เมีย = เสือ เสือ = เมีย / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

เมีย = เสือ เสือ = เมีย

 

‘เสือ’ เป็นสัตว์กินเนื้อ กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร หากินในเวลากลางคืน โหดตามธรรมชาติ ถ้าเปรียบใครกับเสือ สื่อความหมายหลากหลายตั้งแต่คนเก่ง คนดุร้าย คนมากมารยา คนเจ้าเล่ห์ ประพฤติตัวชั่วร้าย ฯลฯ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนห้ามเมียเก่าเมียใหม่ไม่ให้วิวาทกัน ทันทีที่นางวันทองฉวยแขนนางลาวทองได้ คนกลางก็รีบกางกั้น

“ขุนแผนร้องอย่าอย่าเอามือกั้น

“ลาวทองหลีกหลบตบไม่ทัน ข่วนขุนแผนนั้นเข้าเต็มมือ”

เมื่อได้แผลจากน้ำมือของวันทอง ขุนแผนก็ตัดพ้อเป็นเชิงตำหนิกลายๆ

“เออก็ดูเอาเถิดอะไรนี่ ไม่กลัวพี่บ้างเจียวทีเดียวฤๅ

ยิ่งห้ามยิ่งลามดังไฟฮือ ดีก็ดื้อเข้ามาจะเป็นไร”

ความน้อยใจแค้นใจผัวที่พาเมียใหม่มาเย้ยแล้วยังเข้าข้าง ทำให้นางวันทองประชดพลางท้าว่า

“ตีก็ตีเข้าเถิดเจ้าพลายแก้ว ผิดแล้วหาเคยเป็นเช่นนี้ไม่

เดี๋ยวนี้ฮึกฮักทำหนักไป จะเหาะได้แล้วกระมังกำลังมัว”

ความที่หึงจนหน้ามืดทำให้วันทองหมดความเกรงใจ หาว่าผัวถูกเมียใหม่ทำเสน่ห์

“เห็นเราอะไรชังดังเห็นเสือ ถูกยาเบื่อแล้วฤๅหม่อมเจ้าจอมผัว

มันแขวะควักออกให้กินจนสิ้นตัว ซาบทั่วขนเข้ากระดูกดำ

สีหน้าฝ้าขลับจับจมูก ป้ายถูกริมฝีปากถลากถลำ

นานไปก็ซานคลานระยำ มันจะซ้ำขี่คอเล่นต่างวัว”

ข้อความว่า ‘เห็นเราอะไรชังดังเห็นเสือ’ นางวันทองเปรียบตัวเองกับเสือที่ขุนแผน’ชัง’ คือ เกลียด ไม่รัก ‘เสือ’ ในที่นี้สื่อถึงคนดุร้ายโหดเหี้ยม วันทองเป็นเมียที่ผัวควรรักแต่กลับชัง ทำเหมือนเป็นศัตรูกัน

 

ความหึงหวงของผู้หญิงนั้นร้ายกาจ ผู้ชายรู้ดีและเข็ดขยาด โดยเฉพาะสุนทรภู่รู้ซึ้งจึงได้ถ่ายทอดไว้ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ไม่ว่าจะเป็นตัวละครสาวหรือแก่ หึงไม่แพ้กันทั้งสิ้น

ขณะที่นางละเวงพาพระอภัยมณีเข้าเมืองลงกา นางใจแข็งกับลีลาออดอ้อนของฝ่ายชายที่ตัดพ้อว่าถ้านางไม่รับรักก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

“ถึงชาตินี้ชีวิตจะปลิดปลง ที่รถทรงนี่และเหมือนเป็นเรือนตาย”

นางละเวงให้เหตุผลว่าถึงกายภายนอกจะมัวหมองไปเพราะ

“พระก็ได้ใกล้น้องถูกต้องตัว โดยชั้นชั่วก็ยังรักศักดิ์สตรี”

แต่นางก็จะรักษาศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงเอาไว้ มิให้มีอะไรเกินเลย เนื่องจากรู้ดีว่า นางสุวรรณมาลีมเหสีของพระอภัยมณียามที่หึงนั้นดุร้ายราวกับเสือ

“มเหสีขี้หึงส์เหมือนหนึ่งเสือ จะฉีกเนื้อน้องกินเหมือนชิ้นหมู”

พิษรักแรงหึงของนางเป็นที่เลื่องลือ แม้นางละเวงยังอดเกรงมิได้

ต่อมาเมื่อนางละเวงพาพระอภัยมณีมาเย้ย นางสุวรรณมาลีถูกเมียน้อยกับผัวร่วมด้วยช่วยกันด่าทอ นางรู้ดีว่าขณะนี้พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาคร ล้วนต้องคาถามหาเสน่ห์เสียจน ‘ลืมองค์หลงคลั่งอยู่ลังกา’ นางหมดทางคิดแก้ไข ทุกข์โถมทับจนลมจับบนรถทรง พระธิดาทั้งสองกรีดร้องให้พระอภัยมณีพระบิดารีบมาช่วย “เร็วเร็วพระชนนีสิ้นชีวัน” จังหวะนั้นนางละเวงเบี่ยงเบนความรู้สึกของพระอภัยมณีทันที

