จักรวรรดิของปูติน หรือแนวป้องกันของรัสเซีย (จบ)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

จักรวรรดิของปูติน

หรือแนวป้องกันของรัสเซีย (จบ)

 

วลาดิมีร์ ปูติน

ไม่เสนอยุทธศาสตร์ 20 ปี

แต่…ปกครองรัสเซีย 22 ปีแล้ว

ขณะที่จักรวรรดิโซเวียตล่ม แต่ปูตินไม่ได้เลือกอาชีพขับแท็กซี่ตามที่เคยทดลองทำ กลับก้าวเข้ามาสู่วงการเมือง

พอเริ่มมีอำนาจก็ติดใจ ไต่เต้าไปถึงประธานาธิบดีรักษาการ ก็เลยต้องลงเลือกตั้ง ด้วยแรงสนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีเยลต์ซิน

เขาชนะเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2000 ปกครองประเทศต่อมาอีก 4 ปีขยายบารมีและเครือข่ายออกไป จากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

ปูตินไม่ได้ประกาศยุทธศาสตร์ 20 ปีแบบของไทย แม้เขาตั้งใจอยู่ยาว แต่รัฐธรรมนูญรัสเซียบัญญัติให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ ดังนั้น ปูตินจึงให้ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งเป็นลูกน้องที่เคยเป็นเสนาธิการเครมลินของเขา เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนเมื่อเขาหมดวาระในปี 2008

นี่เป็นวิธีสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องรัฐประหาร เพราะเมื่อเมดเวเดฟได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ปี 2008 ก็แต่งตั้งปูตินเป็นนายกรัฐมนตรีตามแผน

และก่อนที่เมดเวเดฟจะหมดวาระลงในปี 2012 ได้จัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้เพียง 4 ปี แก้เป็น 6 ปีโดยไม่เกิน 2 วาระ

นี่เป็นแผนสืบทอดอำนาจ โดยไม่สนใจว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะต้องการจำกัดไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง ปูตินได้จัดระเบียบอำนาจใหม่ในหมู่ชนชั้นนำรัสเซีย และบรรดานายทุน ใครที่ไม่ยอมเป็นพวกปูตินก็มักจะต้องถูกตั้งข้อหาจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ คู่แข่งในรัสเซียจึงไม่มีใครมาทาบรัศมีพอที่จะแข่งในการเลือกตั้งได้

ดังนั้น ปูตินจึงชนะได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีก 2 สมัย ในปี 2012 และ 2018 ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องความโปร่งใส และล่าสุดมีการจัดประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สามารถมีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีก

เดือนมีนาคม 2022 นี้เขาจะครองอำนาจมาครบ 22 ปีพอดี และดูเหมือนว่ายังอยากจะอยู่ต่ออีก ที่สำคัญยังต้องการขยายอำนาจให้มากกว่าเดิม

 

สถานการณ์แวดล้อม

กำหนดความคิดให้ปูติน

ติดในอำนาจและขยายอำนาจ

ถ้าดูจากอดีตของปูตินที่อยู่ในวังวนของอำนาจตั้งแต่ยังหนุ่มทำงานเป็น KGB ถึงระดับกลาง และไต่เต้าขึ้นมาสู่อำนาจที่สูงสุดทางการเมือง

ช่วงนั้นเส้นทางประชาธิปไตยในรัสเซียยังไม่เติบโตจึงไม่สามารถสร้างค่านิยมให้กับนักการเมืองและผู้นำต่างๆ ให้มีจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยได้

ประสบการณ์ของปูตินในอดีตจึงทำให้เขาแสวงหาอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ และยังติดใจในความรุ่งเรืองของจักรวรรดิ ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายเมื่อตัวเองมีอำนาจมากขึ้น คือจักรวรรดิในยุคปูติน

สิงหาคม 2008 ปูตินส่งรถถังบุกเข้าไปในจอร์เจียและโจมตีทางอากาศต่อเนื่อง 4 วัน โดยอ้างว่าเป็นกองกำลังสันติภาพรัสเซียเข้าไปปกป้องประชาชนชาวรัสเซีย ใช้เวลาเพียง 5 วัน และจบลงด้วยชนะอย่างง่ายดาย (จอร์เจียมีประชากรแค่ 3.7 ล้าน) มีการลงนามข้อตกลงหยุดยิง แต่การสมัครเป็นสมาชิกองค์การนาโตของจอร์เจียก็ถูกระงับ

