วิกฤตชาติ/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วิกฤตชาติ

 

มรณกรรมของคุณแตงโมช่วยผดุงความเป็นชาติไทยเอาไว้ อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยสนใจและพูดเรื่องเดียวกัน แม้จะพูดกันไปคนละทาง ก็ยังดีกว่าไม่มีเรื่องอะไรจะสนใจร่วมกันเลย

นี่เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นกับ “กลุ่ม” ทุกประเภท “กลุ่ม” ไม่จำเป็นต้องเป็นชาติ แต่ชาติต้องเป็น “กลุ่ม” ด้วย เพราะชาติอ้างและจำลองความสัมพันธ์ของ “กลุ่ม” มาเป็นความสัมพันธ์ในชาติ โดยเฉพาะ “กลุ่ม” ครอบครัวและเครือญาติ

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ความสนใจและการพูดถึงเรื่องของคุณแตงโมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่รวมตั้งแต่แม่ค้าในตลาดไปจนถึงคนที่เราเรียกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมด้วย และไม่ได้จำกัดแต่เพียงคนที่เป็น ผบ.ตร.ด้วย แต่เลยไปถึงนายกรัฐมนตรี และตามเสียงลือเล่าอ้าง ก็อาจเลยไปกว่านั้นอีก

ก่อนหน้าคุณแตงโม ก็เคยมีเด็กหญิงชมพู่แห่งบ้านกกกอก ได้สร้างคุณูปการทำนองเดียวกันแก่ชาติไทยมาแล้ว หลังจากคุณแตงโม ผมเชื่อว่าก็คงมีกรณีอื่นตามมาอีก ที่จะช่วยผดุงความเป็นชาติของไทยเอาไว้

หลังจากละครโทรทัศน์ดังๆ บางเรื่องได้ทำมาแล้ว แต่คนดูละครโทรทัศน์น้อยลง ผมเข้าใจเอาเองว่าละครดังเรื่องสุดท้ายคงจะเป็นเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเมื่อเทียบกับละครดังในอดีตเช่นคู่กรรม ซึ่งตอนจบของเรื่องถึงกับทำให้รถหายติดในกรุงเทพฯ ไปเลย ก็คงเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น บุพเพสันนิวาสจึงไม่มีส่วนช่วยผดุงความเป็นชาติของไทยไว้ อย่างที่ละครโทรทัศน์ในอดีตเคยทำมา

 

อันที่จริง ประเด็นดังๆ ที่มาจากข่าวเช่นกรณีคุณแตงโมนั้น เพียงแต่จัดหาเรื่องที่จะพูดเรื่องเดียวกันแก่ชาติเท่านั้น ชาติไม่อาจเกิดขึ้นได้จากเรื่องในข่าวดังเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดึงความสนใจของคนมาร่วมกันชั่วครั้งชั่วคราว เรื่องที่มีผลต่อการผดุงชาติอย่างแท้จริง ต้องมีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์ประจำชาติ, ตอกย้ำคุณค่าบางอย่างที่ชาติยึดถือร่วมกัน หรือช่วยให้เหตุผลความชอบธรรมแก่การจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

เช่น เรื่องความลุ่มลึกของภาษาไทย, วีรกรรมและการสร้างสรรค์ของกษัตริย์ไทย, คุณสมบัติบางอย่างของคนในชาติ, คุณประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันเป็นชาติ ฯลฯ

แต่เรื่องเหล่านี้ พูดขึ้นมาเมื่อไรก็ชวนทะเลาะกัน ไม่ใช่ทะเลาะกันในเรื่องปลีกย่อยเสียด้วย แต่ทะเลาะกันในสมมุติฐานพื้นฐานของเรื่องทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เรียกกันว่า “เรื่องเล่าประจำชาติ” ซึ่งมีในทุกชาติ จนอาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่สามารถสร้างเรื่องเล่าร่วมกันในหมู่คนขึ้นได้ ชาติก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือถ้าเรื่องเล่านั้นไม่มีแรงบันดาลใจอย่างเคย ด้วยเหตุใดก็ตาม ความเป็นชาติย่อมอ่อนแอลงหรือเสื่อมโทรมลง

แม้จะมีข้อจำกัดในความเป็นชาติของไทยสักเพียงไร สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ผู้นำที่มีส่วนสร้างชาติไทยขึ้นจากรัฐโบราณอันหนึ่งนั้น ประสบความสำเร็จในการสร้างและเผยแพร่เรื่องเล่าประจำชาติให้แก่ผู้คนในอาณาเขตที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่แล้วได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงทีเดียว

