นต้นแบบในการทำประติมากรรมเกลือขึ้นมา

อีกอย่าง ในประวัติศาสตร์ กลุ่มกบฏผีบุญนั้นมีความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรย ว่าจะมาปลดปล่อยชาวอีสานจากการกดขี่ของอำนาจรัฐ

ผมก็เลยทำประติมากรรมพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์บนกำแพงที่ตั้งเผชิญหน้ากัน เหมือนเป็นการเผชิญหน้ากับตัวเอง เพราะในขณะที่คุณเผชิญหน้ากับผู้อื่น คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับตัวเองด้วย

ส่วนประติมากรรมก้อนเกลือ ผมทำขึ้นมาจากเกลือที่ อ.ต้นเก็บมาจาก 15 จังหวัดทั่วอีสาน โดยรูปทรงของก้อนเกลือได้มาจากภาชนะที่ใช้สำหรับคลุกและหมักปลาร้าของชาวอีสาน”

 

“การที่อุบัติสัตย์เขาเอาเกลือมาหล่อเป็นพระพุทธรูปก็น่าสนใจ เพราะในอดีตก็มีการทำแบบนี้อยู่จริงๆ อย่างเช่นในช่วงสงครามสมัยก่อนที่ทางการบุกยึดเสบียงอาหาร ชาวบ้านที่กลัวว่าเกลือจะถูกยึด ก็เลยเอาเกลือไปหล่อเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นเกลือ

หรือกระบวนการทำงานของอุบัติสัตย์เอง ก็มีความสอดคล้องกับประเด็นการผวนกลับคำของมาร์แซล ดูชองป์ เพราะโดยปกติการทำเกลือในภาคอีสานจะเป็นการขูดหน้าดินที่มีเกลืออยู่มาละลายน้ำและเอาน้ำมาต้มให้กลายเป็นเกลือ

แต่อุบัติสัตย์เอาเกลือมาต้มเป็นน้ำ แล้วนำน้ำไปผสมกับแร่ธาตุอื่นๆ จนกลายเป็นวัตถุขึ้นมา ก็เหมือนเป็นการกลับค่าของกระบวนการทำเกลือ โดยเอาเกลือมาทำให้เป็นของเหลวแล้วเปลี่ยนให้เป็นของแข็งอีกที”

อนุสรณ์เสริมทิ้งท้าย

 

นิทรรศการ “การกลับคำของ Marcel Duchamp และเส้นทางแห่งผีบุญ” โดยภัณฑารักษ์ อนุสรณ์ ติปยานนท์ และศิลปิน อุบัติสัตย์ จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์-27 มีนาคม 2565, เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery •

 

ดูเอกสารข้อมูลประกอบนิทรรศการ “การกลับคำของ Marcel Duchamp และเส้นทางแห่งผีบุญ” ได้ที่นี่ https://bit.ly/3Ig4I5U