“นางละเวงเกรงพระองค์จะสงสาร แกล้งว่าขานด้วยจิตต์ริษยา

มเหเสือเหลือการเจ้ามารยา พระพลอยว่าจริงหนอเจ้าเฝ้าสำออย

เธอร้องตอบบุตรีว่าขี้หึงส์ นั่นและจึงลมจับลงพับผอย

ชักไปเผาเอากระดูกเถิดลูกน้อย อย่ามาพลอยเรียกพ่อมิขอพบ”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นางละเวงเล่นคำว่า ‘มเหสี’ เป็น ‘มเหเสือ’ เพื่อสร้างภาพให้นางสุวรรณมาลีกลายเป็นเมียดุร้ายมีมารยา เสแสร้งแกล้งเป็นลม พระอภัยมณีก็เออออตามว่านางสุวรรณมาลีช่างสำออย หึงเสียจนลมจับ ให้ลูกสาวเอาศพแม่กลับไปเผาเสีย

 

การล้อคำว่า ‘มเหสี’ เป็น ‘มเหเสือ’ นอกจากเรื่อง “พระอภัยมณี” ยังมีในบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ตอนที่แขกประดู่ทะเลาะกับนางประแดะเกี่ยวกับลันไดชู้รักของนาง เกิดเสียงโครมคราม ‘อึกทึกทั่วไปในพารา’จนชาวบ้านรำคาญที่ ‘เมียผัวคู่นี้มันขี้หึง พอพลบค่ำราตรีตีตะบึง อึงคะนึงนักหนาน่าขัดใจ’ ก็เลย ‘คว้าก้อนอิฐปาเข้าฝาโผง ตกถูกโอ่งปาล้อแลหม้อไห พลางตบมือร้องเย้ยเผยไยไย แล้ววิ่งไปทางตะพานบ้านตะนาว’

ประดู่โกรธคนที่เอาอิฐปาบ้าน เข้าใจว่าเป็นฝีมือลันได จึงใช้คำว่า ‘มเหเสือ’ ด่านางประแดะด้วยความแค้นว่า อีเมียคนนี้ทำสิ่งเป็นภัยต่อกู ไม่ผิดอะไรกับเสือที่เป็นสัตว์ร้ายมีอันตรายนัก

“อิฐมาเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่น

สาเหตุมีมาแต่กลางวัน คงได้เล่นเห็นกันอ้ายลันได

ทั้งนี้เพราะอีมเหเสือ จะกินเลือดกินเนื้อกูให้ได้

ขว้างวังครั้งนี้ไม่มีใคร ชู้มึงฤๅมิใช่อีมารยา”

 

ผู้หญิงกับความหึงแยกกันลำบาก นอกจากตัวเองหึงแล้ว ยังหึงแทนคนอื่น ดังกรณีของมเหสีท้าวทศวงศ์ เจ้าเมืองรมจักร หึงแทนนางเกษราพระธิดาที่เอาแต่ร้องไห้เมื่อศรีสุวรรณพระสวามีถูกนางรำภาสะหรีสาวลังกาแย่งไปครอง จึงเอ็ดตะโรลูกสาวเป็นการใหญ่

“พระชนนีขี้หึงส์เหมือนหนึ่งเสือ จึงว่าเบื่อเสียแล้วรักนั้นหนักหนา

เขาชิงผัวกลัวเขาเฝ้าโศกา ไม่รู้ด่ามันให้มั่งมานั่งเซา

อีฝรั่งลังกาอีหน้าด้าน มันคิดอ่านพันพัวลูกผัวเขา”

ท้าวทศวงศ์ตกลงใจว่า ‘ข้าจะพาลูกยานัดดาไป ช่วยแก้ไขเขยขวัญตามปัญญา’ สำหรับท่านยายหรือพระมเหสีอยู่ที่นี่ดีกว่า ถ้าไปด้วย เรื่องเล็กจะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่

“ท่านยายอยู่บุรีเถิดขี้หึงส์ ไปอื้ออึงวุ่นวายจะขายหน้า

แต่แรกสาวราวกับเสือเหลือระอา นึกจะหย่าเสียกับยายก็หลายครั้ง”

ท้าวทศวงศ์ทรงจำฝังใจถึงวีรกรรมหึงสะบัดของพระมเหสีตอนยังสาวๆ ดุราวกับเสือน่าเบื่อมากจนอยากจะหย่ามาหลายครั้ง

ทรงเตือนพระธิดาว่าอย่าได้ตอบโต้สาวลังกาตามที่แม่แนะนำ จะทำให้ผัวรำคาญใจ เพราะแม่ของเจ้าคือ ‘ยายเสือเฒ่า’ ถึงแก่แต่ร้ายกาจนัก

“แม่เกษราอย่าเชื่อยายเสือเฒ่า ผัวของเจ้าจะระคายเมื่อภายหลัง

ถึงหยาบช้าด่าทอค่อยรอรั้ง เมื่อหายคลั่งแล้วคงกลับมากับเรา”

เสือไม่ใช่เมีย เมียไม่ใช่เสือ ถ้าเมียใช่เสือเมื่อไหร่ ตัวใครตัวมัน •