ปี 2014 ปูตินก็สามารถเข้ายึดครองและผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนได้อย่างง่ายดายโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน

4 กุมภาพันธ์ 2022 ปูตินเยือนปักกิ่ง เข้าหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้งสองประเทศเผชิญความตึงเครียดกับสหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตก จากทั้งสถานการณ์ยูเครนในยุโรปตะวันออก และทะเลจีนใต้-ไต้หวัน

24 กุมภาพันธ์ 2022 ปูตินจึงสั่งบุกยูเครนอีกครั้ง

ที่เล่าความเป็นมาอย่างยาว เพื่อการพิจารณาสงครามในยูเครน ว่าเหตุคืออะไร และจะพอวิเคราะห์ผลได้

 

1.การเกิดสาธารณรัฐเอกราช 15 ประเทศเป็นความตกลงร่วมกัน และยูเครนเป็นประเทศเอกราช

เริ่มจากการที่อดีตประธานาธิบดีกอร์บาชอฟต้องการลดความเป็นศูนย์กลางอำนาจของสหภาพโซเวียต

จึงได้มีแผนจะผ่านสนธิสัญญา New Union Treaty ซึ่งจะมาแทนสนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ.1922

ทำให้มีการแยกรัฐต่างๆ เป็น 15 รัฐ มีประธานาธิบดีและอำนาจของตนเอง มีการแบ่งเขตแดนกันอย่างเรียบร้อยตั้งแต่ปี 1990-1991 และแต่ละประเทศก็ปกครอง มีการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมของตนเอง

เพราะทุกประเทศที่แยกไปรู้ว่าการปกครองในรูปแบบเก่าประชาชนมีความยากลำบากมาก ดังนั้น จึงไม่มีใครคิดจะย้อนกลับไปมีการปกครองแบบเก่าทั้งระบบเศรษฐกิจและการปกครองแบบจักรวรรดิ

ประเทศเอกราชทั้งหลายก็ไม่มีประเทศใดอยากเป็นแนวป้องกันให้ประเทศอื่น ยูเครนประเทศใหญ่ก็ย่อมมีเอกราชเช่นกัน

 

2.คนรัสเซียไม่ได้อยากบุกยูเครน แต่ปูตินอยากยึด

คนรัสเซียไม่ได้อยากรบกับคนยูเครน พวกเขาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันและก็มีความประสงค์ที่จะสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง มีเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม

แต่เกิดสงครามเพราะปูตินนำทหารบุกยูเครนยูเครน

ข้ออ้างที่ว่ากลัว NATO จะมาตั้งฐานจรวดในประเทศที่เป็นสมาชิกนาโต้ที่อยู่ใกล้รัสเซียมันก็คล้ายกับตอนที่อเมริกาบุกอิรัก เพื่อจะหาอาวุธร้ายแรงสุดท้ายก็พบแต่น้ำมัน

ถ้าจะพิจารณาตามเหตุผลนี้ NATO ก็คงจะตั้งจรวดที่คุกคามรัสเซียไว้ในหลายประเทศซึ่งเป็นสมาชิก เช่น ประเทศลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวะเกีย เอสโทเนีย ฯลฯ แต่ก็ไม่มีเลย

การบุกเข้ายูเครนโดยเหตุผลว่ากลัวยูเครนจะกลายเป็นที่ตั้งขีปนาวุธเพื่อคุกคามรัสเซีย จึงฟังไม่ขึ้น

และการบุกที่กระจายทั่วไปหลายแนวทำให้เหตุผลที่ว่าต้องการปกป้องคนรัสเซียใน…เขตปกครองโดเนตสค์และลูฮานสค์ ฟังดูไม่ค่อยมีน้ำหนัก การบุกครั้งนี้เหมือนต้องการยึดทั้งประเทศมากกว่า

ถ้าลองย้อนดูในประเทศอื่นๆ ทั้งยุโรปไม่มีใครคิดจะไปแย่งชิงดินแดนใครก็มีแต่รัสเซียในยุคปูตินนี่แหละ

ดังนั้น ความขัดแย้งครั้งนี้จึงกลายเป็นความขัดแย้งของผู้ต้องการมีอำนาจปกครองแบบเผด็จการ ที่ต้องการอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ และต้องการขยายขอบเขตอิทธิพลเป็นแบบจักรวรรดิ

ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับประชาชนทั้งในรัสเซียและในประเทศอื่นๆ ที่จะต้องถูกรุกราน