แต่ในระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องเล่าประจำชาติไทยสูญเสียพลังของการผดุงความเป็นชาติลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุใดก็ยังไม่อาจอธิบายได้ แต่คิดว่าเป็นเหตุอันสลับซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้โดยปราศจากลงมือศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากพูดแบบที่เกือบจะเป็นกำปั้นทุบดินว่า เรื่องเล่าประจำชาติที่สร้างและเผยแพร่กันมากว่าศตวรรษ คงจะไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมไทยปัจจุบันไปเสียแล้ว

ในขณะที่อำนาจของการเล่าเรื่องอย่างเป็นทางการยังอยู่ในมือของคนกลุ่มเดิม จึงไม่สามารถปรับเรื่องเล่าไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ และแน่นอนว่า ย่อมมองเห็นเรื่องเล่าใหม่ที่คนกลุ่มอื่นสร้างขึ้นเป็นภัยคุกคามอำนาจของตน

ดูเฉพาะสิ่งที่อ้างกันว่าเป็นสถาบันหลักของชาติทั้งสามก็ได้ คือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์

 

แนวคิดเรื่องชาติของไทยออกจะผิดปรกติมาแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นแนวคิดเรื่องชาติที่ชนชั้นนำออกแบบเองแล้วสถาปนาลงมายังมวลชน ดังนั้นส่วนสำคัญที่สุดของชาติคือประชาชนจึงแทบไม่มีฐานะบทบาทอะไรในแนวคิดนี้เลย เพื่อจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติ บุคคลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และให้สนิทแนบแน่นกับชาติกว่านั้น เขาก็ควรนับถือพระพุทธศาสนา

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องชาติของไทยไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนมีบทบาทและความคิดอ่านที่เป็นอิสระของตนเอง ตราบเท่าที่ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของอิสรภาพด้านนี้ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตจริงมากกว่านี้ ความคับแคบของแนวคิดเรื่องชาติของไทยก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างไร แต่โลกเปลี่ยนและสังคมไทยเปลี่ยน มี “โอกาส” ใหม่เกิดขึ้นแก่ผู้คนตลอดเวลา อิสรภาพที่จะมีความคิดและบทบาทของตนเองจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่เรื่องเล่าเกี่ยวกับชาติของทางการไทย ก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องความจงรักภักดีต่อกษัตริย์เหมือนเดิม

นอกจากนี้ “ชาตินิยม” ไทยที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น ยังเน้นย้ำภัยคุกคามต่อชาติ ทั้งจากภายนอกและภายใน ความสามัคคีที่เรียกร้องกันจึงเป็นความสามัคคีของคนที่จะต้องเข้าสู่สงคราม ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากเบื้องบนตามลำดับอย่างเคร่งครัด “ชาติ” ในความหมายนี้จึงไม่เป็นฐานที่ดีแก่ประชาธิปไตย อีกทั้งมีลักษณะก้าวร้าว (aggressive) รุนแรง ดังนั้น แทนที่ความรักชาติจะหมายถึงความรักต่อเพื่อนร่วมชาติและความเคารพต่อเพื่อนร่วมโลก กลับกลายเป็นความเกลียดชังระหว่างกัน การทำร้ายจนถึงสังหาร “ศัตรูของชาติ” ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกัน หรือประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน คือการแสดงออกซึ่งความรักชาติ

 

คําว่า “ศาสนา” ในสามสถาบันหลักนั้นมีความหมายไม่ชัด หลักการทางศีลธรรมบางอย่างย่อมมีความสำคัญในแนวคิดเรื่องชาติของทุกชาติในโลกนี้เสมอ แต่ “ศาสนา” ไม่ใช่หลักการทางศีลธรรม แล้วแต่บุคคลจะตีความ ซ้ำยังชักนำให้ตีความไปตามหลักศาสนาของตนเสียด้วย

ในพระราชนิพนธ์ของ ร.6 ความเป็นไทยกับความเป็นพุทธแทบจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่หลัง พ.ศ.2475 ม.จ.วรรณไวทยากรณ์ (พระยศขณะนั้น) ได้อธิบายหลักการที่กษัตริย์ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกว่า หมายถึงทุกศาสนา ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงพุทธศาสนาเท่านั้น และอ้างว่าเป็นประเพณีเช่นนั้นมาแต่โบราณด้วยซ้ำ

แต่คำอธิบายดังกล่าวแก้ปัญหาได้เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และศาสนา ไม่ได้แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับศาสนา ประชาชนที่นับถืออิสลาม, คริสต์, ฮินดู ฯลฯ หรือไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย นอกจากเป็น “พสกนิกร” ของกษัตริย์แล้ว ยังเป็น “คนไทย” ที่เท่าเทียมกับคนอื่นหรือไม่

ในโลกปัจจุบันที่ศาสนากลายเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเกือบจะล้วนๆ ไปแล้ว กล่าวคือ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคม, เศรษฐกิจ หรือการเมือง ความเป็นชาติจะเข้าไปเกี่ยวกับศาสนาได้อย่างไร

 

ส่วนสถาบัน “พระมหากษัตริย์” นั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งใหญ่ในหมู่คนไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ความขัดแย้งนั้น (เท่าที่แสดงให้ปรากฏ) ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะดำรงรักษาสถาบันนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าสถาบันนี้ควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในสังคมประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศมี “แบบอย่าง” ที่ลงตัวพอสมควรให้เลียนแบบ แต่ไทยไม่เคยมี “แบบอย่าง” ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมาก่อน ความขัดแย้งอย่างที่เกิดในประเทศไทยทุกวันนี้ก็เคยเกิดมาแล้วในประเทศอื่น ก่อนที่จะลงตัวเป็นรูป “แบบอย่าง” ที่สืบเนื่องกันมาได้

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งในเรื่องนี้ที่เกิดกับไทยปัจจุบัน จะนำไปสู่ข้อสรุปที่สร้างสรรค์หรือนำไปสู่การปะทะกันนองเลือด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไร ดูเหมือนคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าการปฏิรูปสถาบัน คือการล้มล้างสถาบัน ได้กำหนดให้ทิศทางของความขัดแย้งพัฒนาไปสู่บทสรุปทางใดทางหนึ่งไปแล้ว

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจนทำให้แนวคิดเรื่องชาติที่มีมาจากอดีตกำลังเผชิญกับ “วิกฤต” อย่างใหญ่ วิกฤตเป็นเรื่องปรกติที่เกิดกับทุกชาติเป็นครั้งคราวเสมอ อาจมีเหตุมาจากภายนอก เช่น ถูกต่างชาติรุกราน หรืออาจจากเกิดจากภายใน ดังเช่นที่ชาติไทยกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้

Jared Diamond เสนอในหนังสือเรื่อง Upheaval ของเขาซึ่งสำรวจวิกฤตนานาชนิดที่เกิดกับประเทศต่างๆ 7 ประเทศ ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตเป็นเวลานาน และรู้ภาษาถิ่นของประเทศเหล่านั้นว่า วิกฤตนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในความหมายของคำภาษากรีกว่า krisis คือ turning point หรือจุดเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด หากเป็น selective change คือเลือกเปลี่ยนบางเรื่อง

น่าวิตกอยู่ที่ว่า วิกฤตของชาติอันอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้นั้น ย่อมประกอบด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งไม่ปรากฏหรือยังไม่ปรากฏในประเทศไทย เช่น คนส่วนใหญ่ในชาติต้องเห็นพ้องกันว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิกฤต จึงจะทำให้ยอมรับว่าชาติต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้วิกฤต จากเงื่อนไขแรกๆ เหล่านี้นำไปสู่การถกเถียง (ไม่ใช่ความขัดแย้ง) กันว่า เราจะขีดวงให้ชัดได้อย่างไรว่า ปัญหาอะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นแก่ชาติ เราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร เอาอะไรจากอดีตของเราเป็นแบบอย่างได้บ้าง หรือถ้าไม่มีจะเอาใครคนอื่นเป็นแบบอย่างได้บ้าง ถึงจะเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงและสิ่งนั้นคืออะไร ฯลฯ

เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ปรากฏหรือยังไม่ปรากฏในประเทศไทย

 

ท้ายสุด ที่ผมอยากเตือนไว้ด้วยก็คือ ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาหรือ “ผู้ใหญ่” คนใดกลุ่มใดที่เสนอตัวเป็นคนกลางให้ฝ่ายที่ขัดแย้งได้เจรจากัน หากคิดแต่เพียงเพื่อระงับความขัดแย้ง ก็คงไม่อาจระงับความขัดแย้งได้จริง เพราะแล้วมันก็พร้อมจะเกิดขึ้นใหม่เสมอ

จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น มีเหตุที่มาลึกกว่าความไม่ลงรอยกันของคนต่างรุ่นต่างวัย หรือระหว่างคนหัวรุนแรงและไม่รุนแรง หรือระหว่างขวากับซ้าย ฯลฯ แต่ควรเข้าใจว่า ความขัดแย้งที่เรามองเห็นเป็นเพียงการสะท้อน “วิกฤต” ของความเป็นชาติที่ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกเสียแล้ว