 

3.ลักษณะของสงครามการรุกรานยิ่งขยาย ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งเสียหาย และมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

ถ้าดูจากแผนการเดิมปูตินต้องการ รุกรานแบบรวดเร็วทำสงครามระยะสั้นๆ แล้วก็ตั้งรัฐบาลหุ่นที่เป็นพวกตัวเองขึ้นมาในประเทศนั้นๆ

แต่ครั้งนี้อาจทำไม่ได้ ยูเครนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากร 40 กว่าล้าน พื้นที่กว่า 6 แสนตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยอีก ขนาดพอๆ กับอัฟกานิสถานที่รัสเซียเคยไปบุกและแพ้มาแล้ว

ไม่เหมือนการบุกจอร์เจียที่ผ่านมา ที่มีพื้นที่เป็นหลักหมื่นตารางกิโลเมตรประชากรประมาณ 3.8 ล้าน

ที่สำคัญที่สุดคือคนยูเครนสู้เพื่อรักษาบ้านเกิด

ไม่มีใครใน 15 ประเทศเอกราชใหม่จะยอมไปอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิเผด็จการให้อดๆ อยากๆ อีก

ยิ่งปูตินส่งทหารกระจายเข้าไปในหลายๆ เมืองหมายความว่าพื้นที่การสู้รบก็ต้องกระจายตามไปด้วยจากใช้ทหารเป็นหมื่นก็ต้องใช้เป็นแสน

คำว่ายึดเมืองและปกครองจะเป็นไปไม่ได้ถ้ามีคนต่อต้านกระจัดกระจายไปทั่วด้วยสงครามกองโจรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลและจะได้อะไรตอบแทน

ประเมินว่าถ้าบุกแล้วไปไม่รอด ปูตินจะสั่งถอย แล้วขอแค่เขตปกครองโดเนตสค์และลูฮานสค์ ซึ่งก็คงไม่ง่าย

ถ้าไม่รีบถอย กองทัพรัสเซียจะติดอยู่ในสงครามยืดเยื้อในยูเครนเหมือนตอนที่บุกอัฟกานิสถาน

 

4.ทำไมนานาประเทศจึงต้องต่อต้านและแซงก์ชั่นการรุกรานยูเครน

ถ้ารัสเซียบุกยูเครนครั้งนี้และไม่มีใครต่อต้านต่อไปรัสเซียจะบุกยึดประเทศใดก็ได้เหมือนตอนฮิตเลอร์นำนาซีบุกโปแลนด์ครั้งแรก

ดังนั้น ประเทศที่อยู่รอบรัสเซียจึงเกิดความหวาดระแวงว่าจะถูกรุกรานด้วยกำลังเมื่อใดก็ได้

งานนี้ถ้าปูตินไม่มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในมือเยอะแยะ รับรองว่าถูกรุมคาสนามรบยูเครนไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ NATO กลัวสงครามขยายจึงต้องใช้วิธีอื่น ทำให้รัสเซียถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและการต่อต้านจากนานาชาติในรูปแบบต่างๆ จะทำให้ประชาชนอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้นจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนในรัสเซียที่มีต่อปูตินซึ่งเดิมกลุ่มที่มีความคิดเสรีก็ต่อต้านมากอยู่แล้ว

ดังนั้น จะเกิดความแตกแยกภายในประเทศตามมาอย่างแน่นอนเพราะคนจำนวนมากก็จะเริ่มรู้สึกว่าที่ตัวเองยากลำบากเพราะปูตินก่อสงครามขึ้นมาและสงครามนั้นก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับประชาชนซึ่งกำลังเริ่มเข้าสู่การพัฒนาประเทศแค่เจอ covid ก็มากพอแล้ว

ผลของการแซงก์ชั่นจะทำให้ทั้งรัสเซียและประเทศยุโรปเกิดความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเป็นระยะเวลาหลายปีด้วยและยังส่งผลกระทบ มาถึง กองเชียร์ในไทย ที่จะต้องจนลงไปอีก

จีนจะได้ประโยชน์จากการค้าขายกับรัสเซีย อเมริกาจะถือโอกาสบั่นทอนรัสเซียด้วยสงครามยืดเยื้อ คนรับเคราะห์หนักที่สุดคือยูเครน รองมาก็รัสเซีย และยุโรป

การยอมให้คนไม่ดีขึ้นมามีอำนาจ จะทำให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน